เรื่องราวของ นางเรณู เนียนเถ้อ ชาวบ้าน จ.สุราษฎร์ธานี ผู้เชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของลูกชายวัย 17 ปี ที่ถูกกล่าวหาในคดีฆ่าคนตายและถูกตัดสินประหารชีวิต เธอได้ร้องขอความเป็นธรรมต่อ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จนสามารถพลิกคดีและคืนอิสรภาพให้กับบุตรชายของเธอได้ในที่สุด
กรณีนี้ย้อนไปในปี 2553 เมื่อ ‘พีระพันธุ์’ ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในขณะนั้น ได้รับหนังสือร้องเรียนจากนางเรณู เนียนเถ้อ ชาวบ้านจาก จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อขอความเป็นธรรมให้ นายอนุสรณ์ เนียนเถ้อ ลูกชายของเธอ ซึ่งขณะนั้นอายุเพียง 17 ปี และถูกกล่าวหาในคดีฆ่าคนตายเมื่อปี 2551 ก่อนถูกศาลชั้นต้นพิพากษาตัดสินประหารชีวิตในปี 2553
เรณูพยายามช่วยลูกชายทุกวิถีทาง เพราะเธอเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของลูก และผิดหวังกับการทำงานของตำรวจที่ไม่ยื่นหลักฐานสำคัญต่าง ๆ ที่จะช่วยพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของนายอนุสรณ์
ในช่วงเวลานั้น เธอและครอบครัวมีความทุกข์มาก มีแต่ฝันร้าย เหมือนตายทั้งเป็น อีกทั้งยังถูกทนายความหลอกเงินเอาไปหลายแสนบาทเพื่อวิ่งเต้นคดี แต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น
แต่ในช่วงเดือนกันยายน 2553 ระหว่างที่คดีอยู่ในชั้นอุทธรณ์ เรณูก็ได้รับคำแนะนำจากเพื่อนบ้านให้ยื่นเรื่องร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อ นายพีระพันธุ์ รมว.ยุติธรรม ซึ่งเดินทางมาตรวจราชการที่ จ.สุราษฎร์ธานี และหลังจากนั้นแค่เพียงเดือนเดียว เธอก็ได้รับการติดต่อจากทีมงานของพีระพันธุ์ ซึ่งได้ประสานงานให้ทาง กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ มาตรวจสอบคดี และร่วมทำงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อรวบรวมข้อมูลหลักฐานใหม่ โดยเฉพาะหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ ที่พบในที่เกิดเหตุ ซึ่งสามารถยืนยันความบริสุทธิ์ของจำเลยได้
แต่ระหว่างที่กำลังรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ อยู่นั้น ศาลอุทธรณ์ก็ได้มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นคือประหารชีวิต นางเรณูจึงยื่นฎีกาคดีด้วยหลักฐานที่ได้จากการตรวจสอบเพิ่มเติม และในอีก 3 เดือนต่อมา ศาลฎีกาก็พิพากษายกฟ้องให้นายอนุสรณ์เป็นผู้บริสุทธิ์ หลังจากที่ต้องถูกจำคุกเพื่อรอการพิสูจน์ความบริสุทธิ์เป็นเวลาถึง 4 ปี 9 เดือน
“กรณีที่สุราษฎร์ก็คือ ลูกชายถูกกล่าวหาว่าไปฆ่าคน แต่แม่เชื่อว่าลูกตัวเองบริสุทธิ์ เขาก็ต้องดิ้นรน แต่ก็ไม่รู้จะไปไหน เมื่อเรื่องมาถึงผม ผมก็ตรวจสอบ เราก็พยายามเอาหน่วยงานของเราเข้าไปหาพยานหลักฐาน หาอะไรต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือเขา การที่คนคนหนึ่งจะต้องถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ทำความผิด มันไม่ได้เป็นแค่ความทุกข์ใจของเขาเท่านั้น แต่มันเป็นความทุกข์ใจของครอบครัว มันอาจจะสร้างความเจ็บแค้น ความอาฆาตพยาบาท นำไปสู่การล้างแค้นกัน นำไปสู่ปัญหาต่าง ๆ อีกหลายอย่าง การที่เราจะช่วยใครสักคนคนหนึ่งนั้น มันไม่ได้เพียงแค่ช่วยใครหนึ่งคน แต่ผลที่ตามมามันจะเป็นการช่วยสังคม ช่วยชุมชนให้เกิดความสามัคคีปรองดอง เกิดความเข้าใจและรู้สึกถึงความเป็นธรรมในสังคมที่เขาอยู่กันได้ ผมถึงให้ความสำคัญกับเรื่องของความเป็นธรรมในสังคม ความเหลื่อมล้ำ และการที่ไม่เท่าเทียมกันในเรื่องของสิทธิต่างๆ และที่สำคัญที่สุดคือการที่ช่วยให้คนออกจากความทุกข์ที่เขาไม่ได้ทำ”
นี่คือ วิสัยทัศน์ของ ‘พีระพันธุ์’ ในการให้ความช่วยเหลือผู้คนที่ทุกข์ยากเดือดร้อนด้วยความเชื่อมั่นว่า การช่วยคนหนึ่งคนก็จะเป็นการช่วยสังคมด้วยเช่นกัน