Friday, 18 April 2025
คลัง

'รมช.คลัง' รับ!! เงินไม่พอทำ 'สวัสดิการถ้วนหน้า' ชี้!! 'ภาษีที่จัดเก็บได้ยังห่างไกล-รัฐต้องคุมวินัยคลัง'

(12 ก.ย.66) ที่รัฐสภา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ลุกขึ้นชี้แจงถึงนโยบายพักหนี้เกษตรกร ในการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาว่า เรื่องการเกษตรเป็นเรื่องสำคัญ ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งแรก จะมีเรื่องการพักหนี้เข้าสู่ที่ประชุมเป็นเรื่องเร่งด่วนจะทำให้ได้ในไตรมาสสี่ปีนี้ โดยเป็นการพักหนี้ทั้งต้นและดอก พร้อมแผนสร้างรายได้ การปรับเปลี่ยนโครงสร้างปลูกและผลิตตามที่ตลาดโลกต้องการ และการพักหนี้ทั้งต้นทั้งดอกนี้จะทำให้เกษตรกรมีแรงทำมาหากินสร้างรายได้อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี และไม่เสียวินัยการเงินการคลัง เช่น การใช้ปุ๋ยตามการวิเคราะห์ดิน ลดจำนวนปุ๋ยเคมีและเพิ่มผลผลิตเพื่อเพิ่มรายได้ ส่วนเรื่องการใช้ดาต้าเข้ามาสนับสนุนการเพาะปลูกนั้น เราจำเป็นต้องถ่ายทอดองค์ความรู้ให้เกษตรกรปรับใช้ให้มีประสิทธิภาพควบคู่ไปกับการให้ความรู้เกษตรกรทั่วไป

นายกฯ กล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นเรื่องหมูเถื่อนที่เข้ามานั้น ตนได้รับฟังปัญหานี้มาก่อนแล้วเป็นปัญหาใหญ่ที่ลามไปทั่วประเทศจะเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือเพื่อหาแผนสั่งการต่อไป ขณะที่เรื่องของรายได้ครูและข้าราชการนั้นถือเป็นภาคส่วนสำคัญในการดูแลประชาชน ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญ และรับปากว่าจะไปดูแลเรื่องรายได้ให้เหมาะสมกับงบประมาณโดยรักษาไว้ซึ่งวินัยการเงินการคลัง

ด้านนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ชี้แจงว่า การแก้ปัญหาการพักหนี้เกษตรกร สมาชิกหลายท่านอภิปรายให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ตนในฐานะรมช.คลัง รวมถึงนายกฯ เน้นย้ำการเดินหน้าเรื่องการพักหนี้ เราเตรียมการล่วงหน้าไปมากแล้ว โดยเชื่อมั่นว่าภายในไตรมาสนี้จะเดินหน้าแก้ปัญหาเรื่องการพักหนี้เกษตรได้ การพักหนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะต่อชีวิตให้พี่น้องภาคการเกษตร หลังจากนั้นรัฐบาลจะมีโครงการอีกจำนวนมาก พร้อมกับวางเป้าเพิ่มมูลค่าทางเกษตรภายใน 4 ปี เพื่อให้เกษตรกรลืมตาอ้าปากได้อย่างแท้จริง รวมถึงจะมีการเจรจาการค้าเอฟทีเอกับหลายๆประเทศเพื่อเปิดประตูการค้า เพราะรัฐบาลมองสถานการณ์เอญนีโญที่จะเกิดขึ้นเป็นโอกาส เพราะจะเกิดภาวะขาดแคลนด้านอาหารจำนวนมากในโลก ถ้าประเทศไทยสร้างความแข็งแกร่งด้านการเกษตรได้ เราจะกลับมาเป็นครัวโลกได้อย่างเต็มภาคภูมิ เกษตรกรจะลืมตาอ้าปากได้

นายจุลพันธ์ กล่าวต่อว่า ส่วนการพูดถึงสวัสดิการถ้วนหน้า เราต้องตื่นจากความฝันและอยู่กับความเป็นจริง เนื่องจากจีดีพีของไทยต่ำกว่าประเทศที่ทำสวัสดิการถ้วนหน้ามาก ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในสภาวะที่การจัดเก็บภาษี ยังไม่สามารถอยู่ในจุดที่เราจะทำสวัสดิการถ้วนหน้าได้จริงๆ เราเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลกันมาช่วงหนึ่ง ทราบดีว่าข้อจำกัดคืออะไร ตนอยากถามกลับว่าหากท่านต้องการให้ทำสวัสดิการถ้วนหน้า ท่านคาดว่าจะเอางบประมาณมาจากไหน หรือท่านจะเอาเงินมาจากการขายทรัพย์สินของรัฐมาทำสวัสดิการถ้วนหน้า หรือจะขายกองทุน กู้แบงก์ แต่สำหรับรัฐบาลนี้เราตระหนักเรื่องวินัยการเงิน การคลัง ฉะนั้น เราคงจะทำแบบนั้นไม่ได้

“ด้วยภาระของรัฐบาลปัจจุบันหากทำสวัสดิการถ้วนหน้าจะเกิดปัญหาขึ้นได้ในอนาคตอันใกล้ ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีงบประมาณมากเพียงพอ ที่จะรองรับการจัดสวัสดิการถ้วนหน้า สิ่งสำคัญที่ทุกท่านทราบคือรัฐจะต้องจัดเก็บภาษีได้มากขึ้น ยืนยันว่ารัฐบาลมีความตั้งใจเดินหน้าสวัสดิการโดยรัฐให้กับประชาชนในระดับที่เหมาะสม และจะทำเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แน่นอน” รมช.คลัง กล่าว

‘แบงก์ชาติ’ ชี้!! ‘เศรษฐกิจโลก’ ยังมีความเสี่ยงสูง แนะคลังสร้างกันชนรับมือ หลังหนี้สาธารณะ-ครัวเรือนพุ่ง

(30 ต.ค. 66) นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2567 มีความเสี่ยงต่อการขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ระบุว่า จะเป็นการฟื้นตัวช้าและไม่ทั่วถึง ในระยะปานกลางขยายตัวได้ในระดับ 3% เป็นการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 30 ปี เป็นระดับที่ไม่สวยหรูนัก

ทั้งนี้ ปัจจัยหลักมาจากเศรษฐกิจจีนชะลอตัว รวมทั้งความเสี่ยงใหม่ เช่น ห่วงโซ่อุปทาน ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ที่ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงาน จึงเป็นความเสี่ยงที่ประเมินผลต่อเศรษฐกิจที่มีความยากกว่าในอดีต เพราะมองผลข้างเคียงไม่ออก และคาดเดาไม่ได้

ดังนั้น ในเวทีโลกจึงห่วงเรื่องเสถียรภาพของเศรษฐกิจในแต่ละประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะไอเอ็มเอฟ ที่แนะนำว่าแต่ละประเทศ ควรมุ่งเน้นทำนโยบาย ดูแลอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบ เพราะผลจากสงคราม อาจทำให้เกิด Inflation Shock ที่เคยดูแลเงินเฟ้อ ก็อาจจะกลับพุ่งขึ้นมาอีก รวมทั้งสร้างกันชนทางภาคการคลัง จากช่วงที่ผ่านมาในแต่ละประเทศมีการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคการคลังกันมาก จึงควรมุ่งเน้นลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ เร่งปรับหนี้สาธารณะให้ลดลง เพื่อเตรียมรับมือ shock ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต พร้อมกับดูแลเสถียรภาพด้านการเงินไปด้วย และมุ่งแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างระยะยาว เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล และ ธุรกิจสีเขียว

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ในส่วนของไทย แม้เสถียรภาพโดยรวมจะโอเค แต่ก็ชะล่าใจไม่ได้ เพราะมีบางประเด็นที่โอเค และบางเรื่องที่โอเคน้อยหน่อย เช่น เสถียรภาพต่างประเทศอยู่ในระดับดี ทั้งดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล หนี้ต่างประเทศไม่สูง ทุนสำรองระหว่างประเทศสูง ฐานะธนาคารพาณิชย์แข็งแกร่ง ส่วนที่ต้องระมัดระวัง คือ ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงถึง 90.7% ต่อจีดีพี แม้จะลดจากช่วงที่สูงที่สุดคือ 94% แต่ก็ยังสูง และอยากให้กลับลดลงมาอยู่ในระดับเกณฑ์ที่สากล 80% รวมทั้งหนี้สาธารณะในระดับ 61.7% ต่อจีดีพี ที่ถือว่าสูง

ขณะที่เสถียรภาพตลาดทุนที่ผ่านมามีเงินทุนไหลออกตั้งแต่ต้นปี -8.4% หรือมีเงินทุนไหลออกกว่า 8.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ผ่านตลาดหุ้นและพันธบัตร สวนทางกับประเทศอื่น สูงสุดในรอบ 10 ปี และสูงเป็นที่ 2 รองจากที่เคยไหลออกสูงสุด 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนก็มีความผันผวน 8-9% สูงกว่าอดีตและประเทศเพื่อนบ้าน เป็นรองแค่ประเทศเกาหลีใต้ที่ผันผวน 12%

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวอีกว่า มีความเสี่ยงที่ Credit Rating Agency’s จี้จุดประเทศไทย มีโอกาสปรับมุมมองจากเสถียรภาพ เป็นมุมมองเชิงลบ (Negative) หากนโยบายภาคการคลังมีความเสื่อม ดังนั้นควรมุ่งลดรายจ่าย ทยอยปรับลดการขาดดุล ปรับลดหนี้สาธารณะ มีมาตรการเพิ่มรายได้ ซึ่งล่าสุดมีบางบริษัทให้ความกังวลภาระหนี้ต่องบประมาณ ไม่เกิน 12% ซึ่งปัจจุบันไทยอยู่ในระดับ 10% กว่า

“หนี้สาธารณะยอมรับว่าวิ่งไปเยอะจากช่วงก่อนโควิดในระดับ 40% ต่อจีดีพี ทุกประเทศก็มุ่งดูเรื่องเสถียรภาพ จะบอกว่าเราไม่แคร์เลยก็คงไม่เหมาะ หากมองว่าความเสี่ยงเยอะ ก็ควรต้องเก็บลูกกระสุนไว้หรือเปล่า ซึ่งพื้นที่ในการทำนโยบาย (Policy Space) เราจะไม่เห็นความสำคัญของมัน จนกว่าจะหมด หรือมันไม่มี” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

'รมว.คลัง' ปัดตอบ 'กฤษฎา' ทิ้งเก้าอี้ เพราะไม่ให้เกียรติ ยัน!! วิธีทำงานมีเหตุผล ด้าน 'เผ่าภูมิ' ย้ำไม่ขัดแย้ง

(14 พ.ค.67) ที่ มรภ.เพชรบุรี อ.เมือง จ.เพชรบุรี นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมคณะมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) กรณีที่นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ อดีตรมช.คลังระบุเหตุผลในจดหมายลาออกว่า เป็นเพราะไม่ให้เกียรติกันในการทำงาน ว่า ขออนุญาตยังไม่ให้ความเห็น ต้องขอเวลาอีกนิด ส่วนความคืบหน้าการนัดหมายพูดคุยกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ใกล้ถึงเวลานัดหมายเพื่อพูดคุยกัน ขอย้ำว่าทุกอย่างพูดคุยกันได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า ได้อ่านจดหมายลาออกแล้วรู้สึกอย่างไร นายพิชัย กล่าวว่า “ก็เข้าใจได้ และวิธีการทำงานของผมมีเหตุและผลอยู่” เมื่อถามย้ำว่าก่อนหน้านี้ที่ได้พูดคุยกับนายกฤษฎา ให้ความเห็นไว้ อย่างไรบ้าง นายพิชัยกล่าวย้ำว่า เรื่องนี้ไม่สามารถตอบในขณะนี้ได้ และไม่ว่าเหตุผลที่เขียนในจดหมายลาออกเป็นอย่างไร ก็ไม่เป็นไร

ด้านนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง ให้สัมภาษณ์ว่า ไม่ขอความเห็นในเรื่องดังกล่าวแต่ส่วนตัวไม่มีปัญหากัน พอรู้จักกันมาเป็น 10 ปีตั้งแต่สมัยที่ตนยังทำงานอยู่ที่ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ส่วนเรื่องการแบ่งงานใหม่ หลังจากที่นายกฤษฎา ลาออก ยังไม่ได้ดำเนินการอะไร

'รมว.คลัง' นัดหารือ 'แบงก์ชาติ' ปมแบงก์เข้มงวด 'เงินกู้ซื้อบ้าน' เชื่อ!! ผ่อนเกณฑ์กู้ในภาวะนี้ ไม่ได้เอื้อคนซื้ออสังหาฯ ไปเก็งกำไร

(11 ก.ค.67) Business Tomorrow เผยว่า นาย พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน หลังได้ปาฐกถาพิเศษ 'พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ให้ก้าวไกลอย่างยั่งยืน' ที่งาน EnCo ฉลองครบรอบ 20 ปีจัดสัมมนาอสังหาริมทรัพย์ใหญ่แห่งปีร่วมขับเคลื่อนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทย ให้ก้าวไกลอย่างยั่งยืน ว่า จะหารือกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเรื่องการผ่อนปรนมาตรการ LTV หรือสัดส่วนเงินกู้ต่อมูลค่าบ้าน

นายพิชัย กล่าวยืนยันว่า “ไม่เชื่อว่าการผ่อนเกณฑ์เงินกู้จะทำให้คนซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อเก็งกำไร ในภาวะที่ผู้บริโภคง่อยเปลี้ยเสียขา จากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมไม่ดี และครัวเรือนมีหนี้สินสูงเกิน 90 % ของจีดีพี ทั้งหนี้เสียของภาคอสังหาริมทรัพย์ก็สูงและมีความเสี่ยงที่จะสูงขึ้นไปอีก”

นายพิชัยยังเรียกร้องให้ธนาคารพาณิชย์ปรับโครงสร้างหนี้ให้คนผ่อนหนี้เงินกู้บ้านได้ยาวขึ้น โดยธนาคารอาคารสงเคราะห์ของรัฐบาลได้นำร่องแล้วซึ่งได้เปิดให้คนกู้ผ่อนหนี้ได้ถึงอายุ 80 ปี และหากเป็นราชการเกษียณก็ให้ยาวถึง 85 ปี

>> เกณฑ์ LTV เปิดทางให้ผู้กู้บ้านหลังแรกอยู่แล้ว
ทั้งนี้ เมื่อเดือนเมษายน นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงกรณีที่มีภาคเอกชนขอให้พิจารณาผ่อนคลายเรื่อง มาตรการควบคุมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย หรือ LTV นั้น ว่า “ปัจจุบันเกณฑ์ LTV เปิดทางให้ผู้กู้สามารถเป็นเจ้าของบ้านหลังแรกได้อยู่แล้ว โดยผู้กู้สามารถกู้ได้สูงสุด 100-110% ถ้ารวมสินเชื่อเพื่อการตกแต่งบ้าน

ขณะที่บ้านหลังที่ 2 หรือ 3 สัดส่วน LTV สัดส่วนการปล่อยสินเชื่อให้อยู่ที่ระดับ 80-90% ถือว่าเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่อยู่ 60-70% ก็มี เพราะฉะนั้นอาจจะไม่ใช่เรื่องของ LTV แต่เป็นเรื่องของความเสี่ยงของผู้ที่เข้ามาขอสินเชื่อมากกว่า ดังนั้น การปรับเกณฑ์ LTV อาจจะแก้ไขไม่ตรงจุด”

>> ต่างชาติเช่าอสังหาฯ 99 ปี?
ส่วนที่งานสัมมนาวันพุธ (10 ก.ค.67) นายพิชัย ยังกล่าวถึงแนวคิดให้ต่างชาติเช่าอสังหาริมทรัพย์ หรือ ทรัพย์อิงสิทธิได้ยาว 99 ปีว่า รัฐบาลต้องการเอาธุรกิจใต้ดินขึ้นมาบนดิน และเรื่องนี้กรรมสิทธิ์ในที่ดินยังเป็นของคนไทย

นายอุทัย อุทัยแสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทแสนสิริ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ตนออกความเห็นเรื่องแนวคิดสัญญาเช่าที่ดิน 99 ปีไม่ได้ 

นายอุทัยเป็นผู้บริหารบริษัทที่นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน เคยเป็นผู้บริหารมาก่อน และนายกฯกำลังผลักดันเรื่องแก้กฎหมายเพื่อให้ต่างชาติเช่าที่ดินได้มากกว่า 30 ปีตามกฎหมายปัจจุบัน

ด้านนายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ระบุว่าการขออนุญาตต่าง ๆ มีขั้นตอนยุ่งยากเกินไป และเต็มไปด้วยการคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้บริโภคบางครั้งก็เรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์อย่างไม่สมเหตุสมผล

ด้าน ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาค กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด เรียกร้องให้ภาคการเงินให้สินเชื่อบ้านดอกเบี้ยคงที่ยาว 30 ปี อย่างที่มีในประเทศญี่ปุ่น

ขณะที่นาย ศิรศักดิ์ จันเทรมะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทเอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ จำกัด หรือ เอนโก้ กล่าวถึงธุรกิจของบริษัทว่า เอนโก้ คาดการณ์รายได้ภายในปี 2570 จะต้องมากกว่า 3,000 ล้านบาท พร้อมเป้าหมายในระยะสั้น จะต้องมีผลตอบแทนจากสินทรัพย์อย่างน้อยร้อยละ 5 ต่อปี และตั้งเป้าหมายแบ่งสัดส่วนกำไร สนับสนุนสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม อย่างน้อยร้อยละ1 ของกำไรสุทธิต่อปี นอกจากนี้ยังตั้งเป้าหมายในระยะยาว ทำกำไรสุทธิมากกว่า 800 ล้านบาทภายในปี 2573 โดยจะเป็นผลมาจากธุรกิจเดิม และโอกาสดำเนินธุรกิจใหม่ที่สอดคล้องกับกลุ่มปตท. เช่น นำธุรกิจปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์มาประยุกต์ใช้ในพื้นที่ที่เอนโก้บริหารจัดการ

ปัจจุบันเอนโก้ดำเนินธุรกิจใน 3 กลุ่มหลักได้แก่ ธุรกิจบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์, บริหารจัดการพื้นที่ และ ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

แนะเพิ่มช่องทางหาเงินเข้ารัฐ ภาษีลาภลอย ช่วยรัฐบาลได้

(29 ต.ค. 67) ไม่แปลกนักที่ในห้วงระยะเวลานี้จะมีข่าวการเตรียมจัดเก็บค่าธรรมเนียม ภาษี หรือรายได้อื่น ๆ จากทางภาครัฐ เนื่องจากการทำรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย

แต่มีอีก 1 ช่องทางในการสร้างรายได้อีก 1 ช่องทาง ที่เหมือนจะหลงลืมกันไป นั่นก็คือ ‘ภาษีลาภลอย’

ภาษีลาภลอย คือ ภาษีที่จะจัดเก็บจากผู้ได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็น ทางด่วน รถไฟฟ้า สนามบิน หรืออื่น ๆ

เหตุผลที่มีแนวคิดในการจัดเก็บ เนื่องจากบรรดาที่ดินที่ได้รับประโยชน์เหล่านี้ อยู่ดี ๆ ก็มีมูลค่าสูงขึ้นจากการลงทุนของทางภาครัฐ 

ขอย้ำอีกครั้งว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เนื่องจากก่อนหน้านี้เคยมีการเตรียมเสนอกฎหมายที่มีแนวคิดคล้าย ๆ กันมาแล้ว ร่างพระราชบัญญัติภาษีการได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐพ.ศ. …

โดยกฎหมายฉบับดังกล่าวมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1.ผู้มีหน้าที่เสียภาษี ได้แก่ บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินหรือครอบครองที่ดินอันเป็นทรัพย์สินของรัฐหรือเป็นเจ้าของห้องชุดที่ใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ที่มีมูลค่าสูงกว่า 50 ล้านบาทและผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นเจ้าของห้องชุดรอการจำหน่ายซึ่งอยู่รอบพื้นที่ที่มีโครงการฯ

2.โครงการฯ ที่จัดเก็บภาษี คือ โครงการรถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ท่าเรือ สนามบิน โครงการทางด่วนพิเศษ และโครงการอื่น ๆ ที่กำหนดในกระทรวง

3.การจัดเก็บภาษีแบ่งเป็น 2 กรณี ดังนี้
3.1 ในระหว่างการดำเนินการจัดทำโครงการฯ จะจัดเก็บภาษีจากการขายหรือโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินหรือห้องชุดซึ่งตั้งอยู่รอบพื้นที่โครงการฯ ในรัศมีที่กำหนด
3.2 เมื่อการก่อสร้างโครงการฯ แล้วเสร็จ จะจัดเก็บภาษีเพียงครั้งเดียวจาก
1) ที่ดินหรือห้องชุดเฉพาะส่วนที่ใช้ประชาชนในเชิงพาณิชย์ที่มีมูลค่าสูงกว่า 50 ล้านบาท (ยกเว้นภาษีให้แก่ที่ดินหรือห้องชุดที่ใช้เพื่อพักอาศัยและที่ดินที่ใช้ประกอบเกษตรกรรม)
2) ห้องชุดของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่รอจำหน่าย ซึ่งอยู่รอบพื้นที่ที่มีโครงการฯ

4.พื้นที่จัดเก็บภาษี กำหนดขอบเขตไว้ไม่เกินรัศมี 5 กิโลเมตร รอบพื้นที่โครงการฯ ทั้งนี้ กำหนดให้คณะกรรมการพิจารณากำหนดพื้นที่จัดเก็บภาษี ซึ่งมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน และผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นกรรมการและเลขานุการออกประกาศกำหนดพื้นที่ที่จะจัดเก็บภาษีในแต่ละโครงการฯ

5.หน่วยงานจัดเก็บภาษี ได้แก่ กรมที่ดินและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีโครงการฯตั้งอยู่

6.ฐานภาษีเพื่อการคำนวณภาษี ให้จำนวนจากส่วนต่างของมูลค่าที่ดินหรือที่ขึ้นระหว่างวันที่รัฐเริ่มก่อสร้างโครงการฯ และมูลค่าในวันที่การก่อสร้างโครงการฯ แล้วเสร็จ

7.การคำนวณภาษีให้ใช้ฐานภาษีของที่ดินหรือท้องที่ชุดคำนวณได้คุมด้วยอัตราภาภาษี

8.อัตราภาษี กำหนดเพดานอัตราสูงสุดของภาษีที่กรมที่ดินและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจจัดเก็บได้ ไม่เกินร้อยละ 5 ของฐานภาษี ทั้งนี้ อัตราภาษีที่ใช้จัดเก็บจริงจะกำหนดในพระราชกฤษฎีกา

9.ภาษีที่จัดเก็บได้ให้นำส่งเงินภาษีเข้าคลังเป็นรายได้ของแผ่นดิน

จะเห็นได้ว่าการเอาภาษีตัวนี้มาปัดฝุ่นอีกครั้ง สอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบันอย่างยิ่ง เนื่องจากหลายโครงการโครงสร้างพื้นฐานอยู่ระหว่างการพัฒนา ซึ่งรายได้ส่วนนี้จะสามารถนำมาใช้เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นด้านอื่น ๆ ของประเทศได้อีกด้วย

‘พิชัย’ เผย ขอไทยเตรียมความพร้อม 5 ปี ก่อนเข้าร่วม OECD เน้นภาษีเงินได้นิติฯ

(30 ต.ค. 67) นายมาทีอัส คอร์มันน์ เลขาธิการองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development : OECD) เข้าพบหารือกับนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก่อนจะเดินทางเข้าพบ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และรมว.คลัง กล่าวภายหลังการหารือว่า จากการหารือประเทศไทยยังมีงานต้องทำอีกหลายอย่างให้เสร็จสิ้นภายในช่วงเวลา 5 ปี ก่อนที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิก OECD อย่างเป็นทางการ ทั้งเรื่องกฎหมาย และแนวทางการปฏิบัติด้านต่าง ๆ ที่จะต้องสอดคล้องกับมาตรฐานของ OECD โดยเฉพาะเรื่องของนโยบายทางด้านภาษี 

ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) อยู่ระหว่างการจัดทำมาตรการทางด้านภาษี เพื่อให้สอดคล้องกับกติกาภาษีใหม่ของ OECD ซึ่งได้ประกาศการบรรลุข้อตกลงเรื่องอัตราการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำ (Global Minimum Tax) จากบริษัทข้ามชาติทั่วโลก ในอัตรา 15% ซึ่งคาดว่าอย่างเร็วที่สุดในการประชุมคณะกรรมการบีโอไอ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 นี้ จะมีการหารือถึงมาตรการดังกล่าว

“เรื่องของภาษีเป็นความจำเป็น เพราะไทยจะต้องทำตามกติกาภาษีใหม่ที่ให้เก็บ 15% กับบริษัทขนาดใหญ่ เพราะมาตรการเดิมของบีโอไอ ให้สิทธิประโยชน์ด้านการยกเว้นภาษี แต่ท้ายที่สุดบริษัทเหล่านั้นก็ต้องเสียภาษีต้นทาง ดังนั้นจึงอยากเซตกติกาใหม่กับบีโอไอ เช่น ถ้าลงทุนพัฒนาทักษะคน หรือใช้เทคโนโลยีสีเขียว ก็มีมาตรการออกมาช่วยโดยจะออกมาเป็นกฎหมายที่จ่ออยู่แล้ว เพื่อให้มีผลใช้บังคับได้ในปี 2568” นายพิชัย ระบุ

นายพิชัย กล่าวว่า ในส่วนประเด็นด้านการเติบโต และด้านศักยภาพของเศรษฐกิจไทยนั้น จากการหารือก็เห็นว่าเศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วโลกได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ดังนั้นการฟื้นตัวในระยะต่อไปต้องฟื้นตัวอย่างมีประสิทธิภาพ และมีคุณภาพ ซึ่ง OECD ก็มีตัวอย่างของประเทศพัฒนาแล้ว ที่ประเทศไทยสามารถนำวิธีคิด และวิธีทำงานมาแลกเปลี่ยนกันต่อไป 

“วันนี้จะอยู่แบบเดิมไม่ได้ต้องอยู่แบบประสิทธิภาพ และคุณภาพ ซึ่งวิธีคิด และวิธีทำงานที่สอดคล้องกันของประเทศสมาชิกจะช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนกันได้ง่ายขึ้น และเป็นผลดีกับไทยที่มีปัญหาการทำงาน มีปัญหาซ้ำซ้อนเรื่องค่าใช้จ่ายภาครัฐมาก โดยเรื่องทั้งหมดนั้น เรามีงานต้องทำอีกมากตามเป้าหมายการทำงานในช่วง 5 ปีจากนี้” นายพิชัย ระบุ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top