Saturday, 26 April 2025
คลองปานามา

'ทรัมป์' ขู่ยึดคลองปานามาคืน จวกผู้นำปานามาคิดค่าผ่านทางแพงไป

(23 ธ.ค.67) โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้แสดงท่าทีขู่ทวงคืนคลองปานามาให้กลับมาอยู่ภายใต้การควบคุมของสหรัฐฯ พร้อมทั้งกล่าวหาปานามาว่าเรียกเก็บค่าธรรมเนียมที่สูงเกินไปสำหรับการใช้คลองในการเดินเรือสินค้าและเรือทหารไปยังทวีปอเมริกากลาง ขณะที่เตือนว่าจีนนั้นมีอิทธิพลเหนือคลองปานามา

ท่าทีดังกล่าวของทรัมป์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 ธันวาคมที่ผ่านมา ขณะกล่าวกับกลุ่มผู้สนับสนุนในงาน AmericaFest ซึ่งจัดโดยกลุ่มเคลื่อนไหวอนุรักษนิยม Turning Point ที่เมืองฟีนิกซ์ รัฐแอริโซนา โดยทรัมป์ประกาศว่าจะไม่ยอมให้คลองปานามาตกไปอยู่ในมือของบุคคลที่ไม่สมควร

“เราโดนโกงที่คลองปานามาเหมือนกับที่โดนโกงที่อื่น ๆ ค่าธรรมเนียมที่ปานามาเรียกเก็บนั้นไร้สาระและไม่ยุติธรรมอย่างยิ่ง การฉ้อโกงประเทศของเราจะยุติลงทันที” ทรัมป์กล่าว โดยอ้างถึงช่วงเวลาที่เขาจะเข้ารับตำแหน่งในเดือนหน้า

ทรัมป์กล่าวว่า คลองปานามาเคยเป็นของสหรัฐฯ แต่ถูกส่งมอบให้ปานามาควบคุมในปี 1999 ภายใต้การลงนามของจิมมี คาร์เตอร์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งทรัมป์กล่าวว่า การส่งมอบในครั้งนั้นเป็นการขายในราคา 1 ดอลลาร์สหรัฐ และเป็นการกระทำที่โง่เขลา

ทรัมป์ยังย้ำว่า การมอบคลองปานามาให้ปานามาและประชาชนชาวปานามา ควรเป็นการมอบให้รัฐบาลปานามาบริหารจัดการเพียงประเทศเดียว ไม่ใช่ให้จีนหรือประเทศอื่นเข้ามามีบทบาท

“หากหลักการทั้งทางศีลธรรมและกฎหมายของการมอบของขวัญนี้ไม่ได้รับการปฏิบัติตาม เราจะเรียกร้องให้คืนคลองปานามาให้กับเราโดยทันทีและไม่ลังเล” ทรัมป์กล่าว

ก่อนหน้านี้ ทรัมป์ได้โพสต์ข้อความบน Truth Social ว่าคลองปานามาเป็น ‘ทรัพย์สินสำคัญของชาติ’ สำหรับสหรัฐฯ และหลังจากร่วมงานที่รัฐแอริโซนา เขายังโพสต์ภาพธงชาติสหรัฐฯ เหนือผืนน้ำ พร้อมข้อความว่า “ยินดีต้อนรับสู่คลองสหรัฐฯ!”

ด้าน โชเซ ราอูล มูลิโน ประธานาธิบดีปานามา ตอบโต้ท่าทีของทรัมป์ โดยยืนยันว่า 'ทุกตารางเมตร' ของคลองปานามาและพื้นที่โดยรอบเป็นของประเทศปานามา และอำนาจอธิปไตยของปานามาไม่สามารถต่อรองได้

สำหรับคลองปานามามีความยาว 82 กิโลเมตร เชื่อมต่อมหาสมุทรแอตแลนติกกับมหาสมุทรแปซิฟิก และเป็นเส้นทางหลักสำหรับการขนส่งสินค้าระหว่างทวีป โดยคลองแห่งนี้สร้างขึ้นตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1900 และอยู่ภายใต้การควบคุมของสหรัฐฯ จนถึงปี 1977 ก่อนจะมีการลงนามสนธิสัญญาตอร์ริโฮส-คาร์เตอร์ (Torrijos-Carter Treaties) ซึ่งรับประกันการส่งมอบคลองให้แก่ปานามาในปี 1999

ทุกปีมีเรือมากถึง 14,000 ลำที่เดินทางผ่านคลองปานามา รวมถึงเรือบรรทุกสินค้าและเรือรบ โดยสหรัฐฯ เป็นผู้ใช้งานคลองนี้มากที่สุด โดยกว่า 72% ของการขนส่งผ่านคลองปานามาเป็นการขนส่งระหว่างท่าเรือสหรัฐฯ

ทรัมป์ปิ๊งไอเดีย เปลี่ยนชื่อ 'อ่าวเม็กซิโก' เป็น 'อ่าวอเมริกา' เผยฟังไพเราะดี แย้มแผนขยายดินแดนปานามา-กรีนแลนด์

(8 ม.ค.68) โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ สร้างกระแสฮือฮาอีกครั้งเมื่อวันอังคาร (7 ม.ค.) ด้วยการประกาศแผนเปลี่ยนชื่อ 'อ่าวเม็กซิโก' เป็น 'อ่าวอเมริกา' โดยถือเป็นอีกหนึ่งนโยบายที่เขาเสนอเพื่อสะท้อนอัตลักษณ์ของสหรัฐฯ ก่อนเข้ารับตำแหน่งในปลายเดือนนี้ 

พร้อมกันนั้น ทรัมป์ยังเปิดเผยถึงความเป็นไปได้ในการใช้กำลังทหารหรือมาตรการทางเศรษฐกิจเพื่อครอบครอง 'คลองปานามา' และ 'กรีนแลนด์' ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์การขยายดินแดนที่เขาพยายามผลักดันตั้งแต่ชนะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 5 พ.ย.  

ทรัมป์ยังกล่าวถึงแนวคิดการผนวก 'แคนาดา' ให้กลายเป็นรัฐหนึ่งของสหรัฐฯ พร้อมระบุว่าจะกดดันพันธมิตรในองค์การนาโต (NATO) ให้เพิ่มงบประมาณด้านกลาโหม และย้ำถึงความมุ่งมั่นในการเปลี่ยนชื่อ 'อ่าวเม็กซิโก'  

แม้ยังมีเวลาอีกสองสัปดาห์ก่อนเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ แต่ทรัมป์ได้เริ่มร่างนโยบายต่างประเทศเชิงรุก โดยไม่ได้คำนึงถึงหลักการทางการทูตหรือความกังวลจากประเทศพันธมิตร  

เมื่อถูกถามในงานแถลงข่าวที่รีสอร์ตในฟลอริดา ว่าจะรับประกันได้หรือไม่ว่าจะไม่ใช้กำลังทหารหรือมาตรการทางเศรษฐกิจเพื่อยึดคลองปานามาและกรีนแลนด์ ทรัมป์ตอบว่า  

“ผมรับประกันไม่ได้ แต่สิ่งเหล่านี้จำเป็นต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของเรา”  

นอกจากนี้ ทรัมป์ยังวิจารณ์การที่สหรัฐฯ ต้องสนับสนุนแคนาดาโดยไม่ได้รับผลตอบแทน พร้อมกล่าวถึงเส้นพรมแดนระหว่างสองประเทศว่าเป็นเพียง 'เส้นที่ใครบางคนขีดขึ้นมา'  

เขายังขู่จะตั้งกำแพงภาษีกับเดนมาร์ก หากเดนมาร์กไม่ยอมขายกรีนแลนด์ให้สหรัฐฯ โดยอ้างว่ากรีนแลนด์มีความสำคัญต่อความมั่นคงของชาติ ขณะที่ก่อนการแถลงการณ์ ดอน จูเนียร์ บุตรชายของทรัมป์ได้เดินทางเยือนกรีนแลนด์เป็นการส่วนตัว  

ด้านเดนมาร์กแสดงจุดยืนชัดเจน โดยเมตเต เฟรเดอริกเซน นายกรัฐมนตรีเดนมาร์ก ย้ำว่า 'กรีนแลนด์' ซึ่งเป็นดินแดนปกครองตนเองในราชอาณาจักรเดนมาร์ก ไม่ได้มีไว้ขาย  

“การใช้มาตรการทางการเงินมาต่อสู้กันไม่ใช่ทางออกที่เหมาะสม เมื่อเรายังเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนที่ใกล้ชิด” เฟรเดอริกเซนกล่าวเพื่อตอบโต้แถลงการณ์ของทรัมป์ในคืนวันอังคารที่ผ่านมา

เปิดหลักฐาน!! ยันจีนไม่เคยคุมคลองปานามา หลังทรัมป์กล่าวหาปักกิ่งบงการค่าผ่านทาง

(23 ม.ค.68) หลังโดนัลด์ ทรัมป์ กลับมาดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐสมัย 2 เพียงไม่กี่วัน ได้มีคำสั่งให้นายมาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีการทรวงการต่างประเทศสหรัฐ เตรียมเดินทางเยือนปานามาภายในสัปดาห์หน้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางเยือนลาตินอเมริกา สะท้อนท่าทีจริงจังของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ต้องการยึดคลองปานามาคืน นอกจากนี้ รูบิโอยังมีกำหนดที่จะเดินทางไปเยือนกัวเตมาลา เอลซัลวาดอร์ และคอสตาริกาด้วย

การเดินทางครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกของรูบิโอในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศ หลังจากเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (21 ม.ค.) การเยือนครั้งนี้เป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องของปธน.ทรัมป์ที่ต้องการสกัดกั้นการอพยพผิดกฎหมายผ่านเส้นทางอเมริกากลาง และผลักดันให้ผู้อพยพเดินทางกลับประเทศต้นทาง

รายงานข่าวระบุว่า ตามธรรมเนียมแล้ว รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ มักจะเลือกเยือนประเทศพันธมิตรสำคัญทางยุทธศาสตร์เป็นทริปแรก เช่น แอนโทนี บลิงเคน ที่เลือกไปญี่ปุ่น หรือเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน ที่เลือกไปเยอรมนี

ทรัมป์ได้ประกาศจุดยืนว่าต้องการให้สหรัฐฯ กลับมาควบคุมคลองปานามา หากไม่มีการลดค่าธรรมเนียมผ่านคลองสำหรับเรือรบและเรือพาณิชย์ พร้อมทั้งกล่าวหาอย่างซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า จีนเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการดำเนินการคลองแห่งนี้ ขณะที่ประธานาธิบดีปานามารีบออกมาตอกย้ำอธิปไตยเหนือคลองปานามา และยืนยันว่าจีนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ ในการบริหารจัดการคลอง

จากข้อมูลซึ่งเป็นเปิดเผยต่อสาธารณะพบว่า คลองปานามาซึ่งมีความยาว 82 กิโลเมตร (51 ไมล์) เชื่อมระหว่างมหาสมุทรแอตแลนติกและแปซิฟิก ถูกสร้างขึ้นและเป็นของสหรัฐฯ ในช่วงต้นทศวรรษปี 1900 ก่อนที่จะถูกมอบให้กับปานามาในที่สุดในปี 1977 ภายใต้สนธิสัญญาที่รับประกันความเป็นกลางปานามา โดยในปี 2021 ข้อตกลงที่อนุญาตให้ Panama Ports Company ดำเนินการต่อไปได้รับการขยายเวลาออกไปอีก 25 ปี

สหรัฐอเมริกาเป็นลูกค้าผู้ใช้คลองปานามารายใหญ่ที่สุด และรับผิดชอบการขนส่งสินค้าประมาณสามในสี่ส่วนในแต่ละปีจีนตามมาเป็นอันดับสอง ขณะที่ข้อมูลตั้งแต่เดือน ต.ค. 2023 ถึง ก.ย. 2024 จำนวนเรือขนส่งสินค้าของจีนที่เดินทางมาที่คลองปานามาคิดเป็น 21.4% ปริมาณการขนส่งทางเรือทั้งหมด ซึ่งมากเป็นอันดับสองรองจากสหรัฐฯ

คำกล่าวของทรัมป์ที่ว่า "จีนคุมคลองปานามาจากทั้งสองฝั่งคลอง" อาจหมายถึง การมีอยู่ของท่าเรืออยู่สองฝั่งของคลองปานามาซึ่งดำเนินการโดยบริษัทในฮ่องกง ซึ่งตลอดเส้นทางคลองปานามานั้น มีท่าเรือทั้งหมด 5 แห่งอยู่ติดกับคลองปานามา โดยมีท่าเรืออื่นๆ เป็นของบริษัทต่างชาติ รวมถึงบริษัทของสหรัฐฯ ด้วย ท่าเรือ 2 แห่งจากที่มีทั้งหมด 5 แห่งบริเวณใกล้เคียงกับคลองปานามา ดำเนินการโดยบริษัทฮัตชิสัน พอร์ต โฮลดิ้งส์ มาตั้งแต่ปี 1997 ท่าเรือทั้ง 2 แห่งได้แก่ ท่าเรือบัลบัวที่อยู่ทางฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก และท่าเรือคริสโตบัลที่ตั้งอยู่ทางฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก

ในปี 1996 ปานามาได้ให้สัมปทานแก่บริษัทในฮ่องกงที่ชื่อ ฮัทชิสัน-วัมเปา (hutchison whampoa) ในตอนนั้นในการดำเนินการท่าเรือบัลโบอาในฝั่งแปซิฟิก และท่าเรือคริสโตบัลในฝั่งแอตแลนติก สัญญาดังกล่าวไม่ได้ทำให้ฮัทชิสัน-วัมโปอาเป็นเจ้าของท่าเรือ แต่ให้สิทธิแก่บริษัทดังกล่าวในการดำเนินการในนามของรัฐบาลปานามา

ปัจจุบันผู้ประกอบการท่าเรือนี้รู้จักกันในชื่อ Hutchison Ports ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ CK Hutchison Holdings ซึ่งมีฐานอยู่ในฮ่องกงและเป็นเจ้าของโดยมหาเศรษฐีหลี่ กาชิง (Li Ka-shing) ซึ่งบริษัท Hutchison ต่างก็เข้าไปลงทุนบริหารท่าเรือหลายแห่งทั่วโลก รวมถึงบริหารท่าเรือแหลมฉบังของไทยด้วย

อีกทั้งในปี 1999 จากการสอบสวนของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ต่อกรณีที่รัฐบาลปานามาจะมอบสัมปทานแก่ฮัทชิสัน-วัมโปอา ว่า จ้าหน้าที่ของกระทรวงได้ค้นคว้าเรื่องนี้อย่างละเอียดแล้วและ "ไม่พบหลักฐานใด ๆ ที่จะสนับสนุนข้อสรุปว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนจะอยู่ในตำแหน่งที่จะควบคุมการดำเนินงานคลอง" 

ท่ามกลางคำกล่าวของทรัมป์ที่อ้างถึงรัฐบาลปักกิ่งว่าอยู่เบื้องหลังคลองปานามา ทางด้านโฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีน เหมา หนิง กล่าวว่า “จีนไม่ได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการและการดำเนินงานของคลอง และไม่เคยแทรกแซงกิจการของคลอง”

อย่างไรก็ตาม มีความเห็นจาก ไรอัน เบิร์ก ผู้อำนวยการโครงการอเมริกาศึกษา แห่งศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศ มองว่า การบริหารท่าเรือเหล่านี้ทำให้บริษัท ซีเค ฮัตชิสัน มีข้อมูลทางยุทธศาสตร์ที่เป็นประโยชน์จำนวนมากของเรือต่าง ๆ ที่ผ่านเส้นทางนี้

"ความตึงเครียดทางด้านภูมิรัฐศาสตร์เกี่ยวกับทางด้านเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ และจีนนั้นมีเพิ่มมากขึ้น" เบิร์กกล่าว "ข้อมูลที่เกี่ยวกับเรือขนส่งสินค้าเหล่านั้นจะเป็นประโยชน์เมื่อเกิดสงครามเรื่องห่วงโซ่อุปทานเกิดขึ้น"

ถึงแม้ว่าซีเค ฮัตชิสัน จะไม่ได้มีรัฐบาลเป็นจีนเป็นเจ้าของ แต่เบิร์กมองว่า รัฐบาลสหรัฐอาจหวาดระแวงว่า รัฐบาลจีนจะสามารถเข้ามาแทรกแซงในบริษัทบริหารท่าเรือดังกล่าวได้มากน้อยเพียงใด

จีนปฏิเสธการเชื่อมโยงกับความขัดแย้ง ‘คลองปานามา’ พร้อมย้ำความสัมพันธ์อันดีกับลาตินอเมริกา บนหลักการเคารพซึ่งกันและกัน

กระทรวงการต่างประเทศจีนออกแถลงการณ์ตอบโต้สหรัฐฯ กรณีเชื่อมโยงจีนกับข้อขัดแย้งเกี่ยวกับคลองปานามา โดยระบุว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวไม่สามารถบดบังเป้าหมายที่แท้จริงของสหรัฐฯ ในการขยายอิทธิพลในภูมิภาคลาตินอเมริกาได้

แถลงการณ์ดังกล่าวมีขึ้นหลังสื่อปานามาวิพากษ์บทบาทของสหรัฐฯ ในอเมริกากลาง โดยเฉพาะแผนการตั้งฐานทัพถาวรและข้อกล่าวหาเรื่องการใช้ 'ภัยคุกคามจากจีน' เพื่อสนับสนุนนโยบายความมั่นคงของตน

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนย้ำว่า การบิดเบือนข้อมูลเกี่ยวกับจีนและคลองปานามาไม่สามารถปกปิดความต้องการของสหรัฐฯ ในการแทรกแซงภูมิภาคนี้ได้ พร้อมเรียกร้องให้สหรัฐฯ ยุติการขัดขวางความร่วมมือระหว่างจีนและประเทศในลาตินอเมริกา โดยจีนยึดมั่นในหลักความเสมอภาค ผลประโยชน์ร่วม และไม่แทรกแซงกิจการภายใน

ประธานาธิบดีปานามาได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาเรื่องการแทรกแซงจากจีน โดยยืนยันว่าไม่มีหลักฐานใด ๆ ที่บ่งชี้ถึงการกระทำดังกล่าว ขณะที่จีนสรุปว่า ความร่วมมือในภูมิภาคควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของการส่งเสริมเสถียรภาพ ความมั่นคง และการพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านความเข้าใจซึ่งกันและกัน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top