Saturday, 24 May 2025
ครูธัญ

‘ครูธัญ’ จี้ ‘รมต.ศึกษา’ ขจัดความรุนแรงในรร. หลังคลิปครูทำร้ายเด็กนักเรียนว่อนโซเชียล

(16 พ.ย. 65) นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล กล่าวถึงคลิปครูคนหนึ่ง ของโรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.หนองคาย ทำร้ายร่างกายเด็กนักเรียนอย่างรุนแรง ว่านับวันยิ่งเห็นความรุนแรงในโรงเรียนจนลืมไปว่านี่คือสถานศึกษาที่ผู้ปกครองวางใจเมื่อส่งลูกมาโรงเรียน เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นผู้กระทำกลับเป็นครูที่ละเมิดสิทธิเด็กและเยาวชน ส่งผลต่อความรุนแรงทางตรงต่อร่างกาย ตัวอย่างข่าวครูข่มขืนนักเรียน และล่าสุดครูโหดซ้อมทำร้ายนักเรียนต่อหน้านักเรียนจำนวนมาก วันนี้เราต้องตั้งคำถามเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไร ทุกครั้งที่เราพูดเรื่องความรุนแรงไม่ใช่แค่การทำร้ายร่างกายแต่ความรุนแรงนั้นบ่มเพาะในสถานศึกษาผ่านบทเรียนต่าง ๆ อีกทั้งกฎระเบียบชุดนักเรียนการไว้ทรงผมที่ไม่ส่งเสริมให้เด็กค้นหาตัวตน แต่กลับให้เด็กเรียนรู้การเป็นผู้ตาม ไม่กล้าถามไม่กล้าคิด เมื่อใครแตกแถวหรือคิดต่างก็จะมีครูทำโทษ ที่ในช่วงสามปีที่ผ่านมาข่าวได้มีการนำเสนอมากมาย เราเห็นสิ่งเหล่านี้ไม่เว้นแต่ละวัน

‘ครูธัญ’ พรรคประชาชน หนุน!! ทบทวนกฎหมาย หลัง ‘ผู้หญิงข้ามเพศ’ ที่ภูเก็ต ถูกตำรวจรวบ!! แจ้งข้อหา สร้างความเดือดร้อนรำคาญ ในที่สาธารณะ

(22 มี.ค. 68) นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวถึงเหตุการณ์การจับกุมผู้หญิงข้ามเพศจำนวน 37 รายในจังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2568 ว่าได้จุดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมต่อการใช้กฎหมายมาตรา 397 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งกำหนดโทษต่อการกระทำที่ก่อให้เกิด 'ความเดือดร้อนรำคาญในที่สาธารณะ' โดยเฉพาะในกรณีที่ส่อไปในทางล่วงละเมิดทางเพศ

จากรายงานข่าวสื่อมวลชน ตำรวจภูเก็ตเข้าควบคุมตัวกลุ่มผู้หญิงข้ามเพศในย่านซอยบางลา โดยอ้างว่าพฤติกรรมของกลุ่มดังกล่าวรบกวนและส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของจังหวัด อย่างไรก็ตาม ข้อกล่าวหานี้ก่อให้เกิดคำถามต่อสังคมว่า “อะไร” คือความเดือดร้อนรำคาญตามนิยามของกฎหมาย และการกระทำของกลุ่มผู้หญิงข้ามเพศเข้าข่ายความผิดจริงหรือไม่

นายธัญวัจน์ กล่าวว่าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 397 วรรคสอง ระบุถึงโทษสำหรับการกระทำในที่สาธารณะหรือลักษณะที่ส่อไปในทางล่วงละเมิดทางเพศ แต่เมื่อพิจารณาจากกรณีนี้ การตีความว่าการแต่งกายหรือการยืนในพื้นที่สาธารณะของผู้หญิงข้ามเพศเป็นการ 'เดือดร้อนรำคาญ' กลับสะท้อนถึงอคติทางเพศมากกว่าการกระทำผิดจริงตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับบุคคลอื่นในพื้นที่เดียวกันที่ไม่ได้ถูกดำเนินคดี

นายธัญวัจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่าสิทธิและเสรีภาพของบุคคลในพื้นที่สาธารณะ ตามรัฐธรรมนูญไทยมาตรา 28 ให้ความคุ้มครองสิทธิในชีวิตและร่างกาย รวมถึงเสรีภาพในการแสดงออกทางเพศและการแต่งกายในพื้นที่สาธารณะ ตราบใดที่การกระทำไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่นหรือผิดกฎหมายอย่างชัดเจน การใช้มาตรา 397 ในกรณีของผู้หญิงข้ามเพศที่เพียงแค่ยืนหรือเดินในพื้นที่สาธารณะ ย่อมเป็นการจำกัดเสรีภาพเกินสมควร

“การเลือกใช้กฎหมายกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยไม่มีฐานจากพฤติกรรมที่เข้าข่ายความผิดอย่างแท้จริง เป็นการตอกย้ำอคติที่ฝังรากลึกในสังคมมากกว่าการใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม การเหมารวมว่ากลุ่มผู้หญิงข้ามเพศคือ “ต้นเหตุของความเดือดร้อน” หรือ “ปัญหาภาพลักษณ์” จึงเป็นการใช้อำนาจรัฐที่สืบทอดมาจากทัศนคติอคติ ไม่ใช่การคุ้มครองสาธารณะตามหลักสิทธิมนุษยชน“ นายธัญวัจน์กล่าว

นายธัญวัจน์ ได้เสนอว่ากรณีนี้ควรเป็นจุดเริ่มต้นของการทบทวนการใช้มาตรา 397 ให้มีความชัดเจน เป็นกลาง และปราศจากการเลือกปฏิบัติ รวมถึงการพัฒนาความรู้และทัศนคติของเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศและสิทธิมนุษยชน เพื่อไม่ให้กฎหมายกลายเป็นเครื่องมือของการกดทับกลุ่มเปราะบาง

“หากมีความกังวลเรื่องภาพลักษณ์ของประเทศ การขจัดอคติในกระบวนการยุติธรรม และส่งเสริมความเท่าเทียมในพื้นที่สาธารณะต่างหาก ที่จะช่วยสร้างภาพลักษณ์เชิงบวกของประเทศไทยได้มากกว่า” นายธัญวัจน์ กล่าวทิ้งท้าย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top