ผู้ร่วมก่อตั้ง 'อนาคตใหม่' ลาขาด 'ก้าวไกล' ไร้ประชาธิปไตย ไม่ฟังความเห็นต่าง
(9 ก.พ. 66) หลังจากมีข่าวสะพัดว่า นายคริส โปตระนันทน์ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขตจตุจักร พญาไท ราชเทวี ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ และมูลนิธิเส้นด้าย เตรียมประกาศลาออกจากพรรคก้าวไกล พร้อมทีม ส.ก.อีกจำนวนหนึ่ง เพื่อไปก่อตั้งพรรคการเมืองใหม่นั้น
ล่าสุด นายคริส โปตระนันทน์ โพสต์เฟซบุ๊กถึงสาเหตุการลาออกจากสมาชิกพรรคก้าวไกลว่า สวัสดีครับประชาชนที่รักทุกท่าน วันสองวันนี้มีคนสอบถามผมเข้ามาเยอะว่า ผมยังเป็นสมาชิกพรรคก้าวไกลอยู่หรือไม่? ผมเรียนถึงทุกท่านตามตรงว่า ผมมีความภูมิใจในการเป็นส่วนหนึ่งในพรรคนี้ไม่น้อยกว่าใคร แต่ตัวผมก็ได้ลาออกจากสมาชิกพรรคก้าวไกลตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพราะเหตุผลสามประการ
1. ผมอยากจะทำการเมืองในพรรคที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ความเป็นประชาธิปไตยของพรรคยังห่างจากที่พรรคโฆษณาอีกมาก การที่ผมได้มาร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่กับคุณธนาธรเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2561 เพราะผมไม่ได้มาทำการเมืองเพื่อให้ใครได้เป็น ส.ส. หรือเพื่อให้ใครได้อำนาจ หรือมาทำการเมืองเพื่อผลักดันวาระทางการเมืองของใครบางคน
ผมอยากได้พรรคการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงคือพรรคการเมืองที่ประชาชนเป็นเจ้าของ
เวลาจากวันนั้นถึงวันผ่านมา 5 ปี ต้องถามกลับไปที่ประชาชนผู้เป็นสมาชิกพรรค จำนวนกว่า 60,000 คน ว่าทราบบ้างหรือไม่ว่าพรรคมีประชุมสามัญวันไหน พรรคมีการคัดเลือกผู้สมัครส.ส.กันอย่างไร กลไกในการคัดเลือกนโยบายที่จะหาเสียงในคราวนี้ คุณเคยมีส่วนร่วมในการตัดสินใจหรือไม่? ใครจะได้เป็นส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคในการเลือกตั้งครั้งนี้ คุณรู้หรือไม่?
ผมในฐานะที่เคยเป็นสมาชิกตลอดชีพทั้งพรรคอนาคตใหม่และพรรคก้าวไกล ตอบได้เลยว่า เรื่องทั้งหมดที่เป็นเรื่องที่สำคัญมากทั้งสิ้น ล้วนเป็นเรื่องของการตัดสินใจของคนกลุ่มเล็ก ๆ เท่านั้น ผมให้ชื่อเล่นกลุ่มนี้ว่า 'โปลิตบูโร'
หากการบริหารพรรคยังเป็นอย่างนี้ หากพรรคก้าวไกลได้อำนาจในการบริหารประเทศ พรรคก้าวไกลจะบริหารประเทศอย่างไร ก็คงต้องอยู่ที่คนกลุ่มนี้ ไม่ได้อยู่สมาชิกพรรคแต่อย่างใด
เรื่องดีๆ ใครก็พูดได้ แต่ทำยาก ผมก็เข้าใจ มิฉะนั้น พรรคก้าวไกลในอนาคตคงจะมีชะตากรรมไม่ต่างจากพรรคการเมืองที่ดีแต่พูด (Hypocrital party)
เรื่องนี้ผมสะท้อนให้แกนนำฟัง ผมพูดในที่ประชุมใหญ่พรรคทุกปี พูดกับทุกคน คำตอบที่ได้มีเพียงแค่ “ขอเวลาหน่อย” “เรายุ่งมาก อดทนหน่อยนะ ทำให้แน่ ๆ” “เลือกตั้งคราวหน้า เราทำแน่ ๆ” ฟังดี ๆ มันคล้ายที่คุณประยุทธ์พูด “ขอเวลาอีกไม่นาน”
เรื่องนี้ผมรับรู้อย่างลึกซึ้งด้วยตัวเอง เมื่อเดือนที่ผ่านมา ผมสอบถามผ่านแกนนำว่า ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อจะจัดการอย่างไร เป็นไปได้หรือไม่ที่ผมจะขยับไปลงส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ เพราะมีโอกาสสูงมากที่เขตที่ผมลงรอบปี 62 (ราชเทวี พญาไท จตุจักร 2 แขวง) จะถูกแบ่งใหม่แยกเป็นสามส่วน และผมก็เชื่อว่า ความรู้ความสามารถของเราสามารถที่จะช่วยให้พรรคหาเสียงทั่วประเทศได้ เพราะ 2 ปีที่ผ่านมา การทำงานของผมและเพื่อนๆในกลุ่มเส้นด้ายลงไปทำงานกับชุมชนแออัดทั่วทุกเขตในกทม. และในอีกหลายจังหวัดทั่วประเทศ จนส.ก.ในกลุ่มของผมได้รับเลือกตั้งจำนวนมาก และเกือบชนะอีกจำนวนหนึ่ง
คำตอบที่ได้กลับมาคือ คุณจะมาเป็นได้ยังไง? คุณเหยียบย่ำหัวใจคนในพรรคขนาดนี้ ผมก็งงสิครับนี่มันเรื่องอะไร ผมไปเหยียบใครตอนไหน พอนั่งนึกก็ถึงบางอ้อ
- ผมคัดค้านการลงสมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครของส.ส.วิโรจน์ เพราะเห็นว่าตัวผู้สมัครของเราไม่ดีพอที่จะสู้กับผู้ว่าชัชชาติ
ผลคือ พรรคก้าวไกลแพ้ต่อผู้ว่าชัชชาติชนิดคะแนนทิ้งกัน 2 แสนกับ 1.2 ล้านเสียง
- ผมคัดค้านการแต่งตั้งส.ส.บัญชีรายชื่อคนหนึ่งมาเป็นผู้อำนวยการเลือกตั้งส.ส.ซ่อมเขตจตุจักร-หลักสี่ เพราะส.ส.บัญชีรายชื่อไม่มีทางที่จะเข้าใจการเลือกตั้งแบบเขต หากไม่เคยลงเลือกตั้งมาก่อน
ผลคือ พรรคก้าวไกลแพ้ในเขตชนิดคะแนนทิ้งกันเกือบหมื่นคะแนน
- ผมคัดค้านการแต่งตั้งส.ส.บัญชีรายชื่อคนหนึ่งมาเป็นผู้อำนวยการเลือกตั้งส.ส.ในกรุงเทพมหานคร ปี 66 อีกครั้ง เพราะเรากำลังเอาคนที่ทำเลือกตั้งแพ้มาแล้วครั้งหนี่งมาคุมเลือกตั้งที่สำคัญกว่าและใหญ่กว่า
- ผมในฐานะอดีตประธานมูลนิธิเส้นด้ายแถลงข่าวกรณีที่อาสาของมูลนิธิเข้าไปช่วยเหลือเหยื่อที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศจากอดีต ส.ก. พรรคก้าวไกล
ผลคือ ผมโดนถล่มจากสมาชิกพรรคว่า ไม่ปกป้องพรรค
ผมไม่เคยกลัวในการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง ไม่เคยกลัวในการกระทำที่เราคิดว่าถูกต้อง และที่ผ่านมา ผมพูดตรง ๆ กับพรรคเสมอถึงความยุติธรรมในประเด็นต่าง เช่น การเกลี่ยทรัพยากรของส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ กับส.ส.เขต ความน้อยเนื้อต่ำใจของคนที่ลงพื้นที่เหล่านี้อยู่ในใจของผู้สมัครท้องถิ่น หรือผู้สมัครส.ส.เขตทุกคนแต่ไม่มีใครกล้าพูด แต่การที่ผมพูดกับแกนนำแบบนั้น มันทำให้ผมกลายเป็น
-ทำไมคุณถึงมีปัญหาตลอดเลย?
-ผมเป็นคนเลว เพราะผมต้องการแย่งเงิน แย่งทรัพยากรจากส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ?
-ผมเป็นคนไม่จงรักภักดีกับพรรค?
วันที่ผมนั่งคุยกับแกนนำเรื่องการขยับไปลงส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ วันนั้นแกนนำท่านหนึ่งซึ่งเป็นเจ้าของบริษัท เปรียบเทียบให้ผมฟังว่า หากมีเซลล์ในบริษัท 2 คน คนแรกเป็นคนเก่ง คนฉลาด ยอดขายดีมาก ๆ แต่ต่อรองผลประโยชน์ตลอด กับอีกคนยอดขายครึ่งเดียวของคนแรก แต่จงรักภักดีมากๆ เค้าจะเลือกคนที่สอง
ผมก็เลยรู้แล้วว่า ชะตากรรมผมในพรรคนี้จะเป็นตาย ร้าย ดี ก็ขึ้นอยู่กับว่า ผมจะพิสูจน์ความจงรักภักดีกับ “โปลิตบูโร” ได้หรือไม่? แน่นอนนั่นคือวิธีการบริหารงานแบบหนึ่ง เรื่องนี้ไม่มีถูก ไม่มีผิด แต่เมื่อคุณโฆษณากับประชาชนแล้วว่าคุณเป็นพรรคประชาธิปไตย พฤติกรรมของคุณต้องทำให้ได้ตามที่คุณพูด ไม่งั้นจะกลายเป็น สำนวนไทย ข้างนอกสุกใส ข้างในตะติ๊งโหน่ง
2. ผมไม่เห็นด้วยกับนโยบายหลายประการของพรรคก้าวไกล
พรรคการเมืองอนาคตใหม่ที่ผมร่วมจัดตั้ง ผมฝันว่าพรรคจะเป็นสถาบันทางการเมืองที่เป็นเหมือนร่มคันใหญ่ ที่สามารถโอบรับได้กับความหลากหลายของสมาชิกพรรค ไม่ว่าจะเป็นความคิดการเมืองแบบฝั่งซ้าย ความคิดการเมืองแบบฝั่งขวา ความคิดเศรษฐกิจแบบเสรี ความคิดเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม
วันแรกจุดร่วมของจุดใหญ่คือการไม่เอาเผด็จการ (เรื่องการแก้ไข 112 ในวันนั้นยังไม่ใช่วาระของพรรคด้วยซ้ำ) ส่วนเรื่องอื่น ๆ ที่เหลือ อ.ปิยบุตรยังเคยบอกผมตอนเถียงกับอ.ษัษรัมย์ (ตอนนั้นอ.เสนอเรื่องรัฐสวัสดิการ แต่ผมเสนอว่าคำตอบน่าจะเป็นเศรษฐกิจแบบเสรีมากกว่า) เรื่องนโยบายเศรษฐกิจของพรรคว่า เดี๋ยวค่อยไปคุยกัน เมื่อเราทำภารกิจสำเร็จ ต่างฝ่ายค่อยแยกออกไปตั้งพรรคก็ได้
5 ปี เดินผ่านไป วันนี้นโยบายของก้าวไกลหล่นลงมาจากฝากฟ้า หล่นลงมาจากห้องแอร์ ไม่ว่าคุณจะเรียกชื่อมันว่าอะไร
วันนี้หนึ่งในนโยบายหาเสียงที่สำคัญที่สุดของพรรคก้าวไกลคือ เงินบำนาญของคนที่อายุเกิน 60 ปี ถ้วนหน้าเดือนละ 3,000 บาท หากนโยบายนี้สำเร็จ รัฐบาลจะมีรายจ่ายจากแปดหมื่นกว่าล้าน เป็นสามแสนล้านหกหมื่นล้านบาททันที
