Saturday, 4 May 2024
คริปโท

คนไทยถือครองคริปโทมากที่สุดในโลก?

"คนไทยใช้ NFT มากที่สุดในโลก 5.65 ล้านคน"
"คนไทยถือครองคริปโตมากเป็นอันดับ 1 ของโลก"

พาดหัวเหล่านี้คงเคยผ่านตาหลาย ๆ คนมาบ้าง1 หลายคนอาจจะดีใจ ว่าคนไทยก้าวทันเทคโนโลยี บางคนอาจจะเป็นห่วง ว่าคนไทยเอาเงินไปเก็งกำไรกับสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมาก

>> แต่คนไทยถือครองคริปโตมากขนาดนั้นจริงมั้ย?

ข้อมูลนี้ถือว่ามีความสำคัญมาก โดยเฉพาะสำหรับหน่วยงานกำกับดูแลอย่าง ก.ล.ต. หรือ ธปท. เพราะเป็นตัววัดว่าคนไทยสนใจ cryptocurrency มากแค่ไหน จะเกิดความเสี่ยงทั้งต่อเงินออม เงินลงทุนของประชาชน หรือความเสี่ยงต่อระบบหรือไม่ หรือหากเกิดเหตุการณ์ราคาคริปโทผันผวนมาก (เช่นกรณี UST ที่ผ่านมา) จะได้ใช้ประเมินได้คร่าว ๆ ว่ามีผู้ได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด

บทความนี้จะลองมาดูว่าตัวเลขเหล่านี้มีที่มาอย่างไร น่าเชื่อถือแค่ไหน โดยจะพูดถึงสถิติสามตัวที่ได้รับการกล่าวถึงบ่อย ๆ ได้แก่...

1. Digital 2022 Global Overview Report ที่ประเมินว่าคนไทยที่ใช้อินเทอร์เน็ต อายุ 16–64 ถึง 20.1% ถือครองคริปโตอยู่ มากเป็นอันดับหนึ่งของโลก
2. Statista Digital Economy Compass 2022 ที่ประเมินว่าคนไทยถือครองคริปโต 4 ล้านคน ขณะที่มีคนไทยที่มี NFT มีมากถึง 5.65 ล้านคน
3. TripleA's "Cryptocurrency across the world" ที่ประเมินว่าคนไทยถือครองคริปโตอยู่ 3.6 ล้านคน

>> เรารู้อะไรบ้างจากข้อมูลของ ก.ล.ต.

ด้วยธรรมชาติของคริปโท ทำให้ไม่มีใครล่วงรู้ได้ว่า wallet ต่าง ๆ นั้นเป็นของใคร ของคนชาติไหน ในการหาคำตอบว่ามีคนไทยซักกี่คนที่ถือคริปโตอยู่ ข้อมูลที่น่าเชื่อถือที่สุดที่พอจะมีอยู่และเป็นจุดเริ่มต้นได้ ก็น่าจะเป็นข้อมูลที่เรียกว่า administrative data (ภาษาไทยแปลว่า "ข้อมูลเพื่อการบริหาร" ซึ่งคือข้อมูลที่มีจุดประสงค์อื่น ๆ นอกจากการทำสถิติ เช่น ข้อมูลลงทะเบียน หรือข้อมูลบันทึกการทำธุรกรรม) ในกรณีนี้ ถ้าเราอนุมานว่าคนที่ถือคริปโทส่วนใหญ่จะมีบัญชีอยู่กับศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (exchange) ด้วย และ exchange เหล่านี้ก็ต้องรายงานกับ ก.ล.ต. ว่ามีบัญชีเปิดอยู่กี่บัญชี เราก็สามารถดูข้อมูลจาก ก.ล.ต. ได้เลย

จาก รายงานสรุปภาวะตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลรายสัปดาห์ ของ ก.ล.ต. จะพบว่า exchange ภายใต้กำกับของ ก.ล.ต. ทั้งหมดมีบัญชีรวมกันประมาณ 2.7 ล้านบัญชี (ณ เมษายน 2565) ซึ่งอันนี้อาจมีการนับซ้ำได้ (กรณีคนคนหนึ่งมีบัญชีอยู่กับ exchange สองแห่ง)

แน่นอนว่าตัวเลขนี้ยังไม่รวม exchange เจ้าใหญ่ ๆ ของโลกอย่าง Binance, Coinbase, หรือ Kraken ที่ไม่ได้อยู่ใต้กำกับของ ก.ล.ต. ซึ่งเป็นข้อจำกัดของข้อมูล adiministrative data นี้ ทำให้เราไม่สามารถทราบจำนวนคนไทยที่ถือคริปโททั้งหมดได้ แต่อาจจะลองใช้เป็น baseline ในการเปรียบเทียบกับตัวเลขอื่น ๆ ได้

>> เปรียบเทียบข้อมูลของทั้งสามแหล่ง

ตัวเลขของทั้ง DataReportal และ Statista นั้น ต่างมาจากผลการตอบแบบสำรวจ โดย DataReportal อ้างอิงผลสำรวจโดย GWI (จำนวน 17,500 ตัวอย่าง2) ขณะที่รายงานของ Statista นั้น อ้างอิงข้อมูลจาก Statista Global Consumer Survey (อย่างน้อย 2,000 ตัวอย่าง3) โดยทั้งสองแบบสำรวจอ้างว่าเป็นการสำรวจแบบใช้โควต้า (quota sampling) กล่าวคือ จำกัดจำนวนผู้ตอบแบบสอบถาม ตามกลุ่มอายุ เพศ การศึกษา ที่ตอบแบบสอบถามให้ได้ตามสัดส่วนประชากรจริง ทำให้ได้ผลที่น่าเชื่อถือมากกว่าการสำรวจที่ไม่มีโควต้า

ที่มา: DataReportal / GWI (Q3 2021). FIGURES REPRESENT THE FINDINGS OF A BROAD GLOBAL SURVEY OF INTERNET USERS AGED 16 TO 64. SEE GWI.COM FOR FULL DETAILS.

DSI ปูพรมค้น 41 จุด ก๊วนลักลอบใช้กระแสไฟฟ้า ขุดเงินดิจิทัลเลี่ยงภาษี ทำรัฐสูญรายได้กว่า 500 ลบ.

DSI เปิดยุทธการปราบโกงสายฟ้าฟาด (ปฏิบัติการ Electrical Shock) ปูพรมค้น 41 จุด ลักลอบใช้กระแสไฟฟ้าและใช้เครื่องขุดเงินดิจิทัลเลี่ยงภาษีในเหมืองขุดบิตคอยท์ รัฐสูญรายได้กว่า 500 ล้านบาท

(30 พ.ย. 65) ณ หน้าอาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ ถนนแจ้งวัฒนะ, นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พันตำรวจตรียุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และพันตำรวจตรี วรณันศรีล้ำ ผู้อำนวยการกองบริหารคดีพิเศษ/โฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ปล่อยแถวเจ้าหน้าที่ เพื่อเปิดยุทธการปราบโกงสายฟ้าฟาด หรือปฏิบัติการ ‘Electrical Shock’ โดยมีพันตำรวจโท เฉลิมชนม์ อุณหเสรี รองผู้อำนวยการกองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ รักษาการผู้อำนวยการกองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ และนายชวภณ สินพูนภักดิ์ ผู้อำนวยการส่วนคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ 2 สนธิกำลังร่วมกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กรมศุลกากร การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เปิดปฏิบัติการ ‘Electrical Shock’ เข้าตรวจค้นอาคารพาณิชย์ต้องสงสัยลักกระแสไฟฟ้า เพื่อใช้เป็นจุดทำเหมืองขุดเงินดิจิทัล จำนวน 41 จุด ในพื้นที่จังหวัดนนทบุรีและกรุงเทพมหานคร ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ปีละกว่า 500 ล้านบาท 

กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจาก กรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับคำร้องเรียน การกระทำความผิดทางเทคโนโลยี  มีการลักลอบตั้งเหมืองขุดเงินดิจิทัลโดยเฉพาะบิทคอยน์โดยผิดกฎหมาย มีการนำเครื่องมือที่ใช้ในการขุดบิทคอยน์มาจากต่างประเทศ และมีการลักลอบใช้กระแสไฟฟ้า ทำให้ประเทศได้รับความเสียหาย อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงมอบหมายให้กองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศเป็นหน่วยงานรับผิดชอบสืบสวน โดยมีการประสานงานกับการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค รวมทั้งกรมศุลกากร จนพบจุดต้องสงสัยมากกระจายตัวในพื้นที่จังหวัดกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งการทำเหมืองขุดบิทคอยน์ดังกล่าวจะใช้กระแสไฟฟ้าปริมาณมากขนาดเทียบเท่ากับโรงงานอุตสาหกรรม แต่มีการลักลอบต่อไฟตรง โดยไม่ผ่านมิเตอร์วัดไฟ อันเป็นการลักกระแสไฟฟ้า ซึ่งเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา และอาจมีความผิดอาญาอื่นที่เกี่ยวข้องอีกหลายฐานความผิด ซึ่งกองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ ได้ดำเนินการสืบสวนจนพบกลุ่มนายทุนที่มีพฤติการณ์จัดหาอาคารพาณิชย์ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลกว่า 41 แห่ง เช่าไว้เพื่อใช้เป็นจุดวางเครื่องขุดเงินดิจิทัล โดยแต่ละอาคารจะวางเครื่องขุดเงินดิจิทัล จุดละประมาณ 100 เครื่อง มีการลักลอบต่อไฟตรงเข้าตัวอาคาร โดยไม่ผ่านมิเตอร์วัดไฟ ทำให้เสียค่าไฟฟ้าต่ำกว่าความเป็นจริงอย่างมาก จากที่ต้องเสียค่าไฟฟ้าประมาณเดือนละ 500,000 บาทต่อแห่ง แต่มีการจ่ายค่าไฟจริงเพียงแห่งละประมาณ 300 - 2,000 บาทเท่านั้น ทำให้การไฟฟ้านครหลวงเสียหายกว่า 20 ล้านบาทต่อเดือน หรือปีละเกือบ 300 ล้านบาท   

ดังนั้น กรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงได้ขออนุมัติหมายค้นจากศาลอาญาเพื่อเข้าค้นอาคารพาณิชย์ต้องสงสัย จำนวน 41 แห่ง เพื่อแสวงหาพยานหลักฐานการลักไฟฟ้า เพื่อกล่าวโทษดำเนินคดีอาญา และร่วมกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ยึดเครื่องขุดเงินดิจิทัลกว่า 2,000 ตัว มูลค่ารวมกว่า 400 ล้านบาท ไว้เพื่อตรวจสอบ รวมทั้งตรวจสอบกับกรมศุลกากรว่ามีการนำเข้าราชอาณาจักรไทย โดยผ่านพิธีการทางศุลกากร โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งหากเข้าข่ายการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษก็จะได้รับคดีดังกล่าวไว้ทำการสอบสวนต่อไป


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top