Sunday, 23 June 2024
คนอเมริกัน

'มุมมองต่างชาติ' ถึงคนรุ่นใหม่ไทย หากพ่อแม่รักเราแบบไม่มีเงื่อนไข แล้วทำไม ลูกๆ จะไม่อยู่เคียงข้าง และเลิกอ้าง 'การถูกทวงบุญคุณ'

เมื่อไม่นานมานี้ จากเพจเฟซบุ๊ก ‘David William’ หรือที่รู้จักกันในนาม ‘ครูเดวิด วิลเลียม’ ซึ่งเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ ที่รู้จักกันบนโลกโซเชียลมีเดียจากการที่เขาสามารถใช้สำเนียงการพูดได้หลากหลายเพื่อคำคอนเทนต์สนุกๆ บนโลกโซเชียล จนยอดผู้ติดตามในเพจเฟซบุ๊กสูงถึง 1.4 ล้านคน โดยล่าสุดนั้น ‘ครูเดวิด วิลเลียม’ ได้โพสต์คลิปวิดีโอในหัวข้อ ‘บุญคุณของพ่อแม่เป็นเรื่องสำคัญไหม?’ ผ่านมุมมองของคนอเมริกันหรือในฐานะชาวต่างชาติคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ทั้งอเมริกาและไทย โดยมีเนื้อหาที่น่าสนใจ ดังนี้…

สิ่งแรกที่ต้องมาคุยกันก่อน คือ สำหรับชาวต่างชาติเรื่อง ‘บุญคุณ’ มันไม่ใช่ประเด็น เพราะเขาจะไม่เข้าใจมันด้วยซ้ำ และถ้าแปลเป็นภาษาอังกฤษจะไม่มีคำนี้เลย ดังนั้นสำหรับคนอเมริกันและคนยุโรปหลายคน เมื่ออายุ 18 ปีแล้วจะถูกเชิญออกไปใช้ชีวิตด้วยตัวเอง แต่ทุกวันนี้หากถามว่าดีขึ้นหรือมีการดูแลลูกมากกว่าเดิมไหม คำตอบคือ ‘มี’ อย่างเช่น ยังมีการจ่ายค่าเทอมสำหรับเรียนมหาวิทยาลัยให้อยู่ แต่ก็ไม่ใช่กับทุกคน เพราะฉะนั้นยังถือว่า 50/50 อยู่

ครูเดวิด วิลเลียม ยอมรับว่าตนก็เป็นเด็กคนนึงที่อายุยังไม่ถึง 18 ปี แล้วถูกคุณพ่อเชิญออกจากบ้าน ซึ่งก็ยอมรับเลยว่าเหตุการณ์ตอนนั้นมันเป็นสิ่งที่ทำให้รู้สึกโกรธและทุกข์ทรมานมาก เพราะในฐานะลูกเราจะมีความรู้สึกที่ว่าพ่อแม่ควรจะดูแลเรารึเปล่า และถ้าหากมองในมุมวิทยาศาสตร์เรื่องนี้จะน่าสนใจมาก เพราะแท้จริงแล้วสมองของมนุษย์ยังไม่ได้ถูกพัฒนาออกมาให้สุด จนกระทั่งอายุ 25 ปี สิ่งนี้คือเรื่องที่สำคัญมากเพราะคนอเมริกันจะมองว่าคนที่อายุ 18 19 หรือ 20 ปี จะเหมือนผู้ใหญ่ แต่ในมุมวิทยาศาสตร์ที่แท้จริงแล้วนั้น เด็ก ๆ เหล่านี้ยังไม่ได้เป็นผู้ใหญ่ด้วยซ้ำ เพราะสมองของเขายังไม่โต ต้องรอจนกระทั่งอายุ 25 ปีก่อน ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ต่างพูดกันทั่วโลกว่ามันเป็น ‘หน้าที่’ ที่พ่อแม่ควรจะดูแลลูกไปจนกระทั่งจบมหาวิทยาลัยและเริ่มมีวุฒิภาวะแล้ว ดังนั้นเรื่องนี้จึงสำคัญมาก และอยากให้ทุกคนเข้าใจกันก่อน เพราะฉะนั้นแล้วจะไม่ขอเหมารวมทุกครอบครัวเช่นกัน

ครูเดวิด ยังบอกอีกว่า แต่ ‘ประเทศในเอเชีย’ มักจะดูแลลูกได้ดีกว่าและมากกว่าทางตะวันตก เพราะผู้ปกครองส่วนใหญ่ในประเทศเอเชียจะเข้าใจการดูแลลูกว่ามันไม่ใช้ ‘ทางเลือก’ แต่มันคือ ‘เรื่องจำเป็น’ ที่ต้องทำ และถ้าสังเกตดี ๆ คนเอเชียจะทำกันแบบนี้จริง ๆ แต่ก็จะมีคำถามที่ตามมาสำหรับบางกลุ่มคนโดยเฉพาะประเทศไทย เกี่ยวกับการดูแลพ่อแม่ ว่านี่คือนิยามของ ‘บุญคุณ’ 

ครูเดวิด อธิบายความถึงเรื่องนี้โดยเปรียบเทียบความต่างระหว่าง 'มนุษย์' กับ 'สัตว์' ไว้ว่า ถ้าถามว่า ‘สัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนม ทำไมยังดูแลลูกของตัวเองได้ ฉะนั้นพ่อแม่ก็ต้องดูแลเราได้เหมือนกันหรือไม่ ซึ่งมันไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องบุญคุณหรือเปล่า?’ ตรงนี้ผมยอมรับว่าไม่เห็นด้วย

ต้องแยกกันก่อนว่า ระหว่างที่สัตว์ชนิดนึงดูแลลูก และต้องขอใช้คำว่า ‘ตามมีตามเกิด’ ซึ่งก็คือการเลี้ยงตาม ‘สัญชาตญาณ’ ... แต่สำหรับการเลี้ยงลูกของมนุษย์นั้นมันไม่ใช่แค่เรื่องสัญชาตญาณ เพราะมันลึกกว่านั้นเยอะ 

เพราะอย่าลืมว่ามนุษย์เป็นสิ่งที่ถูกพัฒนามากกว่าสัตว์หลายเท่าพันเท่า หากถามว่าการเลี้ยงลูกของมนุษย์มันเหมือนการเลี้ยงลูกตามสัญชาตญาณของสัตว์ไม่? คำตอบจึง ‘ไม่ใช่’

ผมขอเปรียบเทียบสมองของมนุษย์กับสัตว์แบบนี้ ถ้าตามหลักวิทยาศาสตร์ ถามว่าสัตว์มีความรู้สึก ‘ทางอารมณ์’ ไหม? อย่างการรักหรือเสียใจ ... คำตอบโดยพื้นฐานคือ ขอใช้คำว่า ‘ได้บ้าง’ แต่ ‘ไม่เต็มที่’ เหมือนกับมนุษย์ ฉะนั้นส่วนนี้จะมีความคล้ายคลึงกันระหว่างสัตว์กับมนุษย์ ซึ่งสามารถเข้าถึงอารมณ์ได้ทั้งคู่ 

แต่ความแตกต่างที่ยิ่งใหญ่ที่สุดระหว่างสัตว์กับมนุษย์ คือ มนุษย์จะสามารถ ‘คิด-วิเคราะห์-แยกแยะ’ ได้ แต่สัตว์จะไม่สามารถทำสิ่งนี้ได้ 

- ทุกอย่างที่สัตว์ชนิดนึงจะทำ ไม่ใช่ทำเพราะอยากทำ แต่จะทำเพราะสัญชาตญาณ 
- แต่สำหรับมนุษย์นั้น เวลาที่ทำสิ่งที่ดีหรือไม่ดี มันเป็นเพราะการตัดสินใจล้วน ๆ ที่ผ่านการคิดวิเคราะห์มาแล้ว และมองสิ่งนี้คือสิ่งที่อยากทำ 

นั่นแปลว่าเวลามนุษย์คนนึงเวลาตัดสินใจทำสิ่งที่ดีไม่ว่าจะเป็นการดูแลลูก ทุ่มชีวิตให้ คอยไปรับไปส่ง ใช้เงินทั้งหมดของตัวเองเพื่อที่จะเลี้ยงดูเขามายังดี หรืออะไรก็แล้วแต่ … เพราะมนุษย์เลือกที่จะทำมัน ซึ่งไม่ได้เป็นการทำตามสัญชาตญาณ

***ดังนั้น ถ้าหากเรามีพ่อแม่ที่ดี หรือคนที่คอยดูแลและเอาใจใส่อย่างดีโดยตลอด เราควรจะรักเขา… และมันก็ถูกต้องแล้วที่ต้องกลับไปช่วยเหลือในวันที่เขาไม่มีใคร หรือในวันที่เขาต้องการความช่วยเหลือ…หากสงสัยว่าทำไม? เพราะมันเป็นสิ่งที่เราควรทำ เนื่องจากเรามีมนุษย์คนนึงที่ดูแลเรามาอย่างดี และการดูแลนี้ไม่ใช่การเลือกทำตามสัญชาตญาณ แต่เป็นการเลือกที่จะ 'รัก' และ 'ให้อภัย' ในทุกเรื่องที่เราดื้อรั้นและทำลงไปในสมัยวัยรุ่นหรือแม้กระทั่งตอนเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งท่านยังให้อภัย เพราะคำว่ารักและพร้อมที่จะอยู่เคียงข้างเราเสมอ…

ดังนั้น ในมุมของผมที่เป็นชาวต่างชาติ จึงคิดว่าควรกลับไปช่วยและอยู่เคียงข้างพวกท่าน เพราะนั่นคือสิ่งที่ท่านเคยทำให้เรา และในทุกความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์รูปแบบไหนก็แล้วแต่ สามี ภรรยา เพื่อน พี่น้อง ตราบใดที่มีคนคนนึงดีกับเราขนาดนี้ ในสัญชาตญาณของความเป็นมนุษย์ เราก็จะอยากดีกับเขาเหมือนกัน และนี่คือเหตุผลสำหรับเรื่องบุญคุณ เพราะมันเป็นความถูกต้องและควรทำ

แต่…ในวันที่เรามีพ่อแม่ที่ไม่ได้รักเรา อาจจะทำร้ายหรือคอยเอาเปรียบ ก็อย่าโดนเอาเปรียบ เพราะมันไม่จำเป็นว่าต้องมอบทั้งชีวิตให้เขา ในวันที่เขาไม่ได้รักเราจริง 

***ดังนั้น นี่คือสิ่งที่อยากจะพูดกับนักเรียนทุกคนคือ ‘การเหมารวม’ เป็นสิ่งที่ต้องหยุด เราไม่สามารถที่จะบอกว่า… พ่อแม่ทุกคนควรที่จะรับใช้เราตลอดเลย ไม่ต้องไปคืนอะไรให้กับท่าน สิ่งนี้มันไม่ใช่… มันต้องดูในแต่ละกรณีว่าท่านรักเราไหม? ช่วยเราไหม? อยู่เคียงข้างเราไหม?

ไม่มีพ่อแม่คนไหนบนโลกที่สมบูรณ์แบบ ไม่มีคนไหนที่ไม่พลาด… แต่เราต้องดูภาพรวม ... ทำไมพ่อแม่เขาอยู่ตรงนั้น คอยให้การช่วยเหลือเรามาตลอดชีวิต ไม่ว่าจะทะเลาะกันกี่ครั้ง เราจะดื้อแค่ไหน ทำผิดแค่ไหน เขาก็อยู่ตรงนั้นเสมอ นั่นคือพ่อแม่ที่ประเสริฐมาก เชื่อเถอะ ในฐานะคนอเมริกันคนหนึ่งที่เคยโดนไล่ออกจากบ้าน…

‘คนไทยในสหรัฐฯ’ อวยสังคมมะกันไม่มี ‘กับดักความกตัญญู’ ถ่มถุย ‘สังคมไทย’ พ่อแม่ไม่รู้จักพอ ต้องรอเงินจากลูกๆ ทุกเดือน

เมื่อไม่นานมานี้ จากเพจ ‘SAM Motoring’ ได้นำเสนอคลิปจาก ‘ครูเดวิด วิลเลียม’ ซึ่งเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ ที่พูดถึงกรณีคนไทยในสหรัฐฯ ได้กล่าวถึงประเด็น ‘กับดักความกตัญญูของสังคมไทย’ ไว้ว่า… 

‘สิ่งนี้คือความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่าง ‘สังคมอเมริกัน’ และ ‘สังคมไทย’ นั่นก็คือที่อเมริกาจะไม่มีวัฒนธรรมเกี่ยวกับดักความกตัญญู ซึ่งก็คือเรื่องการส่งเงินให้กับพ่อแม่ในทุก ๆ เดือนนั่นเอง โดยพ่อแม่นั้นจะไม่มานั่งขอเงินหรือเอาเงินจากลูก ๆ ซึ่งเป็นเพราะว่าพวกเขาก็มีเงินเก็บจากการทํางานอยู่แล้ว และพวกเขาได้มีการวางแผนทางการเงินมาตั้งแต่หนุ่มสาว ซึ่งมันจะต่างจากสังคมไทยโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะหลาย ๆ ครอบครัวที่ลูกจะต้องส่งเงินให้พ่อแม่ทุก ๆ เดือน แล้วพ่อแม่บางคนลูกให้เงินแล้วแต่ก็คือยังไม่รู้จักพอ…’

ซึ่งด้าน ‘ครูเดวิด วิลเลียม’ ได้แสดงว่าคิดเห็นและมุมมองต่อคลิปนี้ว่า…

สิ่งแรกที่อยากจะพูดคือต้องขออนุญาตเห็นต่างจากคลิปนี้โดยสิ้นเชิง เริ่มข้อแรกต้องถามก่อนว่า ‘ความกตัญญู’ เป็น ‘กับดัก’ ขนาดนั้นเลยเหรอ? ดังนั้นสิ่งที่เราอาจจะต้องมาทําความเข้าใจกันก่อนก็คือ…การที่คุณจะดูแลมนุษย์คนนึงตั้งแต่เด็กจนโต อย่างการส่งเขาเรียนหนังสือ การดูแลเอาใจใส่ต่าง ๆ ดังนั้น นี่จึงเป็นหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่มาก และเป็นสิ่งที่ไม่ได้ง่ายเลย

พร้อมยอมรับว่าแนวคอนเทนต์ที่ไม่ชอบที่สุดมันเริ่มเยอะขึ้นมาก ๆ ซึ่งก็คือการที่คนชอบบอกว่าฝรั่งมันเริศ ดีมาก ดีทุกอย่าง ส่วนทางคนเอเชีย ซึ่งขออนุญาตเน้นคํานี้ก่อนว่า ‘ความกตัญญู’ ไม่ได้เป็นสิ่งที่คนไทยทําหรือนิยมกันเท่านั้น คือถ้าคุณทําการบ้านดี ๆ สิ่งที่คุณจะเข้าใจก็คือความกตัญญูตัวนี้มันอยู่ทั่วทวีปเอเชียเลย ไม่ว่าจะเป็นคนเกาหลี คนไทย คนอินโดนีเซีย หรือประเทศไหนก็แล้วแต่ เขานิยมเรื่องความกตัญญูเป็นอย่างยิ่ง

ซึ่งจุดที่ไม่ชอบที่สุดในคลิปดังกล่าวก็คือตอนที่พูดประมาณว่าพ่อแม่คนไทยเก็บเงินไม่เป็นกันเลย แล้วคนอเมริกันเขาเก็บเงินได้ เขาตั้งใจ เขาดูแลชีวิตตัวเอง เลยไม่ค่อยไปลําบากลูก ซึ่งเหตุผลดังกล่าวถือเป็นการเหมารวมคนไทยหรือพ่อแม่คนไทยที่ไม่น่ารักเลย ทั้ง ๆ ที่คนไทยหลายคนซึ่งมีลูกพวกเขาทํางานกันหนักมาก ทํางานแทบตาย แต่ว่าโอกาสในการหาเงินถามว่าเยอะมหาศาลไหม? คำตอบคือไม่… และไม่ว่าเขาจะเหนื่อยแค่ไหน ทำงานกี่ชั่วโมงแค่ไหนก็ตามสุดท้ายก็หาเงินได้ไม่เยอะอยู่ดี…ดังนั้น คุณอย่าลืมคํานี้เลยนะว่าชีวิตมันไม่แฟร์ โอกาสของแต่ละคนมันไม่เท่ากัน จุดเริ่มต้นของแต่ละคนไม่เท่ากัน แล้วการเหมารวมคนเอเชียหรือคนไทยแบบนี้ เพราะมันเป็นสิ่งที่ไม่โอเคเป็นอย่างยิ่ง

ดังนั้น คุณต้องจําคํานี้เอาไว้นะ นี่คือบทเรียนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของผม คุณจะไม่มีวันเสียดายกับการให้กับคน คุณจะไม่มีวันเสียดายกับการเป็นคนใจดีหรือว่าช่วยเหลือคนซึ่งช่วยคุณมา สำหรับใครที่ออกมาบอกว่าเราจะสําเร็จถ้าเราไม่ให้พ่อแม่ เราจะสําเร็จถ้าไม่ช่วยใคร ต้องเห็นแก่ตัวอย่างเดียว ซึ่งคนที่พูดอย่างนี้ไม่สําเร็จอย่างแน่นอน เพราะสิ่งที่คุณจะเข้าใจเมื่อคุณโตขึ้นแล้วก็คือการช่วยเหลือคนอื่น การเป็นคนใจดี เป็นคนซื่อสัตย์ เป็นคนน่ารัก มันมักจะดึงพลังงานอะไรดี ๆ เข้าตัวคุณตลอด แล้วมันจะดึงความสําเร็จเข้าตัวคุณอย่างแน่นอน 

หากถามว่ามันยังมีพ่อแม่บางคนหรือไม่ที่ไม่รักลูกตัวเอง ที่เอาเปรียบลูกตัวเองตลอด ที่เอาเงินจากลูกตัวเองแบบเกินเหตุ ถามว่ามีไหม? ตอบคือมี แล้วในกรณีแบบนี้เราควรที่จะให้เขายังต่อเนื่องไหม? คําตอบคือไม่…แต่ในวันนี้หากคุณมีพ่อแม่ที่รักและเอ็นดูคุณจริง ๆ มาโดยตลอด และคุณมั่นใจสิ่งนี้ 100% ก็จงให้เขาไปเถอะ เพราะเวลาที่คุณเหลือกับเขาน้อยกว่าที่คุณคิดตั้งหลายเท่า…

1 ใน 4 ของคนอเมริกัน ที่มีอายุเกิน 60 ปี ยังต้องทำงาน ทั้งที่อยากทำเองและจำเป็นต้องทำ

(21 พ.ค.67) จากเฟซบุ๊ก 'Chalermporn Tantikarnjanarkul' หรือ เฉลิมพร ตันติกาญจนากุล ผู้ดำเนินรายการด้านเศรษฐกิจและการลงทุน ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า...

“ที่อเมริกา คนอายุเกิน 60 ที่ยังต้องทำงาน อยู่ที่ราว 1 ใน 4 และตัวเลขเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ (อาจมีทั้งอยากทำเองและจำเป็นต้องทำ)

ก่อนนี้ไปเกาหลี ฮ่องกง ก็เห็นคนวัยเกิน 60 ทำงานแบกหาม ใช้แรงงาน

เทรนด์ของโลก ดูจะมาทางที่คนต้องทำงานมากขึ้น นานขึ้น”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top