รัฐประหารเงียบในพรรครัฐบาลอังกฤษ เมื่อ 'ลิซ ทรัสส์' กำลังจะโดนยึดอำนาจ
ดูเหมือนว่า รัฐบาลอังกฤษจะยังอยู่ในสภาพง่อนแง่น หาหลักยึดยังไม่ได้จริง ๆ เมื่อมีกระแสข่าวลือที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ภายในพรรคอนุรักษ์ แกนหลักของรัฐบาลอังกฤษว่า ลูกพรรคอนุรักษ์เริ่มจับกลุ่มกดดัน ลิซ ทรัสส์ หัวหน้าพรรคหญิงคนใหม่ และเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกในแผ่นดินพระเจ้าชาลส์ที่ 3 จนถึงขั้นวางแผนยึดอำนาจของเธอ หากจำเป็น!!
สาเหตุเกิดจากความไม่ลงรอยกันในนโยบายของลิซ ทรัสส์ ที่เธอเคยสัญญาไว้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งภายในพรรค หนึ่งในนั้นคือนโยบาย "45p rate" หรือการลดอัตราภาษี 45% ในกลุ่มผู้มีรายได้สูง ซึ่งนโยบายนี้ของเธอกลับถูกต่อต้านจากทีมรัฐบาลของเธอเองจนเสียงแตก ที่อาจขั้นจะโหวตคว่ำในสภาเลยทีเดียว
ข่าวการแตกแยกของรัฐบาลลิซ ทรัสส์ ที่ยังไม่ทันได้เริ่มทำงานอะไรเลย ยิ่งชัดเจนขึ้นอีก หลังงานประชุมพรรคอนุรักษ์ที่เมืองเบอร์มิงแฮม เมื่อวันอาทิตย์ ที่ 2 ตุลาคม ที่ผ่านมา ที่ข่าววงในบอกว่าเสียงแตกหนักมาก จน ซูเอลลา เบรฟเวอแมน รัฐมนตรีมหาดไทยหญิง พันธมิตรคนสนิทของลิซ ทรัสส์ ถึงกับออกมาบ่นว่า เธอผิดหวังมาก ๆ ที่ทีมรัฐบาลบางคนมากลับลำกับนโยบายที่คุยกันไว้แล้ว และยังบอกด้วยว่า มีกลุ่ม สส.ของพรรคอนุรักษ์หลายคน วางแผนจะโค่น ลิซ ทรัสส์ ให้ได้
และยังบอกถึงลูกพรรคอนุรักษ์ ที่คิดจะก่อหวอดเพื่อล้มนโยบาย 45p rate นั้นไม่ต่างจากการก่อรัฐประหารเงียบภายในรัฐบาล ซึ่งนโยบายเจ้าปัญหาที่อาจกลายเป็นประเด็นรัฐนาวาแตก คือ 45p Rate หรืองดภาษี 45% สำหรับบุคคล หรือองค์กรที่มีรายได้เกิน 150,000 ปอนด์ต่อปี
โดยปกติ อังกฤษจะมีอัตราภาษีระดับขั้นบันได โดยคำนวนจากรายได้ต่อปี ในอัตราเรทดังนี้...
- รายได้ต่ำกว่า 12,570 ปอนด์/ปี ไม่ต้องเสียภาษี
- รายได้ตั้งแต่ 12,571 - 50,270 ปอนด์ต่อปี จะเริ่มเก็บภาษีที่ 20%
- รายได้ตั้งแต่ 50,271 - 15,000 ปอนด์ต่อปี เก็บภาษีที่ 40%
แต่ถ้ามีรายได้เกิน 150,000 ปอนด์ต่อปี เมื่อไหร่ จะถูกเก็บภาษีในอัตรา 45% ซึ่งเป็นเรทสูงสุด
สื่ออังกฤษได้ไปหาข้อมูลพบว่ามีชาวอังกฤษราวๆ 5 แสนคนทั่วประเทศที่มีรายได้เกิน 150,000 ปอนด์ต่อปี คิดเป็น 1% ของประชากรอังกฤษทั้งประเทศ
และหากรัฐบาลอังกฤษตัดสินใจไม่เก็บภาษีเพิ่ม 45% จากรายได้ที่เกินมาของคนกลุ่มนี้ เท่ากับรัฐจะเสียรายได้จากภาษีถึง 6 พันล้านปอนด์ต่อปี และเมื่อรายได้หายไป หมายถึงต้องการลดรายจ่ายของภาครัฐลงด้วย ซึ่งก็คือแผนค่าใช้จ่ายสำหรับสวัสดิการสังคมบางส่วนอาจต้องถูกตัดไป
แต่ทั้งนี้ ลิซ ทรัสส์ มองว่า นโยบายการลดภาษี 45p Rate จะช่วยกระตุ้นการลงทุนของกลุ่มคนที่มีศักยภาพในสังคม ที่สามารถผลักดันเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้ และการแก้ปัญหาด้วยการแจก จ่าย ในรูปแบบสวัสดิการก็ไม่ใช่คำตอบเสมอไป ซ้ำยังเป็นเหมือนกับดักประชานิยม ที่ทำให้ผู้คนคาดหวังแต่สวัสดิการช่วยเหลือจากรัฐ
ซึ่งลิซ ทรัสส์ เคยบอกว่านโยบายนี้ อาจเป็นเหมือนยาขม และเป็นหนทางที่ยาก แต่อังกฤษต้องลองหาทางแก้ปัญหาที่ต่างไปจากเดิม ถ้าต้องการที่จะ "change" เธอเชื่อว่าสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในเศรษฐกิจได้อย่างแน่นอน
แต่ต่อมา นโยบายนี้ของเธอ ถูกโจมตีอย่างหนักจากพรรคฝ่ายค้าน ว่าเป็นการอุ้มคนรวยเพียงแค่ 1% ของประเทศ แต่กลับรีดเลือดกับปูจากประชาชนส่วนใหญ่อีก 99% ที่ยังต้องจ่ายภาษีในอัตราเกือบเท่าเดิม โดยเฉพาะกลุ่มคนเกือบจะรวย ในระดับฐานรายได้ 50,271 - 150,000 ปอนด์ คือโดนเต็มๆ 40% โดยไม่มีการลดหย่อน
