Saturday, 26 April 2025
คดีหลอกลงทุน

ตำรวจไซเบอร์ ชี้แจงความคืบหน้าคดีหลอกลงทุน Turtle Farm ส่งสำนวนแล้ว 2 ครั้ง พบผู้เสียหายกว่า 2,000 ราย ความเสียหายกว่า 2,000 ล้านบาท

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. ขอเรียนชี้แจงความคืบหน้าการดำเนินคดีกับ บริษัท ไมน์นิ่งมายน์ เอ็กซ์ จำกัด, ห้างหุ้นส่วนจำกัดสถานีหลักสี่ โดยนางสาวฐานวัฒน์ กับพวก รวม 9 ราย ที่ได้ร่วมกันหลอกลวงชักชวนผู้เสียหายหลายรายให้ร่วมลงทุนเพาะเห็ด ปลูกพืชกระท่อม เลี้ยงผึ้ง หรือการลงทุนในรูปแบบอื่นๆ ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ดังต่อไปนี้

ตามนโยบายของรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ได้ให้ความสำคัญ และมีความห่วงใยต่อประชาชนจากภัยการหลอกลวงผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหลอกลวงชักชวนประชาชนให้ร่วมลงทุน โดยอ้างว่าจะได้รับผลตอบแทนสูงในเวลาอันรวดเร็ว โดยได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการสืบสวนสอบสวนและปราบปรามการกระทำความผิด บังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่อง และจริงจัง    

เพื่อเป็นการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล และแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ซึ่งรับผิดชอบในด้านงานป้องกันปราบปราม ได้กำชับไปยัง พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดทำการสืบสวนสอบสวน ขยายผลหาความเชื่อมโยงในดดี ปราบปรามจับกุมผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในทุกรูปแบบ มุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

เมื่อประมาณเดือน พ.ย.64 - ก.ค.65 ผู้ต้องหากับพวกได้สร้างโรงเพาะเห็ดขึ้นมาหลายโรง ในพื้นที่ จว.สกลนคร ประกาศโฆษณาผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมลงทุนเพาะเห็ด ปลูกต้นกระท่อม และเลี้ยงผึ้ง โดยอ้างว่าผู้ที่เข้าร่วมลงทุนจะได้ผลตอบแทนเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง โดยมีเงื่อนระยะเวลาในการลงทุน เช่น โครงการฝากเลี้ยงเห็ดเยื่อไผ่ ใช้เงินลงทุน 264,360 บาท ในเดือนที่ 3 จะได้รับเงินปันผล 108,640 บาทต่อเดือน หรือโครงการฝากเลี้ยงกระท่อม ใช้เงินลงทุน 275,000 บาท ในเดือนที่ 8 จะได้รับกำไร 150,000 บาทต่อเดือน โดยมีการสร้างความน่าเชื่อถือโดยการทำสัญญาระหว่างผู้ร่วมลงทุนกับผู้ต้องหา มีการใช้บุคคลสำคัญ หรือบุคคลที่มีชื่อเสียงมาร่วมโฆษณาชักชวน มีการสร้างภาพว่าฟาร์มดังกล่าวได้รับรางวัล ทำให้ผู้เสียหายรายหลายหลงเชื่อ และนำเงินมาร่วมลงทุนเป็นจำนวนมาก ซึ่งกลุ่มผู้ต้องหาไม่ได้มีการดำเนินการตามที่ชักชวนแต่อย่างใด กระทั่งเมื่อถึงกำหนดผู้ต้องหากับพวกอ้างเหตุขัดข้องต่างๆ ไม่สามารถจ่ายเงินผลตอบแทนได้ เป็นเหตุให้ประชาชนได้รับความเสียหายและมาแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีกับผู้ต้องหาตามกฎหมาย

คดีดังกล่าวพนักงานสอบสวน บก.สอท.3 ได้ดำเนินการสอบสวนสืบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานมาโดยตลอด ได้ขออนุมัติศาลขอออกหมายจับผู้ต้องหากับพวก รวม 9 ราย ในข้อหา “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, กู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกง และนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่ง ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน” ปัจจุบันสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 7 ราย อยู่ระหว่างติดตามจับกุมตัวมาดำเนินคดี 2 ราย และที่ผ่านมาสามารถทำการตรวจยึดทรัพย์สิน และอายัดเงินในบัญชีที่เกี่ยวข้องได้เป็นจำนวนมาก

ต่อมาเมื่อ 3 ต.ค.65 พนักงานสอบสวนได้สรุปสำนวนการสอบสวน ครั้งที่ 1 มีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาไปยังพนักงานอัยการ โดยมีผู้เสียหาย 119 ราย ความเสียหาย 60 ล้านบาท และเมื่อ 22 ธ.ค.65 ได้สรุปสำนวนการสอบสวน ครั้งที่ 2 มีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาไปยังพนักงานอัยการ มีผู้เสียหาย 1,001 ราย ความเสียหายกว่า 703 ล้านบาท ทั้งนี้พนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างสรุปสำนวนการสอบสวน ครั้งที่ 3 ปัจจุบันมีผู้เสียหายอีกกว่า 1,000 ราย ความเสียหายกว่า 1,000 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จสามารถส่งสำนวนการสอบสวนได้ภายในเดือน เม.ย.66 เพื่อให้พนักงานอัยการพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

โฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถิติการรับแจ้งความออนไลน์ ความเสียหายจากการหลอกลวงให้ลงทุนนั้นอยู่ในลำดับที่ 1 ของความเสียหายจากการหลอกลวงทั้งหมด หรือคิดเป็นประมาณ 25% โดยส่วนใหญ่เงินลงทุนของประชาชนบางรายเป็นเงินเก็บก้อนสุดท้ายของชีวิต หรือบางรายต้องเอาทรัพย์สินไปจำนองเพื่อให้ได้เงินมาลงทุน ถือเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน ฝากเตือนไปยังมิจฉาชีพที่ยังคงหลอกลวงประชาชนในลักษณะดังกล่าว ให้หยุดการกระทำนั้นเสีย เพราะท้ายที่สุดก็ต้องถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตตามจับกุมมาดำเนินคดีทุกราย ไม่มีละลเว้น

สตม.รวบฟิลิปปินส์สองผัวเมีย หนีหมายจับคดีหลอกลงทุนกว่า 150 หมาย ซุกไทย

(19 มี.ค. 68) บก.สส.สตม. ได้รับการประสานงานจากสถานเอกอัครราชทูตฟิลิปปินส์ ประจำประเทศไทย ขอความร่วมมือ  ให้ช่วยตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายกับ Mr.Cerrone (สงวนนามสกุล) อายุ 46 ปี และ Mrs.Marve (สงวนนามสกุล) อายุ 47 ปี สองสามี-ภรรยา สัญชาติฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นบุคคลตามหมายจับของทางการฟิลิปปินส์ และเป็นบุคคลที่องค์การตำรวจสากล ได้ออกประกาศสีแดง  (Interpol Red Notice) ในความผิดฐาน “ร่วมกันฉ้อโกงรูปแบบเครือข่ายหลอกให้ลงทุน” โดยมีผู้เสียหายจำนวนมาก เป็นเหตุให้ถูกหมายจับรวมกันกว่า 150 หมาย และได้หลบหนีเข้ามาอยู่ในประเทศไทย ในเบื้องต้น ผบก.สส.สตม. ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าพฤติการณ์ของบุคคลต่างด้าวทั้งสองมีเหตุอันควรให้ เพิกถอนการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว เนื่องจากเป็นบุคคลซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐบาลต่างประเทศ ได้ออกหมายจับ จึงเพิกถอนการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร พร้อมกับขึ้นบัญชีเป็นคนต้องห้ามเข้ามาในราชอาณาจักร และสั่งการให้ กก.2 บก.สส.สตม. สืบสวนติดตามหาตัว ต่อมาจากการสืบสวนทราบว่า Mr.Cerrone และ Mrs.Marve ได้เช่าบ้านพักอาศัยอยู่ในพื้นที่ อ.ชะอำ จว.เพชรบุรี จึงได้นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจสอบ จนกระทั่งพบบุคคลทั้งสอง จึงได้แจ้งหนังสือแจ้งการเพิกถอนการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร นำตัวส่ง กก.3 บก.สส.สตม. เพื่อกักตัวไว้รอการดำเนินการตามกฎหมายต่อไป จากการสอบถาม Mr.Cerrone และ Mrs.Marve ให้การว่า ทั้งสองคนเป็นประธานบริษัทการลงทุนแห่งหนึ่งในประเทศฟิลิปปินส์ ได้ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการระดมทุน กระทั่งมีปัญหาเรื่องการเงิน ทำให้บริษัทขาดทุนอย่างหนัก และภายหลังได้ถูกออกหมายจับ จึงได้พาครอบครัวหลบหนีมายังประเทศไทย สตม. ขอเรียนให้ท่านทราบว่า สตม. มีมาตรการในการตรวจสอบ กวดขัน และปราบปรามการกระทำความผิด   ในด้านต่าง ๆ รวมถึงการเฝ้าระวังบุคคลทั้งสัญชาติไทยและสัญชาติอื่น ๆ ที่มีหมายจับ และการเดินทางเข้า-ออกประเทศไทย หากประชาชนท่านใดพบเห็นเบาะแสการกระทำความผิด กรุณาแจ้งมายัง สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง อาคารเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระชนมพรรษา 60 พรรษา เลขที่ 904 หมู่ที่ 6 ต.บ้านใหม่ อ.ปากเกร็ด จว.นนทบุรี 11120 หรือติดต่อตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดในพื้นที่ หรือที่ www.immigration.go.th จักขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่ง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top