Friday, 25 April 2025
คณะแพทยศาสตร์มช.

เชียงใหม่-คณะแพทยศาสตร์ มช. เปิด “ศูนย์ปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดครบวงจร แห่งเดียวในภูมิภาค

คณะแพทยศาสตร์ มช. เปิด “ศูนย์ปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดครบวงจรแห่งเดียวในภูมิภาค ด้วยสเต็มเซลล์จากผู้อื่นที่ไม่ใช่พี่น้องในผู้ป่วยผู้ใหญ่”รองรับการบริการที่เป็นเลิศ

เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2567 เวลา 10.00 น. หน่วยโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช. เปิดศูนย์ปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดครบวงจร แห่งเดียวในภูมิภาค หลังปรับปรุงด้วยเทคโนโลยีให้ทันสมัยขึ้น เพื่อรองรับการให้บริการและการวิจัยที่เป็นเลิศ โดยมี ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ) นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มช. เป็นประธานในพิธีเปิด ณ ศูนย์ปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด ชั้น 11 อาคารศรีพัฒน์ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่

ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ) นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เปิดเผยว่า คณะแพทยศาสตร์ มช. ได้ปรับปรุงศูนย์ปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด ทั้งโครงสร้างด้านสถาปัตยกรรม ระบบไฟฟ้าสื่อสาร ระบบสุขาภิบาล ระบบปรับอากาศ ระบายอากาศ และระบบก๊าซทางการแพทย์ เพื่อให้เป็นห้องปลอดเชื้อปลูกถ่ายไขกระดูกที่ทันสมัย ได้มาตรฐานระดับสากล ซึ่งห้องปลูกถ่ายเซลล์ที่ได้รับการปรับปรุงใหม่นี้ ใช้ในการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด มีความทันสมัยและปลอดภัยสูง เพื่อรองรับการรักษาผู้ป่วยที่มีความซับซ้อนมากขึ้น 

โดยเป็นลักษณะห้องแยกแบบปลอดเชื้อความดันบวก เครื่องกรองอากาศ มีการปรับอุณหภูมิและความชื้นจำนวน 10 ห้อง และห้องแยกแบบปลอดเชื้ออีก 1 ห้อง ที่มีลักษณะเป็นห้องทั้งความดันบวกและความดันลบ สามารถป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินหายใจได้ นอกจากนี้ภายในห้องผู้ป่วยได้มีการตกแต่งอย่างสวยงามและมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เนื่องจากผู้ป่วยที่เข้าทำการรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด ต้องอยู่โรงพยาบาลเป็นเวลานาน ส่วนใหญ่มากกว่า 1 เดือน ดังนั้นห้องผู้ป่วยจึงต้องตกแต่งอย่างสวยงาม มีสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อช่วยลดความเครียดจากการรักษาเป็นระยะเวลานาน

ศูนย์ปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด หน่วยโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช.ประกอบไปด้วยหน่วยย่อย ได้แก่ หอผู้ป่วยปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด หน่วยคัดเก็บเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด และหน่วยเก็บรักษาเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดด้วยความเย็น โดยปรับปรุงขึ้นใหม่จากพื้นที่หอผู้ป่วยเคมีบำบัดขนาดสูงเดิม ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2557 และได้มีการพัฒนาการรักษาผู้ป่วยที่มากขึ้นตามลำดับ ทั้งให้การรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งอื่น ๆ ที่หลากหลาย 

เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบ leukemia ทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง รวมถึงโรคอื่น ๆ อีกทั้งยังพัฒนาชนิดของการปลูกถ่ายที่มีความซับซ้อนมากขึ้น โดยให้การรักษาผู้ป่วยเด็กรายแรกในปี 2562 ต่อมาได้ทำการปลูกถ่ายด้วยสเต็มเซลล์ผู้อื่นจากพี่น้อง (sibling allogeneic stem cell transplantation) ในปี 2562 และปลูกถ่ายด้วยสเต็มเซลล์จากผู้อื่นที่ไม่ใช่พี่น้อง (matched unrelated donor allogeneic stem cell transplantation) ในปี 2564

นอกจากนี้ในปี 2564 ยังได้รับการรับรองการพัฒนาเพื่อก้าวสู่การรับรองเฉพาะโรค/เฉพาะระบบ (Program Disease Specific Certification; PDSC) จากสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) ด้วยพันธกิจและจุดมุ่งหมายของการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด เพื่อเพิ่มการเข้าถึงการรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดแบบบูรณาการระดับมาตรฐานสากล โดยจุดเน้นของศูนย์เพื่อให้ผู้ป่วยหายขาดจากโรคที่เจ็บป่วย รวมถึงโรคมะเร็งต่าง ๆ ลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ พัฒนาทำให้ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษา มีอัตราการรอดชีวิตเทียบเท่ากับต่างประเทศ ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีและกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ สอดคล้องกับวิสัยทัศน์และพันธกิจของคณะแพทยศาสตร์ มช. ในการเป็น “โรงเรียนแพทย์ในดวงใจ เพื่อยกระดับสุขภาพและสุขภาวะที่ยั่งยืนของมนุษยชาติ”

นภาพร/เชียงใหม่ 

เชียงใหม่- คณะแพทยศาสตร์ มช. จัดเสวนา แนวทางป้องกันฝุ่น PM2.5 ในสถานที่ทำงาน 

(24 ก.พ. 68 ณ ห้องประชุม ชั้น 2 อาคารเรียนรวม คณะแพทยศาสตร์ มช. รศ.นพ.นเรนทร์ โชติรสนิรมิต คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มช. เป็นประธานเปิดการเสวนา แนวทางป้องกันฝุ่น PM2.5 เพื่อให้ความรู้และเป็นแนวทางป้องกันฝุ่น PM2.5 ในสถานที่ทำงาน 

รศ.นพ.นเรนทร์ โชติรสนิรมิต คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มช. เปิดเผยว่า "ปัญหาฝุ่น PM2.5 เป็น ปัญหาวิกฤตที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงต้นปี และมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นทุกปี ส่งผลกระทบอย่างมากต่อสุขภาพ ประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือและจังหวัดเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มช. ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหานี้ และเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับ PM2.5 จึงได้จัดกิจกรรมเสวนา "แนวทางป้องกันฝุ่น PM2.5 ในสถานที่ทำงาน" เพื่อให้ความรู้แก่บุคลากรและประชาชนเกี่ยวกับการป้องกันฝุ่น PM2. ซึ่งปัญหา มลพิษทางอากาศที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง การป้องกันและลดผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 จำเป็นเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งการให้ความรู้ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการลดมลพิษเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนทุกคน"

ซึ่งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ตระหนักถึงปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยที่ผ่านมาได้จัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ความรู้ผลกระทบต่อสุขภาพ และในครั้งนี้ได้จัดกิจกรรมเสวนาแนวทางป้องกันฝุ่นPM2.5 ในเชิงการจัดการทางกายภาพ และแนวทางการปฏิบัติเชิงพฤติกรรม ที่สามารถนำไปประยุกต์ และปฏิบัติได้ทั้งในสถานที่ทำงานและที่อยู่อาศัย เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับมือ และลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากฝุ่น PM2.5 

โดยมีหลักที่สำคัญ 2 ส่วนคือ
1. ด้านกายภาพ (กั้น กรอง ดัน) กั้น : ปิดประตูหน้าต่างที่สนิท ชื่อตามขอบหน้าต่าง หรือรูรั่วอื่น ๆ ให้ชิด และเปิดระบาย อากาศบ้าง ช่วงที่ฝุ่นภายนอกน้อย กรอง : ปิดประตูหน้าต่างให้สนิท เปิดเครื่องพ่อกอากาศ และปิดพัดลมดูดอากาศ(ถ้ามี) ดัน : ติดตั้งเครื่องเติมอากาศสะอาด สร้างแรงดันอากาศภายในห้องให้มากว่าภายนอก เพื่อ
ดันฝุ่นไม่ให้เข้ามาในห้อง

2.พฤติกรรม (3ส 1 ล)
ส.สะสาง คัดแยกสิ่งของที่ไม่จำเป็นหรือไม่ใช้แล้วออกไปเพราะจะเป็นแหล่งสะสมฝุ่น ส.สะอาด ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดทำความสะอาดเฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ และเช็ดถูทำความสะอาดพื้นและตามซอกมุมต่าง ๆ เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่น รวมทั้งล้างอุปกรณ์เครื่องใช้ เช่น
พัดลม เครื่องปรับอากาศ แผ่นกรองอากาศและมุ้งลวด
สร้าง สร้างสุขนิสัย ในการดูแลและทำความสะอาดบ้านอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะมีฝุ่นละอองสูง อาจจะต้องเพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดมากขึ้น รวมถึงสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี โดยปลูกต้นไม้ที่มีลักษณะใบหนา หยาบ มีขน เพื่อช่วยดักฝุ่น ลดหรือเลี่ยง กิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นละองเพิ่ม เช่น การจุดธูป-เทียน การเผาขยะ การจุดเตาถ่าน และการสูบบุหรี่

ผศ.นพ.ธวัชชัย มั่นอ่ำ รองคณบดีด้านกายภาพและสิ่งแวดล้อม คณะแพทยศาสตร์ มช. เปิดเผยว่า"จากข้อมูลที่ผ่านมา พบว่าคนเชียงใหม่ต้องเผชิญกับฝุ่น PM2.5 เป็นระยะเวลานานเกือบครึ่งปี (ประมาณ กุมภาพันธ์ - พฤษภาคม) ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ นอกจากนี้ สถิติยังบ่งชี้ว่าจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น การป้องกันฝุ่นจึงไม่ควรจำกัดเพียงแค่การสวมใส่หน้ากากหรือหลีกเลี่ยงพื้นที่โล่งแจ้ง แต่ควรรวมถึงการจัดการฝันในสถานที่ทำงานด้วย ซึ่งการป้องกันฝุ่น PM2.5 ในสถานที่ทำงานเป็นสิ่งสำคัญในการลดผลกระทบต่อสุขภาพของบุคลากร การติดตามคุณภาพอากาศ ปรับปรุงระบบระบายอากาศสวมหน้ากากที่เหมาะสม และดูแลสุขภาพของพนักงาน เป็นมาตรการที่สามารถช่วยลดความเสี่ยงได้

กิจกรรมในครั้งนี้มีการบรรยายใน 6 หัวข้อหลัก ได้แก่ สถิติคุณภาพอากาศตัวเมืองเชียงใหม่ ป้องกันฝุ่น PM2.5 ในสถานที่ทำงานอย่างไร การเลือกขนาดเครื่องฟอกอากาศ การเฝ้าระวังและติดตาม การปรับปรุงด้าน PM2.5 คณะแพทยศาสตร์ การติดตั้งแผ่นกรองฝุ่น เครื่องปรับอากาศ และพัดลม โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ คือ รศ.ดร.ยศธนา คุณาทร อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มช. , ผู้แทนพิเศษ สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มช. , ผศ.นพ.ธวัชชัย มั่นอ่ำ รองคณบดีด้านกายภาพและสิ่งแวดล้อม คณะแพทยศาสตร์ มช. , คุณวิชชากร จามีกร หัวหน้าศูนย์บริหารจัดการระบบสนับสนุนคณะแพทยศาสตร์ มช. และคุณณัฐพล ไชยแก้ว วิศวกร สังกัดงานอาคารสถานที่ บรรยายใน 6 หัวข้อในการเตรียมความพร้อมและเสริมความรู้แก่บุคลากร ให้ทราบถึงแนวทางในการป้องกันฝุ่น PM 2.5 ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้ใช้ในหน่วยงานช่วงที่เกิดภาวะฝุ่น PM2.5 เพื่อลดดผลกระทบด้านสุขภาพของบุคลากรและผู้ที่มารับบริการของคณะแพทยศาสตร์ มช.


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top