Sunday, 18 May 2025
ข้าวแช่

‘กรมการแพทย์แผนไทย’ แนะ 2 เมนูเติมความสดชื่น ‘ข้าวแช่-ปลาแห้งแตงโม’ อาหารพื้นบ้าน ฝ่าวิกฤตฤดูร้อน

นายแพทย์ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ขณะนี้ในหลายจังหวัดของประเทศไทยมีอากาศที่ร้อนอบอ้าว โดยเฉพาะช่วงเดือนเมษายน อากาศจะร้อนเป็นพิเศษ ผู้คนส่วนใหญ่มักหากิจกรรมคลายร้อนเพื่อดับความร้อนในร่างกาย ทำให้ร่างกายมีความสดชื่น เช่น การไปเที่ยวแช่น้ำตามน้ำตก หรือแหล่งน้ำธรรมชาติ การพักผ่อนตามสวนสาธารณะที่มีต้นไม้ร่มรื่น การดื่มเครื่องดื่มเย็นๆ คลายร้อน หรือการเปิดเครื่องปรับอากาศที่บ้านเพื่อให้อากาศเย็นสบายคลายร้อน


สำหรับฤดูร้อนนี้กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ขอแนะนำเมนูอาหารตำรับชาววัง ช่วยคลายความร้อน คือ ‘ข้าวแช่ง เป็นเมนูอาหารที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมของชาวมอญมาอย่างยาวนาน จนเข้าสู่ตำรับอาหารชาววัง ข้าวแช่ นิยมทำถวายพระสงฆ์ หรือผู้เฒ่าผู้แก่ที่ตนเคารพนับถือช่วงหน้าร้อน เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต เมนูข้าวแช่ ประกอบด้วยสมุนไพรหลายชนิดที่สำคัญ คือ น้ำลอยดอกมะลิ และข้าวสวยหุงด้วยน้ำใบเตย ซึ่งมะลิ และใบเตย เป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์เย็น มีสรรพคุณแก้ร้อนใน กระหายน้ำ แก้ไข้ตัวร้อน ช่วยให้ร่างกายสดชื่น

ในส่วนเครื่องเคียงที่รับประทานคู่กับข้าวแช่ คือ ลูกกะปิ ทำจากปลาย่าง (ส่วนใหญ่ใช้เป็นปลาช่อนหรือปลาดุก) มีส่วนผสมของ หอมแดง ต้นหอม ข่า กระเทียม ตะไคร้ ผิวมะกรูด กระชาย พริกชี้ฟ้า สรรพคุณของสมุนไพรดังกล่าว ช่วยให้เลือดลมไหลเวียนสะดวก ป้องกันการเป็นลมในช่วงหน้าร้อนได้เป็นอย่างดี พริกหยวกสอดไส้หมูสับห่อไข่ มีโปรตีนสูง บำรุงร่างกาย ช่วยให้เลือดลมไหลเวียนสะดวก 

โดยวิธีทำ นำเนื้อหมูมาสับให้ละเอียด นำไปปรุงรส และนึ่งจนสุก ก่อนนำไปห่อด้วยพริกหยวก และไข่ที่ทำเป็น ตาข่ายแพ หมูฝอย หรือเนื้อฝอย มีโปรตีนสูง ช่วยบำรุงร่างกาย ช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย ไชโป๊ผัด มีแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย หอมแดงทอด ป้องกันหวัด ช่วยให้เลือดลมไหลเวียนสะดวก นอกจากนี้ บางแห่งยังมีมะม่วงสับ ซึ่งเป็นเครื่องเคียง สรรพคุณช่วยขับเสมหะ บรรเทาอาการไอ อีกด้วย วิธีการรับประทานข้าวแช่ ควรรับประทานเครื่องเคียงก่อน แล้วค่อยรับประทานข้าวพร้อมกับน้ำลอยดอกมะลิ มีรสชาติหอมเย็น จะช่วยให้สดชื่น และคลายร้อนได้เป็นอย่างดี


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top