Monday, 5 May 2025
ข้อมูลรั่วไหล

‘หมอเก่ง’ ชี้!! ข้อมูลวัคซีนเป็นความลับ ทั้งที่รัฐควรมีหน้าที่ป้องกันอย่างเข้มงวด 

‘วาโย - ก้าวไกล’ โต้!! ‘อนุทิน’ ข้อมูลวัคซีนและเลขบัตรประจำตัวประชาชนเป็นความลับ ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย รัฐไม่ควรปล่อยให้ใครก็ได้เข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของประชาชน

จากกรณีที่อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงว่า ข้อมูลของประชาชนที่ฉีดวัคซีนไม่ได้รั่ว และข้อมูลดังกล่าวไม่ได้ถือว่าเป็นความลับ เมื่อกรอกหมายเลข 13 หลักในหมอพร้อมก็จะพบข้อมูลนี้นั้น ทาง นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ออกมาแสดงความเห็นว่า ตนรู้สึกตกใจมากที่เจ้ากระทรวงที่ดูแลข้อมูลส่วนตัวของประชาชนทั้งประเทศ ไม่ให้ความสำคัญกับปกป้องข้อมูลของประชาชน

“ปัจจุบัน ข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่ามาก เพราะสามารถนำข้อมูลไปวิเคราะห์และคาดการณ์อะไรได้อีกมาก หลายประเทศที่เขาตระหนักเรื่องนี้ ตนถือว่ามันเป็นความมั่นคงของประชาชนเลยด้วยซ้ำ ทีนี้ของประเทศไทย ควรจะต้องมี พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล หรือ PDPA ออกมาใช้ตั้งนานแล้ว แต่มันก็ยังไม่มีผลบังคับใช้สักที แล้วพอผู้มีอำนาจออกมาบอกว่าข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้เป็นความลับอะไร มันก็แสดงให้เห็นว่ารัฐไทยไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้แบบสุดๆ ไปเลย”

นพ.วาโย กล่าวต่อว่า แม้ PDPA จะยังไม่มีผลบังคับใช้ แต่ปัจจุบันก็มีกฎหมายเฉพาะคุ้มครองข้อมูลสุขภาพของประชาชนบังคับใช้อยู่แล้ว เขาชวนให้ทุกคนคิดตามโจทย์ทางกฎหมายว่า มาตรา 7 ของพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ระบุว่า ข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคลเป็นความลับส่วนบุคคล ใครจะนำไปเปิดเผยในลักษณะที่จะทำให้บุคคลนั้นเสียหายไม่ได้ เว้นแต่คนนั้นจะยินดีเปิดเผยเอง

“แล้วข้อมูลวัคซีนถือเป็นข้อมูลสุขภาพหรือไม่? ก็ต้องย้อนไปดู พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 มาตรา 4 ระบุว่า การประกอบวิชาชีพเวชกรรมมีการรักษา บำบัด หรือป้องกันโรค ดังนั้น การฉีดวัคซีนเพื่อการป้องกันโรค ก็ถือว่าเป็นข้อมูลการรักษา เป็นข้อมูลสุขภาพ ซึ่งเป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่ผู้ใดจะเปิดเผยไม่ได้”

‘LINE’ ยอมรับ!! ทำข้อมูลผู้ใช้ ‘รั่วไหล’ กว่า 3 แสนรายการ พร้อมดำเนินการปิดกั้นเรียบร้อย หลังถูกมือที่สามเจาะระบบ

เมื่อวานนี้ (27 พ.ย. 66) รายงานข่าวจาก LY Corporation บริษัทแม่ในญี่ปุ่นของ ‘ไลน์’ (LINE) เปิดเผยว่า บริษัทพบการเข้าถึงระบบภายในจากบุคคลที่สามโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่งผลให้มีการรั่วไหลของข้อมูลผู้ใช้, พันธมิตรธุรกิจ, พนักงานและบุคลากรอื่น ๆ ซึ่งบริษัทได้ทำการบล็อกการเข้าถึงเซิร์ฟเวอร์จากภายนอกโดยระบบบริษัทในเครือ ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นเส้นทางที่เซิร์ฟเวอร์ถูกเข้าถึงได้

อย่างไรก็ตาม บริษัทไม่ได้รับรายงานเกี่ยวกับความเสียหายในระยะที่สอง รวมถึงการใช้ข้อมูลของผู้ใช้และพันธมิตรทางธุรกิจในทางที่ผิด แต่บริษัทจะดำเนินการสอบสวนต่อไปและดำเนินการทันทีหากจำเป็นต้องใช้มาตรการที่เคร่งครัด

รายงานระบุว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเครื่องหนึ่งของพนักงานในบริษัทรับช่วงสัญญาในเครือของ NAVER Cloud Corporation ในเกาหลีใต้ และ LY Corporation ได้รับมัลแวร์ เนื่องจากทั้งสองบริษัทมีการแลกเปลี่ยนระบบภายในองค์กรเพื่อจัดการข้อมูลของพนักงานและข้อมูลของบุคลากรอื่น ๆ ซึ่งจัดการโดยใช้ระบบการยืนยันตัวตนร่วมกัน ส่งผลให้มีการเข้าถึงเครือข่ายภายในของบริษัท LINE เดิมและบุคคลที่สามก็สามารถเข้าถึงระบบของบริษัทโดยไม่ได้รับอนุญาตผ่าน NAVER Cloud Corporation ในวันที่ 9 ต.ค. 2566

นอกจากนี้ บริษัทยังพบการเข้าถึงต้องสงสัยภายในระบบ ณ วันที่ 17 ต.ค. 2566 เช่นเดียวกัน และหลังจากได้วิเคราะห์เหตุการณ์แล้ว จึงได้ผลสรุปว่า ในวันที่ 27 ต.ค. 2566 มีความเป็นไปได้สูงที่มีการเข้าถึงระบบจากภายนอกโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งบริษัทกำลังใช้มาตรการเพื่อทำความเข้าใจเหตุการณ์ทั้งหมด และป้องกันไม่ให้ข้อมูลแพร่กระจาย อีกทั้งบริษัทได้รายงานไปยังกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว

>> รายละเอียดการรั่วไหลของข้อมูลส่วนตัวจากเหตุการณ์ดังกล่าวที่ได้รับการยืนยันแล้วเป็นดังนี้

1. ข้อมูลผู้ใช้

- ข้อมูลส่วนตัวเกี่ยวกับผู้ใช้ จำนวน 302,569 รายการ (เป็นของผู้ใช้ญี่ปุ่น 129,894 รายการ)
- ข้อมูลผู้ใช้ประมาณ 49,751 รายการ (เป็นของผู้ใช้ญี่ปุ่น 15,454 รายการ) ได้แก่ ประวัติการใช้บริการที่เชื่อมโยงกับตัวระบุตัวตนภายในของผู้ใช้ LINE
- ในจำนวนทั้งหมดนี้ 22,239 รายการ เป็นข้อมูลความเป็นส่วนตัวด้านการสื่อสาร (เป็นของผู้ใช้ญี่ปุ่น 8,981 รายการ)
- รวมประมาณการ 3,573 รายการ (เป็นของผู้ใช้ญี่ปุ่น 31 รายการ)
- หมายเหตุ: ข้อมูลข้างต้นไม่รวมข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีธนาคาร บัตรเครดิต หรือข้อความแชตในแอป LINE

2. ข้อมูลที่เกี่ยวกับพันธมิตรธุรกิจ

- ข้อมูลพันธมิตรธุรกิจ 86,105 รายการ เป็นข้อมูลส่วนบุคคลของพันธมิตรธุรกิจและผู้อื่น เช่น ที่อยู่อีเมลของพันธมิตรธุรกิจ เป็นต้น
- ที่อยู่อีเมลของพันธมิตรธุรกิจ 86,071 รายการ
- รายชื่อของพนักงาน LINE และพันธมิตรธุรกิจ รวมถึงชื่อของบริษัทและแผนกต่าง ๆ, ที่อยู่, อีเมล 34 รายการ

3. ข้อมูลที่เกี่ยวกับพนักงานและบุคลากรอื่น ๆ

- ข้อมูลบุคลากรและพนักงาน เช่น ชื่อ, รหัสประจำตัวพนักงาน, ที่อยู่อีเมล 51,353 รายการ
- ข้อมูลบุคลากรและพนักงาน และข้อมูลเอกสารที่เกี่ยวข้องกับระบบการจัดการเอกสารที่มีการรั่วไหลทั้งหมด 6 รายการ
- ข้อมูลบุคลากรและพนักงานที่อยู่ในระบบการยืนยันตัวตนทั้งหมด 51,347 รายการ แบ่งเป็น LY Corporation 30,409 รายการ และ NAVER 20,938 รายการ

>> ไทม์ไลน์ของเหตุการณ์ดังกล่าวมีรายละเอียดดังนี้

- 9 ต.ค. 2566 : มีการเข้าถึงเซิร์ฟเวอร์ของ LY Corporation โดยไม่ได้รับอนุญาตผ่านทางเซิร์ฟเวอร์ของบริษัทในเครือ
- 17 ต.ค. 2566 : ทีมงานรักษาความปลอดภัยของ LY Corporation ได้ตรวจพบการเข้าถึงในระบบที่ต้องสงสัยและทีมงานเริ่มทำงานตรวจสอบ
- 27 ต.ค. 2566 : มีการระบุว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะมีการเข้าถึงจากภายนอกโดยไม่ได้รับอนุญาต มีการรีเซ็ตรหัสผ่านของพนักงานที่อาจถูกใช้เพื่อเข้าถึงระบบโดยไม่ได้รับอนุญาตและตัดการเข้าถึงเซิร์ฟเวอร์ต่าง ๆ ในระบบของบริษัทในเครือ ซึ่งสันนิษฐานได้ว่าเป็นทางที่สามารถเข้าถึงเซิร์ฟเวอร์ต่าง ๆ ภายในบริษัท
- 28 ต.ค. 2566 : บังคับให้พนักงานเข้าสู่ระบบภายในของบริษัทอีกครั้ง
- 27 พ.ย. 2566 : ส่งแจ้งเตือนไปยังผู้ใช้ พนักงานและบุคคลอื่น ๆ

ทั้งนี้ รายงานข่าวระบุด้วยว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าว บริษัทได้บล็อกการเข้าถึงจากภายนอก และแจ้งเตือนให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรับทราบแล้ว รวมถึงในอนาคต LY Corporation วางแผนที่จะพัฒนาประสิทธิภาพการจัดการการเข้าถึงของเครือข่ายในระบบและทำการแยกระบบยืนยันตัวตนข้อมูลพนักงานออกจาก NAVER Cloud Corporation ซึ่งได้ซิงโครไนซ์ภายใต้ระบบภายในของบริษัท LINE เดิม


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top