Thursday, 15 May 2025
ขุดเจาะน้ำมัน

แฉยับ!! เบื้องหลังบริษัทน้ำมัน 'สหรัฐฯ - ยุโรป' โกยกำไรงาม จากสัมปทานน้ำมันของ รบ.เมียนมา

หลังจากเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 66 ที่เป็นวันครบรอบ 2 ปีเหตุการณ์รัฐประหารในพม่า ก็ได้มีการสรุปรายงานโดยเจ้าหน้าที่พิเศษขององค์การสหประชาชาติ ว่าตั้งแต่ที่มีการยึดอำนาจโดย นายพล มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารคนปัจจุบันเป็นต้นมา มีการกระทำความผิดที่เข้าข่ายอาชญากรรมสงคราม เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2,490 ราย โดยในจำนวนนั้น มีทั้งเด็กและเยาวชน กลุ่มนักเคลื่อนไหวทางการเมือง และพลเรือนพม่ามากมาย

ในขณะที่ทั่วโลกร่วมกันประณาม และคว่ำบาตรรัฐบาลพม่า แต่กลับมีการนำเสนอเอกสารลับ โดยกลุ่ม Distributed Denial of Secrets กลุ่มนักเคลื่อนไหวในพม่า Justice For Myanmar ร่วมกับสำนักข่าวชื่อดัง  Finance Uncovered และ The Guardian ซึ่งพบหลักฐานการเสียภาษีจำนวนมหาศาลของกลุ่มบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของทั้ง สหรัฐอเมริกา, อังกฤษ และ ไอร์แลนด์ ที่ได้ผลประโยชน์จากสัมปทานขุดเจาะน้ำมันในแหล่งก๊าซธรรมชาติของพม่า ที่บ่งชี้ว่าบริษัทเหล่านี้ยังสามารถแสวงหาผลกำไรมหาศาล แม้จะเกิดเหตุการณ์รัฐประหารในพม่าไปแล้วก็ตาม

เอกสารลับนี้ ยังชี้ว่า บริษัทนัำมันยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกาบางแห่ง ยังคงดำเนินกิจการในบริษัทสาขาของตนในพม่าตามปกติ แม้จะมีคำเตือนจากรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ถึงความเสี่ยงในการทำธุรกิจภายใต้สถานการณ์การเมืองในพม่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำธุรกิจร่วมกับ บริษัทน้ำมันและก๊าซแห่งชาติของเมียนมา (MOGE) ที่เป็นแหล่งเงินทุนหลักของรัฐบาลทหารพม่า 

เมื่อปรากฏหลักฐานว่ายังมีบริษัทน้ำมันจากชาติมหาอำนาจ ที่ยังมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับรัฐบาลทหารพม่าเช่นนี้ ทางสหรัฐอเมริกา, อังกฤษ, ออสเตรเลีย, แคนาดา จึงได้ออกมาแก้เกี้ยวด้วยการประกาศมาตรการคว่ำบาตรพม่าเพิ่ม รวมถึงคณะผู้บริหารระดับสูงของ MOGE ด้วย 

แต่กลับเลือกที่จะเลี่ยง ไม่ยอมคว่ำบาตร MOGE ทุกองค์กรทั้งระบบ ซึ่งยังเปิดช่องให้กิจการเอกชนสามารถทำธุรกิจร่วมกับ MOGE ได้อยู่ ซึ่งตรงข้ามกับทางกลุ่มสหภาพยุโรป ที่ได้ออกมาประกาศคว่ำบาตร MOGE ทั้งองค์กรแล้ว ในประเด็นเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงในพม่า และมีการห้ามบริษัทเอกชนในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปทำธุรกิจร่วมกับ MOGE ใด ๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะทางตรง หรือทางอ้อมก็ตาม

ทั้งนี้ ในเอกสารด้านภาษีที่หลุดออกมามีระบุรายชื่อบริษัทน้ำมันเอกชนของชาติตะวันตกที่ยังร่วมสัมปทานใน MOGE ดังนี้...

- Halliburton บริษัทน้ำมันสัญชาติอเมริกัน ที่เปิดสาขาในสิงคโปร์ แจงผลกำไรก่อนเสียภาษีในไตรมาศที่ 3 ของปี พ.ศ. 2564 รวมผลประกอบการ 8 เดือนหลังเหตุการณ์รัฐประหาร ที่ 6.3 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 207 ล้านบาท)  

- Baker Hughes บริษัทน้ำมันสัญชาติอเมริกัน ที่มีสำนักงานใหญ่ในเมือง ฮูสตัน รัฐเท็กซัส และเปิดสำนักงานในเมืองย่างกุ้ง มีผลกำไรก่อนภาษี ตลอด 6 เดือนจนถึงมีนาคม พ.ศ. 2565 ที่ 2.64 ล้านดอลลลาร์ (ประมาณ 87 ล้านบาท)

'เอกวาดอร์' นำร่องประชาธิปไตยเพื่อสิ่งแวดล้อม ชวน ปชช.ทำประชามติตัดสินใจเดินหน้าหรือยุติโครงการขุดเจาะน้ำมันในเขตป่าแอมะซอน

เมื่อวันอาทิตย์ (20 ส.ค.66) เป็นเลือกตั้งใหญ่ในเอกวาดอร์ที่นอกจากคนเอกวาดอร์จะต้องออกมาเข้าคูหาเลือกผู้นำคนใหม่แล้ว ยังมีโอกาสได้เลือกอนาคตของชาติด้วยว่า จะยังคงเป็นชาติที่มีเศรษฐกิจพึ่งพารายได้จากพลังงาน โดยยอมแลกกับทรัพยากรสิ่งแวดล้อมของชาติหรือไม่

เนื่องจากในวันนั้น รัฐบาลเอกวาดอร์กำหนดให้เป็นวันทำประชามติ ถามความเห็นประชาชนโดยตรงว่าจะยังคงให้มีการสำรวจ ขุดเจาะน้ำมันในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ Yasuní National Park ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าดิบชื้นแอมะซอน หนึ่งในสถานที่ที่มีความสมบูรณ์ด้านความหลากหลายทางชีววิทยามากที่สุดในโลก และยังเป็นที่อยู่อาศัยของชนเผ่าพื้นเมืองที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตัวสูง  

นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของเอกวาดอร์ ที่ให้สิทธิ์ประชาชนร่วมตัดสินใจในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังจับตาถึง แนวทางประชาธิปไตยเพื่อสิ่งแวดล้อมในครั้งนี้จะได้คำตอบออกมาเช่นไร 

Yasuní National Park ในเอกวาดอร์ มีพื้นที่มากถึง 9,823 ตารางกิโลเมตร เป็นป่าฝนดิบชื้น ที่อุดมสมบูรณ์ทั้งในด้านแหล่งน้ำ สัตว์ป่า ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นเขตสงวนชีวมณฑลขององค์กรยูเนสโก้ เป็นแหล่งธรรมชาติที่ทรงคุณค่าที่ยังคงเหลืออยู่ไม่มากแล้วในโลก 

แต่ทว่า ใต้พื้นดินในเขตป่าแอมะซอนของเอกวาดอร์ ยังเป็นแหล่งน้ำมันดิบมหาศาลกว่า 1.7 พันล้านบาร์เรล เทียบเท่ากับ 40% ของแหล่งน้ำมันสำรองที่บ่อน้ำมัน Ishpingo-Tiputini-Tambococha แหล่งน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดของเอกวาดอร์ 

ย้อนกลับไปราวปี 2007 อดีตประธานาธิบดีเอกวาดอร์ ราฟาเอล กอร์เรอา เคยนำประเด็นแหล่งน้ำมันในอุทยานแห่งชาติ Yasuní มาต่อรองกับประชาคมโลก ว่าเอกวาดอร์จะยอมยุติการขุดเจาะ และสกัดน้ำมันภายในพื้นที่อุทยานป่าแอมะซอนแห่งนี้ แลกกับเงินช่วยเหลือจากประชาคมโลกจำนวน 3.6 พันล้านเหรียญ ซึ่งเทียบเท่ากับรายได้ครึ่งหนึ่งจากบ่อน้ำมันแห่งนี้ คำนวณจากราคาน้ำมันดิบในปีนั้น 

เรื่องราวควรได้ข้อยุติไปแล้ว แต่เมื่อเวลาผ่านไปไม่ถึง 10 ปี ในปี 2016 บริษัทน้ำมันของรัฐบาลเอกวาดอร์ได้เปิดพื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติ Yasuní ที่เรียกว่าเขต Block 43 เพื่อขุดเจาะน้ำมันใต้ดินขึ้นมาใช้อีกครั้ง และปัจจุบันสามารถผลิตน้ำมันได้ถึง 55,000 บารเรลต่อวัน คิดเป็น 12% ของปริมาณน้ำมันดิบที่ขุดได้ในเอกวาดอร์ 

และได้สร้างมลพิษอย่างมากมายให้กับพื้นที่แห่งนี้ ทั้งคราบน้ำมันปนเปื้อนในแหล่งน้ำ การทำลายป่าเป็นวงกว้างเพื่อขุดเจาะน้ำมัน และการเบียดเบียนทำลายระบบนิเวศทางธรรมชาติในพื้นที่ สร้างความไม่พอใจอย่างมากต่อชนพื้นเมือง นักวิทยาศาสตร์ นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม และประชาชนจำนวนมาก 

แต่ก็มีชาวเอกวาดอร์ไม่น้อยเช่นกันที่สนับสนุนโครงการขุดเจาะน้ำมันในเขตป่าแอมะซอน ที่จะช่วยพยุงเศรษฐกิจในประเทศ นำรายได้จากการส่งออกน้ำมันมาแก้ปัญหาความยากจน และยังช่วยสร้างงาน และรายได้ให้แก่แรงงานชาวเอกวาดอร์จำนวนมาก 

เมื่อประเด็นการขุดน้ำมันในอุทยานแห่งชาติ Yasuní มีการถกเถียงกันมานานกว่า 10 ปี ศาลรัฐธรรมนูญของเอกวาดอร์จึงตัดสินให้รัฐบาลต้องทำประชามติ ถามความเห็นของประชาชนโดยตรง ในวันเดียวกับวันเลือกตั้งใหญ่ของประเทศ ให้ประชาชนได้ใช้สิทธิ์ตัดสินใจเรื่องระดับชาติไปในคราวเดียวกัน

ทำให้การออกมาลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของชาวเอกวาดอร์ในครั้งนี้ มีความหมายมากกว่าทุกครั้ง แม้ในด้านหนึ่ง เอกวาดอร์กำลังเผชิญวิกฤติด้านสังคม และ การเมืองอย่างรุนแรง บ้านเมืองถูกครอบงำด้วยแก๊งมาเฟีย และเครือข่ายพ่อค้ายาเสพติด มีการซุ่มลอบสังหารนักการเมืองหลายคนในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง และเศรษฐกิจตกต่ำยาวตั้งแต่ช่วง Covid-19 

แต่สำหรับการลงประชามติในโครงการขุดเจาะน้ำมันที่ Yasuni กลับมีบรรยากาศที่ผิดกัน ชาวเอกวาดอร์มีความกระตือรือร้น และรู้สึกมีความหวังกับการตัดสินใจครั้งนี้มากกว่าการเลือกตั้งทั่วไปอย่างเห็นได้ชัด เพราะเชื่อว่าการแสดงออกผ่านประชามติครั้งนี้ พวกเขาสามารถเลือกอนาคตของชาติได้อย่างเป็นรูปธรรม สร้างความเปลี่ยนแปลงได้ หรือ รักษาสิ่งที่พวกเขาหวงแหนได้อย่างแท้จริง

ซึ่งก็ต้องมาติดตามว่า ชาวเอกวาดอร์จะเลือกรักษาสภาพแวดล้อมของผืนป่าแอมะซอน และลดการพึ่งพาเศรษฐกิจพลังงาน หรือจะยอมแลกพื้นที่ป่าเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ปากท้องของประชาชนที่ยังต้องพึ่งรายได้จากการส่งออกน้ำมันเป็นสำคัญ

และยังเป็นการชี้วัดว่า การใช้กระบวนการทางประชาธิปไตยเพื่อสิ่งแวดล้อม จะกลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการแก้ปัญหาความเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลกได้หรือไม่ 

เรื่อง: ยีนส์ อรุณรัตน์


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top