Monday, 3 June 2024
ขึ้นเงินเดือน

‘ครม.’ ไฟเขียว ขึ้นเงินเดือนผู้บริหาร-สมาชิก อบต. ปรับตามรายได้ เริ่มจ่าย 1 ต.ค.66 เป็นต้นไป

(17 มี.ค. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา เห็นชอบหลักการร่างระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยเงินค่าตอบแทนนายกองค์การบริหารส่วนตำบล รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล

รองประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนตำบล และเลขานุการสภาองค์การบริหาร ส่วนตำบล (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. โดยให้จ่ายค่าตอบแทนตามบัญชีอัตราค่าตอบแทนใหม่ต้ังแต่ วันที่ 1 ต.ค. 2566 เป็นต้นไป โดยมีการกำหนดช่วงอัตราเงินค่าตอบแทนขึ้นอยู่กับ รายได้ของ อบต. ซึ่งปัจจุบันมี 5,300 แห่ง แบ่งออกเป็น 6 ช่วง ดังนี้

1.) รายได้ไม่เกิน 10 ล้านบาท
อัตราค่าตอบแทนของนายก อบต. รวม 25,800 บาท/เดือน รองนายก อบต. รวม 15,480 บาท/เดือน ประธานสภา อบต. และรองประธานสภา อบต. 10,880 บาท/เดือน สมาชิกสภา เลขานุการนายก อบต. และ เลขานุการสภา อบต. 7,080 บาท/เดือน

2.) รายได้เกิน 10-25 ล้านบาท (3,562 แห่ง)
อัตราค่าตอบแทนของนายก อบต. รวม 35,600 บาท/เดือน รองนายก อบต. รวม 21,180 บาท/เดือน ประธานสภา อบต. 15,180 บาท/เดือนและรองประธานสภา อบต. 12,420 บาท/เดือน สมาชิกสภา เลขานุการนายก อบต. และเลขานุการสภา อบต. 9,660 บาท/เดือน

3.) รายได้เกิน 25-50 ล้านบาท (525 แห่ง)
อัตราค่าตอบแทนของนายก อบต. รวม 40,800 บาท/เดือน รองนายก อบต. รวม 24,840 บาท/เดือน ประธานสภา อบต. 15,840 บาท/เดือน และรองประธานสภา อบต. 12,960 บาท/เดือน สมาชิกสภา เลขานุการนายก อบต. และเลขานุการสภา อบต. 10,080 บาท/เดือน

4.) รายได้เกิน 50-100 ล้านบาท (166 แห่ง)
อัตราค่าตอบแทนของนายก อบต. รวม 46,000 บาท/เดือน รองนายก อบต. รวม 28,500 บาท/เดือน ประธานสภา อบต. 16,500 บาท/เดือน และรองประธานสภา อบต. 13,500 บาท/เดือน สมาชิกสภา เลขานุการนายก อบต. และเลขานุการสภา อบต. 10,500 บาท/เดือน

5.) รายได้เกิน 100-300 ล้านบาท (30 แห่ง)
อัตราค่าตอบแทนของนายก อบต. รวม 63,000 บาท/เดือน รองนายก อบต. รวม 38,220 บาท/เดือน ประธานสภา อบต. 24,720 บาท/เดือนและรองประธานสภา อบต. 20,250 บาท/เดือน สมาชิกสภา เลขานุการนายก อบต. และเลขานุการสภา อบต. 15,750 บาท/เดือน

6.) รายได้เกิน 300 ล้านบาท (8 แห่ง)
อัตราค่าตอบแทนของนายก อบต. รวม 75,530 บาท/เดือน รองนายก อบต. รวม 45,540 บาท/เดือน ประธานสภา อบต. 30,540 บาท/เดือนและรองประธานสภา อบต. 24,990 บาท/เดือน สมาชิกสภา เลขานุการนายก อบต. และเลขานุการสภา อบต. 19,440 บาท/เดือน

‘เศรษฐา’ ยัน!! ยังไม่เคาะขึ้นเงินเดือน ‘ข้าราชการ’ ย้ำ!! แค่เตรียมศึกษาข้อมูล ไม่ได้แปลว่าจะปรับขึ้นทันที

(7 พ.ย. 66) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์กรณีให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ไปดูเรื่องราคาสินค้าหรือไม่ ภายหลังมีข้อสั่งการเตรียมขึ้นเงินเดือนข้าราชการ และเจ้าหน้าที่รัฐ ว่า ตนไม่ได้บอกว่าจะขึ้นเงินเดือน แต่ให้ไปศึกษา และการให้ไปศึกษา ไม่ได้หมายความว่าจะให้ขึ้นทันที

เมื่อถามว่า จะทำให้สินค้าจ่อขึ้นราคาล่วงหน้าหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ยังไม่ได้ขึ้นราคา มันยังตั้งไม่ได้ ยังไงเรื่องนี้กรมการค้าภายในก็ต้องดูแลอยู่แล้ว

‘ปานปรีย์’ ยัน!! ปรับขึ้นเงินเดือน ‘ข้าราชการ’ แน่นอน เตรียมชง ครม.พิจารณารายละเอียดเพิ่มเติม 28 พ.ย.นี้

(24 พ.ย. 66) นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ กล่าวถึงการประชุมพิจารณา เรื่องการปรับฐานเงินเดือนข้าราชการ เมื่อวันที่ 23 พ.ย.ที่ผ่านมา ว่า การประชุมดังกล่าวได้พิจารณารายละเอียดครั้งสุดท้าย ว่าอะไรที่ทำได้ในเวลานี้ อะไรที่ยังทำไม่ได้ และอะไรที่จะทำต่อไปในอนาคต แต่จะปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการแน่นอน ส่วนรายละเอียดจะเป็นอย่างไรนั้น ตนขอนำเสนอเรื่องนี้เพื่อขอความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 28 พ.ย.นี้ก่อน เพราะ ครม.มอบหมายให้ตนกำกับดูแล

เมื่อถามว่า จะขึ้นเงินเดือนให้ข้าราชการระดับใดบ้าง และขึ้นเงินเดือนกี่เปอร์เซ็นต์ นายปานปรีย์ กล่าวว่า ขอให้รอดูรายละเอียดหลังจาก ครม.ให้ความเห็นชอบ

‘ครม.’ เห็นชอบปรับเพิ่มฐานเงินเดือน ขรก.บรรจุใหม่ สตาร์ต 18,000 บาท พร้อมปรับฐานแก่ ขรก.ที่บรรจุมาก่อนแล้วมีรายได้ไม่ถึง 18,000 บาทด้วย

(28 พ.ย. 66) นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ เห็นชอบในหลักการให้มีการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ตามข้อเสนอของสำนักงานคณะกรรมการพลเรือน (ก.พ.) โดยปรับขึ้นในส่วนของข้าราชการบรรจุใหม่ปีละ 10% ใน 2 ปีงบประมาณ ได้แก่ ปีงบประมาณ 2567 และปีงบประมาณ 2568 ซึ่งจะทำให้เงินเดือนของข้าราชการบรรจุใหม่อยู่ 18,000 บาทต่อเดือน ในปีงบประมาณ 2568 จากปัจจุบันที่อยู่ที่ 15,000 บาทต่อเดือน การเริ่มปรับฐานเงินเดือนข้าราชการจบใหม่ 10% จะเริ่มต้นในเดือน พ.ค.ปีหน้า หลังจากที่ พ.ร.บ.งบประมาณ ประกาศใช้แล้ว

สำหรับข้าราชการชั้นผู้น้อยอื่นๆ ที่เข้ามารับราชการก่อน และยังไม่ถึงระดับชำนาญการ (C8) และยังมีเงินเดือนไม่ถึง 18,000 บาทต่อเดือน จะมีการปรับฐานเงินเดือนขึ้นไปให้อยู่ในที่สูงกว่าข้าราชการบรรจุใหม่ โดยในช่วงเวลาที่ยังไม่ได้ปรับฐานเงินเดือนให้กับข้าราชการที่เข้ามารับราชการก่อน และเงินเดือนยังไม่ถึง 18,000 บาท ก็จะได้รับการปรับขึ้นค่าครองชีพก่อน สำหรับข้าราชการที่เป็นระดับชำนาญการขึ้นไป หรือระดับ C9 ขึ้นไป จะไม่ได้รับการปรับขึ้นเงินเดือนแต่อย่างไร

ส่วนงบประมาณที่ใช้นั้น ในปี 2567 จะใช้ 5-6 พันล้านบาท อาจจะใช้จากงบกลางสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินและจำเป็นเร่งด่วน ส่วนปีงบประมาณ 2568 จะใช้งบประมาณหลักหมื่นล้านบาท จะตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีมาใช้ในส่วนนี้ โดยตัวเลขการจัดทำงบประมาณที่แน่นอนสำหรับการขึ้นเงินเดือนข้าราชการในครั้งนี้ จะเป็นเท่าไหร่ สำนักงาน ก.พ., กรมบัญชีกลาง และกระทรวงการคลัง จะหารือกันอีกครั้ง

นายดนุชา กล่าวอีกว่า การปรับขึ้นเงินเดือนในครั้งนี้จะให้กับข้าราชการที่บรรจุใหม่ และข้าราชการที่ยังรายได้น้อย และจะทำคู่กับการเพิ่มประสิทธิภาพราชการ และปรับลดจำนวนข้าราชการด้วย

ผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงาน ชี้ ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ต้องดูที่ปากท้องของลูกจ้าง ย้ำ!! ไม่ใช่ยึดตามกำลังจ่ายของนายจ้าง มิเช่นนั้น จะไม่ใช่ค่าจ้างขั้นต่ำ 

(1 พ.ค. 67) ศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์แรงงาน และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคมของทุกปี กรณีกระทรวงแรงงานประกาศขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นครั้งที่ 3 ว่า 

ในความเห็นส่วนตัว มองว่าประกาศกี่ครั้งไม่สำคัญ เพียงแต่การประกาศในครั้งที่ผ่านมา ที่มีผลบังคับเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2567 เกณฑ์การปรับค่าจ้างขั้นต่ำนั้นได้ทำลายหลักการของค่าจ้างขั้นต่ำ คือ 1.การปรับค่าจ้างขึ้นในบางพื้นที่ บางอำเภอ ทั้งๆ ที่ในแต่ละพื้นที่ของจังหวัดนั้นๆ ต่างก็มีค่าครองชีพไม่ต่างกัน และ 2.การปรับขึ้นเฉพาะกิจการที่ทำเงินได้

“ทั้งสองอย่างนี้เป็นการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำโดยอาศัยความพร้อมของเจ้าของกิจการ แต่ตามหลักการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ จะต้องดูจากความจำเป็นของลูกจ้างเป็นตัวตั้ง ถ้าหากเขาเดือดร้อน เจ้าของกิจการก็ต้องจ่ายเงินให้เพียงพอต่อปากท้องของลูกจ้าง อย่างในครอบครัวเดียวกัน คนหนึ่งทำงานในกิจการที่มีการเติบโต อีกคนอยู่ในกิจการที่ไม่เติบโต แต่ทั้งหมดก็ยังอยู่บ้านเดียวกัน กินข้าวหม้อเดียวกัน แต่ค่าจ้างกลับไม่เท่ากัน เพราะเอาความพร้อมของนายจ้างเป็นตัวกำหนด แบบนี้ไม่ใช่ค่าจ้างขั้นต่ำ ถ้าจ่ายตามกำลังของนายจ้าง แบบนี้เรียกว่า การขึ้นเงินเดือนตามปกติของนายจ้าง ไม่ใช่ค่าจ้างขั้นต่ำ” ศาสตราภิชาน แล กล่าว

ศาสตราภิชาน แล กล่าวอีกว่า วันนี้กระบวนการแรงงานควรใส่ใจประเด็นนี้ให้มาก เพราะไม่เช่นนั้นการขึ้นค่าจ้างจะกลายเป็นการยึดตามกำลังจ่ายของนายจ้างเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่ปากท้องของลูกจ้างเป็นตัวตั้งอีกต่อไป นอกจากนั้น นายจ้างหลายคนยังเอาค่าจ้างขั้นต่ำมาเป็นค่าจ้างขั้นสูงของแรงงาน จะเห็นได้ว่า แรงงานหลายคนทำงานหลายปี แต่เงินค่าจ้างก็ยังได้เท่ากับค่าจ้างขั้นต่ำ

“ทั้งๆ ที่แท้จริงแล้วการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ เพื่อให้มีตัวเลขในการกำหนดค่าจ้างที่ต่ำที่สุดที่นายจ้างต้องจ่าย หากจ่ายต่ำกว่านั้น จะผิดกฎหมาย แต่กลับกลายเป็นนายจ้างหลายคนเอาตัวเลขนั้นมาเป็นค่าจ้างขั้นสูงของแรงงาน ดังนั้น ค่าจ้างขั้นต่ำก็ยังมีความสำคัญอยู่ แต่หลักการถูกบิดเบือนไปมาก โดยเฉพาะหลักเกณฑ์คำนวณค่าจ้างขั้นต่ำที่เอาตัวเลขทางเศรษฐกิจมาเป็นตัวกำหนด แต่หากดูในรายละเอียด พบว่าคนที่มีกำลังซื้อมาก ก็จะได้สินค้าในราคาที่ต่ำลง เช่น แรงงานที่รายได้น้อย มีเงินซื้อข้าวสารได้ทีละลิตร ในขณะที่คนมีรายได้สูง สามารถซื้อข้าวได้เป็นกระสอบ ซึ่งราคากระสอบก็ถูกกว่าราคาลิตร สิ่งเหล่านี้ต้องนำมาคิด เพราะถ้าดูค่าการเติบโตของจีดีพีประเทศที่สูงขึ้นจากรายได้ของนายทุน แต่ขณะที่จีดีพีของชาวบ้านไม่ได้ขึ้นตาม ดังนั้น เราต้องคุยกันในรายละเอียดมากขึ้น เรื่องค่าจ้างขั้นต่ำก็ต้องมี แต่ไม่ใช่ยึดเป็นค่าจ้างขั้นสูง ฉะนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จำเป็นต้องเปิดโอกาสให้มีการเรียกร้องของลูกจ้าง” ศาสตราภิชานแลกล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top