Friday, 25 April 2025
ขึ้นภาษี

‘ทรัมป์’ สั่งเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่ม จาก 10% เป็น 20% อ้างจีนไม่แก้ปัญหาเรื่องลักลอบขนยาเสพติดเข้าสหรัฐฯ

(4 มี.ค. 68) โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ลงนามคำสั่งเก็บภาษีนำเข้าจากจีนเพิ่ม 2 เท่า จาก 10 % เมื่อ 4 กุมภาพันธ์ เป็น  20 % ซึ่งจะมีผลในวันที่ 4 มีนาคม 2568 (ตามเวลาท้องถิ่น) 

การเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากจีนเพิ่มในครั้งนี้ เนื่องจากจีนล้มเหลวในการดำเนินการแก้ไขปัญหาการหลั่งไหลของเฟนทานิล ซึ่งเป็นสารตั้งต้นยาเสพติดเข้าประเทศสหรัฐฯ

โดยทาง กระทรวงพาณิชย์ของจีน ได้ออกมาตอบโต้เช่นเดียวกัน โดยมีการระบุว่า “ไร้ซึ่งเหตุผล และเป็นการสร้างความเสียหายต่อผู้อื่น”

เมื่อวันจันทร์ (3 มี.ค.) Global Times รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผยชื่อ ระบุว่า จีนกำลังศึกษาและกำหนดมาตรการตอบโต้ โดยมีแนวโน้มขึ้นภาษีผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและอาหารของสหรัฐฯ

ด้านนักวิเคราะห์รายหนึ่ง กล่าวว่า ทางปักกิ่งยังคงหวังที่จะเจรจาสงบศึกกับรัฐบาลทรัมป์ แต่เนื่องจากไม่มีสัญญาณของการเจรจาการค้าใดๆ โอกาสที่ทั้งสองยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจจะปรองดองกันก็เริ่มริบหรี่ลง 

“สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่การตัดสินใจของทรัมป์ในการเรียกเก็บภาษีในขณะนี้ถือเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด” หวัง ตง ผู้อำนวยการบริหารสถาบันความร่วมมือและความเข้าใจระดับโลกแห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง กล่าว

ทั้งนี้ สื่อของรัฐบาลจีน รายงานว่า เจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้ประชุมกันในวันเดียวกัน และให้คำมั่นว่าจะดำเนินการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดแรงกระแทกจากภายนอกต่อเศรษฐกิจจีน

‘ทรัมป์’ ประกาศเก็บภาษี 25% สำหรับรถยนต์นำเข้า ยกเว้นเพื่อนบ้านแคนาดาและเม็กซิโก

(27 มี.ค. 68) สำนักข่าวบีบีซี รายงานว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ลงนามคำสั่งเรียกเก็บภาษีศุลกากร 25% สำหรับรถยนต์ทุกคันที่ไม่ได้ผลิตในสหรัฐฯ โดยมาตรการนี้มีผลตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2025 และเริ่มเก็บภาษีในวันที่ 3 เมษายนนี้ 

ย้อนกลับไปเมื่อปีที่แล้ว สหรัฐอเมริกาได้นำเข้ารถยนต์ประมาณแปดล้านคัน คิดเป็นมูลค่าการค้าประมาณ 240,000 ล้านดอลลาร์ (186,000 ล้านปอนด์) และเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของยอดขายทั้งหมด

โดยมีเม็กซิโกเป็นซัพพลายเออร์รถยนต์ต่างชาติรายใหญ่ที่สุดให้กับสหรัฐอเมริกา รองลงมาคือเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น แคนาดา และเยอรมนี ซึ่งการเคลื่อนไหวล่าสุดของทรัมป์อาจส่งผลกระทบต่อการค้ารถยนต์และห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก

ทรัมป์ระบุว่ามาตรการนี้มีเป้าหมายเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมยานยนต์ของอเมริกาและกระตุ้นการผลิตภายในประเทศ พร้อมยืนยันว่า “รถยนต์ที่ผลิตในสหรัฐฯ จะไม่มีการเก็บภาษีศุลกากรเลย”

“เราต้องการให้บริษัทผลิตรถยนต์ในอเมริกา และสร้างงานให้กับชาวอเมริกัน” ทรัมป์กล่าวขณะลงนามคำสั่ง

อย่างไรก็ตาม ทำเนียบขาวกล่าวว่าคำสั่งดังกล่าวจะใช้ไม่เฉพาะกับรถยนต์สำเร็จรูปเท่านั้น แต่ยังรวมถึงชิ้นส่วนรถยนต์ด้วย ซึ่งมักจะถูกส่งจากประเทศอื่นก่อนที่จะมาประกอบในสหรัฐฯ แต่ภาษีศุลกากรใหม่นี้สำหรับชิ้นส่วนจากแคนาดาและเม็กซิโกจะได้รับการยกเว้น

ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า นโยบายดังกล่าวอาจทำให้ราคารถยนต์นำเข้าสูงขึ้น กระทบต่อผู้บริโภคในสหรัฐฯ และอาจนำไปสู่สงครามการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเมื่อวันพุธที่ป่านมา หุ้นของ เจเนรัลมอเตอร์ ร่วงลงราว 3% การเทขายหุ้นดังกล่าวได้ลามไปยังบริษัทอื่นๆ รวมถึง ฟอร์ด หลังจากที่ประธานาธิบดีได้กล่าวยืนยันถึงมาตรการภาษีดังกล่าว

ขณะที่ หลายบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ เช่น โตโยต้า, บีเอ็มดับเบิลยู และเมอร์เซเดส-เบนซ์ กำลังจับตาดูผลกระทบของมาตรการนี้ โดยบางบริษัทอาจต้องพิจารณาย้ายฐานการผลิตมายังสหรัฐฯ เพื่อหลีกเลี่ยงภาษี

ส่วนประชาชนสหรัฐฯ บางส่วนกังวลว่ามาตรการนี้จะทำให้ราคารถยนต์สูงขึ้น แต่บางกลุ่มสนับสนุน โดยมองว่าเป็นแนวทางที่ช่วยส่งเสริมการผลิตในประเทศ

นายกรัฐมนตรีชิเงรุ อิชิบะของญี่ปุ่น กล่าวว่ารัฐบาลของเขาจะ “นำทุกทางเลือกมาพิจารณา” เพื่อตอบสนองต่อภาษีนำเข้าดังกล่าว

สำหรับญี่ปุ่นซึ่งมีโรงงานและบริษัทใหญ่ในอุตสาหกรรมยานยนต์หลายแห่ง ถือเป็นผู้ส่งออกรถยนต์เป็นอันดับสองของโลก โดยหุ้นของผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น ที่ประกอบด้วย โตโยต้า, นิสสัน, ฮอนด้า ร่วงลงในการซื้อขายช่วงเช้านี้ที่โตเกียว

สื่อแฉ ‘มัสก์’ ขอร้อง ‘ทรัมป์’ ไม่สำเร็จ หวังให้ยกเลิกเก็บภาษีนำเข้า ที่ทำหุ้น Tesla ร่วงลงอย่างต่อเนื่อง ดิ่งกว่า 42% นับตั้งแต่ต้นปี

(8 เม.ย. 68) สำนักข่าววอชิงตันโพสต์รายงานว่า อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีเจ้าของบริษัทเทสลาและหนึ่งในบุคคลทรงอิทธิพลแห่งวงการเทคโนโลยีระดับโลก ได้ร้องขอโดยตรงต่อประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ให้ยกเลิกนโยบายการเก็บภาษีนำเข้าระดับสูง ซึ่งเป็นมาตรการตอบโต้ต่อประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ แต่ไม่เป็นผล

แหล่งข่าวใกล้ชิดระบุว่า บทสนทนาระหว่างสองผู้นำทางธุรกิจและการเมืองในครั้งนี้มีความตึงเครียดอย่างชัดเจน และอาจนับเป็นรอยร้าวสำคัญระหว่างมัสก์ ผู้เคยให้การสนับสนุนแนวคิดเศรษฐกิจเสรี กับทรัมป์ ผู้เดินหน้าดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าอย่างแข็งกร้าว

การเจรจาระหว่างทั้งสองเกิดขึ้นไม่นานหลังจากที่ทรัมป์ประกาศมาตรการภาษีศุลกากรขั้นต่ำ 10% สำหรับสินค้าทุกชนิดที่นำเข้าสหรัฐฯ โดยมีบางประเทศที่อาจถูกรีดภาษีเพิ่มขึ้นในระดับสูงเป็นพิเศษ

โดยก่อนหน้านี้ อีลอน มัสก์ ได้ออกมาเรียกร้องให้สหรัฐฯ และยุโรป ยกเลิกภาษีศุลกากรระหว่างกัน โดยเขาย้ำว่า ภาษีนำเข้า ของสหรัฐฯ กำลังสร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรม รวมถึงธุรกิจของเขาเอง

คำเรียกร้องของมัสก์เกิดขึ้นในช่วงการปรากฏตัวผ่านวิดีโอคอลในการประชุมของพรรค League ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลฝ่ายขวาของอิตาลี ที่จัดขึ้นในเมืองฟลอเรนซ์เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

มัสก์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านการลดการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยของรัฐบาลสหรัฐฯ ยังกล่าวอีกว่า การจัดเก็บภาษีศุลกากรระหว่างประเทศที่เป็นพันธมิตร เช่น สหรัฐฯ และยุโรป ถือเป็นอุปสรรคทางเศรษฐกิจที่ไม่จำเป็น และควรมีการ ลดลงเหลือศูนย์ เพื่อช่วยลดต้นทุนและกระตุ้นการเติบโต

การเรียกร้องครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางแรงกดดันอย่างหนักในบริษัทของเขาเอง หลังจาก ยอดขายรายไตรมาสของ Tesla ลดลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศ ซึ่งได้รับผลกระทบจากนโยบายภาษีของทรัมป์ที่กำหนดอัตราขั้นต่ำ 10% สำหรับสินค้านำเข้าทั้งหมด รวมถึงรถยนต์จากยุโรป

ปีเตอร์ นาวาร์โร ที่ปรึกษาด้านการค้าของทรัมป์ ออกมาปฏิเสธแนวคิดของ มัสก์ ในวันจันทร์ (7 เม.ย.) พร้อมระบุว่าไม่แปลกใจที่ได้ยินข้อเสนอเช่นนี้จาก “เจ้าของโรงงานประกอบรถยนต์” 

เนื่องจากหุ้น Tesla ของอีลอน มัสก์ ปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ที่ราคา 233.29 ดอลลาร์ต่อหุ้น ซึ่งลดลงกว่า 42% นับตั้งแต่ต้นปี สะท้อนความไม่มั่นใจของนักลงทุนต่อทิศทางธุรกิจในอนาคต

ขณะเดียวกัน มัสก์กำลังถูกจับตามองจากบทบาทใหม่ในฐานะผู้ก่อตั้ง “แผนกประสิทธิภาพรัฐบาล” ซึ่งมีเป้าหมายในการลดการใช้จ่ายของภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพ แต่กลับถูกวิจารณ์ว่ากลยุทธ์ของเขาอาจไม่ตอบโจทย์ความท้าทายทางเศรษฐกิจที่ซับซ้อนในปัจจุบัน

นักเศรษฐศาสตร์หลายรายเตือนว่า การขึ้นภาษีนำเข้าอาจทำให้เกิดเงินเฟ้ออีกระลอก เพิ่มภาระค่าครองชีพให้กับครอบครัวชาวอเมริกัน โดยบางครัวเรือนอาจต้องแบกรับต้นทุนเพิ่มหลายพันดอลลาร์ต่อปี พร้อมเตือนว่าหากดำเนินต่อไป นโยบายนี้อาจเป็นหนึ่งในตัวจุดชนวนของภาวะ เศรษฐกิจถดถอย ในสหรัฐฯ

ทั้งนี้ แม้มัสก์จะเคยสนับสนุนทรัมป์ในหลายโอกาส แต่ความเห็นต่างครั้งนี้สะท้อนถึงความตึงเครียดภายในกลุ่มผู้มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมืองของสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลต่อการกำหนดนโยบายในอนาคตอย่างมีนัยสำคัญ

‘ดร.กอบศักดิ์’ ชี้ ‘ทรัมป์’ ขึ้นภาษีนำเข้าจีนแตะ 145% ไม่ใช่ 125% ส่งผลจีนต้องหาตลาดใหม่ แนะไทยเตรียมรับมือสินค้าจีนทะลัก

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงการปรับเพิ่มอัตราภาษีระหว่างสหรัฐ อเมริกา กับ จีน ว่า...
145% ไม่ใช่ 125% !!! แต่ไม่ใช่ของใหม่

การเพิ่มอัตรา Tariffs ใส่จีนเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายมาก แค่เขียนสั้นๆ ใน Executive Orders เช่น ในวันที่ 8 เมษายน  "ที่เคยเขียนไว้ว่า 34% ให้เอาออก และใส่คำว่า 84% เข้าไปแทน"

ในวันที่ 9 เมษายน อีกครั้ง "ที่เคยเขียนไว้ว่า 84% ให้เอาออก และใส่คำว่า 125% เข้าไปแทน" แค่นี้ก็จบ

หมายความว่า จีนต้องจ่ายภาษีนำเข้า ก่อน Reciprocal Tariffs 10 +10 = 20% สำหรับกรณี Fentanyl 

แต่เมื่อรวม Reciprocal Tariffs ที่ท่านประธานาธิบดีประกาศล่าสุด
10 + 10 + 125 = 145% !!!!

จึงไม่ใช่แค่ 125% ตามที่หลายคน (รวมถึงผมด้วย) เข้าใจกัน ภาษีที่สูงลิ่วนี้ ทำให้บริษัทต่างๆ ของสหรัฐเริ่มยกเลิกคำสั่งซื้อสินค้าจากจีน เช่น Amazon แจ้ง Suppliers ไปว่า ขอยกเลิก เพราะสู้ภาษีนำเข้าไม่ไหว 
พร้อมหันไปหาประเทศอื่นๆ 

แลกกันคนละหมัด สหรัฐวุ่นวายเพราะตลาดทุนที่ปั่นป่วน โดยเฉพาะตลาด Bonds จีนกำลังจะวุ่นวายเพราะ โรงงานต่างๆ ไม่มีคำสั่งซื้อจากสหรัฐ

และถ้าเทียบกัน 
สหรัฐส่งออกมาที่จีนเพียง 143.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ.
ส่วนจีนส่งออกมาที่สหรัฐ 438.9 พันล้านดอลลาร์ สรอ.
หรือประมาณ 1 ต่อ 3 

หมายความว่าต่อไปจีนต้องหาตลาดใหม่ให้สินค้าตนเอง ประมาณเดือนละ 37 พันล้านดอลลาร์ สรอ. มากกว่าที่ไทยส่งออกไปทั้งโลกในแต่ละเดือนที่ 27 พันล้านดอลลาร์ สรอ.

ส่วนหนึ่งของสินค้าที่ถูกยกเลิกคงส่งมาบุกที่เมืองไทย 
เราคงต้องเตรียมการรับมือดีดีครับ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top