Sunday, 5 May 2024
ขาดทุน

‘เทมาเส็ก’ ตัดเงินเดือนผู้บริหาร เหตุธุรกิจคริปโตเจ๊งยับ หลังร่วมลงทุนกับ FTX สูญเงิน 275 ล้านเหรียญสหรัฐฯ!!

เทมาเส็กโฮลดิงส์ กองทุนเพื่อการลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ ได้ประกาศตัดเงินเดือนของเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจลงทุนใน FTX แพลทฟอร์มซื้อ-ขายเงินคริปโตชื่อดังที่ล้มละลายไปเมื่อช่วงปลายปี 2565 ที่ผ่านมา ที่ทำให้เทมาเส็กสูญเงินมากถึง 275 ล้านเหรียญสหรัฐ 

แม้จะมีการไต่สวน แซม แบงก์แมน-ฟรายด์ อดีตประธานผู้บริหาร และหนึ่งในผู้ก่อตั้ง FTX โดยสำนักอัยการกลางสหรัฐ ว่าเขาอยู่เบื้องหลังการฉ้อโกงเงินของนักลงทุนจากทั่วโลกนับพันล้านดอลลาร์ แต่สุดท้ายศาลได้ตัดสินว่า แซม แบงก์แมน-ฟรายด์ ไม่มีความผิด

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม เทมาเส็ก ได้พิจารณาแล้วว่า ทีมผู้บริหารระดับอาวุโส และ ทีมวิเคราะห์การลงทุนของบริษัทมีส่วนต้องรับผิดชอบร่วมกันในการตัดสินใจร่วมลงทุนกับ FTX  ด้วยการถูกตัดเงินเดือน

ทั้งนี้ เทมาเส็ก ไม่ได้ระบุอัตราเงินเดือนที่จะถูกลดเป็นจำนวนเท่าใด แต่คณะกรรมการกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติรู้สึกผิดหวังกับการลงทุนครั้งนั้น และยังส่งผลเสียต่อชื่อเสียงของเทมาเส็กอย่างมาก

ครั้งหนึ่ง FTX ถูกมองว่าเป็นหนึ่งในแพลทฟอร์มเทรด เงินคริปโตที่ทรงอิทธิพลอย่างมากในตลาดการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล เคยมีมูลค่าการซื้อขายรายวันสูงสุดเป็นอันดับ 2 ของ.โลกมาแล้ว โดยเทมาเส็กได้ตัดสินใจร่วมลงทุนกับ FTX ถึง 2 ครั้ง ในช่วงเดือนตุลาคม 2564 เป็นเงิน 210 ล้านเหรียญ และเพิ่มอีก 65 ล้านเหรียญในเดือนมกราคม 2565

ด้านผู้บริหารกองทุนเทมาเส็ก แย้งว่าได้ใช้เวลาประเมินธุรกิจการซื้อขาย แลกเปลี่ยนเงินคริปโตมานานถึง 8 เดือน รวมถึงตรวจสอบบัญชีการเงินที่แสดงผลประกอบการที่มีกำไรของ FTX ก่อนตัดสินใจลงทุน ซึ่งถ้าหากเทียบกับมูลค่าของกองทุนเทมาเส็กในเดือนมีนาคม 2566 ที่ผ่านมา อยู่ที่ 2.98  แสนล้านเหรียญ ก็จะพบว่าเงินที่นำไปลงทุนใน FTX มีสัดส่วนที่น้อยมาก เพียงแค่ 0.09% เท่านั้นที่แทบไม่ส่งผลต่อกำไรโดยรวมของบริษัท

แต่ทว่า ลอเรนซ์ หวัง รองนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ไม่คิดเช่นนั้น เพราะการสูญเงินใน FTX กระทบกับชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของเทมาเส็ก ที่เป็นกองทุนของรัฐบาล ซึ่งก็คือเงินออมของชาติ ที่ชาวสิงคโปร์คาดหวังว่ารัฐบาลจะนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่สร้างมูลค่า และมีอนาคตที่ดี 

แต่ความผิดพลาดจากการลงทุนใน FTX เกิดจากความมั่นใจในธุรกิจด้านเทคโนโลยี และทรัพย์สินดิจิทัลที่มากเกินไป ว่าจะเป็นเทรนของโลกธุรกิจการเงินยุคใหม่ เทมาเส็กจึงกระโดดลงไปร่วมลงทุนตั้งแต่แรกๆ แม้จะเห็นว่ามีความเสี่ยงสูงแต่ก็เชื่อมั่นในผลตอบแทนที่มากกว่าในอนาคต แต่สุดท้ายกลายไปการลงทุนที่สูญเปล่าไปทันทีที่ FTX ล่มสลาย ผู้ก่อตั้งอย่าง แซม แบงก์แมน-ฟรายด์ กลายเป็นบุคคลล้มละลาย และถูกจับกุมดำเนินคดีข้อหาฉ้อโกง และจงใจปกปิดข้อมูลที่ทำให้นักลงทุนเข้าใจผิด 

และบอร์ดบริหารของเทมาเส็ก ตัดสินใจให้พนักงานเป็นแพะรับบาปของหายนะจากการลงทุนใน FTX ซึ่งอาจกลายเป็นจุดเปลี่ยนของการพิจารณาการลงทุนในสินทรัพย์ใดๆของเทมาเส็ก เมื่อพนักงานต้องแบกรับผลจากการขาดทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงเช่นนี้ 

เรื่อง : ยีนส์ อรุณรัตน์
อ้างอิง : BBC / Channel News Asia

‘Citigroup’ จ่อปลดพนักงาน 20,000 คน ภายใน 2 ปีหน้า หลังเผชิญวิกฤตขาดทุนหนัก เลวร้ายที่สุดในรอบ 15 ปี!!

(13 ม.ค.67) สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น รายงานว่า ‘ซิตี้กรุ๊ป’ จะเลิกจ้างพนักงาน 20,000 คน ในอีก 2 ปีข้างหน้า โดย ‘มาร์ค มาสัน’ กล่าวว่า การลดจำนวนลงนี้เกิดขึ้นหลังจากที่บริษัทรายงานผลการขาดทุนสุทธิ 1.8 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 62,900 ล้านบาท ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 ซึ่งเป็นไตรมาสที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 15 ปี

ธนาคารคาดว่าการลดจำนวนพนักงานจะช่วยประหยัดเงินได้ 2.5 พันล้านดอลลาร์ในระยะยาว หรือราว 87,300 ล้านบาท

ทั้งนี้ ธนาคารรายงานการสูญเสียกำไรมหาศาล ที่ 1.16 ดอลลาร์ต่อหุ้นในไตรมาสที่ 4 ซึ่งต่ำกว่าประมาณการที่ขาดทุน 11 เซนต์ต่อหุ้น

ซิตี้กล่าวว่า มีค่าใช้จ่ายประเภทครั้งเดียวหลายครั้งที่ส่งผลต่อผลลัพธ์ ซึ่งรวมถึงค่าใช้จ่าย 1.7 พันล้านดอลลาร์ ที่ธนาคารต้องจ่าย เกี่ยวข้องกับวิกฤตธนาคารในภูมิภาค เมื่อฤดูใบไม้ผลิที่แล้ว การสูญเสีย 880 ล้านดอลลาร์ในอาร์เจนตินา และ 800 ล้านดอลลาร์ ในต้นทุนการปรับโครงสร้าง ที่เกี่ยวข้องกับการเลิกจ้าง ประมาณ 7,000 คนในปี 2566

นอกเหนือจากการลดพนักงาน 20,000 ตำแหน่ง ในส่วนการดำเนินงานของบริษัทแล้ว ธนาคารยังจะปลดพนักงาน 40,000 คน ในเม็กซิโก ผ่านการเสนอขายหุ้น IPO ซึ่งจะทำให้จำนวนพนักงานทั้งหมดของบริษัทเหลือประมาณ 180,000 คนจาก 240,000 คน

บริษัทยังกล่าวว่า คาดว่าจะจ่ายเงินชดเชยและค่าใช้จ่ายในการปรับโครงสร้างองค์กรมูลค่าสูงถึง 1 พันล้านดอลลาร์

ด้านโฆษกของผู้ให้กู้ยืมรายหนึ่งในสหรัฐฯ เผยว่า การปลดพนักงานจะเกิดขึ้นทั่วโลก และปฏิเสธที่จะแจกแจงตัวเลขตามภูมิภาค

ทั้งนี้ ‘เจน เฟรเซอร์’ ซีอีโอของซิตี้กรุ๊ป ได้ประกาศความพยายามในการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ครั้งแรกเมื่อกันยายนปีที่แล้ว โดยวางแผนที่จะจัดความเป็นผู้นำของธนาคารใหม่ เพิ่มความับผิดชอบ และว่าจะต้องมีพนักงานที่น้อยลง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top