Wednesday, 23 April 2025
ขอทาน

‘สาวใจดี’ รุกช่วยเด็กชายวัย 9 ขวบ กลับคืนสู่ครอบครัว หลังถูกพ่อแท้ๆ พามานั่งขอทาน ริมถนนพัทยาสายสอง

(10 ก.ย. 66) น.ส.อนุธิดา จันทา อายุ 34 ปี แม่ค้าน้ำปั่น ชาวจังหวัดนครสวรรค์ ได้ช่วยเหลือ ด.ช.แจ็ค (นามสมมุติ) อายุ 9 ปี ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามญาติมารับตัวกลับบ้าน หลังถูกบิดาพามานั่งขอทานยามวิกาล ริมถนนพัทยาสายสอง ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี จนกระทั่งสามารถติดต่อให้ผู้เป็นป้ามารับตัวกลับที่พัก โดยมีพนักงานสอบสวนลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน

โดย น.ส.อนุธิดา เล่าโดยละเอียดว่าตนเองมาจากกรุงเทพฯ มาเที่ยวพัทยา เจอน้องวันแรกเมื่อวันที่ 6 ก.ย. ที่ผ่านมา สังเกตเห็นน้องนั่งขอทานริมถนน เกิดความสงสาร อยากที่จะช่วยเหลือ พยายามสอบถามถึงผู้ปกครอง แต่น้องก็ไม่ยอมบอก ตอบเพียงว่าพ่อแท้ๆ ให้มานั่งขอเงิน เพราะป่วยเป็นโรคไต

ตนเองซื้อข้าวให้น้องและฝากให้พ่อน้องด้วย รวมถึงยังซื้อเสื้อผ้าให้อีกด้วย ตนเองรู้สึกผิดปกติ เนื่องจากน้องผิวพรรณดี มีมารยาท ลักษณะไม่น่าจะเป็นขอทานได้ จึงเฝ้าดูมาถึงวันนี้ พร้อมทั้งอัดคลิปลงติ๊กต็อก หวังให้ติดต่อญาติมารับกลับไป

กระทั่งวันนี้ ตนเองสอบถามน้องอีกครั้ง เรื่องที่พักอยู่แถวไหนขอให้พาไปหน่อยเพราะตนเองจะกลับกรุงเทพฯ แล้ว กลัวจะไม่ได้เจอกันอีก น้องจึงขอไปหาน้าก่อน น้าขอทานอยู่แถวนี้ เป็นผู้ชายแต่งตัวดี ตนเองเห็นท่าไม่ดี จึงแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมาตรวจสอบ เพราะกลัวว่าน้องจะตกเป็นเหยือของแก๊งจับเด็กมาขอทาน แต่ผู้ชายคนนั้นเชื่อว่าน่าจะเป็นพ่อของน้อง เมื่อเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจกลับวิ่งหนีทิ้งลูก สร้างความแปลกใจให้กับตนเองและเจ้าหน้าที่เป็นอย่างมาก

จากนั้นตนเองก็พยายามหาทางจนสามารถติดต่อป้าของน้องได้ จึงให้ญาติมารับตัวกลับโดยนัดกันที่ สภ.เมืองพัทยา พร้อมลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน

ซึ่งจากเหตุการณ์พ่อแท้ๆ พาลูกในไส้มานั่งขอทานสร้างสะเทือนใจ หดหู่ใจ ให้กับผู้ที่พบเห็นเป็นอย่างมาก จึงอยากฝากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยตรวจสอบและติดตามตัวพ่อใจร้ายรายนี้ มาดำเนินคดีตามกระบวนการทางกฎหมายด้วย

‘วราวุธ’ เร่งประสาน ‘ตร.-หน่วยงานเกี่ยวข้อง’ แก้ปมขอทาน ฝากปชช.ช่วยเป็นหูเป็นตา แจ้งเบาะแส ย้ำ!! ถ้าถูกขออย่าให้

(23 พ.ย. 66) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวถึงกรณีการแก้ไขปัญหาขอทานชาวต่างชาติที่เข้ามาหากินในประเทศไทย ว่า กรณีขอทานที่มาหากินในประเทศไทย ยืนยันว่าขอทานเป็นสิ่งผิดกฎหมายในประเทศไทย ไม่สามารถทำได้ เพราะผิดกฎหมายอย่างชัดเจน ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือชาวต่างชาติก็ไม่สามารถจะมาขอทานได้เพราะเรามีกฎหมายเอาผิด และเมื่อจับตัวได้แล้วหากเป็นคนไทยทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ก็จะรับช่วงต่อจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อนำตัวเข้าสู่สถานคุ้มครอง แต่หากเป็นขอทานชาวต่างชาติ กระทรวงพม. จะประสานกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อส่งให้กระทรวงการต่างประเทศ ส่งกลับประเทศต้นทาง  หรือหากพิสูจน์ได้ว่าหากเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์ ก็จะเข้าสู่กระบวนการภายหลังการคัดกรองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ตามกลไกการส่งต่อระดับชาติ (National Referral Mechanism - NRM) ในการตรวจสอบและดำเนินการต่อไป 

นายวราวุธ กล่าวว่า การที่มีภาคเอกชนเข้ามาช่วยเป็นหูเป็นตาให้กับภาครัฐเราก็ต้องขอขอบคุณ การที่ออกสื่อเป็นประจำก็เป็นสิ่งที่ช่วยในการแจ้งเบาะแสได้ ทางเจ้าหน้าที่กระทรวงพม. ได้ร่วมทำงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และหน่วยงานในพื้นที่ เช่น กรุงเทพมหานคร ซึ่งทำงานร่วมกันตลอด 24 ชั่วโมง หากประชาชนคนใดพบเห็นเหตุ ขอให้แจ้งเบาะแสเข้ามาได้ เพราะนอกจากเอกชนแล้วกระทรวงพม. และหน่วยงานของรัฐเราก็มีศูนย์รับแจ้งโดยตรงเช่นกัน อาจจะทำงานไม่ทันใจเราก็ต้องขออภัย เพราะจำนวนเจ้าหน้าที่มีอยู่หยิบมือเดียวหากเทียบกับประชาชนทั่วประเทศที่จะช่วยเป็นหูเป็นตาได้ หากทุกคนช่วยกันแจ้งเบาะแสเข้ามาเราต้องขอขอบคุณ

ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่ขอทานต่างชาติเป็นชาวจีนถูกจับถึง 7 คน นั้น มองว่าเป็นขบวนการหรือไม่ นายวราวุธ กล่าวว่า ทุกอย่างมีความเป็นไปได้ทั้งนั้น แต่อย่างไรก็ตาม ก็ต้องดูสาเหตุว่าการที่เขาเดินทางเข้าประเทศ เป็นการเดินทางเข้ามาอย่างไร มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการใดหรือไม่  แต่ทางกระทรวงพม. เราไม่มีอำนาจในการสอบสวนหรือดำเนินการ ดังนั้นต้องรอข้อมูลจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ 

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในส่วนประเทศไทยเองก็มีขบวนการขอทาน ในเชิงธุรกิจสงเคราะห์เช่นกัน ตรงนี้ทางกระทรวงพม. จะเข้าไปแก้ปัญหาอย่างไร รมว.พม. กล่าวว่า เจ้าหน้าที่กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ของกระทรวงพม. เราทำงานร่วมกับอีกหลายภาคส่วน มีหน่วยเคลื่อนที่เร็ว ทำงานควบคู่กับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่การที่จะบอกว่าเป็นขบวนการหรือไม่นั้น เราก็ต้องทำงานร่วมกับตำรวจในการดูว่า มีการทำงานอย่างเป็นขบวนการหรือไม่ ขอย้ำว่า ปัญหาเรื่องขอทานไม่ยากเลยหากประชาชนที่เดินผ่านไปผ่านมา ร่วมใจกันอย่าให้เงินแก่ขอทาน เมื่อเขาไม่ได้เงินมันก็ไม่เป็นธุรกิจ ดังนั้นในความเป็นจริงแล้วการแก้ปัญหาขอทานถ้าว่ายากมันก็ยาก ปราบปรามเก็บกวาดเท่าไหร่ก็เกิดขึ้นมาอยู่เรื่อยๆ การแก้ปัญหาขอทาน คือ ไม่ให้เงินขอทานเท่านั้นก็จบ เพราะเท่าที่มีข้อมูลขอทานบางคนมีเงินมากกว่านักศึกษาจบปริญญาตรีเสียอีก ดังนั้นสำคัญที่สุดคือคนไทยเป็นคนใจบุญแต่เราต้องใจบุญในทางที่ถูกต้องดีกว่า อย่าส่งเสริมในทางที่ผิดกฎหมาย

ผู้สื่อข่าวถามว่า ล่าสุดมีการสรุปหรือไม่ว่าขอทานชาวจีนที่ถูกจับนั้น ร่วมขบวนการขอทานข้ามชาติหรือไม่ นายวราวุธ กล่าวว่า การจะได้ข้อมูลดังกล่าวเราต้องรอทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ กระทรวง พม. ไม่มีอำนาจไปสอบสวน และที่สำคัญเราต้องใช้ทีมสหวิชาชีพในการเข้าพูดคุย ตรวจสอบกับผู้เสียหายก่อนว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร และทำงานเพื่อนำข้อมูลประสานงานกับทางตำรวจ การจะตัดสินได้ว่าเป็นขบวนการค้ามนุษย์ หรือเป็นขบวนการอย่างไรนั้น มีขั้นตอน และมีองค์ประกอบอยู่ ซึ่งการตรวจสอบในชั้นนี้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังตรวจสอบว่าเข้าข่ายหรือไม่ อย่างไร ซึ่งหากทราบผลตำรวจคงได้แจ้งให้ประชาชนทราบว่าเป็นขบวนการค้ามนุษย์หรือไม่ แต่ตอนนี้ต้องรอความชัดเจนจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียก่อน 

เมื่อถามว่า ในบ้านเราที่ผ่านมาเคยมีกระบวนการลักษณะนี้หรือไม่ที่จะเข้าข่ายค้ามนุษย์ และนำเข้ามาเพื่อการแสวงหาประโยชน์ นายวราวุธ กล่าวว่า เคยมี ซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้เราต้องเร่งทำงาน เพราะประเทศไทยต้องส่งทริปรีพอร์ตให้กับสหรัฐ ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานว่าเป็นขบวนการค้ามนุษย์ ดังนั้นเท่ากับว่ายังไม่กระทบกับการทำทริปรีพอร์ตของไทย ยังมีเวลาอีกสักพักหนึ่ง

ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่มีล่ามหรือทนายความคนเดิมๆ เข้ามาช่วยในคดีขอทานจีน จะสามารถมองได้หรือไม่ว่าเป็นขบวนการค้ามนุษย์ นายวราวุธ กล่าวว่า มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเป็น แต่การที่จะยืนยันให้ได้ว่าเป็นขบวนการค้ามนุษย์หรือไม่นั้นต้องขอให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นคนยืนยัน คงจะไม่ใช่ทางกระทรวงพม.ที่จะยืนยัน

‘เพจดัง’ แฉ!! เคสคนพา ‘แมว’ ขอทานตามงานวัด นอนนิ่ง 4 ตัวไม่ขยับ เร่งหน่วยงานช่วยตรวจสอบ

(25 มี.ค. 67) กลายเป็นภาพสุดสะเทือนใจ ขอเหล่าทาสสัตว์ หลังเพจ ‘อยากดังเดี๋ยวจัดให้ รีเทริน์ part 6’ ออกมาแฉเคสขอทานแมว นอนนิ่งเร่ขายกลางงานวัด โดยระบุว่า

“ทาสจะไม่ทน…นอกจากน้องหมาที่ราชบุรีแล้ว ที่กาญจนบุรีก็มีน้องแมวเอาน้องมาหากินใช่ไหมนอนนิ่งเลย ทรมานสัตว์มาก พิกัดวัดพระแท่นดงรัง (กาญจนบุรี)

- โห นิ่งผิดปกติมาก แย่มาก
- พรุ่งนี้มีงานวัดวันสุดท้าย อยากให้มีหน่วยงานรีบเข้าไปดูค่ะ ไม่รู้จบงานแล้วจะพาน้อง ๆ ไปทรมานที่ไหนต่อ เท่าที่เห็นน้ำก็ไม่มีกิน ละอากาศก็ร้อนมากด้วย
- เห็นไปทุกงานวัดค่ะ น่าจะไปมาหลายที่แล้ว เราสงสารน้องแมวมากเลย
- มันเดินสายไปทุกจังหวัดเลยครับที่มีงานใหญ่ ๆ ไอ้เด็กชุดลิเกนี่ แมว 4 ตัวนี้ 3 เดือนที่แล้วพึ่งจะมางานบ้านผม น่าจะทำกันเป็นขบวนการ”

ไม่เพียงแค่นั้น เพจดังกล่าวยังระบุอีกว่า “ใครรู้จักผู้ใหญ่ใจดีก็ช่วยแชร์ส่งต่อไปนะ ทางทีมงานส่งให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเบื้องต้นแล้ว”

งานนี้เมื่อแชร์ออกไป ชาวเน็ตต่างแห่กันคอมเมนต์ถกสนั่นถึงการทารุณกรรมสัตว์ พร้อมวอนให้หน่วยงานเร่งตรวจสอบ และลงโทษขบวนการขอทานที่ใช้สัตว์เป็นตัวเรียกความสงสารคนใจบุญ หรือเหล่าทาสสัตว์เลี้ยงอย่างหนัก

‘วราวุธ’ วอน!! ปชช. ‘หยุดให้เงินขอทาน’ ชี้!! ยิ่งให้เหมือนยิ่งหนุนให้ลามเป็นอาชีพ

(11 มิ.ย.67) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้สัมภาษณ์ถึงการจัดการปัญหาขอทาน ว่า ในช่วงที่ผ่านมา กระทรวงฯ ได้ร่วมงานกับหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) หรือทางกรุงเทพฯ เอง เราออกตรวจตรากันเดือนละ 5 ครั้ง

โดยในแต่ละครั้งนั้น เราจะมีการดำเนินการจับผู้ที่เป็นขอทาน หากพบว่าเป็นชาวต่างชาติก็จะส่งกลับภูมิลำเนา หากพบว่าเป็นคนไทยจะมีการดำเนินการต่างกันไปคือ จะส่งไปที่สถานดูแลบุคคลไร้ที่พึ่งของกระทรวงฯ มีการฝึกอาชีพและสนับสนุนให้หางานทำ หนึ่งในเหตุผลที่ทางกระทรวงเคยได้สอบถามจากขอทานบางคนที่กลับมาขอทานใหม่ คือเงินค่าปรับถูกกว่ารายได้ และมีรายได้สูง

นายวราวุธ กล่าวต่อว่า ต้องถามว่าการที่ขอทานรายได้ดีจนค่าปรับดูคุ้มที่จะกลับมาขอทานใหม่ ต้องสงสัยว่ารายได้ขอทานมาจากไหน ส่วนใหญ่ก็จะมาจากท่องเที่ยว หรือเราๆ ท่านๆ กันทั่วไป เพราะสังคมไทยของเราเป็นสังคมเอื้ออาทร ขอทานในรูปแบบใหม่ จะมาในรูปแบบของเด็ก หรือใช้สัตว์เลี้ยง และหากพบว่ามีเด็กด้วยนั้น เราจะทำการตรวจสอบว่า ผู้ใหญ่มาด้วยเป็นญาติกันหรือไม่ ถ้าไม่ใช่ก็จะมีการดำเนินคดี

นายวราวุธ เปิดเผยว่า 10 กว่าปีที่ผ่านมานั้น เราจับขอทานไปได้ประมาณ 7,000 กว่าคน ซึ่งประมาณ 30% เป็นชาวต่างชาติ แต่การที่เรามีขอทานวนเข้ามาอยู่เรื่อยๆ เป็นจำนวนที่มากขึ้น ต้องขอความร่วมมือประชาชนหยุดการให้ทาน ทุกวันนี้เรามีการลงพื้นที่ขอทานเดือนละ 5 ครั้ง หากจะให้เจ้าหน้าที่ของเราลงตรวจขอทานทุกวัน คงเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าเจ้าหน้าที่ พม.ยังมีหน้าที่อื่นๆ อีก ดังนั้น ต้องขอความร่วมมือพี่น้องประชาชน ให้ช่วยแจ้งเข้ามาหากพบเห็นขอทาน ทางกระทรวงฯ พร้อมจะรับเรื่อง และออกไปดำเนินการทันที

เมื่อถามถึงรายได้ที่ขอทานได้จากนักท่องเที่ยว มีประมาณเท่าไหร่ นายวราวุธ กล่าวว่า ยังไม่มีการยืนยัน แต่ในช่วงไฮซีซั่น หากเป็นพื้นที่ที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเยอะ ด้วยความไม่รู้ ก็จะมีการให้กันอยู่เรื่อยๆ มีบางคนได้เดือนละเกือบ 100,000 บาท ตนไม่แน่ใจว่า เป็นการทำคนเดียวหรือเป็นกลุ่ม การทำเป็นขบวนการแบบนี้ ผู้ที่เป็นตัวการจะต้องโดนดำเนินคดีตามกฎหมาย บางครั้งการที่มีคนกลุ่มหนึ่งเข้ามาแล้ววางขอทานจุดนั้นจุดนี้ เมื่อรวมรายได้กันแล้ว ก็ไม่แปลกใจที่จะได้หลักหมื่น แต่ที่ได้เฉียด 100,000 บาทนั้น อาจจะต้องรวมกันหลายๆ คนเข้ามา สมมติว่า เดือนหนึ่งได้มาคนละ 20,000 บาท แล้วโดนปรับครั้งละ 5,000 บาท ในมุมมองของคนทำอาชีพขอทาน ก็ถือว่าคุ้มค่า ดังนั้น การที่เราให้ทาน เป็นการสนับสนุนให้มีการขอทานมากขึ้น

เมื่อถามว่า หากขอทานที่เป็นชาวต่างชาติ ซึ่งถูกส่งกลับภูมิลำเนาไปแล้วยังกลับเข้ามาอีก สามารถจัดการอะไรได้หรือไม่ นายวราวุธ กล่าวว่า คงต้องขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะเราคงไปตรวจตราตะเข็บชายแดนไม่ได้ ต้องสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ ไม่ว่าจะทางด่านตรวจคนเข้าเมือง หรือตามช่องทางธรรมชาติ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีแนวทางในการดำเนินการอย่างไร จะให้เราไปอยู่ตามจุดแดน ก็คงไม่ใช่หน้าที่ กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจเรา

‘วราวุธ’ วอน!! ปชช. ‘หยุดให้เงินขอทาน’ ชี้!! ยิ่งให้เท่ากับยิ่งหนุนขบวนการ ‘ผิดกฎหมาย’

(23 ก.ค.67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ณ ทำเนียบรัฐบาล นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่สื่อมวลชน นำเสนอข่าว กลุ่มขอทานต่างด้าว 10 กว่าราย มีทั้งเด็กทารกแรกเกิด เด็กเล็ก คนพิการ และผู้เฒ่าผู้แก่ นั่งนอนขวางถนน ขอทานผู้ใจบุญตามจุดต่าง ๆ ในงานวัดชัยมงคลพระอารามหลวง พัทยาใต้ จังหวัดชลบุรี 

และสื่อรายงานด้วยว่า ก่อนหน้านี้ได้มีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาจัดการ แต่เมื่อทิ้งช่วงไป กลุ่มขอทานต่างด้าวจะกลับเข้ามาในพื้นที่อีก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นขอทานต่างด้าวกลุ่มเดิม ๆ ที่เคยถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไปทำประวัติ แล้วกลับมาขอทานซ้ำอีก 

เมื่อคืนวันที่ 21 ก.ค. 67 ที่ผ่านมา ทีมเจ้าหน้าที่ พม. ศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน จังหวัดชลบุรี (ศรส.จังหวัดชลบุรี) ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองชลบุรี และฝ่ายรักษาความสงบเรียบร้อย สำนักปลัดเมืองพัทยา ลงพื้นที่เพื่อจัดระเบียบผู้ทำการขอทานในเมืองพัทยา 3 แห่ง คือ 

1) วัดชัยมงคลพระอารามหลวง พัทยาใต้
2) บริเวณชายหาดพัทยา และ
3) บริเวณถนนพัทยาสาย 2 

พบผู้ทำการขอทาน ทั้งหมด 11 คน พร้อมผู้ติดตาม ประกอบด้วย คนไทย 3 คน และคนสัญชาติกัมพูชา จำนวน 8 คน โดยมีการนำเด็กมานั่งทำการขอทานด้วย เด็กอายุต่ำสุด 1 ปี 2 เดือน และเด็กอายุสูงสุด 9 ปี

ทีม ศรส.จังหวัดชลบุรี พร้อมทีมสหวิชาชีพได้ดำเนินการสอบประวัติ และทำบันทึกจับกุมตาม พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559 พร้อมนำส่งพนักงานสอบสวน สภ.เมืองพัทยา เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย 

โดยได้ลงบันทึกประจำวัน ถูกเปรียบเทียบค่าปรับ และผลักดันส่งกลับประเทศต้นทาง 8 รายที่เป็นสัญชาติกัมพูชา และคนไทย 3 ราย ถูกเปรียบเทียบปรับและทำบันทึกตักเตือน พร้อมทั้งจะลงพื้นที่เยี่ยมบ้านเพื่อให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ เพื่อจะได้ไม่กลับมาทำการขอทานซ้ำอีก

สำหรับผลการดำเนินงานจากระบบฐานข้อมูลจัดระเบียบคนขอทาน ประจำปีงบประมาณ 2567 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึง 30 มิถุนายน 2567 พบผู้ทำการขอทานจำนวนทั้งสิ้น 467 ราย เป็นคนไทย 307 ราย และเป็นคนต่างด้าว 160 ราย โดยมีสัญชาติกัมพูชามากที่สุดถึง 130 ราย รองลงมาเป็นเมียนมา 18 ราย สปป.ลาว 4 ราย จีน 5 ราย และไร้สัญชาติ 3 ราย  

สำหรับจังหวัดชลบุรี เป็นจังหวัดที่พบขอทานเป็นอันดับ 2 คือจำนวน 39 ราย รองลงมาจากกรุงเทพมหานคร จำนวน 156 ราย รวมทั้งจังหวัดเชียงใหม่ 21 ราย และจังหวัดภูเก็ต 19 ราย ซึ่งทั้งหมดเป็นจังหวัดใหญ่และเป็นจังหวัดท่องเที่ยวที่มีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเป็นจำนวนมาก นับเป็นแหล่งรายได้สำคัญของขอทาน

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ยังมีขอทาน คือ การให้ เมื่อมีผู้ให้ เพราะความสงสาร นำมาซึ่งการมีขอทานในสังคม ซึ่งขอทานมักมีพฤติการณ์ที่น่าสงสาร มีข้อจำกัดด้านร่างกายและจิตใจ มีความพิการ และบางส่วนเกิดกระบวนการค้ามนุษย์ เป็นการกระทำผิดกฎหมายอย่างรุนแรง 

ทั้งนี้ ขอเน้นย้ำว่าหากพบเห็นขอทาน เราไม่ควรให้เงิน ด้วยความสงสาร เพราะการขอทานเป็นการกระทำผิดกฎหมาย 

หากพบเห็นขอให้พี่น้องประชาชนโทรแจ้งมาที่ศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน หรือ ศรส. กระทรวง พม. ผ่านสายด่วน 1300 บริการตลอด 24 ชั่วโมง

‘วราวุธ’ ประสานทุกหน่วยงานเร่งจัดระเบียบ ‘ขอทาน’ พร้อมปรับปรุงกฎหมายเพื่อควบคุม ก่อนจ่อชงเข้าครม.

(6 ส.ค.67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เปิดเผยถึงสถานการณ์และการป้องกันแก้ไขปัญหาการขอทาน ทั้งนี้ จากการรวบรวมสถิติสถานการณ์การขอทานทั่วประเทศ จากระบบฐานข้อมูลจัดระเบียบคนขอทาน ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2557 - 31 กรกฎาคม 2567 พบว่า มีผู้ทำการขอทานทั้งสิ้น 7,635 ราย เป็นคนไทย 5,001 ราย (ร้อยละ 65) เป็นต่างด้าว 2,634 ราย (ร้อยละ 35) และในเฉพาะปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พบว่ามีผู้ทำการขอทาน ทั้งสิ้น 506 ราย แบ่งเป็นคนไทย 331 ราย และต่างด้าว 175 ราย พื้นที่ที่พบผู้ทำการขอทานส่วนใหญ่มีลักษณะกระจุกตัวในพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ และแหล่งท่องเที่ยว ในพื้นที่จังหวัดกรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ปทุมธานี ชลบุรี นครราชสีมา และเชียงใหม่ และในปีงบประมาณ 2567 ยังพบขอทานมากที่สุดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ชลบุรี เชียงใหม่ ภูเก็ต และลพบุรี

นายวราวุธ กล่าวว่า สาเหตุของการทำการขอทานนั้น ประกอบด้วย 1) ข้อจำกัดด้านร่างกาย / จิตใจ เกิดจากความพิการทางร่างกายหรือความบกพร่องทางสติปัญญา 2) ปัจจัยด้านการศึกษา ขาดโอกาสในการศึกษาที่จะไปประกอบอาชีพที่มั่นคง 3) อิทธิพลความเชื่อ การให้เงินขอทานเป็นการทำบุญ และ 4) ค่านิยมของชุมชนและแรงจูงใจว่าทำรายได้ดีโดยไม่ต้องลงทุน

ทั้งนี้กระทรวง พม. ได้ดำเนินการร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมขอทาน โดยการดำเนินการแก้ไขปัญหาการขอทาน กระทรวง พม. มีหน้าที่ในการคัดกรอง คุ้มครอง และส่งต่อ ดังนั้น การดำเนินการจึงเป็นการดำเนินการภายใต้ความร่วมมือจากทั้งหน่วยงานภาครัฐ และองค์กร NGOs โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการป้องกัน และการควบคุม โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการ ได้แก่ เทศกิจ ตำรวจ ตำรวจ ตม. ตำรวจ ปคม. เทศบาลนคร/เมืองพัทยา 31 แห่ง สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กรมจัดหางาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน

กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ องค์การเฟรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล มูลนิธิเอ - ทเวนตี้วัน (A-21) มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก และสถาบันการศึกษา ซึ่งในการลงพื้นที่จัดระเบียบขอทาน กระทรวง พม. จะประสานความร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อลงพื้นที่จัดระเบียบขอทาน หากพบขอทานผิดกฎหมาย นอกจากนี้ มีแผนอบรมพนักงานเจ้าหน้าที่ ประกอบด้วย พนักงานเจ้าหน้าที่จาก พม. เทศกิจ อปท. และการพัฒนาหลักสูตรการอบรมให้กับตำรวจและฝ่ายปกครอง ถอดบทเรียนการดำเนินงานจังหวัดที่ไม่พบผู้ทำการขอทาน ต่อเนื่อง 3 ปี จำนวน 9 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดตาก เพชรบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี สตูล ลำปาง นครพนม น่าน และพังงา ซึ่งการจัดประชุมและทำแผนบูรณาการดำเนินงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดที่มีผู้ทำการขอทานเพิ่มขึ้น จำนวน 8 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี เชียงใหม่ ระยอง ภูเก็ต ลพบุรี กำแพงเพชร และนครปฐม

นายวราวุธ กล่าวว่า สำหรับแผนการจัดระเบียบผู้ทำการขอทานนั้น การดำเนินการเชิญตัวผู้ทำการขอทาน ถือเป็น ‘การควบคุมตัว’ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ต้องมีการบันทึกภาพเคลื่อนไหวขณะเชิญตัวจนถึงการส่งตัวให้กับพนักงานสอบสวน จึงต้องมีตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมลงด้วยทุกครั้ง ดังนั้น ในการจัดระเบียบขอทานจึงต้องมีการจัดทำแผนการลงพื้นที่ โดยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เดือนสิงหาคม 2567 มีแผนจัดระเบียบในพื้นที่สำคัญ จำนวน 12 ครั้ง สำหรับในต่างจังหวัดมีแผนบูรณาการลงพื้นที่เดือนละอย่างน้อย 2 ครั้ง และในงานเทศกาลสำคัญ ตลอดจนเมื่อมีการรับแจ้งจากสายด่วน 1300 จะดำเนินการประสานตำรวจเพื่อลงพื้นที่ร่วมกัน  

“นอกจากนี้ กระทรวง พม. ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร จะมีการรณรงค์สร้างความเข้าใจและสื่อสารมวลชน ในวันที่ 16 สิงหาคม 2567 ณ หอศิลป์ กรุงเทพมหานคร จะมีการสื่อสารประชาสัมพันธ์กับสังคม ภายใต้ธีม ‘ให้โอกาสเปลี่ยนชีวิต หยุดคิดก่อนให้ทาน’ โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกิจกรรม ภายในงานมีวีดิทัศน์ประชาสัมพันธ์ สร้างการตระหนักรู้ด้านกฎหมาย เดินรณรงค์ประชาสัมพันธ์ พร้อมแจก พัดโดยมีข้อความ ‘หยุดให้ = หยุดขอทาน’ 5 ภาษา และจัดระเบียบขอทานทั่วประเทศ” นายวราวุธ กล่าว

นายวราวุธ กล่าวต่อไปว่า กระทรวง พม. มีแนวทางในการพัฒนามาตรการกลไกในการควบคุม คุ้มครอง และพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ทำการขอทาน โดยในส่วนของผู้ทำการขอทานไทย จะทบทวนแนวทางพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ทำการขอทาน พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ทำการขอทานรายบุคคลร่วมกับครอบครัวและชุมชน ส่งเสริมธุรกิจและเครือข่าย CSR ให้เข้ามามีส่วนร่วม และสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน และในส่วนของผู้ทำการขอทานต่างด้าวนั้น กระทรวง พม. จะบูรณาการฐานข้อมูลระหว่างหน่วยงาน พม. และ ตม. เพื่อให้เห็นจำนวนครั้งของการขอทานซ้ำ และเสนอให้ ตม. ทบทวนขั้นตอนการส่งผู้ทำการขอทานต่างด้าวกลับประเทศ หารือกับกระทรวงการต่างประเทศ หรือสถานทูตกัมพูชา ในการสร้างความร่วมมือร่วมกัน นอกจากนี้ การคุ้มครองเด็กที่ติดตามผู้ทำการขอทานนั้น เสนอให้มีการทบทวนระเบียบที่เกี่ยวกับสถานที่พักพิงระหว่างรอผลตรวจสารพันธุกรรม (DNA) และที่สำคัญ คือการพัฒนาพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยให้มีการจัดทำหลักสูตรการอบรมตามกฎหมายเฉพาะให้กับตำรวจและฝ่ายปกครอง และเพิ่มเติมตำแหน่งพนักงานเจ้าหน้าที่ในประกาศกระทรวง

นายวราวุธ กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ กระทรวง พม. มีแนวทางในการทบทวนและปรับปรุงพระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559 ได้แก่ 1.ประชุมคณะอนุกรรมการและปรับปรุงกฎหมาย เดือนละ 2 ครั้ง เพื่อพิจารณา วิเคราะห์ และสังเคราะห์ 2.พิจารณาปรับแก้ นิยามผู้ทำการขอทาน การกำหนดอัตราโทษสำหรับผู้ทำการขอทานและผู้แสวงหาประโยชน์จากผู้ทำการขอทาน การคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิต การกำหนดอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและอำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ การเพิ่มหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการควบคุมการขอทาน 3.การแยกผู้แสดงความสามารถออกจากผู้ทำการขอทาน (แยกกฎหมาย/แยกหมวดจากกฎหมายเดิม) กำหนดนิยาม และกำหนดอำนาจหน้าที่ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 4.เสนอ (ร่าง) กฎหมายให้คณะกรรมการควบคุมการขอทานพิจารณา คาดว่ายกร่างได้ภายใน 6 เดือน 5.รับฟังความคิดเห็นในการปรับปรุง (ร่าง) พระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน ที่แก้ไข/ฉบับใหม่ 6.การพัฒนาร่างกฎหมาย 7.เสนอ ครม.

ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาขอทานและคนไร้บ้าน นับเป็น 1 ในยุทธศาสตร์ 5x5 ฝ่าวิกฤตประชากร ในมาตรการที่ 5 สร้างระบบนิเวศ ที่เอื้อต่อความมั่นคงของครอบครัว นั่นคือการพัฒนาระบบสวัสดิการที่เหมาะสมและทั่วถึงโดยรัฐ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและเป็นหลักประกันในยามที่เผชิญกับวิกฤต ชุมชนน่าอยู่สำหรับประชากรทุกกลุ่มทุกวัย ‘ปลอดภัย ปลอดพิษ เป็นมิตรและเอื้ออาทรต่อทุกคน’ ซึ่งคนไทยทุกคนจะต้องมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง และปลอดจากผู้ทำการขอทาน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top