Sunday, 19 May 2024
ขนมครก

ชวนเที่ยว ‘งานตักบาตรขนมครก’ 22 ก.ย.นี้ สืบสานประเพณีเก่าแก่ มีเพียงแห่งเดียวที่วัดแก่นจันทร์เจริญ อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม

สมุทรสงคราม แห่งเดียวของไทย อบจ.แม่กลอง ชวนเที่ยวงานตักบาตรขนมครก ‘ขนมคู่รักกัน’ 22 ก.ย. นี้ เพื่อสืบสานประเพณีเก่าแก่เกือบร้อยปี

เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 66 น.ส.กาญจน์สุดา ปานะสุทธะ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ) สมุทรสงคราม เปิดเผยว่า ประเพณีตักบาตรขนมครก เป็นประเพณีที่เก่าแก่ของจังหวัดสมุทรสงคราม ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ปี 2473 ปัจจุบันมีเพียงแห่งเดียวที่วัดแก่นจันทร์เจริญ ตำบลบางพรม อำเภอบางคนที

โดยจัดกันในวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี โดยเลียนแบบการจัดงานมาจากขนมเบื้องของพระราชพิธีในวัง ที่สืบทอดกันมาจนถึงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี

โดยญาติโยมที่มาร่วมทำบุญ จะซื้อขนมครก และน้ำตาลทราย จากพ่อค้าแม่ค้าที่พายเรือมาขายหน้าวัดแก่นจันทร์เจริญ ถวายพระสงฆ์ แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ชาวบ้านจึงเกรงว่าประเพณีตักบาตรขนมครกจะสูญหายไปด้วย

จึงได้ช่วยกันลงแรงและร่วมกันบริจาคเงินซื้อข้าวสารมาหมักค้างคืนไว้ พอเช้าตรู่ของวันใหม่ก็ไปรวมตัวกันที่วัดแก่นจันทร์เจริญ ช่วยกันโม่แป้ง คั้นกะทิ ทำขนมครก เพื่อนำไปตักบาตรถวายพระสงฆ์ พร้อมกับน้ำตาลทรายถวายคู่กัน เนื่องจากพระบางรูปชอบหวาน จึงมีน้ำตาลทรายให้มาด้วย

นายก อบจ.สมุทรสงคราม กล่าวว่า ตามตำนานบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่เล่าว่า ประเพณีตักบาตรขนมครกนั้น เกิดขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีชายหญิงคู่หนึ่งชอบพอกัน ฝ่ายชายชื่อ ‘กะทิ’ ส่วนฝ่ายหญิงชื่อ ‘แป้ง’ แต่พ่อของแป้ง ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านไม่ชอบกะทิ จึงหาทางขัดขวางไม่ให้มายุ่งเกี่ยวกับลูกสาว และยังยกลูกสาวให้แต่งงานกับปลัดอำเภอหนุ่มจากกรุงเทพฯ

เมื่อพ่อของแป้ง รู้ว่ากะทิ จะมาขัดขวางงานแต่งงานลูกสาว จึงขุดหลุมพรางไว้เพื่อดักฝังกะทิทั้งเป็น จนกลางคืนกะทิกับแป้งได้นัดพบกัน และเกิดพลัดตกลงไปในหลุมพรางของพ่อแป้งทั้งคู่ ลูกน้องของผู้ใหญ่บ้านนึกว่ากะทิตกหลุมพรางคนเดียว จึงนำดินมาฝังกลบทั้งคู่จนตายทั้งเป็น รุ่งเช้าผู้ใหญ่บ้านรู้เข้าจึงเกิดความเศร้าโศกเสียใจ จึงสร้างเจดีย์ไว้เป็นอนุสรณ์แด่คนทั้งสอง

ต่อมาชาวบ้านรู้ข่าวจึงเห็นใจในชะตาชีวิตของหนุ่มสาวคู่นี้ จึงนำขนมที่ทำจากกะทิและแป้ง และเรียกว่า ‘ขนมคู่รักกัน’ มาเซ่นไหว้ ต่อมาได้มีผู้เห็นว่าชื่อเรียกยาก จึงตัดเอาตัวอักษรแต่ละคำคือเอาตัว ค.ควาย, ร.เรือ และ ก.ไก่ มารวมกันจึงอ่านว่า ‘ครก’ หรือ ‘ขนมครก’ นั่นเอง

และเพื่ออนุรักษ์ประเพณีตักบาตรขนมครก ที่สืบทอดกันมานานเกือบ 100 ปี อบจ.สมุทรสงคราม จึงร่วมกับ จ.สมุทรสงคราม, อบต.บางพรม, ททท.สำนักงานสมุทรสงคราม, สำนักงานวัฒนธรรม จ.สมุทรสงคราม และชาวตำบลบางพรม จัดงานตักบาตรขนมครกขึ้นที่วัดแก่นจันทร์เจริญ ในวันขึ้น 8 ค่ำเดือน 10 ซึ่งปีนี้ตรงกับวันศุกร์ที่ 22 กันยายน 2566

โดยจะมีเตาขนมครกซึ่งส่วนใหญ่เป็นเตาถ่านกว่า 20 เตา มีการสาธิตการขูดมะพร้าวจากกระต่ายแบบโบราณ การโม่แป้งด้วยโม่หินแบบโบราณ การหยอดและการแคะขนมครกจากเด็กนักเรียนโรงเรียนวัดแก่นจันทร์เจริญ เริ่มงานตั้งแต่เวลา 07.00 น.เป็นต้นไป

โดยเวลา 09.30 น. มีพิธีเปิดงานโดยนายสมนึก พรหมเขียว ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม จากนั้นเป็นการตักบาตรขนมครก โดยมีพระสงฆ์วัดแก่นจันทร์ทุกรูปมารับบาตร

ส่วนขนมครกที่เหลือจากพระฉันแล้ว ทางวัดจะแจกจ่ายให้นักท่องเที่ยวและชาวบ้านนำกลับบ้านฝากญาติพี่น้องรับประทาน เพื่อความเป็นสิริมงคล จึงขอเชิญนักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจไปร่วมงานดังกล่าวได้ที่วัดแก่นจันทร์เจริญ ตามวันและเวลาดังกล่าว

‘ขนมครก’ ของไทย สุดปัง!! ขึ้นแท่นอันดับ 4 เมนูแพนเค้กที่ดีที่สุดในโลก

เว็บไซต์อาหารชื่อดัง ‘Taste Atlas’ จัดอันดับเมนูขนมประเภทแพนเค้ก ทำ ‘ขนมครก’ ของไทย ไต่ขึ้นอันดับ 4 เมนูแพนเค้กขึ้นชื่อระดับโลก!!

ขณะที่อันดับ 1 เป็น เครป จากฝรั่งเศส ตามมาด้วยอันดับ 2 Kaiserschmarrn จาก ออสเตรีย, เจียนปิง ของจีน ในอันดับที่ 3 ส่วนอันดับที่ 5 ได้แก่ Crêpes Normande ของนอร์มังดี ประเทศฝรั่งเศส

อันดับที่ 6 Crespelle alla Valdostana จาก อิตาลี, อันดับที่ 7 Blini จากรัสเซีย, อันดับที่ 8 Jeon จากเกาหลีใต้, อันดับที่ 9 Okonomiyaki จาก ญี่ปุ่น และอันดับที่ 10 Dosa จากอินเดีย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top