Friday, 17 May 2024
ก๊าซเรือนกระจก

หนุนชุมชน 'ปลูกไม้มีค่า' สร้างรายได้จากการกักเก็บก๊าซเรือนกระจก

นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. ได้ร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) และคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เติมเต็มองค์ความรู้ให้ชุมชนเกี่ยวกับการประเมินมูลค่าการกักเก็บคาร์บอน ที่ผ่านมา ธ.ก.ส. ได้สนับสนุนเงินให้ชุมชน ตันคาร์บอนละ 100 บาท ไม่เกินชุมชนละ 50,000 บาท ซึ่งปัจจุบันมีชุมชนที่เข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 45 ชุมชน จำนวนต้นไม้ 880,791 ต้น คิดเป็นปริมาณการกักเก็บคาร์บอน 279,644.732 ตันคาร์บอน โดย ธ.ก.ส. มอบเงินสนับสนุนไปแล้ว 1,860,800 บาท พร้อมตั้งเป้าหมายส่งเสริมสนับสนุนให้ชุมชนไม้มีค่าเข้าร่วมโครงการ 77 ชุมชนภายในปี 2564

นอกจากนี้ ธ.ก.ส. และ อบก. ยังร่วมมือยกระดับชุมชนไม้มีค่าสู่โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) เพื่อต่อยอดสู่การขายคาร์บอนเครดิต ปัจจุบันมีชุมชนที่ขึ้นทะเบียน T-VER เพื่อเตรียมพร้อมสู่ตลาดคาร์บอน จำนวน 2 ชุมชน ได้แก่ ธนาคารต้นไม้บ้านลี่ และธนาคารต้นไม้บ้านแดง จังหวัดขอนแก่น คาดว่าจะผลิตคาร์บอนเครดิตได้จำนวน 3,025 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ตลอดระยะเวลาโครงการ

 

กองทัพเรือ โดย ‘ทัพเรือภาคที่ 1’ นำร่องปลูกหญ้าทะเล เพื่ออนุบาลสัตว์น้ำ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

กองทัพเรือ โดยทัพเรือภาคที่ 1 ร่วมกับ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) กองการบินทหารเรือ กองเรือยุทธการ และศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก นำร่องปลูกหญ้าทะเล ในโครงการฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเล บริเวณหาดนภาธาราภิรมย์ กิจการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ กองการบินทหารเรือ อ.บ้านฉาง จ.ระยอง หลังจากที่ทำการสำรวจพื้นที่ฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเล มาแล้วก่อนหน้านี้

กิจกรรมนำร่องปลูกหญ้าทะเลในวันนี้ ได้รับเกียรติจาก นาย สุเทพ เจือละออง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก เป็นผู้วางแผนและกำกับการปลูก โดยมีนักดำน้ำจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่ร่วมโครงการ จำนวน 15 นาย มาร่วมกันดำน้ำแบบ Scuba ปลูกหญ้าทะเลชนิด “กุ้ยช่ายเข็ม” (Halodule pinifolia) จำนวน 5,000 กอ ด้วยวิธี “ย้ายปลูก” ในทะเลพื้นที่ 3 ไร่ ห่างจากชายฝั่งของหาดนภาธาราภิรมย์ กิจการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ กองการบินทหารเรือ ประมาณ 500 เมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมแก่การเพาะพันธุ์ และขยายพันธุ์ของหญ้าทะเล เนื่องจากหาดนภาธาราภิรมย์อยู่ติดกับคลองบางไผ่ โดยคลองจะพัดพาเอาตะกอนแร่ธาตุ และสารอาหารอันอุดมสมบูรณ์ ลงสู่ทะเลในบริเวณดังกล่าว ทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลเป็นอย่างยิ่ง

สำหรับในช่วงเดือน มกราคม 2565 นั้น หน่วยงานต่าง ๆ ที่ร่วมโครงการฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเล จะมีการจัดกิจกรรมเชิงอนุรักษ์ และมีการติดตามการเจริญเติบโตของหญ้าทะเล ที่ปลูกในวันนี้ เพื่อขยายผลโครงการต่อไป

 

‘จีน’ ก่อสร้างสถานีตรวจวัด ‘ก๊าซเรือนกระจก’ 117 แห่ง อาศัย ‘ดาวเทียม’ ที่มีความแม่นยำสูง ดักจับคาร์บอนฯ

(2 ธ.ค.66 ) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า สำนักงานอุตุนิยมวิทยาแห่งประเทศจีน รายงานว่าปัจจุบันนั้น มีการก่อสร้างสถานีตรวจวัดก๊าซเรือนกระจกที่มีความแม่นยำสูงรวม 117 แห่งแล้ว

จางซิ่งอิ๋ง เจ้าหน้าที่สำนักงานฯ เผยว่าจีนได้ส่งดาวเทียมที่สามารถเฝ้าติดตามคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศโลก จำนวน 5 ดวง เพื่อเพิ่มความสามารถตรวจวัดก๊าซเรือนกระจกตั้งแต่ปี 2016 รวมถึงจัดตั้งเครือข่ายสังเกตการณ์ชั้นบรรยากาศอันประกอบด้วยสถานีระดับโลก 1 แห่ง และสถานีระดับภูมิภาค 6 แห่ง

นอกจากนั้นสำนักงานฯ เผยแพร่แถลงการณ์เกี่ยวกับก๊าซเรือนกระจกในงานแถลงข่าวเมื่อวันศุกร์ (1 ธ.ค.) ซึ่งระบุว่า การเพิ่มขึ้นของความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศโดยเฉลี่ยต่อปีในพื้นที่ดินของจีนในปี 2022 ต่ำกว่าการเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยต่อปีในช่วงปี 2013-2022 อย่างมีนัยสำคัญ

‘ชไนเดอร์ อิเล็คทริค’ กางแผน ‘ลดคาร์บอน’ ระยะยาว ปักหมุดปี 2050 ต้องลดก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ 90%

(14 ธ.ค. 66) นายณัฏฐพัชร์ ชลภัทรธนัทสิริ ผู้อำนวยการกลุ่ม Digital Energy ของ ‘ชไนเดอร์ อิเล็คทริค’ บริษัทมหาชนข้ามชาติในสหภาพยุโรปผู้ผลิตอุปกรณ์ทางไฟฟ้า ผู้ดูแลประเทศไทย ลาว และเมียนมา กล่าวในงาน ‘SUSTAINABILITY FORUM 2024’ ในหัวข้อ ‘Climate Tech for Business’ จัดโดย ‘กรุงเทพธุรกิจ’ วันที่ 14 ธ.ค. 2566 ว่าในภาคธุรกิจการเข้าสู่เป้าหมายสู่ Net Zero ของชไนเดอร์ อิเล็คทริค นั้น ตั้งเป้าไว้ในปี 2050 บริษัทต้องเข้าใจสถานการณ์ก่อนแล้วจึงขยับเปลี่ยนแปลงมากขึ้น อย่างการใช้พลังงานสะอาด การอนุรักษ์พลังงาน โดยชไนเดอร์ อิเล็คทริค มีเป้าหมายเกี่ยวกับการจัดการองค์กรมีระยะยาวไว้ 4 ช่วง คือ...

1.) ปี 2025 เข้าสู่การดำเนินงาน ‘Carbon Neutral’ ด้วยการลดคาร์บอนในห่วงโซ่คุณค่าของบริษัทโดย มีส่วนร่วม และสนับสนุนผู้ให้การสนับสนุนเพื่อลดคาร์บอน การจัดหาวัสดุคาร์บอนต่ำ และสร้างสรรค์นวัตกรรมด้วยผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงสร้างอิทธิพลต่อการลดคาร์บอนทั่วโลก

2.) ปี 2030 ‘Net-Zero’ พร้อมในการดําเนินการ ผลิตภัณฑ์ที่ปลอยก๊าซเรือนกระจกลดลง 25% ตลอดห่วงโซ่คุณค่า

3.) ปี 2040 ‘คาร์บอนที่เป็นกลาง’ ในการลดก๊าซเรือนกระจก ประมาณ 50 - 75% ของผลิตภัณฑ์ ยิ่งลดก๊าซเรือนกระจกมากเท่าไร ก็ยิ่งการละเว้นการสูญเสีย รวมถึงชดเชยตั้งแต่ปี 2040 เป็นต้นไป ซึ่งการชดเชยคาร์บอนจะต้องเท่ากับการปล่อยห่วงโซ่มูลค่าคงเหลือ และชดเชยการปล่อยมลพิษที่เหลือด้วยการกําจัดคาร์บอนคุณภาพสูง

4.) ปี 2050 ลดก๊าซเรือนกระจกลง 90% อย่างสมบูรณ์

การก้าวเข้าสู่ความยั่งยืนนั้นไม่ใช่แค่ให้ความสำคัญแก่องค์กรตนเองแต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างซัพพลายเออร์ให้แข็งแกร่ง เพื่อก้าวสู่ความยั่งยืนไปพร้อมๆ กัน อย่างการช่วยลดมลพิษในอากาศสามารถช่วยซัพพลายเออร์ ลดการใช้วัสดุต่างๆ หรือการเลือกใช้วัสดุที่เป็นสีเขียว รวมถึงบรรจุภัณฑ์หลัก และรองปราศจากพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว และใช้กระดาษแข็งรีไซเคิลเพื่อส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น

รวมถึงการบริหารจัดการภายในองค์กรให้มีประสิทธิภาพ โดยเสริมสร้างระดับความเชื่อมั่นของพนักงานในการรายงานพฤติกรรมที่ผิดจรรยาบรรณ เพิ่มความหลากหลายทางเพศในการจ้างงาน 50% การจัดการพนักงานแนวหน้า 40% และการจัดการความเป็นผู้นํา 30%

ทั้งนี้ ยังเพิ่มโอกาสการจ้างงานสองเท่าสําหรับนักศึกษาฝึกงาน เด็กฝึกงาน และผู้สําเร็จการศึกษาใหม่ ส่งเสริมคนในการจัดการพลังงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในด้านความยั่งยืนมากขึ้น และสนับสนุนการเข้าถึงพลังงานสีเขียวให้กับประชาชนอีกด้วย

‘คณะกรรมาธิการยุโรป’ ประกาศลดปล่อย ‘ก๊าซเรือนกระจก’ 90% ตั้งเป้า!! สู่ความเป็นกลางทางสภาพภูมิอากาศ ภายในปี 2040

(7 ก.พ.67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า คณะกรรมาธิการยุโรปประกาศเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิภายในสหภาพยุโรปลงร้อยละ 90 ภายในปี 2040 เมื่อเทียบกับระดับในปี 1990 โดยข้อเสนอทางกฎหมายจะจัดทำโดยคณะกรรมาธิการฯ ชุดต่อไปภายหลังการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภายุโรปในเดือนมิถุนายน

เป้าหมายดังกล่าวสอดคล้องกับความมุ่งมั่นของสหภาพยุโรปซึ่งจัดทำในปี 2021 ที่มุ่งบรรลุความเป็นกลางทางสภาพภูมิอากาศ (climate neutrality) ภายในปี 2050 โดยมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิอย่างน้อยร้อยละ 55 ภายในปี 2030 เทียบกับระดับในปี 1990

คณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า การกำหนดเป้าหมายสภาพภูมิอากาศปี 2040 จะช่วยวางกรอบการทำงานที่ชัดเจนสำหรับอุตสาหกรรม นักลงทุน ประชาชน และรัฐบาลของยุโรปในการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ในช่วงทศวรรษนี้ และรับรองว่าสหภาพยุโรปจะอยู่บนเส้นทางสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางสภาพภูมิอากาศต่อไป

นอกจากนี้ เป้าหมายข้างต้นยังจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของยุโรปต่อวิกฤตการณ์ในอนาคต และเสริมสร้างความเป็นอิสระด้านพลังงานของสหภาพยุโรปโดยลดการพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของสหภาพยุโรปในปี 2022

‘เชลล์’ ประกาศยุทธศาสตร์การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ปี 2024 ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้น้ำมันของเชลล์

เมื่อไม่นานมานี้ บริษัท เชลล์ จำกัด (มหาชน) (Shell) ได้เผยแพร่การอัปเดตข้อมูลการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ที่มีการเปิดตัวกลยุทธ์ Powering Progress ในปี ค.ศ. 2021 ในงาน Capital Markets Day ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2023 นั้น เชลล์ได้เน้นย้ำถึงแนวทางของกลยุทธ์นี้ที่จะนำมาใช้ในการสร้างมูลค่าที่มากขึ้นควบคู่กับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยในงาน Capital Markets Day นั้น เชลล์มุ่งเน้นที่ ‘การสร้างมูลค่าที่มากขึ้น’ ส่วนในการอัปเดตการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานครั้งนี้ เชลล์มุ่งเน้นไปที่วิธีการที่กลยุทธ์เดียวกันนี้จะช่วย ‘ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก’

เป้าหมายของเราที่จะบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในค.ศ. 2050 ในการดําเนินงานและผลิตภัณฑ์พลังงานทั้งหมดนี้กำลังเปลี่ยนแปลงธุรกิจของเรา เราเชื่อว่าเป้าหมายนี้จะช่วยให้บรรลุความมุ่งมั่นที่ท้าทายของข้อตกลงปารีสในการจํากัดภาวะโลกร้อนให้ไม่เกิน 1.5°C เหนือระดับอุณหภูมิก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม กลยุทธ์ของเชลล์สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่โซลูชันพลังงานคาร์บอนต่ำอย่างสมดุลและมีแบบแผนเพื่อรักษา แหล่งพลังงานที่มั่นคงและมีระดับราคาที่จับต้องได้

มร.วาเอล ซาวัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสูงสุดของบริษัท เชลล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “พลังงานมีส่วนช่วยในการพัฒนาของมนุษย์อย่างมากมาย ช่วยให้ผู้คนทั่วโลกจำนวนมากมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ปัจจุบัน โลกต้องตอบสนองความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ต้องจัดการกับความท้าทายเร่งด่วนของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผมรู้สึกมีกำลังใจอย่างยิ่งที่ได้เห็นความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานในหลายประเทศ และเทคโนโลยีในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งตอกย้ำความเชื่อมั่นอันแน่วแน่ของผมในทิศทางของกลยุทธ์เรา” 

“เชลล์มีบทบาทสำคัญมากในการจัดหาพลังงานที่โลกต้องการในปัจจุบัน และในการช่วยสร้างระบบพลังงานคาร์บอนต่ำสำหรับอนาคต การมุ่งเน้นที่ประสิทธิภาพ วินัย และความเรียบง่ายในกระบวนการทำงานของเรา ช่วยผลักดันให้เกิดการตัดสินใจที่ชัดเจน ในจุดที่เราสามารถสร้างประโยชน์สูงสุดจากการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน และสร้างมูลค่าสูงสุดให้กับนักลงทุนและลูกค้าของเชลล์ เราเชื่อว่า การมุ่งเน้นที่ประสิทธิภาพ วินัย และความเรียบง่ายนี้จะยิ่งทำให้เรามีโอกาสบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศมากขึ้น โดยการจัดหาพลังงานประเภทต่าง ๆ ที่โลกต้องการ เราเชื่อว่าเชลล์เป็นทั้งทางเลือกสำหรับการลงทุนและพันธมิตรที่เหมาะสมที่สุด ในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานนี้” ซาวัน กล่าว

>>แผนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของเชลล์ครอบคลุมธุรกิจทั้งหมด ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เป็นเชื้อเพลิงที่สำคัญ

ในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน และเชลล์กำลังขยายธุรกิจ LNG ชั้นนำของโลกด้วยความเข้มข้นของคาร์บอนที่ต่ำลง นอกจากนี้ เชลล์ยังมุ่งเน้นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตน้ำมันและก๊าซ ในขณะที่ยังคงรักษาระดับการผลิตน้ำมันให้คงที่ และเพิ่มยอดขายพลังงานคาร์บอนต่ำ รวมถึงทยอยลดการจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมัน เช่น น้ำมันเบนซิน ดีเซล และน้ำมันเครื่องบิน ในฐานะที่เป็นหนึ่งในผู้ค้าพลังงานรายใหญ่ที่สุดของโลก เชลล์สามารถเชื่อมโยงการจัดหาพลังงาน คาร์บอนต่ำเพื่อตอบโจทย์ความต้องการได้อย่างแน่นอน เช่นเดียวกับที่เราเคยทำมาเป็นเวลานานกับธุรกิจน้ำมันและก๊าซ  
เป้าหมายด้านสภาพอากาศของเชลล์มีความคืบหน้าที่ดีมากดังนี้ 

• ในปี ค.ศ. 2023 เชลล์บรรลุความสำเร็จไปแล้วกว่า 60% จากเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากการดำเนินงานลงครึ่งหนึ่งภายในปี ค.ศ. 2030  เมื่อเทียบกับ ปี ค.ศ. 2016 ซึ่งถือว่าเกินกว่าเป้าหมายที่กำหนดโดยผู้ลงนามในกฎบัตรการลดปริมาณคาร์บอนของอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ (Oil and Gas Decarbonization Charter) ที่ตกลงกันในเวทีการประชุมสมัชชาภาคีประเทศอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 28 (COP28)

• เชลล์ยังคงเป็นผู้นำอุตสาหกรรมในการลดการปล่อยก๊าซมีเทน โดยเป็นหนึ่งในบริษัทแรก ๆ ที่ตั้งเป้าหมายที่จะบรรลุการปล่อยก๊าซมีเทนเกือบเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2030 โดยในปี ค.ศ. 2023 เชลล์บรรลุการปล่อยความเข้มข้นของก๊าซมีเทนที่ 0.05% ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่ 0.2% อย่างมีนัยสำคัญ 

นอกจากนี้ ในปี ค.ศ. 2023 เชลล์ยังได้ให้การสนับสนุนกองทุน World Bank’s Global Flaring and Methane Reduction ของธนาคารโลกเพื่อสนับสนุนการดำเนินการร่วมกันของทั้งอุตสาหกรรมเพื่อการลดการปล่อยก๊าซมีเทนและการเผาก๊าซธรรมชาติเพื่อลดแรงดันในกระบวนการผลิตในปี ค.ศ. 2023 เชลล์บรรลุเป้าหมายด้านความเข้มข้นของคาร์บอนสุทธิของผลิตภัณฑ์พลังงานที่จำหน่าย โดยลดลง 6.3% เมื่อเทียบกับปี ค.ศ. 2016 ซึ่งเป็นปีที่ 3 ติดต่อกันที่เชลล์บรรลุเป้าหมาย เชลล์กำลังเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นธุรกิจพลังงานที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โดยมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน โดยที่มีจุดแข็งที่สามารถแข่งขันได้ มองเห็นความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า และเข้าใจชัดเจนกับกฎระเบียบที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เพื่อผลักดันการลดการปล่อยคาร์บอนในภาคขนส่ง เชลล์ตั้งเป้าความท้าทายใหม่ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้ผลิตภัณฑ์น้ำมันโดยลูกค้าลง 15-20% ภายในปีค.ศ. 2030 เมื่อเทียบกับปี ค.ศ. 2021 (ขอบเขตที่ 3, หมวดที่ 11)

การมุ่งเน้นไปยังจุดที่เชลล์สามารถสร้างมูลค่าได้สูงสุด นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงกลยุทธ์ในธุรกิจไฟฟ้าแบบบูรณาการ เชลล์วางแผนที่จะสร้างธุรกิจไฟฟ้า รวมถึงพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนในภูมิภาคต่าง ๆ เช่น ออสเตรเลีย ยุโรป อินเดีย และสหรัฐอเมริกา และเชลล์ได้ถอนตัวการจัดหาพลังงานแก่ลูกค้ารายย่อยระดับครัวเรือนในยุโรป

เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในการจัดลำดับความสำคัญของมูลค่ามากกว่าปริมาณในธุรกิจไฟฟ้า เราจะให้ความสำคัญกับการเลือกตลาดและกลุ่มลูกค้า ซึ่งรวมถึงการขายไฟฟ้าให้กับลูกค้าภาคธุรกิจมากขึ้น และลดการขายให้กับลูกค้ารายย่อยลง การที่เราให้ความสำคัญกับมูลค่าเช่นนี้ เชลล์คาดว่าจะทำให้อัตราการเติบโตของยอดขายไฟฟ้าโดยรวมลดลงภายในปี ค.ศ. 2030 ซึ่งจะส่งผลต่อการปรับเป้าหมายความเข้มข้นของการปล่อยคาร์บอนสุทธิของเชลล์  ปัจจุบันเชลล์มีเป้าหมายความเข้มข้นของคาร์บอนสุทธิจากผลิตภัณฑ์พลังงานที่จำหน่ายลง 15-20% ภายในปี ค.ศ. 2030 เมื่อเทียบกับปี ค.ศ. 2016 และเทียบกับเป้าหมายเดิมที่ 20% 

ทั้งนี้ เชลล์จะยังคงรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับเป้าหมายและความมุ่งมั่นของเราอย่างโปร่งใสทุกปี

>>ขับเคลื่อนสู่อนาคตที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

ระหว่างปี ค.ศ. 2023 ถึงปลายปี ค.ศ. 2025 เชลล์ได้ลงทุนจำนวน 10,000-15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในโซลูชันพลังงานคาร์บอนต่ำ ซึ่งทำให้เชลล์กลายเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน โดยในปี ค.ศ. 2023 เชลล์ลงทุน 5.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในโซลูชันพลังงานคาร์บอนต่ำ หรือคิดเป็นกว่า 23% ของการลงทุนทั้งหมด 

การลงทุนเหล่านี้ครอบคลุมถึงสถานีชาร์จรถยนต์พลังงานไฟฟ้า เชื้อเพลิงชีวภาพ พลังงานหมุนเวียน ไฮโดรเจน การดักจับและกักเก็บคาร์บอน การลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ๆ ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งสำหรับเชลล์และลูกค้า เชลล์มุ่งมั่นที่จะช่วยปรับขนาดเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อให้กลายเป็นทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับลูกค้า และยังมุ่งเน้นการผลักดันนโยบายสำคัญ ในด้านต่าง ๆ ที่เชลล์เชื่อมั่นว่ามีความสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน เช่น นโยบายที่สนับสนุนเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศ รวมถึงราคาคาร์บอน การจัดหาพลังงานที่มั่นคงตามความต้องการของโลก 
การขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงความต้องการ และการเติบโตของโซลูชันพลังงานคาร์บอนต่ำ

*การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของลูกค้าจากการใช้ผลิตภัณฑ์น้ำมันของเชลล์ (ขอบเขตที่ 3, หมวดที่ 11) อยู่ที่ 517 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2e) ในปีค.ศ. 2023 ซึ่งลดลงจาก 569 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2e) ในปี ค.ศ. 2022

'อรรถวิชช์' ชู RECs 'ใบรับรองการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด'  นวัตกรรมช่วยลดโลกร้อน เพิ่มขีดความสามารถผู้ส่งออกไทยสู้เวทีการค้าโลก

(23 เม.ย.67) ดร.อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ประธานกรรมการบริษัท เวฟ เอกซ์โพเนนเชียล จำกัด (มหาชน) ร่วมเป็นสักขีพยานในการให้ความร่วมมือกันระหว่าง ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) และ นายเจมส์ แอนดริว มอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เวฟ บีซีจี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บริษัท เวฟ เอกซ์โพเนนเชียล จำกัด (มหาชน) เพื่อช่วยองค์กรและผู้ประกอบการไทย ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน

ดร.อรรถวิชช์ กล่าวว่า "ขณะนี้ผู้ส่งออกสินค้าไทยที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือก๊าซที่ทำให้โลกร้อนจำพวกคาร์บอน มีเทน และอื่น ๆ หากไม่มีมาตรการหักลบหรือชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเอง จะโดนข้อกีดกันทางการค้าจากประเทศปลายทางหลายอย่าง เช่น ภาษีคาร์บอน หรือการถูกยกเลิกเป็นคู่ค้า"

โดย บริษัท เวฟ บีซีจี จำกัด เล็งเห็นถึงความสำคัญในการหามาตรการช่วยลดภาวะโลกร้อน และ ต้องการเพิ่มขีดความสามารถผู้ประกอบการเข้าสู้เวทีการค้าโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่ง บริษัท เวฟ บีซีจี จำกัด สามารถให้คำแนะนำ และมีนวัตกรรมที่สามารถจะช่วยเหลือผู้ประกอบการ ด้วยกลไก ที่เรียกว่า 'Renewable Energy Certificates : RECs' หรือ 'ใบรับรองการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด'

"กลไกนี้ จะทำให้เกิดความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) คือ ขาหนึ่งที่สร้างมลภาวะ ขณะที่อีกขาหนึ่งช่วยให้เกิดพลังงานสะอาด ให้หักกลบลบกันไป เพื่อช่วยลดโลกร้อน และเป็นการช่วยผู้ส่งออกไทยให้สู้กับต่างประเทศได้ นี่คือกติกาการค้าใหม่ที่ผู้ส่งออกไทยต้องเจอครับ เป็นเรื่องยากที่ต้องทำให้ง่าย" ดร.อรรถวิชช์ กล่าว

'ครม.' มีมติแต่งตั้ง 'อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์' นั่งประธานกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก

เมื่อวันที่ 23 เม.ย.67 คณะรัฐมนตรี มีมติแต่งตั้ง โยกย้าย หลายตำแหน่ง โดยหนึ่งในตำแหน่งที่กำลังถูกจับตามอง คือ การแต่งตั้ง 'ประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก' 

โดยจะมาสานต่อภารกิจในการสนับสนุนการประเมินผลการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกและผลกระทบที่เกิดขึ้น ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ ตลอดจนให้คำแนะนำแก่หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเกี่ยวกับการจัดการก๊าซเรือนกระจก เผยแพร่และประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการจัดการก๊าซเรือนกระจก ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ทั้งนี้ ทางคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก รวม 6 คน แทนประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากขอลาออก ดังนี้...

1. นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ประธานกรรมการ
2. นายพิสิทธิ์ ปทุมบาล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหารธุรกิจ
3. นายบัณฑิต ลิ้มมีโชคชัย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านพลังงาน
4. นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
5. นายนิคม แหลมสัก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านป่าไม้
6. นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน 2567 เป็นต้นไป

ภายหลังรับทราบเรื่อง อาจารย์พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ในฐานะประธานกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า...

"In pursuit of a net zero world : โลกสีเขียวคืออนาคตของเราและลูกหลาน ขอบคุณรัฐบาลที่ให้ความไว้วางใจ"

สำหรับ อาจารย์พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ เคยดำรงตำแหน่งอดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา, อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ 

นอกจากนี้ ยังเป็นผู้ทรงเกียรติที่มาร่วมพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES เกี่ยวกับประเด็นด้านเศรษฐกิจ, การเงิน, ธุรกิจ, นวัตกรรม และกระแสสังคมที่สำคัญ ๆ ทั้งในและต่างประเทศอีกด้วย

‘PEA’ เปิดตัวแพลตฟอร์ม ‘CARBONFORM’ เครื่องมือช่วยประเมิน-บริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก

(14 พ.ค. 67) นายศุภชัย เอกอุ่น ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เป็นประธานในพิธีเปิดตัวแพลตฟอร์มบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ‘CARBONFORM’ พร้อมปาฐกถาพิเศษหัวข้อ ‘PEA กับการเดินทางไปสู่แผน PEA Carbon Neutrality และทิศทางของ PEA กับ Net Zero ในอนาคต’ โดยมีแขกผู้มีเกียรติ หน่วยงานภายนอก ผู้บริหาร พนักงาน PEA ร่วมงาน ณ อาคาร 4 ชั้น 1 สำนักงานใหญ่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และถ่ายทอดสดผ่านระบบ WebEx 

การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) มีภารกิจในการให้บริการจำหน่ายไฟฟ้า เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ควบคู่ไปกับการดูแลรับผิดชอบสังคมและสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าสู่ความยั่งยืน เล็งเห็นถึงความสำคัญของ ‘Net Zero’ และมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนองค์กรสู่เป้าหมายในปี 2580 ให้เป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) 

PEA จึงได้พัฒนาแพลตฟอร์ม CARBONFORM เพื่อประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร และเป็นเครื่องมือการขับเคลื่อนเป้าหมาย Carbon Neutrality พร้อมเชิญชวนให้ผู้ใช้ไฟฟ้าที่เป็นนิติบุคคลในพื้นที่รับผิดชอบของ PEA 74 จังหวัด (ยกเว้น กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และ สมุทรปราการ) ที่สนใจหรือจำเป็นต้องประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาใช้งานแพลตฟอร์ม CARBONFORM สามารถประเมินและบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกองค์กร ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยให้องค์กรต่าง ๆ บริหารจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นเครื่องมือที่ใช้งานง่ายและครอบคลุม สามารถระบุแหล่งที่มาของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างละเอียด ตั้งแต่การใช้พลังงาน การขนส่ง จนถึงห่วงโซ่อุปทาน ติดตามความคืบหน้าของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างเรียลไทม์ วิเคราะห์แหล่งที่มาของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก วางแผนกลยุทธ์การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และรายงานที่สามารถปรับแต่งได้ตามความต้องการขององค์กร ช่วยให้องค์กรบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

แพลตฟอร์ม CARBONFORM เป็นนวัตกรรมของ PEA เหมาะสำหรับองค์กรทุกขนาด ใช้งานง่าย ปรับแต่งได้ สามารถทดลองใช้งานแพลตฟอร์ม CARBONFORM ฟรี (เงื่อนไขเป็นไปตามที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคกำหนด) ได้ที่ https://bufferbox.pea.co.th/ มี Feature การใช้งานที่สำคัญ ดังนี้ 

1. ระบบแสดงผลแบบ REAL-TIME พร้อม Dashboard Infographic 
2. ข้อมูล Scope 2 (การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมที่ถูกซื้อมา) แบบอัตโนมัติ รวดเร็ว และน่าเชื่อถือ (เฉพาะลูกค้าที่มิเตอร์อยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของ PEA)
3. สามารถสร้างขอบเขตการทำงานร่วมกันของเจ้าหน้าที่ได้ตามโครงสร้างขององค์กร 
4. การใช้งานสะดวก และคำนวณได้ถูกต้อง แม่นยำ
5. ออกรายงานได้อัตโนมัติตามมาตรฐาน อบก. Green Office
6. เริ่มต้นได้ง่ายโดยมี template ให้เลือกตามความเหมาะสมตามขอบเขตขององค์กร 
7. คำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ตามหลักการมาตราฐาน ISO 14064-1 CFO และ อบก. 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top