Friday, 18 April 2025
กีฬาไทย

‘เจ็ตสกีเวิลด์คัพ’ ประกาศความสำเร็จต้นแบบงานกีฬาซอฟต์พาวเวอร์ สร้างประโยชน์ชาติ 4 ด้าน พร้อมเปิดศึกเมืองพัทยา 13-17 ธ.ค.นี้

‘ศึกเจ็ตสกีเวิลด์คัพ’ ประกาศความสำเร็จสมบูรณ์แบบในฐานะต้นแบบงานกีฬาซอฟต์พาวเวอร์ไทย และสปอร์ตทัวริซึ่ม ‘WGP#1 Waterjet World Cup, Thailand Grand Prix 2023’ พร้อมจัด 13-17 ธันวาคม 2566 ณ หาดจอมเทียน เมืองพัทยา และก้าวขึ้นเป็นคอนเทนต์กีฬาเจ็ตสกีพรีเมียม อันดับที่ 1 ของโลก ที่สร้างประโยชน์หลักชาติไทย 4 ด้าน ได้แก่ นำเข้าผู้ร่วมกิจกรรมจากทั่วโลกกว่า 3,000 คน เติบโตขึ้นเทียบชั้น ‘มหกรรมกีฬา’ สร้างรายได้ทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน, ประชาสัมพันธ์เมืองไทยโดยถ่ายทอดสดผ่านดาวเทียม 121 ประเทศ ผู้ชมกว่า 100 ล้านคน, นำกีฬาไทยขึ้นเป็นแบรนด์กีฬาความเร็วโลก และยกระดับสร้างชื่อเสียงชาติไทยในฐานะผู้บริหารกีฬาโลก

เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 66 จากการแถลงข่าวร่วมกันของ คุณณณัฏฐ์ หงษ์ชูเวช ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย, คุณสุปราณี คุปตาสา ผู้จัดการกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ, คุณ วีรพงศ์ พงศ์สวัสดิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายกิจกรรม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, คุณวงศ์สถิตย์ สุวรรณสุทธิ ผู้จัดการฝ่ายตลาดหล่อลื่น บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน), ดร.ณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ นายกสมาคมกีฬาเจ็ตสกีแห่งประเทศไทย และ พล.ต.อ. เดชณรงค์ สุทธิชาญบัญชา ในฐานะประธานอำนวยการ จัดการแข่งขันฯ เปิดเผยว่า…

‘WGP#1 โมเดล’ เป็นโมเดลการพัฒนาแบรนด์ทัวร์นาเมนต์กีฬาไทย เพื่อให้เกิดการเติบโตด้านทรัพย์สินทางปัญญา และพัฒนากีฬาไทยสามารถแข่งขันกับนานาชาติได้อย่างยั่งยืนบนเวทีโลกขณะนี้ กล่าวได้ว่า ทัวร์นาเมนต์ ‘WGP#1 Waterjet World Cup, Thailand Grand Prix 2023’ ที่จะเริ่มแข่งขันวันที่ 13-17 ธันวาคม 2566 ณ เมืองพัทยา ประเทศไทย ได้ก้าวขึ้นสู่ความสำเร็จ สร้างความเชื่อถือต่อคณะนักกีฬา ได้รับความสำคัญเป็นทัวร์นาเมนต์กีฬาเจ็ตสกี อันดับที่ 1 ของโลก อย่างเป็นทางการแล้ว มีจำนวนทีมแข่งนานาชาติ นักกีฬามือหนึ่งของโลกมากกว่าทุกๆ ทัวร์นาเมนต์

ทัวร์นาเมนต์ WGP#1 ของไทย กำลังมีอิทธิพลด้านซอฟต์พาวเวอร์ครอบคลุมกว่า 55 ชาติ ในการแข่งขันบนทวีปต่างๆ ประเทศไทยมีเครื่องมือการขยายงานที่สำคัญคือ ‘การเป็นเจ้าของทัวร์นาเมนต์ เจ็ตสกีเก็บคะแนนชิงแชมป์โลก’ หรือ ‘World Series’ ที่จัดบนทวีปหลักของโลก 3 ทวีป ได้แก่ ทวีปยุโรป ทวีปอเมริกา และทวีปเอเชียที่ประเทศไทย โดยขณะนี้ WGP#1 ได้เติบโตขึ้นเป็นผู้ควบคุมนโยบายการแข่งขันกีฬาเจ็ตสกีทั่วโลกในปัจจุบัน

งานหลักที่ขับเคลื่อนเป็นสิ่งแรก ก็คือ สนามตัดสินชิงชนะเลิศ ซึ่งเป็นคอนเทนต์ที่ดีที่สุดในโลก ต้องอยู่ที่ประเทศไทย เพื่อนำเข้าทีมงานรวมกว่า 3,000 คน และสามารถสร้างการเติบโตขึ้นเรื่อยๆ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับการสนับสนุนของภาครัฐด้วย ที่จะผลักดันเป็นโครงการสปอร์ตทัวริซึ่ม ที่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายรัฐบาล ยังไม่รวมด้านผู้ชมอีกกว่า 5,000 คน ใน 4 วัน จึงเท่ากับทัวร์นาเมนต์กีฬาครั้งนี้ จะขับเคลื่อนผู้ร่วมกิจกรรมกว่า 8,000 คน

การเติบโตนี้พัฒนาถึงขั้น ‘มหกรรมกีฬานานาชาติ’ แล้ว ตอบสนองด้านการสร้างเงินหมุนเวียนทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวได้ดี เป็น 1 ใน 4 เป้าหมายของ WGP#1 ด้านที่ 2 คือ การสร้างโอกาสประชาสัมพันธ์ประเทศไทยไปบนเวทีโลก โดยถ่ายทอดสดออกไป 121 ประเทศ มีผู้ชมกว่า 100 ล้านคน ด้านที่ 3 นำกีฬาไทยขึ้นเป็นแบรนด์กีฬาความเร็วโลก ซึ่งสร้างประโยชน์ต่อยอดได้อีกหลายมิติ และด้านที่ 4 ยกระดับสร้างชื่อเสียงของชาติไทย ในฐานะผู้บริหารกีฬาโลก สร้างเกียรติยศด้านกีฬาอย่างสูง ทั้งหมดเป็นความสำเร็จที่จะเกิดขึ้น ขอขอบคุณการสนับสนุนของ การกีฬาแห่งประเทศไทย, กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, โตโยต้า, การบินไทย, สยามวอเตอร์คราฟ, เทอมินอล 21, บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน), ฟรีด้อมเรซซิ่ง, JETPILOT โรงแรมดิวารี, เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี, สมาคมกีฬาเจ็ตสกีโลก IJSBA และสมาคมกีฬาเจ็ตสกีแห่งประเทศไทย

'สุดาวรรณ' ประกาศพลิกโฉมท่องเที่ยวและกีฬาไทยในปี 2567

'สุดาวรรณ' ประกาศเป้าหมายการทำงานปี 2567 สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว 3.5 ล้านล้านบาท เพิ่มส่วนแบ่งมูลค่ากีฬาไทยให้ได้ 1% ของอุตสาหกรรมกีฬาโลก คิดเป็น มูลค่า 455,800 ล้านบาท วาง 7 นโยบายขับเคลื่อนท่องเที่ยวและกีฬา ใช้ซอฟต์พาวเวอร์เป็นขุมพลังใหม่

นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ในปี 2567 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาขอประกาศนโยบายที่สำคัญที่จะ “พลิกโฉมการท่องเที่ยว และกีฬาของไทย” ด้วยการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว 3.5 ล้านล้านบาท และเพิ่มส่วนแบ่งมูลค่ากีฬาไทยที่มีเพียง 0.58% ในขณะนี้ให้เป็น 1% จากอุตสาหกรรมกีฬาโลกที่มีขนาด 45.58 ล้านล้านบาท คิดเป็นมูลค่า 455,800 ล้าน บาทให้ได้

“เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มอบนโยบายให้หัวหน้าส่วนราชการทุกหน่วยงานในสังกัด กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาแล้ว มีความมุ่งมั่นและตั้งใจว่าในปี 2567 เราจะเติบโต ไปพร้อมๆ กัน จับมือไปด้วยกันกับทุกภาคส่วน ดิฉันจะเน้นการบูรณาการกับทุกหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ จะพูดจากันมากขึ้น บูรณาการกันมากขึ้น เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายได้อย่างว่องไว” สำหรับนโยบายที่กระทรวงฯ จะขับเคลื่อนในปี 2567 มี 7 นโยบายหลักๆ นโยบายแรก คือ การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในปี 2567 จากเชิงปริมาณเข้าสู่โหมดของคุณภาพ ทั้งมิติของในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งนายกรัฐมนตรีต้องการให้บรรยากาศการท่องเที่ยวของประเทศไทยคึกคักตลอดทั้งปี ทั้งจากนักท่องเที่ยวต่างชาติและนักท่องเที่ยวไทย“

“ประเทศไทยต้องมี High season on year round tourism destination คือ เที่ยวได้ทั้งปี หรือเที่ยวได้ ทั้ง 365 วัน จึงได้เตรียม Event ต่างๆ ไว้มากมาย อาทิ เทศกาลตรุษจีน เทศกาลสงกรานต์ ที่จะจัดให้ยิ่งใหญ่กว่าทุกปี เพราะยูเนสโก้เพิ่งประกาศขึ้นทะเบียนให้สงกรานต์ในประเทศไทย เป็นรายการในบัญชีตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมวลมนุษยชาติ จึงต้องยกระดับกิจกรรม Event ต่างๆ ในระดับชุมชนให้เป็น Event ในระดับนานาชาติ เป็นการกระตุ้นการไปท่องเที่ยวเมืองรอง จะทำให้ประเทศไทยสามารถรักษาตลาดเดิม และเจาะตลาดนักท่องเที่ยวใหม่ๆ ได้ต่อเนื่อง”

นโยบาย 2 กระทรวงฯจะใช้ Soft Power เป็นพลังในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมการกีฬาของประเทศไทยให้เป็น “Engine the New Power” และจุดเด่นของ Soft Power ก็จะมีในเรื่องของกีฬาเข้ามาเป็นตัวช่วยในการขับเคลื่อนด้วยและเป็นการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของประเทศไทยในสายตาชาวโลกที่สำคัญ และเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน demand ของการท่องเที่ยวและการกีฬาได้เป็นอย่างดี

นโยบายที่ 3 ประเทศไทยให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยทั้ง Hospitality และ Safety โดยต้องทำให้นักท่องเที่ยวเชื่อมั่นว่า “เมืองไทยปลอดภัย” มาแล้วได้รับการดูแลเป็นอย่างดี ต้องเข้มงวดการบังคับใช้กฎหมายและปราบปรามการเอาเปรียบ หลอกลวงนักท่องเที่ยว เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศไทยของเรา

นโยบายที่ 4 เรื่อง Responsibility เราต้องทำให้การท่องเที่ยวนั้นยั่งยืน ซึ่งเรื่องนี้ เป็นนโยบายที่พูดกันมานานแล้ว แต่ในปี 2567 จะนำเรื่องนี้มาขับเคลื่อนให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นจริงๆ การท่องเที่ยวจะยั่งยืนได้ต่อเมื่อ “ท้องถิ่น” ต้องมาร่วมขับเคลื่อนด้วยกัน

นโยบายที่ 5 จะใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการกระชับความสัมพันธ์ของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อสานต่อนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ให้ความสำคัญกับการเดินทางเชื่อมโยงภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยในการประชุมคณะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ กรุงเวียงจันทน์ สปป.ลาว ปลายเดือนนี้ จะมีประเด็นพูดคุยที่สำคัญคือ ASEAN Connect ที่จะทำให้เกิดการเดินทางเชื่อมโยงทางอากาศ ทางน้ำ และทางบก

นโยบายที่ 6 มีนโยบายที่จะขับเคลื่อนด้านกีฬาพื้นฐาน โดยวางระบบการพัฒนาทั่วประเทศเพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริม พัฒนาการการออกกำลังกายและการเล่นกีฬา ทุกคนสามารถออกกำลังกายเป็นวิถีชีวิต สามารถเข้าถึงกีฬาได้ทุกกลุ่มเป้าหมาย ทั้งคนทั่วไป ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส รวมทั้งจะมีการส่งเสริมกีฬาเพื่อความเป็นเลิศ กีฬาเพื่อการอาชีพที่จะต้องพัฒนากีฬาทุกระดับและบุคลากร รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา และนำวิทยาศาสตร์การกีฬามาเพิ่มสมรรถนะให้กับนักกีฬาไทยให้แข็งแกร่งขึ้นเพื่อแข่งขันในระดับนานาชาติ หรือกีฬาอาชีพ และต้องผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการแข่งขันมหกรรมกีฬาระดับนานาชาติและระดับโลก สร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ สุดท้ายคือ E-Sport ถือเป็นกิจกรรมกีฬาใหม่ที่ต้องส่งเสริมเพราะสามารถสร้างทักษะให้กับเยาวชนและ สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้เป็นอย่างมาก

นโยบายที่ 7 การเตรียมพร้อมสำหรับมหกรรมกีฬาระดับนานาชาติ ซึ่งปี 2567 จะมีรายการแข่งขันระดับนานาชาติหลายรายการทั้งการส่งนักกีฬาไปร่วมแข่งขันกีฬา โอลิมปิกปารีส 2024 และการเตรียมตัวเป็นเจ้าภาพจัดแข่งขัน ได้แก่/ เอเชียนอินดอร์ และมาร์เชียลอาร์ตเกมส์/ จักรยานยนต์โมโตจีพี/ เจ็ตสกีชิงแชมป์โลก/ ฮอนด้า แอลพีจี เอ ไทยแลนด์ 2024/ รวมถึงการเตรียมตัวเป็นเจ้าภาพซีเกมส์ ครั้งที่ 33 ในปี 2568 ซึ่ง มี 3 จังหวัดร่วมเป็นเจ้าภาพ คือ กรุงเทพ ชลบุรี และสงขลา

รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า สำหรับความสำเร็จของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ปี 2566 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทั้งสิ้น 28 ล้านคน เศษ เกินกว่าเป้าหมายที่เราตั้งไว้ ส่วนรายได้รวมจากนักท่องเที่ยวปี 2566 ตั้งเป้าไว้ที่ 2.38 ล้านล้านบาท แต่สรุปตัวเลขเมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา พบว่า ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวรวม 2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 100 จากปี 2565

ส่วนผลงานด้านกีฬาในปี 2566 นักกีฬาของเรามีผลงานในชนิดกีฬาสากลที่ดีขึ้น และนอกจากนี้ ประเทศไทยได้มีการจัดกีฬาในระดับนานาชาติ ได้แก่ ฮอนด้า แอลพีจีเอ ไทยแลนด์ 2023 ครั้งที่ 16 การแข่งขันรายการโมโตจีพี 2023 การจัดการแข่งขันรายการวอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์เอเชีย 2023 ซึ่งทุกรายการมีแฟนกีฬาทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศเข้าชมเป็นจำนวนมาก สามารถสร้างรายได้ให้กับคนในท้องถิ่น และผู้ประกอบการได้เป็นจำนวนมาก

'อ.พงษ์ภาณุ' มอง!! โอลิมปิก 2024 สะท้อนความน่าผิดหวังวงการกีฬาไทย แม้มีงบหนุนร่วม 4 พันล้านต่อปี แต่ผลงานไม่เคยดีกว่าปี 2004 อีกเลย

(4 ส.ค.67) ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ในประเด็น 'โอลิมปิก 2024 กับการพัฒนากีฬาไทย' โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้...

โอลิมปิก 2024 ผ่านมาแล้วครึ่งทาง แต่ทัพนักกีฬาไทยยังไม่ได้เหรียญรางวัลใด ๆ แม้แต่เหรียญเดียว

กีฬาโอลิมปิกเป็นกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมวลมนุษยชาติ นักกีฬาชั้นยอดกว่า 10,000 คนจากกว่า 200 ประเทศ ซึ่งผ่านรอบคัดเลือก (Qualified) มาอย่างโชกโชน มาร่วมประชันความแข็งแกร่ง ความเร็ว และความสูงกันในระยะเวลา 2 สัปดาห์ ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยมีคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (International Olympic Committee-IOC) และคณะกรรมการโอลิมปิกประเทศเจ้าภาพเป็นผู้ดำเนินการ

ในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา วงการกีฬาโลกได้มีวิวัฒนาการไปอย่างมากตามการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม เทคโนโลยีได้ทำให้แฟนกีฬาทั่วโลกไม่ต่ำกว่า 3 พันล้านคน สามารถรับชมและติดตามการแข่งขันกีฬาทุกชนิดในโอลิมปิกครั้งนี้ได้อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะธุรกิจ Online Streaming ได้ทำให้รูปแบบการรับชมกีฬาเปลี่ยนไปจากเดิม ซึ่งเน้นการถ่ายทอดทางโทรทัศน์และ Cable TV มาเป็นการติดตามชมทาง Platform ต่างๆ จนทำให้การกีฬากลายเป็นธุรกิจข้ามพรมแดนที่มีมูลค่ามหาศาล และนี่ยังไม่รวมค่าสิทธิประโยชน์ (Sponsorship) อีกจำนวนมากมายจากสปอนเซอร์รายใหญ่อย่างเช่น CocaCola และ LVMH ซึ่งน่าจะทำให้ผู้จัดโอลิมปิกครั้งนี้ ไม่ขาดทุนเหมือนหลายครั้งที่ผ่านมา แม้จะมีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูงมาก

สำหรับประเทศไทยคงเป็นประเทศเดียวที่สามารถใช้เงินรัฐจัดให้คนไทยได้ชมทางโทรทัศน์ แต่ก็น่าจะถึงเวลาต้องทบทวนแล้วว่า การถ่ายทอดสดผ่านฟรีทีวีในระบบ Must Have ของ กสทช. ยังคุ้มค่าอยู่หรือไม่ เพราะต้องใช้เงินผู้เสียภาษีอากรจำนวนมหาศาล ไปซื้อสิทธิการถ่ายทอดสดมาให้คนไทยได้ดูกัน ขณะที่วันนี้ผู้ชมกีฬารุ่นใหม่ต่างติดตามกีฬาที่ตนชอบผ่านสื่อออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ และคงไว้เพียงผู้ชมสูงอายุรุ่นเก่าที่ยังคงดูโทรทัศน์หรือ Cable TV

ในด้านผลงานของนักกีฬาไทย แม้จะมีความหวังในเหรียญอยู่ แต่ต้องยอมรับว่า น่าผิดหวัง เราเคยได้เหรียญรางวัลถึง 8 เหรียญ ในโอลิมปิกเอเธนส์ เมื่อปี 2004 แต่หลังจากนั้นจำนวนเหรียญรางวัลที่ได้ก็ลดลงมาโดยตลอด ทั้งๆ ที่ภาครัฐได้ให้การสนับสนุนการกีฬาอย่างเต็มที่ผ่านกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ ปีละไม่ต่ำกว่า 4 พันล้านบาท ซึ่งต้องถือว่าเป็นงบประมาณสนับสนุนนักกีฬาจำนวนมากที่สุดประเทศหนึ่งเลยทีเดียว 

คงจะถึงเวลาต้องทบทวนว่าการใช้จ่ายเงินภาษีอากรจำนวนมหาศาลผ่านสมาคมกีฬาต่างๆ มีประสิทธิภาพและความคุ้มค่าหรือไม่ และมีความเป็นไปได้ที่จะให้ภาคธุรกิจเอกชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาการกีฬามากขึ้น

กีฬาไทยยังมีโอกาสพัฒนาอีกมาก โอลิมปิก ปารีส 2024 น่าจะเป็นบทเรียนที่มีค่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องปฏิรูปวงการกีฬาไทยอย่างจริงจัง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top