Friday, 10 May 2024
กำไร

'การบินไทย’ โชว์กำไรไตรมาส 3 กว่า 3.9 พันล้านบาท แง้ม!! เปิดเส้นทางบินใหม่ ขยายฝูงบินดันรายได้ต่อเนื่อง

(12 พ.ย. 65) รายงานข่าวจาก บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า วันนี้ (11 ต.ค.) การบินไทยได้รายงานผลการดำเนินงานประจำไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 โดยบริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 3,920 ล้านบาท เทียบกับการขาดทุน 5,310 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีรายได้รวมทั้งสิ้น 32,860 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 582% จากไตรมาส 3 ของปี 2564 

อย่างไรก็ดีมีรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารและสินค้า 30,890 ล้านบาท อันเป็นผลจากการเพิ่มความถี่เที่ยวบินจากช่วง 6 เดือนแรกของปี ได้แก่ เส้นทางลอนดอน แฟรงก์เฟิร์ต เจนไน เบงกาลูรู นิวเดลี มุมไบ ละฮอร์ การาจีอิสลามาบัด ฮานอย โฮจิมินห์ พนมเปญ จาการ์ตา ธากา เดนปาซาร์ ไทเป สิงคโปร์ โคเปนเฮเกน มิวนิก และซูริค และกลับไปทำการบินในเส้นทางเดิมก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้แก่ เส้นทาง ปีนัง โตเกียว (ฮาเนดะ) และบรัสเซลส์ ประกอบกับอัตราบรรทุกผู้โดยสารรวมเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมากเป็น 77.0% เทียบกับ 9.9% ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2564  

ในขณะเดียวกันบริษัทฯ และบริษัทย่อยมีรายจ่ายรวมทั้งสิ้น 28,940 ล้านบาท สูงขึ้นจากปีก่อน 186% จากค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่ผันแปรตามปริมาณการผลิตและ/หรือปริมาณขนส่งตามจำนวนเส้นทางบินและเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้น โดยเป็นค่าใช้จ่ายน้ำมันถึง 44% ซึ่งเป็นผลจากการที่ราคาน้ำมันเครื่องบินปรับตัวสูงขึ้นกว่าปีก่อนถึง 80% ทั้งนี้ ผู้สอบบัญชีได้รายงานผลการสอบทาน แบบให้ข้อสรุปแบบไม่มีเงื่อนไข เป็นครั้งแรกตั้งแต่เข้าแผนฟื้นฟู

ทั้งนี้ในไตรมาสที่ 3 ที่ผ่านมา บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีต้นทุนทางการเงินจำนวน 3,672 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนซึ่งมีการปรับปรุงดอกเบี้ยจ่ายตามแผนฟื้นฟูกิจการจำนวน 2,160 ล้านบาท และแม้จะมีกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้และการขายทรัพย์สินในส่วนของรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว แต่บริษัทฯ ขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศจากการตีมูลค่าทางบัญชีอันเนื่องมาจากการอ่อนค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ 

อีกทั้งยังมีผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ ส่งผลให้บริษัทฯ มีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวสุทธิเป็นค่าใช้จ่ายรวม 5,212 ล้านบาท และมีผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิจำนวน 4,780 ล้านบาท เป็นส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 4,785 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ และบริษัทย่อยมี EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าทั้งในส่วนของเครื่องบินและอื่นๆ เป็นกำไรจำนวน 6,181 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุน 3,100 ล้านบาท ทั้งนี้ EBITDA สำหรับบริษัทฯ มากกว่า 20,000 ล้านบาทในรอบ 12 เดือนคือเงื่อนไขหนึ่งในการออกจากแผนฟื้นฟู 

กำไรอื้อ!! ‘การบินไทย’ เปิดกำไรไตรมาส 2 สูงสุดในรอบ 20 ปี

กำไรอื้อ!! ‘การบินไทย’ เปิดกำไรไตรมาส 2 สูงสุดในรอบ 20 ปี กว่า 8.5 พันล้านบาท เปรียบเทียบผลการดำเนินงานระหว่าง 6 เดือนแรก ของปี 2566 และ 6 เดือนแรก ของปี 2565 จะแตกต่างกันอย่างไร ไปดูกันเลย!!

‘AOT’ เปิดงบรวมปี 66 โชว์ผลกำไร 8,790 ล้านบาท โต 179% อานิสงส์ธุรกิจการบิน-ฟรีวีซ่าช่วยหนุนแรง

(21 พ.ย. 66) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) เผย งบรวมปี 2566 พลิกทำกำไรสุทธิ 8,790 ล้านบาท เติบโต 179.28% จากงวดปี 65 ที่ขาดทุน 11,088 ล้านบาท แรงหนุนจากธุรกิจการบินที่ทำรายได้ 22,266 ล้านบาท โตทะลุ 205%

บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) และบริษัทย่อย รายงานงบการเงินรวมงวดปี 2566 (สิ้นสุด 30 ก.ย.66) มีกำไรสุทธิ 8,790.87ล้านบาท เพิ่มขึ้น 179.28% กำไรต่อหุ้น 0.62 บาทต่อหุ้น  เทียบกับงวดปี 2565 ที่ขาดทุนสุทธิ -11,087.86 ล้านบาท ขาดทุนต่อหุ้น 0.78 บาท

โดยงบรวมงวดปี 2566 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายหรือการให้บริการอยู่ที่ 48,140.92 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31,580.90 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 190.71% จากปี 2565 ที่มีรายได้ 16,560.02 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น

- รายได้เกี่ยวกับกิจการการบิน 22,265.83 ล้านบาท เพิ่ม 14,975.78 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 205.43%เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนเที่ยวบินและจำนวนผู้โดยสาร
- รายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบิน 25,875.09 ล้านบาท เพิ่ม 16,605.12 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 179.13%
- รายได้อื่น 304.58 ล้านบาท ลดลง 1,027.26 ล้านบาท หรือลดลง 77.13%

ด้านค่าใช้จ่ายรวมเพิ่มขึ้น 5,422.70 ล้านบาท หรือเพิ่ม 18.81% ส่วนใหญ่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายผลประโยชน์พนักงาน ค่าจ้างภายนอก ค่าสาธารณูปโภค และค่าซ่อมแซมและบำรุงรักษา ในขณะที่ขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์ค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุ และค่าใช้จ่ายอื่นลดลง รวมทั้งต้นทุนทางการเงินลดลง 39.31 ล้านบาทหรือลดลง 1.34% สำหรับค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้เพิ่มขึ้น 5,122.60 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 177.40% สอดคล้องกับผลการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น

'นักวิชาการ' ชี้!! แบงก์ไทย กำไรไม่สูงผิดปกติ ระบุ!! หากลดดอกเบี้ยอาจสร้างปัญหาเพิ่ม

จากกรณี นายสรกล อดุลยานนท์ หรือหนุ่มเมืองจันท์ นักเขียนและคอลัมนิสต์ชื่อดัง ตั้งคำถามถึงกำไรของธนาคารไทย ที่พุ่งสูง 2.2 แสนล้าน โดยส่วนใหญ่เกิดจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย พร้อมตั้งคำถามถึงธนาคารแห่งประเทศไทย ว่ารู้สึกถึงความผิดปกติหรือไม่นั้น

(9 ม.ค. 67) สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านการเงิน โพสต์เฟซบุ๊ก Sarinee Achavanuntakul - สฤณี อาชวานันทกุล ระบุว่า เดี๋ยวจะหาเวลาเขียนอธิบายเป็นซีรีส์บทความนะคะ เพราะ ‘การแข่งขันในภาคธนาคาร’ เป็นประเด็นที่ตัวเองสนใจอยู่แล้ว แต่อยากเขียนอะไรสั้น ๆ ก่อนนะคะ

‘กำไรธนาคาร’ ไม่ได้สูง ‘ผิดปกติ’ ในมุมการเงินทั่ว ๆ ไป เพราะถ้าเทียบกับเงินทุนที่ใช้ไป (อัตราผลตอบแทนต่อส่วนทุนหรือ ROE) หรือตัวชี้วัดในการทำกำไรอย่าง NIM มันก็ไม่ได้สูงขนาดนั้น

แต่ในสายตาประชาชนที่เดือดร้อนจากส่วนต่างดอกเบี้ยเงินกู้กับเงินฝากที่สูงมาก เพราะนี่คือสิ่งที่ตัวเองเจอ หลายคนอาจโวยวายว่า ธนาคารได้กำไรผิดปกติ

ปัญหาจริง ๆ อยู่ตรงไหน สมมุติเราตีความปัญหาว่า ธนาคารได้กำไรผิดปกติ เกิดจากการที่ ธปท. ยอมให้ธนาคารทั้งหลายคิดดอกเบี้ยแพง ดังนั้น ธปท. ควรสั่งให้ธนาคารลดดอกเบี้ยซะ —> แต่ถ้าปัญหาจริง ๆ ไม่ได้อยู่ตรงนี้ แก้แบบนี้แทนที่จะแก้ปัญหาอาจเพิ่มปัญหา เพราะถ้าแบงก์มองว่าลูกหนี้จำนวนมากเสี่ยงเกินกว่าที่เขาจะปล่อยสินเชื่อ ยิ่งให้ลดดอกเบี้ยเขายิ่งไม่ปล่อย ปล่อยแต่ลูกค้าชั้นดีดีกว่า

แล้วปัญหาจริง ๆ อยู่ตรงไหน ส่วนตัวมองว่า น่าจะเป็นส่วนผสมระหว่าง ต้นทุนสูงบางส่วนเกิดจากความไร้ประสิทธิภาพ (เช่น ทุ่มเงินลงทุนในระบบ IT แต่ล่มแล้วล่มอีก) บวกกับ ทัศนคติอนุรักษนิยมเกินขนาดเวลากลั่นกรองสินเชื่อ ซึ่งเป็นผลพวงมาจากวิกฤติต้มยำกุ้ง 26 ปีที่แล้ว

ประเด็นความไร้ประสิทธิภาพ แก้ได้ด้วยการให้ ธปท. กำกับอย่างจริงจังในทางที่จูงใจให้ลงทุนในประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เช่น เลิกกฎแย่ ๆ ที่สั่งปรับ 5 แสนบาทเมื่อระบบ e-banking ล่มถึง 8 ชั่วโมง (สิบนาทีก็มากแล้ว) ต้องเพิ่มบทลงโทษให้หนักเหมือนในต่างประเทศ, เพิ่มการกำหนดเกณฑ์ privacy + cybersecurity ที่ได้มาตรฐานสากล, บังคับให้ใช้ตัวชี้วัดด้านประสิทธิภาพ เป็น KPI ในการประเมินผลตอบแทนของผู้บริหารและกรรมการ เป็นต้น

ส่วนประเด็น ทัศนคติอนุรักษนิยมเกินขนาด แก้ได้ด้วยการให้ ธปท. เปิดเสรีการแข่งขันที่เป็นธรรมจากคู่แข่งหน้าใหม่ที่ไม่มี ‘legacy’ นี้ + พัฒนาโครงสร้างที่ช่วยลดต้นทุนความเสี่ยงของลูกหนี้โดยเฉพาะ SME - เช่น ใบอนุญาต virtual bank ห้ามธนาคารเดิมสมัคร, ผลักดันกฎหมาย open data บังคับธนาคารใหญ่เปิดข้อมูล, แก้กฎกติกาต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคของฟินเทคหน้าใหม่ (เช่น ให้ บสย ค้ำประกันให้ฟินเทคได้), ปลดล็อกอำนาจผูกขาดในธุรกิจ credit scoring, promptpay และ national digital ID (หรือกำกับให้เป็นธรรมขึ้น), ทำทะเบียนหลักประกันออนไลน์, ฯลฯ

จริง ๆ มีประเด็นอื่นอีกมากที่น่าทำ เช่น มาตรการจูงใจให้คนโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยเปิดบัญชีเงินออมระยะยาว คล้าย Individual Retirement Account ในอเมริกา - ไว้จะค่อย ๆ ทยอยเขียนนะคะ

ผลประกอบการธนาคารพาณิชย์ สวยหรู!! แรงกระเพื่อมสั่น ‘รัฐบาล’ สะเทือน ‘ผู้ว่าธปท.’

ต้อนรับปีมังกร 9 ธนาคารพาณิชย์ประกาศผลประกอบการออกมา มีกำไรมากกว่า 2.26 แสนล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ อานิสงส์จากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในปี 2566 

9 ธนาคารพาณิชย์ มีผลประกอบการดีทุกธนาคาร ไล่จาก ‘SCB’ ทำกำไรได้สูงสุด รองลงมา เป็น ‘KBANK’ และอันดับที่ 3 ‘BBL’ และ มีถึง 3 ธนาคาร ที่สามารถทำกำไรได้สูงสุดในรอบ 10 ปี นำโดย BBL, KTB และ TTB ซึ่งหากดูกำไรสุทธิโดยรวมทั้ง 9 ธนาคาร สิ้นปี 2566 อยู่ที่ 226,169 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.44% หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 192,578 ล้านบาท 

รวมทั้งธนาคารขนาดกลาง ‘TISCO’ ปีนี้มีกำไรขึ้นมาอยู่ที่ 7,302 ล้านบาท เป็นผลงานสูงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นเดียวกัน

กำไรกลุ่ม ‘ธนาคาร’ เลยกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสังคมอย่างมาก หลังมีการหยิบยกประเด็น ‘กำไร’ และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย หรือ ‘NIM’ ว่า สูงเกินไปหรือไม่? โดยที่ประชาชนเป็นเสมือนผู้รับ ‘ภาระดอกเบี้ย’ ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์บางธนาคารสามารถทำกำไรสุทธิได้เติบโตสูงสุดในปีนี้ 

หากมาดูถึงปัจจัยที่ทำให้หลายธนาคารมีกำไรสุทธิสูงสุด ส่วนหนึ่งย่อมมาจาก ‘รายได้ดอกเบี้ย’ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับดอกเบี้ยนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ในปัจจุบันที่ 2.50% ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อผลประกอบการปีนี้อย่างมาก

ในปี 2566 มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย จำนวน 5 ครั้ง จากการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ทั้งหมด 6 ครั้ง เพิ่มจาก 1.25% ในปี 2565 มาอยู่ที่ 2.50% หรือปรับสูงขึ้นเท่าตัว

อีกด้านของงบการเงิน ในการ ‘ตั้งสำรองหนี้เสีย’ สำหรับธนาคารทั้ง 9 แห่ง พบว่า ส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยธนาคารที่มีการตั้งสำรองสูงที่สุด คือ KBANK ตั้งสำรองสูงถึง 5.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นระดับใกล้เคียงกับปีก่อน ขณะที่ KTB ตั้งสำรองเพิ่มขึ้นถึง 52% หรือ 3.7 หมื่นล้านบาทหากเทียบกับปีก่อนหน้า, BAY ตั้งสำรองเพิ่มขึ้น 33.64%, TTB เพิ่มขึ้น 21% ส่งผลให้สำรองโดยรวมทั้ง 9 แบงก์ เพิ่มมาอยู่ที่ 229,860 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.03% จากปีก่อน ที่สำรองอยู่ที่ 193,104 ล้านบาท 

ในส่วน ‘หนี้เสีย’ หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ ‘NPL’ พบว่า โดยรวมปรับลดลง มาอยู่ที่ 498,720 ล้านบาท ลดลง 0.13% จาก 499,358 ล้านบาท แต่บางธนาคาร หนี้เสียยังปรับเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับคุณภาพหนี้ที่อาจตกชั้นในระยะข้างหน้า เช่น SCB หนี้เสียเพิ่มขึ้นที่ 1.58%, KBANK 1.84%, BAY เพิ่มขึ้น 14.2%, TISCO เพิ่มขึ้น 14.2%, LHFG เพิ่มขึ้น 20% และ CIMBT เพิ่มขึ้นเกือบ 6%

ประเด็นดังกล่าวเริ่มกลายเป็นแรงกระเพื่อมต่อรัฐบาล เพราะในมุมมองของประชาชนและภาคธุรกิจต่างๆ รู้สึกถึงความเดือดร้อนจากดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูง โดยช่วงค่ำวันที่ 7 มกราคม ที่ผ่านมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทวีตข้อความว่า…

“จากการที่แบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยทั้งๆ ที่เงินเฟ้อติดลบติดต่อกันหลายๆ เดือนนั้น ไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจเลย และยังมีผลกระทบต่อประชาชนที่มีรายได้น้อย และ SMEs อีกด้วย

ผมจึงอยากให้กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูราคาสินค้าเกษตรบางชนิดให้เหมาะสม เพราะอาจจะต่ำไปก็ได้ และหวังว่าแบงก์ชาติจะช่วยดูแลประชาชน ไม่ขึ้นดอกเบี้ยสวนทางกับเงินเฟ้อนะครับ”

และวันที่ 8 มกราคม 2567 นายกฯ เศรษฐา ก็ได้ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ออกมาติงเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจว่า “ความจริงแล้วเราพูดคุยกันตลอดอยู่แล้วในเรื่องนี้ ซึ่งเรื่องการขึ้นดอกเบี้ย ตนมีจุดยืนชัดเจนว่า ‘ผมไม่เห็นด้วย’ แต่ท่าน (แบงก์ชาติ) ก็มีอำนาจในการขึ้น”

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีระบุว่า ปัจจุบันเงินเฟ้อต่ำมาก ดังนั้น อาจจะต้องฝากให้พิจารณาเรื่องการลดดอกเบี้ย และระบุว่าหลังจากนี้จะมีการพูดคุยกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 9 มกราคม 2567 ถึงกรณีที่เอกชนเริ่มเลื่อนจ่ายหุ้นกู้ที่ครบกำหนด ส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจอย่างไรหรือไม่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ว่า วันที่ 10 มกราคม 2567 ได้มีการพูดคุยกับ รมช.คลัง และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ในเวลา 13.30 น. โดยมีการพูดคุยกันหลายเรื่อง เป็นเรื่องที่สำคัญที่เราต้องให้ความสำคัญและนำข้อมูลมาหยิบยกกัน

และคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่องว่า แรงกระเพื่อมนี้ จะส่งผลอย่างไรกับความสัมพันธ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย กับรัฐบาลที่นำโดย นายกฯ เศรษฐา ที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศไทย ในภาวะที่โครงการ Digital Wallet ที่ก็ยังคงไม่สามารถหาจุดลงตัวในการดำเนินการได้

เรื่อง : The PALM

‘จีน’ เปิดกำไร ‘ภาคอุตสาหกรรม’ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.8 สะท้อน!! ภาคการผลิต-เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 67 สำนักข่าวซินหัว, ปักกิ่ง รายงานข่าว สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน รายงานว่าบริษัทอุตสาหกรรมรายใหญ่ภายในประเทศ ซึ่งมีรายได้ทางธุรกิจหลักรายปีอย่างน้อย 20 ล้านหยวน (ราว 100 ล้านบาท) ทำกำไรรวมในเดือนธันวาคม 2023 เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.8 เมื่อเทียบปีต่อปี ซึ่งเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5

รายงานระบุว่า กำไรรวมของบริษัทอุตสาหกรรมรายใหญ่ในจีนของทั้งปี 2023 อยู่ที่ 7.69 ล้านล้านหยวน (ราว 39 ล้านล้านบาท) ซึ่งลดลงร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบปีต่อปี และลดลงน้อยลง 2.1 จุดจากช่วง 11 เดือนแรก (มกราคม-พฤศจิกายน) ของปีเดียวกัน

ภาคการผลิตและจ่ายพลังงาน ความร้อน ก๊าซ และน้ำ กลายเป็นกลุ่มผู้ทำกำไรชั้นนำในปีที่ผ่านมา โดยมีกำไรรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 54.7 เมื่อเทียบปีต่อปี ซึ่งการเพิ่มขึ้นดังกล่าวมีส่วนส่งเสริมการเติบโตโดยรวมของกำไรทางอุตสาหกรรมในประเทศ 3.1 จุด

ขณะกำไรของภาคการผลิตอุปกรณ์ในจีน ช่วงปี 2023 เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 ซึ่งสูงกว่าอัตราการเติบโตของปีก่อนหน้า 2.4 จุด ส่วนอุตสาหกรรม 27 ประเภทจากทั้งหมด 41 ประเภท มีกำไรเติบโตในปีที่ผ่านมา

‘จีน’ เผย ภาคอุตสาหกรรมเครื่องจักรโตแรงแซงโค้ง หลังปี 2023 ทำรายได้-กำไร รวมกัน 31.6 ล้านล้านหยวน

(17 ก.พ. 67) สำนักข่าวซินหัว, ปักกิ่ง รายงานข่าวว่า สหพันธ์อุตสาหกรรมเครื่องจักรแห่งประเทศจีน รายงานว่า อุตสาหกรรมเครื่องจักรของจีนมีรายได้และกำไรเติบโตขึ้นในปี 2023 แม้เผชิญความท้าทายบางประการ

รายงานระบุว่า อุตสาหกรรมเครื่องจักรของจีนทำรายได้ 29.8 ล้านล้านหยวน (ราว 149 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.8 เมื่อเทียบปีต่อปี และทำกำไรราว 1.8 ล้านล้านหยวน (ราว 9 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1

จำนวนผู้ประกอบธุรกิจเครื่องจักร ซึ่งมีรายได้ทางธุรกิจอย่างน้อย 20 ล้านหยวน (ราว 100 ล้านบาท) ของจีน อยู่ที่ 121,000 ราย เมื่อนับถึงสิ้นปี 2023 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 10,000 ราย

ด้านสินทรัพย์รวมของผู้ประกอบธุรกิจเครื่องจักรรายใหญ่ของจีนอยู่ที่ 36 ล้านล้านหยวน (ราว 180 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.9 เมื่อเทียบปีต่อปี

'แสนสิริ' โชว์กำไรเติบโตเกือบ 50% แซงหน้าทุกค่ายอสังหาฯ สูงสุดนับแต่ก่อตั้งมา 40 ปี อานิสงส์กลุ่มบ้านหรูช่วยดัน

(1 มี.ค.67) Business Tomorrow เผย SIRI บริษัทอสังหาริมทรัพย์รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ว่า ปี 2023 มีกำไรสุทธิสูงถึง 6.06 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น +42% จากปีก่อน สูงสุดนับตั้งแต่ก่อตั้งมาได้ 40 ปี หรือ All-time high คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 15.5% ทุบสถิติใหม่ ทำให้แสนสิริมีอัตราการเติบโตด้านกำไรสุทธิสูงที่สุดแซงหน้ากลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมด

โดยปี 2023 มียอดขายรวม 4.9 หมื่นล้านบาท รายได้รวม 3.91 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น +12% จากปีก่อนหน้า มาจากการเปิดตัวโครงการใหม่ทั้งบ้านและคอนโดฯ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มบ้านและคอนโดในแบรนด์ Luxury

ส่วนปี 2024 นี้ เตรียมเปิดตัวโครงการใหม่ 46 โครงการ มูลค่ารวม 6.1 หมื่นล้านบาท โดยเป็นคอนโดมิเนียม 10 แห่ง มูลค่า 1.4 หมื่นล้านบาท ในต่างจังหวัดและชานเมือง ซึ่งยังคงมองการขยายกลุ่มบ้านราคาแพง และกลับไปรุกหัวเมืองท่องเที่ยวและจังหวัดใหญ่อย่างต่อเนื่อง

ด้านการตั้งเป้ายอดขายปีนี้ จะอยู่ที่ 5.2 หมื่นล้านบาท และเป้ายอดโอนที่ 4.3 หมื่นล้านบาท รวมทั้งมีการวางกลยุทธ์ให้ความสำคัญกับวินัยทางการเงินเพื่อรักษาระดับสภาพคล่องไว้ที่ 1.7 หมื่นล้านบาท 

สุดท้าย แสนสิริเตรียมประกาศจ่ายเงินปันผลประจำปีให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราหุ้นละ 0.20 บาท โดยได้มีการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลเมื่อเดือนกันยายน 2023 ไปแล้วในอัตราหุ้นละ 0.10 บาท เตรียมจ่ายเงินปันผลงวดสุดท้ายในเดือนพฤษภาคมนี้ ในอัตราหุ้นละ 0.10 บาท คิดเป็น Dividend Yield ปี 2023 อยู่ที่ 10.8%

‘BCPG’ เผยผลงานไตรมาส 1/67 ปลื้ม!! กำไรสุทธิแตะ 441 ล้านบาท

(8 พ.ค. 67) บีซีพีจี เผยผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2567 มีรายได้รวมทั้งสิ้น 1,194 ล้านบาท เติบโตจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 12.9 จากโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำใน สปป. ลาว กลับมาดำเนินการเต็มไตรมาส และเริ่มรับรู้รายได้ของคลังน้ำมันและท่าเทียบเรือในปีที่ผ่านมา ขณะที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 441 ล้านบาท

นายนิวัติ อดิเรก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทฯ ไตรมาส 1 ปี 2567 มีรายได้รวมทั้งสิ้น 1,194 ล้านบาท 
มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 441 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาส 1 ปี 2566 ร้อยละ 13.9 ที่มีกำไรสุทธิ 512 ล้านบาท เนื่องจากในไตรมาส 1 ปี 2566 มีการบันทึกการกลับรายการจากการด้อยค่าทรัพย์สิน 267 ล้านบาท  
ขณะที่มีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานปกติ  ซึ่งไม่รวมการกลับรายการจากการด้อยค่าทรัพย์สิน และรายการพิเศษอื่นๆ 343 ล้านบาท เติบโตกว่าร้อยละ 114.7 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2566 ซึ่งมีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานปกติที่ 160 ล้านบาท 

"กำไรสุทธิจากผลการดำเนินงานปกติในไตรมาส 1 ปี 2567 เติบโตกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากการกลับมาเปิดดำเนินการของโรงไฟฟ้าพลังน้ำใน สปป. ลาว และเริ่มขายไฟฟ้าไปยังสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปีที่แล้ว ประกอบกับการเริ่มรับรู้รายได้จากโครงการคลังน้ำมันและท่าเทียบเรือในประเทศไทยตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีที่ผ่านมา รวมถึงการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรเพิ่มขึ้นจากโครงการหลัก ทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานลมในประเทศฟิลิปปินส์ เนื่องจากกำลังลมที่พัดผ่านโครงการเพิ่มขึ้น และโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในสหรัฐอเมริกาที่มีปริมาณการขายไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นและมีการบริหารจัดการส่วนต่างของราคาขายไฟฟ้าและต้นทุนค่าเชื้อเพลิงได้ดี

นอกจากนี้เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2567 บริษัทฯ ได้บรรลุเงื่อนไขบังคับภายใต้สัญญาซื้อขายหุ้นของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทย กำลังการผลิตรวม 7.95 เมกะวัตต์ และจะเริ่มรับรู้รายได้เพิ่มเติมในทันที” นายนิวัติกล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเป็นผู้ประกอบการและลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังน้ำ และก๊าซธรรมชาติ ในประเทศไทย ประเทศญี่ปุ่น ประเทศฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และสหรัฐอเมริกา มีกำลังการผลิตรวม 2,049 เมกะวัตต์ 

นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้เริ่มการทำการตลาดกับผู้บริโภครายย่อยโดยตรงมากขึ้น เน้นการเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้กับผู้บริโภคโดยตรง รวมถึงให้บริการการจัดการ ด้านพลังงานหรือ energy as a service และนำเทคโนโลยีล้ำสมัยระดับโลกมาใช้ ช่วยเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคสามารถผลิตพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ด้วยตัวเองและประหยัดค่าใช้จ่าย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top