Friday, 18 April 2025
กำแพงภาษี

‘ดร.อักษรศรี’ ชี้!! EU ปรับเรทเก็บภาษีรถ EV จากจีน ดูฉาบฉวยและเลือกปฏิบัติ เอื้อค่ายรถฝรั่งผลิตในจีน แต่ยังโหดกับรถค่ายจีน

(21 ส.ค. 67) รองศาสตราจารย์ ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก กรณี อียูลดภาษีนำเข้า EV ผลิตในจีน 🇨🇳 จากอัตราเดิมที่เคยประกาศไว้ ดูฉาบฉวยก็เหมือนจะดี แต่จริง ๆ แล้วยังคงเป็นการเลือกปฏิบัติกับจีนอยู่ดี ว่า...

รถ EV ที่ผลิตโดยค่ายรถฝรั่ง 🇪🇺 อียูจะลดภาษีให้ตรึมนะ

- ค่ายเทสล่า ลดจาก 20.8% เหลือ 9%
- ค่ายโฟล์คสวาเกน ลดจาก 37.6% เหลือ 21.3%

ส่วนรถ EV ผลิตโดยค่ายรถสัญชาติจีน 🇨🇳 จะได้รับการลดภาษีพอเป็นพิธี 😅
-ค่าย BYD จาก 17.4% เหลือ 17%
-ค่ายรถ Geely จาก 19.9% เหลือ 19.3%
-ค่ายรถ SAIC จาก 37.6% เหลือ 36.3% 

สื่อเผยรถยนต์ราคาถูกสหรัฐฯ ส่อวิกฤต คนอเมริกันต้องซื้อรถแพงขึ้นเพราะกำแพงภาษี

(30 ธ.ค. 67) เดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัลรายงานว่าการหาซื้อรถยนต์ราคาเอื้อมถึงในสหรัฐฯ กลายเป็นเรื่องท้าทายของชาวอเมริกันจำนวนมากที่มีงบประมาณจำกัด เนื่องจากการจัดเก็บภาษีนำเข้ายานยนต์ที่ผลิตในเม็กซิโกในอัตราใหม่อาจเป็นการซ้ำเติมปัญหาให้เลวร้ายกว่าเดิม

เอ็ดมันด์ส (Edmunds) เว็บไซต์ซื้อขายรถยนต์ วิเคราะห์ว่าเกือบหนึ่งในสามของยานยนต์ทั้งหมดที่มีราคาต่ำกว่า 30,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.02 ล้านบาท) และจำหน่ายในสหรัฐฯ นั้นผลิตในเม็กซิโก เช่น นิสสัน เซนตรา (Nissan Sentra) ฟอร์ด เมเวอริกค์ (Ford Maverick) และรถยนต์ยอดนิยมรุ่นอื่นๆ

ทั้งนี้ เม็กซิโกถือเป็นผู้ผลิตยานยนต์ราคาเอื้อมถึงได้ที่จำหน่ายในสหรัฐฯ ราวหนึ่งในห้าเมื่อสิบปีที่แล้ว

รายงานเสริมว่าเม็กซิโกเป็นจุดหมายที่บรรดาผู้ผลิตยานยนต์นึกถึง หากต้องการควบคุมต้นทุนการผลิตยานยนต์ โดยเฉพาะรถยนต์รุ่นเล็กที่จำหน่ายในราคาต่ำกว่าและทำกำไรน้อยกว่ารถยนต์รุ่นใหญ่กว่าอย่างรถบรรทุกและรถเอสยูวี (SUV) ขนาดใหญ่

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนพฤศจิกายน โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขู่ว่าจะเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ข้างต้นด้วยการกำหนดจัดเก็บภาษีนำเข้าจากเม็กซิโกและแคนาดาราวร้อยละ 25 ซึ่งอาจหมายถึงการล้มเลิกข้อตกลงการค้าเสรีที่เขาเคยเจรจาตอนดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ สมัยแรก

เหล่านักวิเคราะห์และตัวแทนจำหน่ายยานยนต์มองว่าต้นทุนที่เกี่ยวพันกับการจัดเก็บภาษีนำเข้าอัตราใหม่จะถูกโยนสู่ผู้บริโภคในระยะเวลาอันใกล้และส่งผลกระทบต่อรถยนต์ราคาเอื้อมถึงได้และรถยนต์เอสยูวีอย่างหนักที่สุด ขณะรถยนต์ราคาต่ำบางรุ่นและชิ้นส่วนรถยนต์ที่ผลิตในเม็กซิโกและแคนาดายังจะถูกคิดภาษีนำเข้าใหม่ ซึ่งกลายเป็นการเพิ่มต้นทุนของผู้ผลิตและผู้บริโภค

ทรัมป์เผย น้ำมัน-ก๊าซคือทรัพย์สินล้ำค่า พร้อมขู่ใช้ภาษีเป็นอาวุธทุบจีน

(24 ม.ค.68) ในการสัมภาษณ์พิเศษกับสถานีโทรทัศน์ฟ็อกซ์ นิวส์ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ กล่าวว่า เขาเชื่อมั่นว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงกับจีนเกี่ยวกับไต้หวันและการค้า เนื่องจากสหรัฐฯ มีแหล่งพลังงานขนาดใหญ่ที่เหมือน 'บ่อทองคำ' ซึ่งจีนต้องการ

ทั้งนี้ ทรัมป์กล่าวว่า สหรัฐฯ มีภาษีที่เป็น 'แต้มต่อ' เหนือจีน และแม้ว่าตนจะไม่อยากใช้มาตรการภาษี แต่การกำหนดภาษีก็เป็น อำนาจมหาศาล ที่สหรัฐฯ มีเหนือจีน

"เรามีทั้งน้ำมันและก๊าซมากกว่าประเทศอื่น ๆ... นี่คือทรัพย์สินอันล้ำค่า จีนไม่มีสิ่งเหล่านี้... เราจะทำให้ประเทศของเราร่ำรวยอีกครั้ง และพลังงานจะเป็นตัวนำทาง แต่ยังมีสิ่งอื่นๆ เช่น ภาษี" ทรัมป์กล่าว

ในสัปดาห์นี้ ผู้นำสหรัฐฯ ประกาศว่าจะขึ้นภาษีสินค้าจากจีนอีก 10% โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้ พร้อมกับการใช้ภาษี 25% กับสินค้าจากแคนาดาและเม็กซิโก เนื่องจากจีนส่งออกเฟนทานิลไปยังแคนาดาและเม็กซิโก

ก่อนหน้านี้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งปีที่แล้ว ทรัมป์เคยกล่าวว่าเขาจะเพิ่มภาษีสินค้าจากจีนถึง 60%

ทางด้านนางเหมา หนิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวว่า ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน 'เป็นเรื่องของผลประโยชน์ร่วมกัน' และรัฐบาลจีนมั่นใจว่าทั้งสองประเทศจะสามารถหาทางประนีประนอมกันได้ แต่จีนพร้อมที่จะปกป้องผลประโยชน์ของตนเองเสมอ

‘แคนาดา’ สู้ไม่ถอย ตั้งกำแพงภาษีสินค้าตอบโต้ ‘สหรัฐฯ’ พร้อมจ่อฟ้อง ‘ทรัมป์’ ละเมิดกฎหมายการค้าโลก

(3 ก.พ. 68) สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานข่าว Canada to take legal action against US for tariffs ระบุว่า แคนาดาเตรียมใช้กลไกระหว่างประเทศยื่นฟ้องสหรัฐอเมริกา กรณี โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศนโยบายขึ้นภาษีร้อยละ 25 กับสินค้าที่นำเข้าจากแคนาดา โดยเจ้าหน้าที่แคนดาที่ไม่ขอระบุชื่อ ให้ข้อมูลว่า การขึ้นภาษีนำเข้าที่สหรัฐฯ ทำนั้นผิดกฎหมายและไร้เหตุผล นอกจากนั้น เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2568 ที่ผ่านมา จัสติน ทรูโด (Justin Trudeau) นายกรัฐมนตรีแคนาดา ได้ใช้นโยบาย “ตาต่อตา-ฟันต่อฟัน” ขึ้นภาษีร้อยละ 25 กับสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ เช่นกัน

ทรัมป์ใช้มาตรการภาษีนำเข้าร้อยละ 25 กับสินค้าของแคนาดาทั้งหมด ยกเว้นผลิตภัณฑ์พลังงาน เช่น น้ำมัน ก๊าซ และไฟฟ้า ซึ่งจะมีอัตราภาษีร้อยละ 10 เมื่อเข้าสู่สหรัฐฯ ซึ่งมาตรการภาษีร้อยละ 25 นี้จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 ก.พ. 2568 เป็นต้นไป ส่วนมาตรการภาษีพลังงานจะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 18 ก.พ. 2568 ขณะที่ฝั่งแคนาดากำหนดภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ จำนวน 1,256 รายการ หรือคิดเป็นร้อยละ 17 ของสินค้าทั้งหมดที่นำเข้าจากสหรัฐฯ โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 4 ก.พ. 2568 เช่น   น้ำส้ม เนยถั่ว ไวน์ เบียร์ มอเตอร์ไซค์ เครื่องสำอาง และอื่นๆ ซึ่งจะมีมูลค่ารวมกว่า 3 หมื่นล้านเหรียญแคนาดา (ราว 7.2 แสนล้านบาท)

โดยสินค้าที่มีมูลค่าสูง ได้แก่ เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกาย มูลค่า 3.5 พันล้านเหรียญแคนาดา (ราว 8.4 หมื่นล้านบาท) เครื่องใช้ไฟฟ้าและของใช้ในครัวเรือนอื่นๆ มูลค่า 3.4 พันล้านเหรียญแคนาดา (ราว 8.16 หมื่นล้านบาท) ผลิตภัณฑ์เยื่อกระดาษและกระดาษ มูลค่า 3 พันล้านเหรียญแคนาดา (ราว 7.2 หมื่นล้านบาท) นอกจากนั้น รัฐบาลแคนาดา จะประกาศรายการสินค้าเพิ่มเติมในอีก 3 สัปดาห์ข้างหน้า ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น รถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถบรรทุก รวมถึงรถยนต์ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์เหล็กและอลูมิเนียม ผลไม้และผักบางชนิด ผลิตภัณฑ์อากาศยาน ซึ่งการนำเข้าสินค้าเหล่านี้มีมูลค่ารวม 125,000 ล้านเหรียญแคนาดา (ราว 3 ล้านล้านบาท)

แหล่งข่าวซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทางการแคนาดา อธิบายว่า นโยบายของทรัมป์ละเมิดพันธกรณีทางการค้าระหว่างสองประเทศภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีและภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) และหากแคนาดามีทางเลือกทางกฎหมายอื่นก็จะพิจารณาทางเลือกเหล่านั้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่คนดังกล่าว ยอมรับว่า ทั้งมาตรการของสหรัฐฯ และของแคนาดา ในการตอบโต้กันครั้งนี้ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของแคนาดา แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม

ก่อนหน้านี้ในวันที่ 2 ก.พ. 2568 รัฐบาลแคนาดา กล่าวว่า จะจัดเตรียมกลไกให้ธุรกิจในแคนาดาได้รับการผ่อนปรนจากภาษีศุลกากรตอบโต้ ภายใต้กระบวนการที่เรียกว่า “การผ่อนปรน” ธุรกิจในแคนาดาสามารถยื่นขอผ่อนปรนหรือขอคืนเงินภาษีศุลกากรได้ โดยต้องเป็นไปตามเงื่อนไขบางประการ

ทรัมป์สั่งจัดเก็บภาษีศุลกากรสินค้าจากเม็กซิโก แคนาดา และจีนเป็นวงกว้าง พร้อมเรียกร้องให้ประเทศเหล่านี้ควบคุมการไหลเข้าของเฟนทานิล และผู้อพยพผิดกฎหมายในกรณีของแคนาดาและเม็กซิโกเข้าสู่สหรัฐอเมริกา การกระทำของทรัมป์ทำให้เกิดสงครามการค้าที่อาจขัดขวางการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกและจุดชนวนให้เกิดภาวะเงินเฟ้ออีกครั้ง ทั้งนี้ เม็กซิโกและแคนาดาเป็นคู่ค้ารายใหญ่สองรายของสหรัฐฯ

ทรัมป์เปิดฉากขึ้นภาษีสินค้าจีน 10% ปักกิ่งเอาคืนหนักเก็บ 15% พร้อมคุมส่งออกแร่หายาก

(4 ก.พ. 68) สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนกลับมาปะทุอีกครั้ง หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศขึ้นภาษี 10% กับสินค้านำเข้าจากจีนทั้งหมด ขณะที่จีนตอบโต้ด้วยการเพิ่มภาษีกับสินค้าสหรัฐฯ และจำกัดการส่งออกแร่หายาก ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด

โดยมาตรการภาษีใหม่ของทรัมป์ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 00:01 น. ตามเวลาฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ ของวันที่ 4 ก.พ.โดยทรัมป์ให้เหตุผลว่าจีนไม่จริงจังในการสกัดกั้นการนำเข้าเฟนทานิล ซึ่งเป็นตั้งต้นสารเสพติดที่สร้างปัญหาในสหรัฐฯ อย่างหนัก โดยทรัมป์ประกาศขึ้นภาษี 10% กับสินค้านำเข้าทั้งหมดจากจีน

ส่งผลให้ภายในเวลาเพียงไม่กี่นาที กระทรวงการคลังของจีนประกาศมาตรการตอบโต้ โดยเรียกเก็บภาษี 15% สำหรับถ่านหินและก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากสหรัฐฯ รวมถึงภาษี 10% สำหรับน้ำมันดิบ เครื่องจักรทางการเกษตร และรถยนต์บางประเภท โดยมาตรการนี้จะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์

นอกจากการขึ้นภาษีสินค้าแล้ว จีนยังเปิดฉากโจมตีบริษัทเทคโนโลยีของสหรัฐฯ โดยเริ่มสอบสวนการผูกขาดของ Alphabet Inc. บริษัทแม่ของ Google พร้อมทั้งเพิ่มบริษัท PVH Corp. ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์แฟชั่นชื่อดังอย่าง Calvin Klein และ Illumina บริษัทไบโอเทคของสหรัฐฯ เข้าใน "บัญชีหน่วยงานที่ไม่น่าเชื่อถือ"

ขณะเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์และกรมศุลกากรของจีนประกาศควบคุมการส่งออกแร่หายากสำคัญ เช่น ทังสเตน เทลลูเรียม รูทีเนียม และโมลิบดีนัม อ้างเหตุผลด้านความมั่นคงของชาติ ซึ่งอาจกระทบต่ออุตสาหกรรมพลังงานสะอาดทั่วโลก เนื่องจากจีนเป็นผู้ผลิตแร่หายากรายใหญ่

สงครามการค้าระหว่างสองมหาอำนาจเศรษฐกิจครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากทรัมป์ตัดสินใจเลื่อนการขึ้นภาษีกับสินค้าจากแคนาดาและเม็กซิโกออกไปอีก 30 วันเพื่อแลกกับมาตรการคุมเข้มชายแดนของทั้งสองประเทศ อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ยังเตือนว่าอาจเพิ่มภาษีจีนอีกหากจีนไม่หยุดการส่งออกเฟนทานิลมายังสหรัฐฯ

จีนปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว โดยยืนยันว่าปัญหายาเสพติดเป็นเรื่องภายในของสหรัฐฯ และเตรียมยื่นเรื่องร้องเรียนต่อองค์การการค้าโลก (WTO) แต่ในขณะเดียวกันก็ยังเปิดโอกาสให้มีการเจรจา

การปะทะกันทางเศรษฐกิจครั้งนี้สร้างความผันผวนให้ตลาดการเงินทันที โดยตลาดหุ้นฮ่องกงร่วงลง ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น ขณะที่เงินหยวนของจีนอ่อนค่าลง กดดันค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียให้ลดลงตามไปด้วย

นักวิเคราะห์จาก Oxford Economics เตือนว่าการตอบโต้ครั้งนี้อาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้นในรอบใหท่ และสหรัฐฯ อาจเพิ่มอัตราภาษีต่อจีนอีกหากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ในเร็ว ๆ นี้


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top