Friday, 23 May 2025
การเมืองจีน

ความเหนื่อยล้าทางการเมือง กรณีคนรุ่นใหม่ฮ่องกงเลือก “อยู่กับจีน” เพื่อชีวิตที่ดีกว่า

ช่วงเร็ว ๆ มานี้ ระหว่างที่ผมใช้ชีวิตเป็นนักศึกษาอยู่ที่เซี่ยงไฮ้ ผมได้เห็นสิ่งที่น่าสนใจในชีวิตประจำวันมากมายที่สอดคล้องกับประเด็นการเมืองที่เป็นเนื้อหาในชั้นเรียน ทำให้ได้ขบคิด ค้นคว้า และสนทนา เพื่ออัปเดตข้อมูลใหม่ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านการเมืองจีนและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในยุคปัจจุบัน

ประเด็นที่ผมนำมาเล่าในบทความนี้ เกิดจากการที่ผมได้มีพบกับเพื่อนนักศึกษาจากฮ่องกงและไต้หวันที่เดินทางมาเรียนต่อระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ซึ่งบางคนเป็น classmate ของผมด้วย ความน่าสนใจของเรื่องนี้คือ คนฮ่องกงทุกคนที่ผมรู้จักที่นี่ อายุประมาณ 19 -23 แต่มีแนวคิด ‘Pro-China’ คือหนุนแนวคิดให้ฮ่องกงเข้าร่วมกับจีน หรือบางคนก็เป็นไม่ได้ถึงขั้นนั้น แต่ก็ไม่มีท่าทีต่อต้านหรือไม่เห็นด้วยกับแนวคิด One China ของจีน

ผมต้องกลับมา reset มุมมองเรื่องคนรุ่นใหม่ในฮ่องกงทั้งหมดอีกครั้ง เนื่องจากเดิมทีผมคิดว่าคนรุ่นใหม่ในฮ่องกงจะต้องมีแนวคิดต่อต้านจีน แต่พอได้สนทนากับเพื่อนในคลาสและนอกคลาสแล้ว ก็พบว่ามีหลายสิ่งที่เปลี่ยนไป...

ในตอนนี้ ใครที่ยังคิดว่าคนรุ่นใหม่ในฮ่องกงน่าจะนิยมตะวันตก และอยากแยกประเทศมากกว่ารวมเข้ากับจีน อันนี้เริ่มเก่าแล้ว เดี๋ยวเรามา update patch กันครับนะครับ

ช่วงปี 2014 - 2019 เป็นช่วงเวลาที่คนรุ่นใหม่ในฮ่องกงตื่นตัวทางการเมืองอย่างมาก เห็นได้ movement ต่าง ๆ ทั้งการออกมารวมตัวกันประท้วง และการแสดงความคิดเห็นทางออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าร่วม Umbrella Movement ปี 2014 หรือการประท้วงต่อต้านกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนในปี 2019 จนเป็นข่าวใหญ่ที่ขบวนการประชาธิปไตยทั่วโลกต้องติดตามและคอยสนับสนุน

อย่างไรก็ตาม หลังจากการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติในปี 2020 สถานการณ์เปลี่ยนไปอย่างมาก นักเคลื่อนไหวจำนวนมากถูกจับกุม องค์กรภาคประชาชนถูกสลาย สื่ออิสระถูกปิดตัว การเมืองกลายเป็นพื้นที่ที่อันตราย และข้อพิสูจน์ที่ชี้ว่าการเคลื่อนไหวไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ ส่งผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแนวโน้มทางความคิดของคนรุ่นใหม่ จาก “การตื่นตัวทางการเมือง” สู่การ “ถอนตัวทางการเมือง” หลายคนเลือกที่จะ "ไม่พูด ไม่ยุ่ง ไม่เสี่ยง" กับประเด็นทางการเมืองอีกต่อไป โดยผลสำรวจจากสถาบันวิจัยเอเชียแปซิฟิก มหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกง (CUHK) ในปี 2023 พบว่า 62.9% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าตนเองไม่ค่อยสนใจหรือไม่สนใจการเมืองเลย โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2022 ถึง 7.4% ในขณะที่การศึกษาของ Hong Kong Federation of Youth Groups (HKFYG) ในปี 2019 พบว่า 41.7% ของนักเรียนระดับมัธยมศึกษารู้สึกเครียดอย่างมาก และ 24% รู้สึกวิตกกังวลเกี่ยวกับบรรยากาศทางสังคมที่ตึงเครียด ซึ่งอาจส่งผลต่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองของพวกเขา

การไม่ต้องการยุ่งกับการเมืองนั้นอาจไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเท่า ประเด็นที่น่าสนใจในตอนนี้คือการที่คนรุ่นใหม่ในฮ่องกงจำนวนมากกำลังแสวงหาโอกาสนอกบ้านเกิด บ้างเลือกไปเรียนต่อต่างประเทศ บ้างย้ายไปอยู่ประเทศตะวันตก หรือแม้บางคนก็ย้ายไปอยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่

โดยเฉพาะกรณีของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เลือกมาเรียนหรือทำงานในจีนแผ่นดินใหญ่ อย่างเช่นเพื่อนของผม 3 คนที่ได้ทุนรัฐบาลจีนมาเรียนที่ฟู่ตั้น มีคนหนึ่งได้ทุนทั้ง ป.ตรี และ ป.โท ติดต่อกันเลย อีก 2 คนบอกกับผมว่าจะเข้ารับราชการหลังเรียนจบ ซึ่งการรับราชการที่ฮ่องกงนั้น จริง ๆ แล้วแทบจะเป็นการเลือกข้างไปแล้วกราย ๆ แล้วครับ

สำหรับหลายปีก่อน การเป็นคนรุ่นใหม่แล้วเข้ารับราชการนั้นจะเป็นภาพลักษณ์ที่ค่อนข้างแย่ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ด้วยกัน เพราะต้องทำงานภายใต้รัฐบาลกลาง ภายใต้นโยบาย One China ซึ่งทำให้เรื่องนี้น่าสนใจครับ เพราะในปัจจุบันคนรุ่นใหม่บางคนไม่ได้เลือกที่จะต่อต้านจีน หรือหนีจากจีนเท่านั้น แต่กลับเลือกที่จะ "อยู่กับจีน" โดยมีเหตุผลที่น่าสำรวจในเชิงลึกอยู่หลายประเด็น

คำถามที่น่าศึกษาหาคำตอบคือ กระบวนการเปลี่ยนแปลงทางความคิดเกิดขึ้นได้อย่างไร ? เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือเกิดจากความตั้งใจของใคร?

แน่นอนว่าแทบจะทุกการเปลี่ยนแปลงทางความคิดในเชิงระบบล้วนเริ่มต้นจากบริบททางเศรษฐกิจและสังคมที่กดดัน โดยเฉพาะในฮ่องกง หนึ่งในแรงขับสำคัญที่ผลักดันคนรุ่นใหม่ในฮ่องกงให้เปลี่ยนแนวทางชีวิต คือความยากลำบากทางเศรษฐกิจ ค่าครองชีพที่สูงลิ่วของฮ่องกงที่อยู่ในระดับท็อปของโลก โดยเฉพาะราคาบ้านและที่อยู่อาศัยที่สูงจนคนวัยทำงานทั่วไปไม่มีทางเป็นเจ้าของบ้านได้ โดยดัชนีค่าครองชีพ (Cost of Living Index) ของฮ่องกงที่วัดโดย Numbeo Index 2024 นั้นอยู่ที่ 76.6 ในขณะที่ เซินเจิ้น, กว่างโจว และจูไห่นั้นอยู่ที่ 42.1, 39.5 และ 37.0 ตามลำดับ

รวมถึงตลาดแรงงานที่ตึงตัวในยุคหลังโควิด โอกาสการจ้างงานสำหรับคนรุ่นใหม่ยิ่งลดลง อัตราว่างงานของคนอายุ 20–29 ปี อยู่ที่ 6.1% ซึ่งสูงกว่าอัตราการว่างงานเฉลี่ยของประชากรทั้งหมดที่อยู่ที่ 3.2% ในช่วงเวลาเดียวกัน

รวมถึงแรงกดดันจากสังคมในด้านอื่น ๆ ที่มีการแข่งขันสูง ทั้งความเครียดในระบบการศึกษา แรงกดดันจากครอบครัว เมื่อรวมทั้งหมดนี้เข้าด้วยกันแล้ว ความคิดเห็นทางการเมืองเห็นจะเป็นแค่สิ่งที่เพิ่มความวุ่นวายให้ชีวิต

ในขณะที่ความหวังในการสร้างชีวิตในฮ่องกงลดลงเรื่อย ๆ ทำให้คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยเริ่มพิจารณาทางเลือกอื่นในการสร้างอนาคต

โอกาสใหม่จากจีนแผ่นดินใหญ่

ในทางกลับกัน จีนแผ่นดินใหญ่ โดยเฉพาะเมืองในเขตเศรษฐกิจอย่าง Greater Bay Area (GBA) เช่น เซินเจิ้น กว่างโจว และจูไห่ ที่อยู่ใกล้กับฮ่องกงนั้น กลายเป็นพื้นที่แห่งโอกาสสำหรับคนรุ่นใหม่ในฮ่องกง โดยเฉพาะการเปิดพรมแดนและระบบรถไฟความเร็วสูงในเขต GBA ที่ทำให้การเดินทางระหว่างฮ่องกง–เซินเจิ้น–กว่างโจวง่ายและรวดเร็วมาก สามารถเดินทางจากฮ่องกงข้ามไปแผ่นดินใหญ่ได้ภายใน 30-45 นาที (เท่ากับเวลาที่ผมเดินทางไปเรียนตอนเช้า หรือขับรถไปทำงานตอนอยู่ไทย) เอื้อต่อการไปทำงาน เรียน หรือแม้แต่ใช้ชีวิตในจีน ขณะยังมีบ้านอยู่ในฮ่องกง ก็ยังสามารถทำงานในจีนแต่กลับมานอนที่บ้านในฮ่องกงได้

ในขณะเดียวกัน เมืองอย่างเซินเจิ้นหรือกว่างโจวซึ่งอยู่ใกล้ฮ่องกง มีค่าครองชีพต่ำกว่ามาก ทั้งค่าเช่าบ้าน อาหาร การเดินทาง ฯลฯ คนรุ่นใหม่บางส่วนเลือกไปทำงานหรือใช้ชีวิตในจีน เพราะเงินเดือนที่ใกล้เคียงกัน แต่ใช้จ่ายน้อยกว่า ทำให้สามารถซื้อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

สำหรับคนรุ่นใหม่ที่เป็นหัวกะทิด้านเทคโนโลยี ที่มีความสามารถทางเทคนิคหรือธุรกิจที่เป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานจีน กลับเริ่มมองว่าการเข้าไปอยู่ในแผ่นดินใหญ่ เป็นโอกาสในการเติบโตในอาชีพที่ดีกว่า โดยเฉพาะในบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของจีนจำนวนมากตั้งอยู่ใน GBA ที่เปิดรับคนรุ่นใหม่มือดีจากฮ่องกง

ทั้งนี้ นโยบายสนับสนุนจากรัฐจีนก็มีผลอย่างมาก สำหรับมุมมองต่อจีนของคนรุ่นใหม่ในฮ่องกง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแจกทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนฮ่องกงให้เข้ามาเรียนในแผ่นดินใหญ่ จัดสรรทุนการศึกษาและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เพื่อดึงดูดนักเรียนฮ่องกงให้มาศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยของจีนแผ่นดินใหญ่ โดยมีโครงการสนับสนุนที่มอบเงินช่วยเหลือต่อปีการศึกษาตั้งแต่ HK$5,900 ถึง HK$19,400 ซึ่งมีนักเรียนฮ่องกงได้รับประโยชน์จากโครงการนี้แล้วกว่า 20,000 คน (เพื่อนผม 3 คนเป็นหนึ่งในกลุ่มนี้)

นอกจากนี้ ยังมีโครงการจ้างงานสำหรับเยาวชนฮ่องกงในหน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจจีน ทุนเปิดธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการจากฮ่องกง เช่น โครงการ Greater Bay Area Youth Employment Scheme (GBA YES) ที่รัฐบาลฮ่องกงอุดหนุนเยาวชนฮ่องกงที่มีอายุไม่เกิน 29 ปี และมีวุฒิการศึกษาระดับอนุปริญญาขึ้นไป จำนวนกว่า 1,000 คน โดยให้เงินอุดหนุนสูงสุด 60% ของเงินเดือนรายเดือนของผู้เข้าร่วมโครงการ เป็นระยะเวลาสูงสุด 18 เดือน งบประมาณรวมโดยประมาณ 216 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง

หรือจะเป็นโครงการ Funding Scheme for Youth Entrepreneurship in the Guangdong-Hong Kong-Macao Greater Bay Area โดย Youth Development Commission (YDC) ของฮ่องกง ที่สนับสนุนเยาวชนฮ่องกงที่ต้องการเริ่มต้นธุรกิจในเมืองต่าง ๆ ในเขต GBA โดยมียอดงบประมาณที่ได้รับการอนุมัติรวมทั้งสิ้น 900 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง ให้บริการสนับสนุนและบ่มเพาะธุรกิจแก่เยาวชนมากกว่า 4,000 คน โดนมีทีมสตาร์ตอัปจากโครงการนี้ที่ได้ขยายธุรกิจไปยังเมืองต่าง ๆ ในจีนแผ่นดินใหญ่มากกว่า 70 ทีม

ภายใต้บริบทนี้ ไม่น่าแปลกใจที่นักเรียนฮ่องกงจำนวนมากเลือกเรียนต่อหรือทำงานในจีนแผ่นดินใหญ่

ในมุมมองเชิงอัตลักษณ์นั้น คนรุ่นใหม่ในฮ่องกงที่เติบโตขึ้นภายใต้ระบบการศึกษาที่รัฐบาลจีนส่งอิทธิพลมากขึ้นหลังปี 1997 และการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มจีน เช่น Xiaohongshu หรือ Bilibili ทำให้เยาวชนฮ่องกงบางส่วนรู้สึกใกล้ชิดกับวัฒนธรรมจีนมากขึ้น อย่าง classmate ชาวฮ่องกงของผม พูดใน class discussion ชัดเจน ว่าเขาเป็นคนจีน เพราะคนฮ่องกงก็คือคนจีน และแสดงออกอย่างเปิดเผยในห้องเรียนว่าเขาเคยต่อต้านจีนมาก่อน แต่ตอนนี้เปลี่ยนมาต่อต้านอุดมการณ์แบบ woke ในจีนและในฮ่องกงแทน เขาพูดในขณะที่ใส่เสื้อยืดที่มีธงชาติจีนแปะอยู่บนหน้าอกซ้าย และตัวอักษรคำว่า CHINA ตัวใหญ่แปะอยู่ด้านหลัง ซึ่งชายคนนี้ครั้งหนึ่งเคยพูดเกินเลยไปถึงขั้นว่าหลังเรียนจบจะสอบเข้ารับราชการเป็นตำรวจ ถ้ามีม็อบในฮ่องกงจะได้เป็นคนไปปราบ ตอนที่เขาพูดเรื่องนี้ ผมสังเกตเห็นเพื่อนหลายคนในห้องเริ่ม “มองบน” กัน เพราะอาจจะฟังดูก้าวร้าวโดยไม่จำเป็น

กลับเข้าเรื่อง เมื่อผมไปค้นคว้าเพิ่มเติม ก็พบว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิดของคนรุ่นใหม่ในฮ่องกงจริง ซึ่งก็คือการ Depoliticization หรือการเกิดความเฉยชาทางการเมือง หรือการที่บุคคลหรือสังคมค่อย ๆ เลิกสนใจ/เลิกมีส่วนร่วมทางการเมือง จนกลายเป็นกลุ่ม "ไม่แยแสทางการเมือง" (Political apathy) หรือแม้แต่ “ต่อต้านการเมือง” (anti-political) เป็นแนวคิดที่มองว่า “ไม่สามารถเปลี่ยนอะไรได้” หรือการมองว่า “พูดเรื่องการเมือง จะมีปัญหา อย่าไปยุ่งดีกว่า” หรือในบางกรณีคือเปลี่ยนฝ่ายทางการเมืองไปเลยแบบเพื่อนผม

ซึ่งตรงข้ามกับการ Politicization ที่มักจะอธิบายทุกปัญหาอย่างมีจิตสำนึกทางการเมือง และพยายามเสนอการแก้ปัญหาในเชิงระบบ แต่ก็เป็นแนวคิดที่นำมาซึ่งบรรยากาศการถกเถียง และความขัดแย้งจากฝ่ายต่าง ๆ ที่มีความเห็นต่างทางการเมือง

ประเด็นนี้ เพื่อนชาวฮ่องกงอีกคน (ที่ไม่ใช่ตัวตึง)​ ของผมเล่าให้ฟังว่าเขาเบื่อที่จะต้องตอบคำถามกับเพื่อนเก่าหลายคนที่ชอบมาถามว่า “ทำไมถึงไปเรียนที่จีน ?” เพราะรู้เจตนาที่แท้จริงของคำถามแบบนี้ที่มักจะเป็นการ “แซะ” ยิ่งทำให้ไม่กล้าบอกเพื่อนว่าหลังเรียนจบแล้วจะเข้ารับราชการต่อ เพราะกลัวว่าจะมีปัญหาขัดแย้งกับเพื่อนบางคน ขอเรียนจบและทำงานอยู่เงียบ ๆ ดีกว่า เพราะไม่ต้องการให้มีเรื่อง toxic ในชีวิตมากเกินไป ส่วนเหตุผลที่ทำให้อยากเข้ารับราชการนั้น เพื่อนผมบอกว่า เงินเดือนค่อนข้างดี มีสวัสดิการ ทำให้มีชีวิตที่มั่นคงได้ แต่การรับราชการก็ต้องระวังเรื่องแนวคิดทางการเมืองเช่นกัน เพราะถ้ามีแนวคิดขัดกับรัฐบาลกลาง ก็อาจทำให้มีปัญหา เขาจึงมองว่าการไม่ต้องมีแนวคิดทางการเมืองเลยคือทางเลือกที่ดีต่อชีวิตและสุขภาพจิตที่สุด ไม่ต้องขัดแย้งกับกลุ่มเพื่อน ไม่ต้องมีปัญหากับที่ทำงาน

สิ่งที่ทำให้สำนึกทางการเมืองค่อย ๆ จางหายไปจากสังคมฮ่องกงนั้น สามารถอธิบายได้ด้วยทฤษฎีพื้นฐานทางสังคมศาสตร์และเศรษฐศาสตร์อย่าง “ทฤษฎีทางเลือกอย่างมีเหตุผล” (Rational Choice Theory) ที่เสนอว่า “มนุษย์ตัดสินใจบนพื้นฐานของการคำนวณผลประโยชน์–ต้นทุน เพื่อเลือกสิ่งที่ให้ผลลัพธ์ดีที่สุดต่อชีวิตตนเอง” ซึ่งการตัดสินใจต่าง ๆ อาจไม่ "ถูกต้องในเชิงศีลธรรม" หรือ "สอดคล้องกับอุดมการณ์" เสมอไป แต่บางครั้ง มนุษย์ก็เลือกสิ่งที่เป็นประโยชน์กับตนเองในสถานการณ์และความเป็นจริง (pragmatic)

สำหรับกรณีของฮ่องกงนั้น ในอดีต คนรุ่นใหม่ในฮ่องกงอาจเลือก "ต่อต้านจีน" ด้วยความเชื่อในประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพ ซึ่งเป็นการตัดสินใจทางอุดมคติ  (ideological decision) แต่ภายหลังปี 2020 ที่การเมืองถูกปราบปราม การเคลื่อนไหวมีความเสี่ยงสูงมาก เช่น การถูกจับ ถูกแบนอาชีพ หรือถูกคุมขัง ประกอบกับความกดดันทางสังคมในฮ่องกง ทำให้คนฮ่องกงเริ่มมองหาโอกาสจากภายนอก ซึ่งจีนแผ่นดินใหญ่ที่มีความใกล้ชิดทางดินแดน รากวัฒนธรรมและภาษา รวมถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาทางเทคโนโลยี ทำให้จีนตอบโจทย์ในการเป็นดินแดนแห่งโอกาสสำหรับคนรุ่นใหม่ในฮ่องกง ส่งผลต่อการตัดสินใจของคนฮ่องกงในการ “ประเมินต้นทุน/ความเสี่ยง - ผลตอบแทน” ของการเคลื่อนไหวทางการเมือง

โจทย์ในการเลือกนั้นมีอยู่ 2 โจทย์หลัก ๆ คือ

การเลือกว่าจะ “แสดงออกทางการเมืองต่อต้านจีน” หรือ “ไม่แสดงออกทางการเมืองต่อต้านจีน”
ถ้าเลือกไม่แสดงออกทางการเมือง จะเลือก “อยู่กับจีน” หรือ “ไม่อยู่กับจีน”

ต้นทุนของการ “เคลื่อนไหวทางการเมืองต่อต้านจีน” คือเสี่ยงติดคุก เสี่ยงตกงาน เสี่ยงไม่มีอนาคต ชีวิตวุ่นวาย ในขณะที่ผลลัพธ์ไม่แน่นอน ไม่รู้ว่าจะเปลี่ยนได้จริงหรือไม่

ในขณะที่การ “ไม่เคลื่อนไหวทางการเมืองต่อต้านจีน” อาจไม่มีต้นทุนอะไร ส่วนประโยชน์คือความสงบ การไม่เสี่ยงติดคุก และไม่ต้องเสียอนาคต

ส่วนการเลือกว่าจะ “อยู่กับจีน” นั้น อาจมีต้นทุนทางสังคมที่ต้องเสียบ้าง แต่ก็อาจได้ประโยชน์ทางอาชีพการงาน/การศึกษา และความมั่นคงของชีวิต

ดังนั้นทาง “เลือกที่ที่สมเหตุสมผลในเชิงปฏิบัติ” (pracmatic decision) หรือทางเลือกที่คุ้มที่สุดในเชิงมูลค่าที่จับต้องได้ของกรณีนี้นั้น คือการ “เลือกไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง และอยู่กับจีน” แม้อาจไม่สอดคล้องกับความดีงามทางอุดมการณ์

ผมเชื่อว่าคนรุ่นใหม่ในฮ่องกงส่วนใหญ่ ลึก ๆ แล้วยังมีความเชื่อทางการเมืองในใจ แต่เลือกเก็บไว้กับตัวเองเพื่อความปลอดภัย เพราะเห็นว่าต้นทุนสูง และโอกาสสำเร็จต่ำ ทำให้เข้าสู่ “ภาวะความเหนื่อยล้าทางการเมือง” (Political Burnout) สิ้นหวัง หลบเลี่ยง ถอนตัว ยอมจำนนต่อความเป็นจริง และแสวงหาหนทางใหม่ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต

ในขณะเดียวกัน การที่คนรุ่นใหม่บางคนเลือก "อยู่กับจีน" ก็ไม่ใช่เพราะพวกเขาสนับสนุนรัฐบาลจีนโดยอุดมการณ์ หากแต่เป็นเพราะพวกเขา แสวงหาทางอยู่ได้ความมั่นคงในชีวิต มีคุณภาพชีวิตที่ดี ภายใต้บริบทที่มีทางเลือกไม่มากนัก โดยเฉพาะในสังคมที่แข่งขันสูงและกดดันอย่างฮ่องกง ความต้องการความมั่นคงของชีวิตพุ่งสูงขึ้นกว่าที่เคย

ความเข้าใจแบบนี้ไม่เพียงช่วยอธิบายพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ฮ่องกงเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงแนวโน้มของเยาวชนในบริบทสังคมอื่น ๆ ที่เผชิญกับภาวะกดดันคล้ายคลึงกันทั่วโลกในยุคหลังวิกฤตการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจ

ซึ่งเมื่อขยายมุมมองนี้ไปสู่ประเทศหรือเมืองอื่น ๆ เกี่ยวกับแนวคิดทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ก็น่าสนใจเช่นกัน ทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก คลื่นฝ่ายขวารุ่นใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกสามารถอธิบายด้วยตรรกะเดียวกันนี้ได้หรือไม่ คงต้องศึกษากันต่อไป

สองคำถามสำคัญที่น่านำมาคุยกันต่อจากนี้

ข้อแรก การเปลี่ยนแปลงทางความคิดของคนรุ่นใหม่ในฮ่องกงจะส่งผลอย่างไรต่อความสัมพันธ์ระหว่างฮ่องกงและจีนแผ่นดินใหญ่ ? และสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ เกิดขึ้นจากความตั้งใจในการใช้กลยุทธ์ Soft Power ของฝั่งจีนหรือไม่ ?

ในประเด็นนี้ ข้อสังเกตสำคัญที่น่าจับตาคือบทบาทของ GBA ที่เข้ามาที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ในการดูดคนรุ่นใหม่ฮ่องกงเข้ามาในจีน และเป็น “สะพาน” ที่เชื่อมต่อระหว่าง “ต้นทางที่สิ้นหวัง” กับ “ปลายทางที่สดใส” และ “ความเหนื่อยล้าทางการเมือง” กับ “ความมั่นคงและโอกาส” สิ่งนี้เกิดขึ้นจากความตั้งใจหรือไม่ ?

ข้อสอง ในบริบทของไทย ปรากฏการณ์ทำนองนี้ จะเกิดขึ้นหรือไม่ ? หรือเกิดขึ้นแล้ว ? หรือจะไม่มีวันเกิดขึ้น ?

ส่วนตัวผมเห็นคนไทยจำนวนมากมีอาการ Political Burnout ก็จริง แต่ยังไม่เห็นภาพของโอกาสใหม่ ๆ ให้เลือก แบบที่เพื่อนฮ่องกง 3 คนของผมเลือกไป “อยู่กับจีน”


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top