Saturday, 18 May 2024
การเงินโลก

‘ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ’ ชี้!! เศรษฐกิจไทยแข็งแกร่ง เตือน!! “ตลาดจะลงโทษนโยบายที่โง่ๆ”

(27 ธ.ค. 65) ดูเหมือนว่าภาพรวมของเศรษฐกิจโลกยังคงดูตึงเครียดหนัก หลังจากที่ IMF ออกมาเตือนว่า สิ่งที่เลวร้ายที่สุดยังไม่มาถึงเลย พร้อมหั่นการคาดการณ์ GDP ในปีหน้าจนเหี้ยน ทำให้ต้องเริ่มกังวลแล้วว่า เศรษฐกิจโลกจะไปในทิศทางไหน แล้วสำหรับประเทศไทยจะเอาอย่างไร? จะไปต่อได้ไหวหรือไม่? จะแข็งแกร่งแค่ไหนกัน?

จากช่องยูทูบ ‘Property Expert Live’ โดยคุณคิม ชัชวาลย์ วัฒนะโชติ ได้อธิบายเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจ ว่า… 

IMF กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ได้คาดการณ์เศรษฐกิจปี 2023 โดยระบุว่าสิ่งที่เลวร้ายที่สุดยังไม่มาถึง และมากกว่า 1 ใน 3 ขอเศรษฐกิจโลก จะเข้าสู่สภาวะ Recession พร้อมจะพบเห็น GDP ติดลบ 2 ไตรมาสติด ๆ ขณะที่ GDP ของประเทศยักษ์ใหญ่ เช่น สหรัฐอเมริกา, ยุโรป และจีน จะยังคงชะลอตัวต่อไป

โดยปัจจัยหลัก ๆ ที่ทำให้เศรษฐกิจย่ำแย่ในปี 2023 มีอยู่ 3 สาเหตุหลัก ๆ ได้แก่... 

1. สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ยังคงเกิดขึ้นต่อไปไม่มีวี่แว่วว่าจะหยุด 
2. ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพยังคงสูงขึ้น 
3. เศรษฐกิจของประเทศจีนยังคงชะลอตัวอยู่

ทั้ง 3 สาเหตุนี้เป็นปัจจัยหลักให้เศรษฐกิจทั่วโลกต่างเกิดการผันผวนในปี 2023 และปัญหาเงินเฟ้อในปีหน้าก็ยังคงสูงอยู่เช่นเดิม

โดยคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อในปีหน้ายังคงสูงกว่า 6.5% ซึ่งหากมองคร่าว ๆ ก็ยังคงสูงอยู่ แต่ก็อาจะค่อย ๆ ชะลอตัวลงลดเหลือ 4.1% ในปี 2024 หรืออีก 2 ปีข้างหน้า จุดนี้จึงปฏิเสธไม่ได้ที่จะยังคงเป็นแรงกดดันมหาศาลของทั้งโลกอยู่

คุณคิม ยังกล่าวอีกว่า ในฟากของฝั่งไทยนั้น การที่ IMF ออกมาหั่นการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2023 ให้เหลือการขยายตัวเพียงแค่ 3.6% นั้น (จะบอกว่า ‘เพียงแค่’ ก็ไม่ถูกนัก เพราะก่อนหน้านี้คาดการณ์ไว้ถึง 4%) จะพิจารณาได้จากปัจจัยหลักสำคัญอย่างเศรษฐกิจของจีน, ยุโรป หรือสหรัฐอมริกา ที่เข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจ ไม่ค่อยจะฟื้นตัว บ้างชะลอตัว บ้างถึงขั้นถดถอยด้วย ซึ่งทำให้การบริโภคเริ่มลดลง บวกกับไทยเราเป็นประเทศผู่ส่งออก จึงได้รับผลกระทบตรงนี้ไปด้วย

อย่างไรก็ตามในฝั่งของ ‘ปัจจัยบวก’ ก็มีด้วยเช่นกัน นั่นก็คือ การท่องเที่ยวไทยฟื้นตัวดีเกินคาด ทำให้มีเม็ดเงินจำนวนมากไหลเข้ามาในประเทศและส่งผลให้ลดดุลทางการค้าได้นั่นเอง และนี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เงินบาทของไทยค่อนข้างแข็งขึ้นมาในช่วงนี้ (อยู่ที่ประมาณ 34.84 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ฯ)

ทั้งนี้เชื่อได้ว่า หลายคนน่าจะมีคำถามที่แสดงถึงความกังวลว่า การที่ GDP เติบโตประมาณ 3.6% นั้นเป็นผลดีหรือไม่อย่างไร? ซึ่งเรื่องนี้ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ ได้ออกมาบอกว่า จริง ๆ แล้วเศรษฐกิจไทยค่อนข้างทนทานและเข้มแข็งอย่างมาก แม้จะมีการปรับลด GDP ลงไป แต่เหตุผลมันก็มาจากปัจจัยภายนอก (ต่างชาติปรับเพิ่มดอกเบี้ย) แต่ในตัวเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่งอยู่

ผู้บริหาร IMF เตือน!! ความเสี่ยงเสถียรภาพการเงินโลก ใต้ตัวแปร 'สงคราม-แบงก์รัน-น้ำมัน-เศรษฐกิจถดถอย'

เศรษฐกิจและการเงินโลกจะไปรอดหรือพังยับ ?!? นั่นคือคำถามสำคัญที่สุดในหัวของใครหลายคน ณ ตอนนี้เลยทีเดียว 

(27 มี.ค. 66) World Maker เผยว่า Kristalina Georgieva กรรมการผู้จัดการของ IMF ได้ออกมาเตือนว่า “ความเสี่ยงเกี่ยวกับเสถียรภาพด้านการเงินโลกได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ”

โดยเฉพาะหลังจากเกิดวิกฤต Bank Run ในสหรัฐฯ ทำให้ IMF ต้องยกระดับการเฝ้าระวังวิกฤตทางการเงินให้สูงขึ้นกว่าเดิม ไม่เว้นแม้แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความมั่งคั่งทางการเงินสูงกว่าตลาดเกิดใหม่ ซึ่งทาง IMF ย้ำว่าความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกตอนนี้อยู่ในระดับ 'สูงเป็นพิเศษ' ถือเป็นแผลซ้ำจากโควิด-19, เงินเฟ้อ และสงครามยูเครน

เมื่อ FED ขึ้นดอกเบี้ยและเริ่มทำ QT มาถึงระดับหนึ่ง เราจึงเริ่มเห็นรอยแตกร้าวเกิดขึ้นแล้ว ณ ปัจจุบันนี้ และแม้ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ-FED รวมถึงหน่วยงานกำกับดูแลทั่วยุโรปจะเร่งเข้ามา Take Action อย่างรวดเร็วพร้อมกับเสริมสภาพคล่องสำรองให้แก่ตลาด ซึ่งผ่อนคลายความตึงเครียดไปได้ระดับหนึ่ง แต่ทาง IMF ก็ย้ำว่าความไม่แน่นอนต่าง ๆ ยังอยู่ในระดับสูงมาก ทำให้สถานการณ์ตอนนี้ยังต้องเฝ้าระวังอย่างละสายตาไม่ได้เลย

IMF ปรับลดคาดการณ์ GDP โลกลงจากเดิม 3.4% เหลือ 2.9% ในปีนี้ และคาดว่าในปี 2024 จะเพิ่มขึ้นเป็น 3.1% ขณะที่แถลงการณ์ล่าสุดชี้ว่าวิกฤตต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจนถึงตอนนี้จะทำให้คนจำนวนมากทั่วโลก 'ยากจนลงและมีความปลอดภัยน้อยลง'

📌 ปัจจัยเชิงบวกที่สำคัญที่สุดในการพยุงเศรษฐกิจโลกจากมุมมองของ IMF ก็คือการฟื้นตัวของจีน โดยคาดการณ์ GDP ไว้ที่ +5.2% (เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์ปี 2022 ที่ 3%) ซึ่ง IMF คาดว่าการเติบโตของจีนจะคิดเป็นถึง 1 ใน 3 ของการเติบโตทั่วโลกในปี 2023 นี้ แม้ว่าความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีนจะเพิ่มสูงขึ้นก็ตาม

IMF ย้ำว่าหากต้องการให้โลกดีขึ้น สหรัฐฯ-จีนควรมุ่งเน้นไปที่การแข่งขันกันอย่างสร้างสรรค์ พร้อมเรียกร้องให้มีการร่วมมือกันในบางส่วนระหว่างสหรัฐฯ-จีน แม้จะขจัดความตึงเครียดและมุมมองที่เห็นต่างไม่ได้ทั้งหมดก็ตาม ซึ่งแน่นอนว่ามันถือเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ที่ว่าสหรัฐฯ-จีนจะเจรจากันได้ลงตัวหรือไม่ ? เพราะภาพที่ออกมาตอนนี้จะเห็นว่าทั้ง 2 ฝ่ายดูขัดแย้งกันในแทบทุกมิติ

นอกจากนี้ IMF เรียกร้องให้จีนใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อเพิ่มผลิตผลทางเศรษฐกิจพร้อมกับการปรับสมดุลใหม่ โดยเปลี่ยนจากการเน้นลงทุนไปสู่การเติบโตที่ขับเคลื่อนด้วยการบริโภคมากกว่าเดิม เนื่องจากจะมีความยั่งยืนมากกว่าและพึ่งพาระบบหนี้น้อยกว่า ยิ่งไปกว่านั้นจะช่วยพัฒนาในแง่ของความท้าทายด้านสภาพอากาศด้วย

IMF ขยายมุมมองว่าจีนควรยกระดับการคุ้มครองทางสังคม สวัสดิการสุขภาพ รวมไปถึงการรองรับภาคครัวเรือนจากภาวะฉุกเฉินต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น และขณะเดียวกันก็จะต้องปฏิรูปตลาดโดยมุ่งเน้นไปที่การยกระดับการแข่งขันระหว่างภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งจะต้องมีการลงทุนด้านการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางผลผลิตให้ได้อย่างมีนัยสำคัญ

⚠️ ซึ่งขณะเดียวกันกับที่ IMF มองจีนเป็นความหวังพยุงเศรษฐกิจโลกในปีนี้ ล่าสุดทางปูตินประกาศว่ารัสเซียจะติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ในเบลารุส หลังประเมินว่ามีแนวโน้มว่าการเผชิญหน้ากับสหรัฐฯ และชาติตะวันตกอาจทวีความรุนแรงขึ้น ขยายวงกว้างไปกว่าสงครามยูเครน

โดยปูตินกล่าวว่านี่เป็นการตอบโต้ที่สหรัฐฯ เองก็ได้มีการติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ในประเทศพันธมิตรมานานแล้ว เป็นเหตุผลให้รัสเซียทำเช่นเดียวกัน โดยคาดว่าจะการสร้างโรงเก็บอาวุธนิวเคลียร์จะแล้วเสร็จภายในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้

การตัดสินใจดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากพึ่งมีข่าวว่ารัสเซียจะเกณฑ์ทหารเพิ่มอีก 400,000 นายเพื่อเสริมกำลังสำรองในกรณีที่สงครามยืดเยื้อยาวนาน โดยก่อนหน้านี้ก็ได้เกณฑ์เพิ่มไปแล้วหลักแสนคน

ทั้งนี้ รัสเซียไม่ได้ประกาศที่จะติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ในประเทศพันธมิตรนับตั้งแต่ยุคการล่มสลายของสหภาพโซเวียตและวิกฤตขีปนาวุธคิวบา ขณะที่ปัจจุบันเองสหรัฐฯ และ NATO กำลังส่งอาวุธจำนวนมากให้ยูเครนใช้ต่อต้านกองกำลังของรัสเซีย และทางด้านอังกฤษก็กล่าวว่าจะส่งอาวุธที่เกี่ยวข้องกับยูเรเนียมให้แก่ยูเครน ซึ่งเป็น 1 ในเหตุผลที่ปูตินประกาศแผนติดตั้งนิวเคลียร์ในเบลารุส เนื่องจากเขามองว่านี่เป็นการขู่ยกระดับความขัดแย้งทางนิวเคลียร์ของชาติฝั่งตะวันตก

นั่นหมายความว่าทางรัสเซียก็ไม่ได้ยอมอ่อนข้อลงเลย ปูตินกล่าวว่ารัสเซียกำลังเพิ่มขีดจำกัดในด้านการผลิตอาวุธ และจะผลิตกระสุน-รถถังออกมาเป็นจำนวนมาก โดยเขาเคลมว่าปริมาณอาจจะมากกว่าที่สหรัฐฯ-พันธมิตรส่งให้ยูเครนถึง 3x เท่าตัว

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ไม่ใช่การยืนยันว่าโลกกำลังจะเกิดสงครามในระดับที่ยิงนิวเคลียร์ถล่มกัน เพราะดูเหมือนจะเป็นการเดินหมากเพื่อคานอำนาจกันในเชิงยุทธศาสตร์ที่เป็นสัญลักษณ์สำคัญและการป้องกันเชิงเสียมากกว่า แต่ถึงกระนั้นก็ไม่มีอะไรแน่นอน จึงไม่มีใครกล้ารับประกัน ณ จุดนี้ว่าอนาคตจะเกิดอะไรร้ายแรงขึ้นมาหรือไม่ ?

📌 นอกเหนือจากสงครามของรัสเซียแล้ว ในอีกมุมหนึ่งของโลก จีนได้ประกาศปล่อยตัวนักลงทุนชิปชั้นนำที่เคยถูกรัฐบาลจับกุมเอาไว้ เพื่อให้มาช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมชิปของประเทศหลังจากโดนสหรัฐฯ สั่งคว่ำบาตรอย่างหนักไม่ให้จีนเข้าถึงเทคโนโลยีชิปขั้นสูง

บุคคลดังกล่าวก็คือ Chen Datong หัวหน้าฝ่ายการจัดการด้านการลงทุนของ Yuanhe Puhua (Suzhou) หรือที่รู้จักในชื่อ Hua Capital โดยก่อนหน้านี้ Chen ถูกควบคุมตัวท่ามกลางกระแสการสืบสวนอุตสาหกรรมชิปของรัฐบาลปักกิ่ง ซึ่งดูเหมือนจะมีความไม่พอใจบางอย่างเกิดขึ้น หลังจากมีการใช้เงินหลายหมื่นล้านดอลลาร์ไปกับการลงทุนด้านเซมิคอนดักเตอร์แต่กลับยังไม่สามารถสร้างการพัฒนาอย่างมีนัยสำคัญได้

ดังนั้น การที่จีนตัดสินใจปล่อยตัว Chen และร้องขอให้เขามาช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมชิปต่อนี้ น่าจะถือเป็นสัญญาณสำคัญว่าจีนกำลังจะเดินหมากแบบพึง่พาตัวเองในแง่ของเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งก็ต้องรอดูกันว่าจีนจะพัฒนาไปได้รวดเร็วแค่ไหน เพราะตอนนี้ยังคงติดชะงักอยู่ในการผลิตชิประดับ Hi-Ends เป็นของตัวเอง

Chen ถือเป็น 1 ในนักลงทุนมือฉมังสำหรับอุตสาหกรรมชิปของจีน แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ชัดเจนว่าเขาจะเริ่มกลับมาทำงานเต็มตัวเมื่อไหร่ คาดว่าคงไม่นานเพราะจีนเองก็เร่งทุ่มเทพัฒนาชิปอยู่อย่างเต็มที่เพื่อให้ก้าวทันสหรัฐฯ ในแง่ของเทคโนโลยีขั้นสูงที่จะเป็น 1 ในเสาหลักของโลกอนาคต

แต่ถึงกระนั้น ก็มีการตั้งข้อสังเกตว่าการกระทำของจีนถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือการบีบบังคับหรือไม่ ? เพราะในจังหวะที่นึกจะจับก็จับ แต่ในช่วงเวลาที่รัฐบาลต้องการความช่วยเหลือก็กลับปล่อยตัวออกมาได้เสียง่าย ๆ ซะอย่างนั้น ! เราจึงต้องจับตามองกันอย่างใกล้ชิดว่ายุทธวิธีของจีนในครั้งนี้จะประสานรอยร้าวภายในและพัฒนาก้าวทันสหรัฐฯ ได้สำเร็จตอนไหน ?

⚠️ พร้อมกันนี้ หลายประเทศที่เป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ เริ่มสั่งแบนแอปฯ TikTok ออกจากสมาชิกรัฐบาล เนื่องจากความกังวลว่าตัวแอปฯ จะมีการส่งข้อมูลต่าง ๆ ไปให้รัฐบาลจีนใช้ ซึ่งฝ่ายตะวันตกมองว่าเป็นเรื่องความมั่นคงของชาติ

ศึกการเงินโลกเริ่มเดือดขึ้นไปอีกขั้น  จับตาดอลลาร์ vs 'ทองคำ-หยวน-Bitcoin'

⚠️ ตอนนี้ศึกการเงินโลกเริ่มเดือดขึ้นไปอีกขั้นแล้ว ! เมื่อจีน-รัสเซียกำลังเร่งเดินหน้าทุกวิถีทางเพื่อพยายามทำลายค่าเงินและอำนาจของเงินดอลลาร์ลงให้ได้ ! ซึ่งคำถามสำคัญคือใครจะเป็นผู้ชนะกันแน่ ?!? ระหว่างเงินดอลลาร์, ทองคำ, เงินหยวน หรือ Bitcoin ?

(4 เม.ย.66) World Maker เผยว่า ปัจจุบันเงินดอลลาร์ยังคงครองการค้าโลกอยู่ราว 88% ของสัดส่วนสกุลเงินทั้งหมดที่ใช้ในการซื้อขายสินค้าและบริการต่าง ๆ ในขณะที่เงินหยวนของจีนมีสัดส่วนเพียง 3-7% เท่านั้น (แต่ล่ะสื่อรายงานตัวเลขไม่เท่ากันแต่อยู่ใน Range ระหว่างนี้)

บางคนมองว่าอีกไม่นานหยวนจะมีสัดส่วนมากขึ้นเรื่อย ๆ จนแทนดอลลาร์ได้ในที่สุด ? แต่ก็มีอีกฝั่งที่มองว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ เนื่องจากนโยบายการบริหารประเทศของจีนและภาคการเงินนั้นเป็นระบบที่ค่อนข้างปลายปิด ซึ่งไม่อนุญาตให้เงินไหลเข้า-ออกประเทศได้อย่างอิสระ

และแม้จะมีข่าวว่าซาอุฯ กำลังเล็งขายน้ำมันบางส่วนเป็นเงินหยวน ทำให้หลายคนกำลังตั้งความหวังที่จะเกิด Petroyuan แทน Petrodollar แต่ในความเป็นจริงแล้วอาจยังห่างไกลกันมาก โดยเฉพาะเมื่อสกุลเงินของประเทศต่าง ๆ ในตะวันออกกลางมีความอ่อนไหวต่อค่าเงินดอลลาร์มากเป็นพิเศษ

ขณะเดียวกัน แม้ว่าจีนจะเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลก และยังเป็นคู่ค้าที่สำคัญมาก ๆ ของหลายประเทศ แต่โดยรวมแล้วการค้าโลกก็ยังถูกเงินดอลลาร์ครองตลาดอยู่ทิ้งห่างลิ่วจากสกุลเงินหยวน แม้จีนจะพยายามผลักดันการใช้เงินหยวนมาหลายปี แต่สุดท้ายแล้วดูเหมือนว่าความต้องการเงินดอลลาร์จะยังคงสูงกว่าจนถึงปัจจุบันนี้

อย่างไรก็ตาม หากในอนาคตจีนมีการเปลี่ยนแปลงตัวเองและเปิดกว้างสำหรับตลาดเงินหยวนมากขึ้น และแนวโน้มการเติบโตของเงินหยวนในตลาดโลกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีโอกาสที่การครอบงำตลาดของเงินดอลลาร์จะลดลงในะระยะยาว แม้ว่าในระยะสั้นนี้จะยังไม่เห็นภาพก็ตาม

📌 ส่วนทางด้านของทองคำนั้น ดูเหมือนจะเป็นคู่ฟัดที่ดูมีโอกาสมากที่สุดในการทุบอำนาจของเงินดอลลาร์ โดยทั่วโลกกำลังจับตาว่าทองคำจะยืนเหนือระดับ 2,000 $/Oz ได้หรือไม่ ? เพราะถ้ายืนได้ก็มีโอกาสที่จะทะลุเพดานไปอีก แต่ถ้ายืนไม่ได้ราคาทองคำโลกก็อาจร่วงลงมาอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน

โดยรัสเซียนั้นได้กลายเป็น 1 ในประเทศที่กำลังผลักดันให้โลกกลับไปสู่ระบบการเงินที่หนุนหลังด้วยทองคำ เนื่องจากทองคำเป็นเพียงไม่กี่ทางเลือกที่รัสเซียจะสามารถหลีกหนีการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกไปได้ ซึ่งปัจจุบันรัสเซียกำลังร่วมมือกับอิหร่านในการทดลองใช้ Token ดิจิทัลที่หนุนหลังด้วยทองคำเพื่อทดแทนระบบเงินดอลลาร์ ขณะที่จีนเองก็มีข่าวว่าได้เข้าตุนทองคำเอาไว้เป็นปริมาณมาก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการทุบอำนาจดอลลาร์ที่โลกฝั่งคอมมิวนิสต์ต้องการ

ธนาคารต่าง ๆ ในรัสเซียถูกรัฐบาลสั่งให้คิดค่าดอกเบี้ยในธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับดอลลาร์สูงขึ้นอย่างมากนับตั้งแต่เกิดสงครามยูเครนและโดนคว่ำบาตร ในขณะเดียวกันก็ออกกฏหมายหนุนให้ผู้คนหันไปหาเงินหยวนและทองคำมากขึ้นแทน ทำให้ Demand ทองคำจากผู้บริโภคในรัสเซียสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่นั้นมา

โดยรวมในปี 2022 พบว่า Demand ทองคำทั่วโลกพุ่งขึ้นราว +18% สู่ระดับสูงสุดในรอบกว่า 10 ปี ซึ่งปัจจัยหลักมาจากการเข้าซื้ออย่างมหาศาลของธนาคารกลาง ซึ่งหากคิดเฉพาะ Demand จากธนาคารกลางจะถือว่าเข้าซื้อมาที่สุดในรอบราว 50 ปีเลยทีเดียว

นักวิเคราะห์หลายคนกล่าวว่าธนาคารกลางรัสเซียน่าจะเป็นผู้ซื้อรายสำคัญ แต่ไม่มีข้อมูลทางสถิติออกมายืนยันเพราะรัสเซียหยุดรายงานความเคลื่อนไหวในการซื้อขายทองคำและปริมาณตุนสำรองไปหลังจากที่สงครามยูเครนเริ่มต้นขึ้น

ขณะที่จีนก็พยายามผลักดันทองคำอยู่แบบเงียบ ๆ พร้อมกับการดันเงินหยวนให้มีความเป็นสากลมากขึ้น นั่นทำให้เราเห็นได้อย่างชัดเจนว่าโลกคอมมิวนิสต์กำลังปฏิบัติการเพื่อทำลายค่าเงินดอลลาร์อยู่ โดยใช้ทองคำเป็น 1 ในอาวุธหลัก เนื่องจากเหตุผลว่ามันคือ Safe Haven ที่รักษามูลค่าได้ตลอด 5,000 ปีที่ผ่านมา

แต่จะสามารถล้มอำนาจของดอลลาร์และดึงโลกกลับไปสู่มาตรฐานทองคำได้หรือไม่นั้น ? ก็คงต้องรอดูกันต่อไปในฉากหน้า ! โดยทั้งนี้ ตลอดหลายปีที่ผ่านมาก็มีความพยายามในการดัน Gold Standard กลับมาเรื่อย ๆ แต่ปรากฏว่าโลกก็ยังไม่ได้กลับไปใช้ทองคำหนุนหลังค่าเงินอยู่ดี นั่นจึงเป็นเหตุผลให้เราต้องลุ้นกันว่าครั้งนี้จะสำเร็จหรือคว้าน้ำเหลว ?

⚠️ อีกอาวุธหนึ่งที่มักจะถูกพูดถึงว่าจะนำมาใช้ล้มอำนาจของเงินดอลลาร์ก็คือ Bitcoin และ Crypto ซึ่งราคาของ Bitcoin ได้ปรับตัวสูงขึ้น +71% ในไตรมาสแรกของปี 2023 นี้ ! และท่ามกลางวิกฤต Bank Run ที่เกิดขึ้นก็พบว่าราคา Bitcoin ยังคงดีดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันเทรดอยู่ราว ๆ 28,300 $/BTC ทำให้หลายคนตั้งคำถามว่านี่จะใช่การกลับมาผงาดของมันหรือไม่ ? หลังจากเป็นกระแสข่าวแล้วราคาร่วงยับในก่อนหน้านี้

หลายสื่อรายงานว่าสภาพคล่องในตลาด Bitcoin กำลังอยู่ในภาวะ “แห้งเหือด” แม้ราคาจะปรับตัวสูงขึ้น ซึ่ง Trading Volumes ที่ลดลงหมายความว่าผู้ถือครองรายใหญ่จะสามารถปั่นราคาเหรียญได้ง่ายกว่าเดิมโดยใช้ปริมาณเงินน้อยกว่าเดิม ดังนั้นก็อาจเป็นไปได้ว่าที่ราคาปรับตัวขึ้นมาได้เมื่อเร็ว ๆ นี้อาจเป็นเพราะ Volumes ที่ลดลง ?

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เชื่อมั่นใน Bitcoin มองว่าอนาคตของมันยังอีกไกล ? และ Bitcoin จะไม่ใช่แค่แทนที่ดอลลาร์ ? แต่จะแทนที่ทองคำด้วย ? ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ ? เพราะสำหรับขาเชียร์ Bitcoin พวกเขาก็จะ Discredit ระบบเงิน Fiat และทองคำเป็นเรื่องปกตินับตั้งแต่ Bitcoin ยังเป็นกระแสจนราคาร่วงยับ -70%

อนึ่ง ในช่วงที่หน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐฯ กำลังเร่งตรวจสอบอุตสาหกรรมคริปโตอยู่นี้ พบว่าทางฮ่องกงก็กำลังเร่งเดินหน้าดันตัวเองให้กลายเป็น 1 ในศูนย์กลางคริปโตระดับโลก ! กลับลำ 180 องศาจากที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลจีนออกมาประกาศก้องโลกว่าจะไม่เอา Crypto และยังสั่งให้ประชาชน-ธุรกิจต่าง ๆ ห้ามยุ่งเกี่ยวกับเหรียญเหล่านี้

ดังนั้นก็คงต้องรอดูว่าอนาคตของ Crypto จะถูกกำหนดออกมาอย่างไร เพราะปัจจัยที่สำคัญมาก ๆ ก็คือการยอมรับจากหน่วยงานกำกับดูแลต่าง ๆ ซึ่งคงต้องพิจารณาควบคู่กับการมาถึงของ CBDC ว่าจะให้ Crypto อยู่ในฐานะสินทรัพย์ทางเลือกต่อไป หรือว่าจะแบนทิ้งกันแน่ ? ส่วนเรื่องที่ Bitcoin จะแทนที่ดอลลาร์รักษามูลค่าไปเรื่อย ๆ ได้หรือไม่นั้น ? ก็คงต้องคุยกันหลังจากประเด็นนี้ผ่านก่อน

📌 ขณะเดียวกันนี้ ทาง OPEC+ ได้ตกลงกันที่จะลดกำลังผลิตน้ำมันดิบลงกว่า -1 ล้านบาร์เรล/วัน นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมนี้เป็นต้นไป ซึ่งเป็นสิ่งที่ OPEC+ กล่าวว่าเป็นการป้องกันความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนต่าง ๆ ของเศรษฐกิจโลก แต่ขณะเดียวกันก็เป็นการดันราคาน้ำมันให้สูงขึ้นตามไปด้วย

แน่นอนว่าราคาน้ำมันที่สูงขึ้นจะเป็นการสร้างเงินเฟ้อให้แก่โลกไปด้วย ซึ่งอาจเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามที่จะทำลายเศรษฐกิจของประเทศตะวันตกด้วยการดันให้เงินเฟ้อเกิดขึ้นในระดับสูงอย่างที่นักวิเคราะห์ฝ่ายโปรรัสเซียส่วนใหญ่พยายามออกมาชี้ในก่อนหน้านี้ว่าประเทศตะวันตกจะต้องเผชิญเงินเฟ้อครั้งใหญ่จากการทำสงครามกับรัสเซีย ?

ราคาน้ำมันดิบโลกอย่าง WTI และ Brent ดีดขึ้นราว +6% ในวันนี้กลับมาอยู่ที่ระดับ 80 ดอลลาร์/บาร์เรลอีกครั้งหลังมีการประกาศลดกำลังผลิตจากกลุ่ม OPEC+ ซึ่งก็ต้องรอดูว่าหลังจากนี้ราคาน้ำมันดิบโลกจะพุ่งสูงขึ้นอีกหรือไม่ ? เพราะหากเศรษฐกิจและภูมิภาคโลกยังมีความตึงเครียดอยู่ ระดับ 100 ดอลลาร์/บาร์เรลก็ไม่ได้ถือว่าไกลเกินเอื้อมเลยสำหรับน้ำมัน

‘ดร.สุวินัย’ ชี้!! โลกการเงินกำลังจะถูกรื้อแบบ ‘Global Reset’ ภายใต้เงื่อนไขตะวันตกมีแต่หนี้ ส่วนที่รุ่งเรืองมีแค่ตะวันออก

ไม่นานมานี้ ดร.สุวินัย ภรณวลัย ประธานยุทธศาสตร์วิชาการ สถาบันทิศทางไทย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘Suvinai Pornavalai’ ระบุว่า...

โลกการเงินกำลังจะถูกรื้อแบบถอนรากถอนโคน กับ ‘Global Reset’ ครั้งที่ 2

สองเรื่องใหญ่ขณะนี้ในระบบการเงินของสหรัฐฯ

1.) เรื่องของปริมาณ Money Supply ที่หมุนเวียนในตลาดสหรัฐฯ ลดลงมากมาประมาณ 18 เดือนติดต่อกันแล้ว

2.) พันธบัตร 10y ที่ดันดอกเบี้ยขึ้นไปถึง 5%... การดันจาก 0.6% ขึ้นไปถึง 5% นี่ แสดงว่าจะต้องมีการเทขายพันธบัตรกันมากขนาดไหน

ระบบการเงินทั้งระบบขึ้นอยู่กับการใช้เครดิต เมื่อมีการสะดุดของเครดิตจุดใดจุดหนึ่ง… ระบบทั้งหมดจะเกมโอเวอร์

เมื่อตลาดหนึ่งพังลง อีกตลาดก็ต้องพังลงเป็นโดมิโน และภายในสามวันก็จะไม่มีตลาดเหลืออีก… การแลกเปลี่ยนสินค้าที่มีการสต็อกไว้ก็จะสะดุด ถึงแม้ตอนนั้นคิดขึ้นได้ว่าจะต้องซื้อทองคำ ก็จะไม่มีตลาดทองคำเหลืออีกต่อไป

สามวันหรือ 72 ชั่วโมงนี่แหละ เป็นเวลาที่ร่างกายมนุษย์จะทนขาดอาหารอยู่ได้ในเมืองใหญ่ของสหรัฐฯ

น้อยคนที่จะเก็บอาหารไว้นานกว่าสามวัน ทุกคนฝากชีวิตอยู่กับซุปเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งก็ต้องหมุนเวียนสินค้าด้วยเครดิต ซึ่งเก็บสต็อกสินค้าแบบ 3-days inventory เหมือนกันทั้งหมด

แม้แต่ธุรกิจใหญ่ ๆ ก็ไม่สามารถ Rollover ตั๋วเงินของตนต่อไปได้… นี่คือการระเบิดของฟองสบู่หนี้ที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา ที่เกิดจากดอกเบี้ยสูง

Timing ของเรื่องสถานการณ์ในตะวันออกกลางตอนนี้กับเรื่องการยกระดับของสงคราม มันไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นเรื่องที่ระบบการเงินกำลังจะล่ม และต้องการให้มีอะไรสักอย่างมาเป็นสาเหตุของการล่มครั้งนี้ของระบบ

การใช้จ่ายภาครัฐของสหรัฐฯ ตอนนี้คุมไม่อยู่แล้ว แค่สามเดือน Fed ต้องสร้างเงินถึง $1 trillion… นั่นเป็นจำนวนหนี้ที่สหรัฐฯ สร้างขึ้นมาในช่วง 200 ปีแรกหลังจากก่อตั้งประเทศ 

หนี้ที่เพิ่มขึ้น $1 trillion เทียบได้เท่ากับ 4% ของ GDP จำนวน $25 trillion ของสหรัฐฯ… เท่ากับว่าเป็นหนี้ 4% เพียงเพื่อจะเติบโต 2% เท่านั้น!!

เพราะสหรัฐฯ จะหยุดการสร้างหนี้ไม่ได้ 

ประเทศต้องเติบโต ถึงแม้จะสร้างหนี้ $4-$5 เพื่อการเติบโตแค่ $1 ก็เถอะ

การสร้างเงินเพิ่มมากขึ้นจะเป็นการทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ เสื่อมค่า 

นี่เรากำลังพูดถึงค่าที่เสื่อมไป 50% หรือ100% โดยอาจจะเห็นได้จากอัตราดอกเบี้ยที่มาในปริมาณเดียวกัน…

ถ้าเราต้องพบกับดอกเบี้ย 20% หรือ 40% ยังจะมีธุรกิจอะไรเหลืออยู่อีกหรือในสหรัฐฯ?

‘Global Reset’ เป็นเรื่องที่จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วโดยไม่มีใครเตือนเลย 

จะต้องมีการรีเซ็ต แต่ไม่ใช่ครั้งเดียวหรอก 

รีเซ็ตครั้งแรกเป็น Man-Made โดยผู้มีอำนาจในสหรัฐฯ เป็นคนริเริ่มเองแต่ไม่สำเร็จ

รีเซ็ตครั้งที่สองเป็นเรื่องระหว่างสองซีกโลกซึ่งกำลังเกิดขึ้นอยู่ตอนนี้ 

มันเป็นการงัดกันระหว่างฝ่ายตะวันตกที่มีแต่หนี้… มีแต่ความเสื่อมโทรมของโครงสร้างพื้นฐาน ไม่มีทรัพย์สิน กับฝ่ายตะวันออกที่มีความรุ่งเรืองของโครงสร้างพื้นฐาน เห็นได้ชัดทั้งในเมือง… นอกเมือง… และสนามบิน 

ไม่ต้องบอกเลยว่าใครจะเป็นผู้รีเซ็ตในครั้งที่สองนี้ได้สำเร็จ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top