Friday, 17 May 2024
การประปานครหลวง

‘ทล.’ ชี้ ถ.กาญจนาฯ ทรุดตัว เหตุได้รับผลกระทบจากการสร้างอุโมงค์ส่งน้ำ เร่งประสาน ‘กปน.’ ซ่อมผิวจราจร-ตรวจสอบมาตรฐานการก่อสร้างด่วน

‘กรมทางหลวง’ เผย เหตุถนนกาญจนาภิเษกก่อนออกพระราม 2 ทรุดตัวจากชิ้นส่วนผนังอุโมงค์ท่อประปาแตก ทำให้น้ำและทรายไหลเข้าอุโมงค์ เร่งซ่อมโดยด่วน สั่ง!! วิศวกรลงพื้นที่ตรวจสอบขั้นตอน วิธีการก่อสร้างของ ‘กปน.’ เป็นไปตามแบบที่ขออนุญาตหรือไม่

เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 67 กรมทางหลวง (ทล.) ได้รับแจ้งว่าเกิดเหตุถนนทรุดตัว บนทางหลวงหมายเลข 3902 ตอน พระประแดง - บางแค ที่ กม.15+500 หลังรับทราบเหตุเจ้าหน้าที่ได้ทำการลงพื้นที่ตรวจสอบทันที พบว่า ถนนบริเวณที่ได้รับแจ้งผิวจราจรมีรอยแตกและเกิดการทรุดตัว สาเหตุเกิดจากผิวจราจรได้รับผลกระทบ จากการดำเนินงานก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำตามแนวถนนกาญจนาภิเษก จากถนนกัลปพฤกษ์ ถึง สถานีสูบจ่ายน้ำบางมด ซึ่งแนวเจาะท่อประปาอยู่ลึกลงประมาณ 25 เมตรจากระดับพื้นดิน แต่เนื่องจาก มีชิ้นส่วนผนังก่อสร้างอุโมงค์แตกจำนวน 1 ชิ้นส่วน จากทั้งหมด 5 ชิ้นส่วน ทำให้น้ำและทรายไหลเข้าอุโมงค์ โดยโครงการก่อสร้างดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของการประปานครหลวง (กปน.)

ปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการปิดการจราจรในบริเวณที่ทรุดตัว และทำการเบี่ยงการจราจรไปใช้ทางหลวงหมายเลข 9 และกรมทางหลวงได้รับการประสานจากผู้รับจ้างของการประปานครหลวง ว่า จะดำเนินการซ่อมผิวทางเพื่อคืนผิวจราจรโดยจะทำการปรับระดับด้วย Asphalt Bound Base ซึ่งจะสามารถดำเนินการได้ในวันนี้ (6 ม.ค.) ก่อนที่จะสามารถเปิดการจราจรได้ตามปกติ

ทั้งนี้ กรมทางหลวง ได้สั่งการให้วิศวกรและผู้เชี่ยวชาญของกรมทางหลวง ลงพื้นที่ตรวจสอบขั้นตอน วิธีการก่อสร้างของงานโครงการดังกล่าว ว่าเป็นไปตามแบบที่ กปน. ได้ขออนุญาตไว้หรือไม่ และจะได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ กปน. ดำเนินการด้วยความละเอียดรอบคอบตามหลักวิศวกรรมเพื่อความปลอดภัยแก่ผู้ใช้ทาง

สำหรับโครงการก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำตามแนวถนนกาญจนาภิเษก จากถนนกัลปพฤกษ์ ถึง สถานีสูบจ่ายน้ำบางมด ของการประปานครหลวง (กปน.) มี ระยะทาง 15.6 กิโลเมตร มีบริษัท สี่แสงการโยธา (1979) จำกัด เป็นผู้รับจ้าง

'กปน.' มั่นใจ!! น้ำประปาปลอดภัยจากสารแคดเมียม ตรวจสอบคุณภาพน้ำ-เฝ้าระวังสารพิษเป็นประจำ

(11 เม.ย. 67) จากกรณีที่พบกากแคดเมียมในกรุงเทพมหานคร การประปานครหลวง (กปน.) ยืนยันว่า น้ำประปาของ กปน. ยังคงสะอาด ปลอดภัย โดยเหตุการณ์ดังกล่าว ไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำประปา และประชาชนสามารถอุปโภคบริโภคน้ำประปาได้อย่างมั่นใจ

ทั้งนี้ กปน. ใช้แหล่งน้ำดิบเพื่อการผลิตน้ำประปา 2 แหล่ง คือ แม่น้ำเจ้าพระยา รับน้ำจากจุดรับน้ำดิบสำแล จังหวัดปทุมธานี และเขื่อนแม่กลอง รับน้ำจากจุดรับน้ำดิบท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี

โดยนักวิทยาศาสตร์ กปน. ได้ตรวจวิเคราะห์สารพิษโลหะหนักเป็นประจำ ซึ่งคุณภาพน้ำดิบทั้ง 2 แหล่ง ปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานแหล่งน้ำผิวดิน ประเภทที่ 2-3 ไม่มีการปนเปื้อนจากโลหะแคดเมียม (Cd)

นอกจากนี้ ยังมีการตรวจสอบเฝ้าระวังสารพิษโลหะหนักในน้ำประปา เป็นประจำทุกเดือน ผลการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำประปาที่ผ่านมา พบว่า ไม่พบสารแคดเมียม หรือพบในปริมาณที่น้อยมาก มีค่าอยู่ในช่วง น้อยกว่า 0.0001-0.0004 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งอยู่ในเกณฑ์แนะนำน้ำดื่มขององค์การอนามัยโลก (WHO) (ต้องไม่เกิน 0.003 มิลลิกรัมต่อลิตร) ดังนั้น ประชาชนในพื้นที่บริการของ กปน. จึงมั่นใจได้ว่าน้ำประปาสามารถนำไปใช้อุปโภคบริโภคได้อย่างปลอดภัย ไม่มีการปนเปื้อนสารพิษโลหะแคดเมียม


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top