‘ดุสิตโพล’ ชี้!! คนไทยคาดหวัง ‘ม็อบ’ กดดันผู้นำรัฐบาล ‘ลาออก-ยุบสภา’ เปิดทางแก้ปัญหาโดยใช้ ประชาธิปไตย
(6 ก.ค. 68) ‘สวนดุสิตโพล’ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง “การชุมนุมทางการเมืองในสายตาคนไทย 2568” กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 1,167 คน (สำรวจทางออนไลน์และภาคสนาม) ระหว่างวันที่ 1-4 กรกฎาคม 2568 พบว่า กลุ่มตัวอย่างไม่สนใจเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง ร้อยละ 38.39 โดยคิดว่าการชุมนุมทางการเมืองในปัจจุบันมีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงประเทศในระดับปานกลาง ร้อยละ 48.93 จุดเด่นคือสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ร้อยละ 55.28 จุดด้อยคือมีความเสี่ยงต่อความรุนแรง ร้อยละ 48.16 ทั้งนี้เมื่อมีการชุมนุมทางการเมืองก็คาดหวังว่าจะมีการลาออกของผู้นำรัฐบาล ร้อยละ 58.58 ในสถานการณ์ปัจจุบันหากเกิดรัฐประหารก็ไม่เห็นด้วย เป็นการละเมิดระบอบประชาธิปไตย ร้อยละ 42.50
นางสาวพรพรรณ บัวทอง ประธานสวนดุสิตโพล ระบุว่า จากผลสำรวจประชาชนมองว่าการชุมนุมเป็นสิทธิที่พึงมีแต่ไม่ได้เชื่อว่าเป็นทางออกที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศได้อย่างแท้จริง เนื่องจากที่ผ่านมามักตามมาด้วยผลเสียมากกว่าประโยชน์ของประชาชน แม้รัฐประหารเคยถูกมองว่าเป็นทางออกในบางช่วงเวลา แต่บทเรียนที่เจ็บปวดจากหลายครั้งหลายหน ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการใช้อำนาจนอกระบบอีกต่อไป
ผู้ช่วยศาสตราจารย์กัญญกานต์ เสถียรสุคนธ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐศาสตร์ โรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่า ผลการสำรวจข้างต้น เป็นส่วนหนึ่งของภาพสะท้อนการชุมนุมของกลุ่มรวมพลังแผ่นดินปกป้องอธิปไตย บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ในวันเสาร์ที่ 28 มิถุนายน 2568 กิจกรรมการชุมนุมเกิดขึ้นเพื่อแสดงถึงความไม่พอใจในนโยบายของรัฐบาลไทยต่อประเด็นความขัดแย้งบริเวณชายแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา และท่าทีของนายกรัฐมนตรีไทย ต่อปัญหาดังกล่าว การชุมนุมครั้งนี้เป็นการชุมนุมใหญ่ที่มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากซึ่งถือเป็นครั้งแรกในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา การมีส่วนร่วมทางการเมืองและการแสดงออกของประชาชนสอดคล้องกับผลสำรวจที่เชื่อว่าการแสดงออกทางการเมืองในรูปแบบดังกล่าวจะสามารถส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแรงกดดันให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง หรือการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ อันเป็นไปตามแนวทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยและต้องไม่ใช้การรัฐประหารเป็นทางออกเพื่อยุติความขัดแย้งทางการเมืองเหมือนเช่นที่ผ่านมา
