Sunday, 20 April 2025
การค้ามนุษย์

ตร. เตือน!! กลลวงคอลเซ็นเตอร์ ขอให้โอนเงินเพื่อตรวจสอบ ย้ำ “หน่วยงานรัฐไม่เคยทำ” ห้ามโอนเด็ดขาด!!!

วันที่ 9 ธ.ค. 2564 พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ตามที่ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ได้มีนโยบายให้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนรู้เท่าทันถึงอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำการสืบสวนจับกุมผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดนั้น

ปัจจุบัน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รับการร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนว่ามีกลุ่มคนร้ายมีพฤติการณ์แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือ บริษัทขนส่งสินค้า โดยแจ้งว่าบัญชีของท่านหรือพัสดุสิ่งของของท่านที่ส่งไปต่างประเทศมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด เช่น ยาเสพติด การค้ามนุษย์ ก่อการร้ายฯลฯ มีการข่มขู่ว่าจะดำเนินคดีในอัตราโทษสูง จะมีการออกหมายจับ ถ้าไม่อยากถูกดำเนินคดี ต้องโอนเงินมาให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ มิเช่นนั้นจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งมีพี่น้องประชาชนได้รับโทรศัพท์ในลักษณะดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ทั้งที่มิได้มีส่วนกับการกระทำความผิดตามที่มิจฉาชีพกล่าวอ้าง นั้น

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงขอเรียนพี่น้องประชาชนว่า ธนาคาร และหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายต่าง ๆ ไม่มีความจำเป็นใดที่จะต้องให้เจ้าของบัญชีธนาคารโอนเงินมาให้กับเจ้าหน้าที่เพื่อทำการตรวจสอบ เพราะหากพบว่าบุคคลใดมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด พนักงานสอบสวนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่จะใช้อำนาจตามกฎหมายในการยึด อายัดบัญชีธนาคาร

โดยจะเป็นผู้ติดต่อกับทางธนาคารโดยตรง จึงขอให้พี่น้องประชาชนอย่าหลงเชื่อ และหากมีผู้ใดอ้างว่าต้องให้ท่านโอนเงินเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นมิจฉาชีพ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะได้เร่งรัดดำเนินการสืบสวนปราบปรามจับกุมผู้กระทำความผิดอย่างเข้มข้นต่อไป

 

สมุทรสาคร - ศรชล. ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินการตามนโยบายการยกระดับการปฏิบัติงาน ในการแก้ไขการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) และการปราบปรามการค้ามนุษย์ ในพื้นที่สมุทรสาคร

พลเรือเอก สมประสงค์ นิลสมัย ผู้บัญชาการทหารเรือ และ รอง ผอ.ศรชล มอบหมายให้ พลเรือเอก เถลิงศักดิ์ ศิริสวัสดิ์ เสนาธิการทหารเรือ ในฐานะเลขาธิการ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามการดำเนินการตามนโยบาย การยกระดับการปฏิบัติงานของ ศรชล. ในการแก้ไขการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) และการปราบปรามการค้ามนุษย์ ในจังหวัดสมุทรสาคร ตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย กรรมการบริหารจากหน่วยงานหลักของ ศรชล. และหน่วยงานด้านความมั่นคงต่าง ๆ ได้แก่ กรมเจ้าท่า กรมประมง กรมศุลกากร กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกองบังคับการตำรวจน้ำ รวมถึง นายณรงค์ รักร้อย ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ในฐานะผู้อำนวยการ ศรชล.จังหวัดสมุทรสาคร เข้าร่วมประชุมหารือ

พล.ร.ต.อิทธิพัทธ์ กวินเฟื่องฟูกุล โฆษก ศรชล. กล่าวว่า การติดตามการดำเนินการตามนโยบายฯ ในครั้งนี้มีเรื่องสำคัญที่ต้องติดตามประกอบด้วย การดำเนินการตามนโยบายการปฏิบัติงานของ ศรชล. ประจำปี งป.65 ที่สำคัญ คือการดำรงความต่อเนื่องในการกำกับดูแลหน่วยงานที่ดูแลรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล และการแก้ไขการทำการประมงผิดกฎหมาย รวมถึงการปราบปรามการค้ามนุษย์ เพื่อยกระดับการรายงานสถานการณ์ ด้านการค้ามนุษย์ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ในส่วนของประเทศไทย จากปีที่ผ่านมาให้ปรับระดับขึ้น จากระดับบัญชี 2 กลุ่มประเทศเฝ้าระวัง (TIER2 WATCH LIST) ต่อไป

โดยทางรัฐบาลได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการต่อต้านการค้ามนุษย์ ซึ่งถือเป็นวาระแห่งชาติ นอกจากนี้จะมี ตัวแทนมูลนิธิความยุติธรรมสิ่งแวดล้อม (Environmental Justice Foundation: EJF) ซึ่งเป็นองค์กรเอกชน (NGO) โดยมีพันธกิจหลัก คือ การรักษาสิ่งแวดล้อมและการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะประเด็นการละเมิดสิทธิแรงงาน การค้ามนุษย์ การทำลายสิ่งแวดล้อมของอุตสาหกรรม ตลอดจนการต่อต้านการทำประมง IUU ร่วมสังเกตการณ์การติดตามการดำเนินการตามนโยบายฯ ของ ศรชล. ในครั้งนี้ด้วย

 

รายงานค้ามนุษย์สหรัฐ 2022 : สถานะไทยดีขึ้น!! พ้นบัญชี Watch List ขยับขึ้นอยู่ลำดับ Tier 2

นับเป็นอีกหนึ่งข่าวดีสำหรับประเทศไทย หลังจากที่สหรัฐ อเมริกา ได้ยกระดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ของไทย ในปี 2022 ให้อยู่ในกลุ่มที่ 2 (Tier 2) 

สหรัฐฯ เผยแพร่รายงานการติดตามและการดำเนินงานต่อต้านการค้ามนุษย์ (Trafficking in Persons Report-TIP Report ประจำปี 2022 โดยไทยได้รับการยกระดับ จาก Tier 2 Watch List จากเมื่อปีที่แล้ว เป็นระดับ Tier 2 ในปีนี้ 

ทั้งนี้ ในรายงาน TIP Report 2022 ระบุว่า รัฐบาลไทยแสดงให้เห็นถึงความพยายามที่เพิ่มขึ้นในการต่อสู้กับการค้ามนุษย์ โดยพิจารณาถึงผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 และความสามารถในการต่อต้านการค้ามนุษย์ ซึ่งความพยายามดังกล่าว อาทิ การเพิ่มการสืบสวนกรณีการค้ามนุษย์ การจัดทำแนวทางกลไกการส่งต่อระดับชาติ (National Referral Mechanism) จนแล้วเสร็จ การจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์แห่งใหม่ และการพัฒนาแนวทางสำหรับเจ้าหน้าที่ด้านแรงงานในการส่งต่อผู้ที่สงสัยว่าตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ไปยังทีมสหสาขาวิชาชีพ เป็นต้น 

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เป็นประธานในคพิธีเปิดการอบรมสัมมนาพนักงานสอบสวนและทีมสหวิชาชีพ พัฒนาวามรู้ด้านกฎหมายแรงงานที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์

วันนี้ (8 พ.ค.66) เวลา 09.30 น. พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ในฐานะ ผอ.ศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง (ศพดส.ตร.) ได้เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมสัมมนาพนักงานสอบสวนและทีมงานสหวิชาชีพ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการคุ้มครองแรงงานต่างด้าว และการป้องกันการละเมิดสิทธิตามกฎหมายแรงงาน อันจะนำไปสู่ปัญหาการค้ามนุษย์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 รุ่นที่ 5 ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมรับการอบรมประกอบด้วยพนักงานสอบสวน เจ้าหน้าที่แรงงาน และเจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์ จำนวน 100 คน เข้าร่วมการสัมมนาเพื่อพัฒนาศักยภาพความรู้ในครั้งนี้

การอบรมสัมมนาเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายแรงงานเกี่ยวเนื่องกับการค้ามนุษย์ในครั้งนี้ นับเป็นรุ่นที่ 5 จากการจัดการอบรมสัมมนามาแล้วทั่วประเทศ ซึ่งปีนี้ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกระทรวงแรงงาน ให้จัดการอบรมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงานต่างด้าว ซึ่งมักตกเป็นเหยื่อของการบังคับใช้แรงงานและการละเมิดสิทธิต่างๆ ในการทำงาน นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ปฏิบัติงานซึ่งจะทำให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานสามารถบูรณาการร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อันจะนำไปสู้การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ระดับประเทศ ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับแนวทางการแก้ไขในระดับสากล

ก.แรงงาน ติวเข้มเจ้าหน้าที่คัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ร่วมกับทีมสหวิชาชีพ มุ่งไทยสู่เทียร์ 1

วันที่ 14 มิถุนายน 2566 นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายวรรณรัตน์ ศรีสุขใส รองปลัดกระทรวงแรงงานและโฆษกกระทรวงแรงงาน เป็นประธานพิธีเปิดโครงการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะการคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ร่วมกับทีม สหวิชาชีพ รุ่นที่ 3 และบรรยายหัวข้อ “นโยบายการป้องกันและแก้ไขการบังคับใช้แรงงานหรือการบริการและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน”

เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมมีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับนโยบายการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการตามหลักกฎหมายและหลักสากล มาตรฐานการปฏิบัติงาน (SOP) แผนปฏิบัติการว่าด้วยการส่งต่อระดับชาติฯ (NRM) และมีทักษะการคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ร่วมกับทีมสหวิชาชีพ

โดยมีผู้เข้าร่วมการอบรม ได้แก่ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่สำนักงานแรงงานจังหวัด สำนักงานจัดหางานจังหวัด และสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด 19 จังหวัด และหน่วยงานสหวิชาชีพ โอกาสนี้มีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงแรงงาน ร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดด้วย ณ โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์ ถนนรัชดาภิเษก เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร
          
นายวรรณรัตน์ฯ กล่าวว่า กระทรวงแรงงานเป็นหน่วยงานสำคัญและเป็นหน่วยงานหลักในการต่อต้านการค้ามนุษย์ภายใต้ยุทธศาสตร์ 20 ปี ด้านความมั่นคง โดยรับผิดชอบเป็นเจ้าภาพหลักในการป้องกันการค้ามนุษย์ของประเทศไทย ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ได้กำหนดเป็นวาระแห่งชาติ ในการยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองดูแลและป้องกันไม่ให้แรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวตกเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้หน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงานทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคนำมาตรฐานการปฏิบัติงาน (SOP) ในการคัดกรองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้านแรงงานและการบังคับใช้แรงงาน และการนำแผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติฯ (NRM)

นำไปใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการบังคับใช้แรงงานหรือบริการและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการคัดแยกผู้เสียหายจากการบังคับใช้แรงงานและการค้ามนุษย์ด้านแรงงานร่วมกับทีมสหวิชาชีพ ซึ่งเป็นการยกระดับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของประเทศไทยให้เทียบเท่ากับมาตรฐานขั้นต่ำในกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ค.ศ. 2000 (TVPA) ของประเทศสหรัฐอเมริกา
            
นายวรรณรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน พร้อมที่จะร่วมผนึกกำลังกับทุกภาคส่วน ในการขับเคลื่อนการต่อต้านการค้ามนุษย์ ขจัดการบังคับใช้แรงงานและการค้ามนุษย์ในประเทศไทย และเพื่อให้ประเทศไทยสามารถปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำของสหรัฐฯ และได้รับการจัดอันดับในรายงานการค้ามนุษย์ให้อยู่ในระดับ Tier 1 ต่อไป

รรท.รอง ผบ.ตร. ขับเคลื่อนงานพิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง ยกระดับกระบวนการคัดกรองบุคคลกลุ่มเสี่ยงเหยื่อค้ามนุษย์

วันนี้ ที่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร.รรท.รอง ผบ.ตร.(มค) เปิดเผยว่า ตามนโยบายรัฐบาล ที่ตระหนักและให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาการกระทำผิดเกี่ยวกับเด็ก สตรี ครอบครัว และภาคประมง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ พร้อมกับการนำประเทศไทยไปสู่ระดับ Tier 1 โดยมุ่งหวังให้ ตร. มีส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภายใต้การนำของ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ได้นำนโยบายรัฐบาล มาสู่การปฏิบัติ โดยจัดตั้งศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศพดส.ตร.) และมอบหมายให้ พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร.รรท.รอง ผบ.ตร.(มค) เป็น ผอ.ศพดส.ตร. เพื่อขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาดังกล่าว 

พล.ต.ท.ประจวบฯ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมกระบวนการคัดกรองบุคคลกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ ณ ฝ่ายตรวจคนเข้าเมืองขาเข้าและฝ่ายพิธีการเข้าเมือง ชั้น 2 อาคารผู้โดยสารขาเข้า (โซน 1) และฝ่ายตรวจคนเข้าเมืองขาออก ชั้น 4 อาคารผู้โดยสารขาออก (โซน 2) ด่านตรวจคนเข้าเมืองท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จว.สมุทรปราการ โดยมี ผู้แทน บก.ตม.2 และ ผกก.ในสังกัด ที่ปฏิบัติหน้าที่ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เข้าร่วม โดยได้กำชับให้ยึดถือขั้นตอนการปฏิบัติตามกลไกการส่งต่อระดับชาติ หรือ NRM (National Referral Mechanism) ยึดผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง (Victim-Centered Approach) คำนึงถึงบาดแผลทางใจของผู้เสียหาย(Trauma Informed Care) และเน้นย้ำไม่ให้เจ้าหน้าที่ทุกนาย เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับผลประโยชน์ผิดกฎหมายโดยเด็ดขาด           

พล.ต.ท.ประจวบฯ กล่าวว่า พฤติกรรมที่เข้าข่ายการค้ามนุษย์ที่อาจพบได้ในสนามบิน มีหลายประการ เช่น การถูกหลอกลวงไปทำงาน การถูกหลอกลวงไปค้าประเวณี การเดินทางเข้ามาเป็นขอทานในประเทศไทย การถูกหลอกลวงโดยแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ การถูกหลอกลวงเรียกค่าไถ่เสมือนหรือถูกหน่วงเหนี่ยวกักขังเพื่อเรียกค่าไถ่โดยตรง โดยมีกระบวนการขึ้น Watch List และควบคุมแรงงานไทยที่เคยเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ คือ กต.ส่งข้อมูลแรงงานไทยที่เคยขอความช่วยเหลือกลับประเทศไทย เนื่องจากตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ให้กับ สตม. ตรวจสอบข้อมูลเปรียบเทียบกับข้อมูลผู้เสียหายในคดีค้ามนุษย์ เมื่อพบว่าเคยเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์มาก่อน จะดำเนินการขึ้น Watch List เมื่อฝ่ายตรวจคนเข้าเมืองขาออก หรือด่าน ตม.ทอ.พบบุคคลตาม Watch List จะแจ้ง ฝ่ายสืบสวน ด่าน ตม.ทอ. นั้นๆ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนหางานทำการคัดกรอง ขั้นตอนของกระบวนการคัดกรองต่างๆ เป็นไปตามขั้นตอนที่เข้มงวด โดยมีจุดประสงค์ในการแก้ไขปัญหา เป็นทางผ่านของกลุ่มบุคคลที่จะเดินทางออกไปยังประเทศที่สาม ที่จะไปประกอบอาชีพผิดกฎหมายหรือเข้าข่ายเรื่องของการค้ามนุษย์ ซึ่งกระบวนการคัดกรองเข้า-ออกราชณาจักรอย่างเข้มงวดถูกปฏิบัติมาแล้วอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนานแล้ว นอกจากนี้ยังพบว่าในพื้นที่ชายแดนประเทศไทย โดยเฉพาะในจุดด่านพรมแดน อ.แม่สอด จว.แม่ฮ่องสอน ก็เป็นพื้นที่ที่พบว่าเป็นจุดทางออกยอดนิยม ของบุคคลที่ต้องการเดินทางออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งคาดว่าจะไปก่ออาชญากรรมข้ามชาติ แก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ และการค้ายาเสพติด ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้สั่งการอย่างเข้มงวดกวดขันในการตรวจสอบ โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนกว่า 6,000 กิโลเมตร ที่ติดกับอีก 4 ประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อแก้ปัญหาในเรื่องดังกล่าวคู่ขนานกับการคัดกรองเข้มงวดในพื้นที่ต้นทาง เช่น ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

พล.ต.ท.ประจวบฯ รรท.รอง ผบ.ตร. กล่าวทิ้งท้ายว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความมุ่งหวังว่าการระดมสรรพกำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจและทุกภาคส่วน ในการเร่งรัดปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับเด็ก สตรี ครอบครัว การป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมงจะประสบผลสำเร็จ ตอบสนองนโยบายรัฐบาล เสริมสร้างความเสมอภาค เท่าเทียม และรักษาไว้ซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ภายใต้กรอบของกฎหมาย ประชาชนและสังคมมีความสงบเรียบร้อยสืบไป   

รรท.รอง ผบ.ตร. ขับเคลื่อนงาน ศพดส.ตร. ลงพื้นที่ป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ภาคประมงในพื้นที่ จว.สมุทรสาคร

ตามนโยบายรัฐบาลที่ตระหนักและให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาการกระทำผิดเกี่ยวกับเด็ก สตรี ครอบครัว การป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์และภาคประมง โดยมุ่งหวังให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภายใต้การนำของ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ได้นำนโยบายรัฐบาล มาสู่การปฏิบัติ โดยได้มอบหมายให้ พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร.รรท.รอง ผบ.ตร.(มค)/ผอ.ศพดส.ตร. ขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้บรรลุผลสำเร็จเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

วันนี้ พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร.รรท.รอง ผบ.ตร.(มค)/ ผอ.ศพดส.ตร. เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ รูปแบบแรงงานประมงในพื้นที่ จว.สมุทรสาคร ณ  ห้องสาครบุรี ชั้น 4 อบจ.สมุทรสาคร เพื่อรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะ แนวทางป้องกันและปราบปราม และข้อขัดข้องเกี่ยวกับการดำเนินการด้านค้ามนุษย์ของภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และหน่วยงานภาครัฐ โดยมี พล.ต.ท.สรไกร พูลเพิ่ม ที่ปรึกษา ศพดส.ตร. พล.ต.ต.พิพัฒน์ ชุ่มมณีกูล รอง ผบช.ภ.7 พล.ต.ต.สุระพรรณ นาทวรทัต ผบก.ภ.จว.สมุทรสาคร นายไพฑูรย์ มหาชื่นใจ ปลัดจังหวัดสมุทรสาคร นายอุดม ไกรวัตนุสสรณ์ นายก อบจ.สมุทรสาคร นายกมล ไกรวัตนุสสรณ์ รองนายกสมาคมการประมงสมุทรสาคร ผู้แทนหน่วย ภ.7, บก.รน., บก.ปคม., ตม.จว.สมุทรสาคร และ สันติบาล จว.สมุทรสาคร, พมจ., กอ.รมน., ศร.ชล., สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานฯ, จัดหางานฯ, เจ้าท่าฯ, ประมงฯ, PIPO, แรงงานฯ และผู้ประกอบการภาคเอกชน รวมกว่า 30 ราย

พล.ต.ท.ประจวบฯ ได้เน้นย้ำความสำคัญของปัญหาการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะการค้ามนุษย์ เด็ก สตรี แรงงานในพื้นที่ และแรงงานภาคประมง เนื่องด้วยมีผลต่อการจัดระดับ Tier ในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (Tip Report) จากสหรัฐอเมริกา อีกทั้งได้หารือ รับฟังปัญหา ข้อขัดข้อง และข้อเสนอแนะ จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ จว.สมุทสาคร เพื่อเป็นข้อมูลนำเสนอ ตร.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

จากนั้นได้ร่วมกับผู้แทน ภ.7, ภ.จว.สมุทรสาคร, บก.รน., บก.ปคม., ตม.จว.สมุทรสาคร, ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล จว.สมุทรสาคร, สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จว.สมุทรสาคร และ สนง.เจ้าท่า ลงพื้นที่ตรวจสภาพการจ้างงานในเรือประมง เพื่อป้องกันการค้ามนุษย์และแรงงานผิดกฎหมาย ณ องค์การสะพานปลา จว.สมุทรสาคร

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความมุ่งหวังว่าการระดมสรรพกำลัง ของเจ้าหน้าที่ตำรวจและทุกภาคส่วน ในการเร่งรัดปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับเด็ก สตรี ครอบครัว การป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมงจะประสบผลสำเร็จ ตอบสนองนโยบายรัฐบาล เสริมสร้างความเสมอภาค เท่าเทียม และรักษาไว้ซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ภายใต้กรอบของกฎหมาย ประชาชนและสังคมมีความสงบเรียบร้อยสืบไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top