Sunday, 20 April 2025
กองทุนประกันสังคม

‘กองทุนประกันสังคม’ ส่อแววล้มละลายภายใน 30 ปี หลังเผชิญวิกฤตสังคมผู้สูงวัย-แรงงานเกิดใหม่น้อยลง

(19 ก.ค.66) ช่องยูทูบชื่อ ‘Kim Property Live’ โดยคุณคิม ชัชวาลย์ วัฒนะโชติ ได้ออกมาอธิบายเกี่ยวกับเรื่องกองทุนประกันสังคมที่ส่อแววล้มละลายในอีก 30 ปีข้างหน้า ในชื่อคลิป ‘แรงงานสะดุ้ง! วิจัยชี้กองทุนประกันสังคมเสี่ยงล้ม รายจ่ายเยอะ เงินเริ่มไม่พอ!’ สรุปใจความสำคัญได้ว่า…

เมื่อไม่นานมานี้ เกิดเหตุประท้วงครั้งใหญ่ในวันแรงงานที่ประเทศฝรั่งเศส สาเหตุการประท้วงเกิดจากระบบประกันสังคมของฝรั่งเศสส่อแววว่าจะมีปัญหา อีกทั้งทางรัฐบาลฝรั่งเศสก็ได้ออกนโยบายยืดเวลาทำงานออกไปอีก 2 ปี จุดกระแสความไม่พอใจอย่างมากในหมู่แรงงาน จนเกิดการประท้วงทั่วฝรั่งเศส

หากมองในมุมของภาครัฐที่ต้องแก้ปัญหาจากนโยบายของรัฐบาลก่อนหน้าก็น่าเห็นใจ จากนโยบายที่คิดว่าทำได้ ในวันนี้กลับทำไม่ได้แล้ว ก็เกิดภาวะกระอักกระอ่วน ที่ต้องหามาตการเพื่อมาแก้ปัญหา แต่หากมองในมุมแรงงานที่ส่งเบี้ยมาตลอดหลายปี และบางส่วนกำลังจะเกษียณแล้ว แต่กลับต้องทำงานต่ออีก 2 ปี จึงทำให้ความแค้นเคืองปะทุขึ้นอย่างที่เป็นข่าว

หลายคนคงคิดว่านี่อาจะเป็นสิ่งที่ไกลตัว แต่จริงๆ แล้วเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด เพราะล่าสุดมีรายงานชิ้นหนึ่งจากกรุงเทพเผยแพร่ออกมา ระบุว่า ‘กองทุนประกันสังคม’ เสี่ยงล้มละลายใน 30 ปี 

ก่อนจะไปพูดถึงเรื่องการล้มละลาย ต้องขอพูดถึงหลักการของกองทุนประกันสังคมก่อน กองทุนประกันสังคมเป็นการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข โดยลูกจ้าง นายจ้าง และรัฐบาล ได้ร่วมกันจ่ายเงินเข้ากองทุนฯ ซึ่งเงินกองทุนตรงนี้จะนําไปใช้จ่ายเป็นสิทธิประโยชน์ เช่น ว่างงาน/ตกงาน สิทธิรักษา และเงินบำนาญ สำหรับแรงงานที่ส่งเบี้ยประจำทุกเดือน เงินส่วนนี้จะมาช่วยให้มีความมั่นคงในการงานมากขึ้น 

ในปี 2563 มีผู้ประกันตนมีจํานวน 11.1 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 70 ของลูกจ้างทั้งหมด หรือพูดง่าย ๆ คือลูกจ้างส่วนใหญ่อยู่ในระบบนี้ แต่ละคนก็มีการจ่ายเงินสมทบอยู่ตลอดเวลาและต่อเนื่องทุกเดือน

ตลอดระยะเวลา 30 ปี มีการส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคมอย่างมากมายและต่อเนื่อง ทําให้ขนาดของกองทุนขยายการเติบโตขึ้นอย่างมาก ในปี 2563 เงินกองทุนมีมากถึง 2.283 ล้านล้านบาท 

แต่คําถามคือมันเกิดอะไรขึ้น ทั้งที่แรงงานส่งเงินมาตลอดหลายสิบปี แต่ทําไมกองทุนนี้ถึงส่อแววล้มละลายล่ะ? และถ้าเป็นแบบนี้แรงงานจะมีเงินเก็บ เงินบํานาญหลังเกษียณได้อย่างไร?

ต้องบอกว่ากองทุนประกันสังคมของไทย ใช้เวลาในการจัดตั้งยาวนานเกือบ 40 ปีแล้ว โดยมีจุดมุ่งหมายสําคัญก็คือการให้ลูกจ้างได้ประโยชน์ แต่ประเด็นสำคัญคือกองทุนนี้ ‘ยิ่งอยู่นาน เงินก็ยิ่งไม่ค่อยพอ’ เงินเริ่มร่อยหร่อไปเรื่อยๆ 

มาดูเหตุผลหลักๆ ที่ทำให้กองทุนประกันสังคมอาจ ‘ล้มละลาย’

เหตุผลแรก คือ ‘รายจ่าย’ รายจ่ายด้านสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ มีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อเวลาผ่านเลยไปค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ค่าครองชีพ ค่าดูแลชีวิต ก็แพงขึ้นตามเงินเฟ้อที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นแนวโน้มของกองทุนก็เริ่มที่จะมีเงินไม่เพียงพอต่อการจ่ายสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตนที่พึงจะได้รับ โดยเฉพาะการดูแลของผู้ประกันตนที่เป็นผู้สูงอายุหรือชราภาพ 

ในขณะที่รายจ่ายเพิ่มขึ้น ‘คนชรา / ผู้สูงอายุ’ ก็เพิ่มขึ้นด้วย แต่อีกมุมหนึ่ง ‘อัตราการเกิด’ รวมถึง ‘อัตราการเข้าทํางาน’ ก็มีการลดลงไปเรื่อย ๆ ส่งผลเงินไม่เพียงพอดูแลคนในระบบ ต้องเข้าใจก่อนว่ากองทุนรูปแบบนี้คือการนําเงินคนรุ่นใหม่ที่เป็นคนวัยทํางานเข้ามาในกองทุน เพื่อใช้จ่ายหมุดเวียน แต่หากเงินใหม่ ๆ ไม่เข้ามา แล้วเงินเก่า ๆ ต้องจ่ายแพงขึ้นมากตามอัตราเงินเฟ้อ คําถามคือแล้วมันจะอยู่กันได้อย่างไร? บางคนก็มองว่านี่คือแชร์ลูกโซ่ขนาดใหญ่ที่สุดเลยหรือเปล่า? 

รายงานจากทาง IMF ออกมาบอกว่าประเทศที่ต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายเกี่ยวกับผู้สูงอายุในเอเชีย ได้แก่ จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รวมถึงประเทศไทย หลายคนก็รู้อยู่แล้วว่าประเทศไทยกําลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และจะเป็นสังคมผู้สูงอายุแบบสุดขั้วในอนาคต หมายความว่าคนแก่จะเยอะขึ้น คนที่จะต้องให้ภาครัฐดูแลก็จะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ทางกลับกัน คนใหม่ ๆ ที่มาทํางานกลับมีน้อยลงไป

ต่อมาเป็นเรื่อของ ‘การลงทุน’ ในยุคนี้การลงทุนได้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างต่ำ เนื่องจากเทรนด์อัตราดอกเบี้ยเป็นช่วงขาลง หากย้อนกลับไปในช่วง 10-20 ปีที่แล้ว ดอกเบี้ยไทยค่อนข้างสูง เอาเงินฝากแบงก์ก็ได้ดอกเบี้ย สามารถอยู่ได้แล้ว แต่ปัจจุบันดอกเบี้ยมันน้อยลงไปเรื่อย ๆ อยู่ที่ 1-2% การที่จะหวังกินเงินดอกเบี้ยจากเงินฝากมันก็คงเป็นไปไม่ได้ และจะหวังเอาเงินพวกนี้มาใช้จ่าย เป็นรายจ่ายของผู้สูงอายุมันก็ไม่พอ

และล่าสุดในปี 2566 เงินในกองทุนประกันสังคมลดลงถึง 17,000 ล้านบาท โดยปกติมีการเติบโตขึ้นตลอดเพราะว่าคนใหม่ก็ใส่เงินเข้ามา คนเก่าก็ยังไม่ได้เกษียณ ยังทํางานอยู่ แต่ปัจจุบันหลังจากรายจ่ายมันเยอะขึ้น เงินใหม่น้อยลง แล้วก็ปันผลดอกเบี้ยมันก็น้อย ทําให้กองทุนเริ่มจะลดลง และนี่เป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 5 ปี 

การที่ผลตอบแทนมันต่ำเตี้ยแบบนี้ อาจถูกผลักดันให้ลงทุนที่มีความซับซ้อนมากขึ้น และได้ผลตอบแทนที่มากขึ้น สำหรับตัวกองทุนประกันสังคม ก็เคยตกเป็นที่สงสัยของผู้คน เนื่องจากมีการถือหุ้น ‘ศรีพันวา’ มูลค่ากว่า 505 ล้านบาท ต่อมาทางดีเอสไอได้ไปตรวจสอบที่ดินของศรีพันวาว่าเป็นที่ดินมิชอบด้วยกฎหมายหรือเปล่า? ซึ่งข้อสงสัยพวกนี้ส่งผลให้ประกันสังคมถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เพราะเหมือนนำเงินเก็บของประชาชนหลังเกษียณมาลงทุน และการลงทุนก็ควรจะต้องดูให้ดีและน่าเชื่อถือ

เรียกได้ว่าปัญหาที่กองทุนประกันสังคมต้องเผชิญนั้นมีมากมายหลายด้านจริงๆ และเท่านั้นยังไม่พอ ยังมีประเด็นที่ว่า รัฐบาลค้างจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคมกว่า 7 หมื่นล้านบาท หรือกรณีที่นายจ้างหักเงินลูกจ้างไปแต่ไม่ได้นำส่งเข้าประกันสังคม 

ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นตลอด ทำให้คนมองว่ากองทุนประกันสังคมจะล้มในอีก 30 ปี ทำให้เกิดการเสนอแนวทางแก้ปัญหา เช่น การเร่งรัดหนี้ที่ค้างกองทุน เรื่องนี้ค่อนข้างน่าเป็นห่วง เนื่องจากมีคนไม่ได้หนี้ส่งหนี้เยอะ และหากยิ่งปล่อยไว้นานๆ เข้า ยอดหนี้ก็จะสะสมขึ้นเรื่อยๆ 

ทางด้านที่ปรึกษาด้านหลักประกันทางสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ T.D.R.I ได้ออกมาระบุว่า สาเหตุหลัก ๆ ของไทยคือโครงสร้างที่ไม่เอื้ออำนวย เช่น ประชากรที่เป็นผู้สูงอายุค่อนข้างเยอะ และมีชีวิตอยู่ยาวนาน ทำให้ต้องใช้เงินในการดูแลมากขึ้นในระยะยาว ส่งผลให้กองทุนต้องจัดสรรเงินมาดูแลในส่วนนี้ และต่อให้กองทุนนำเงินไปลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่มากขึ้น ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาตรงนี้ได้ อีกทั้งตามกฎของประกันสังคม ต้องลงทุนในทรัพย์สินที่มีความมั่นคงสูง แต่คำถามที่ตามมาคือจะสร้างผลตอบแทนได้มากพอจริงๆ หรือ? ทาง T.D.R.I จึงมองว่าหากเป็นแบบนี้ไปอีก 25 ปี จะทำให้กองทุนประกันสังคมติดลบและล้มละลายไปในที่สุด 

เมื่อปัญหาเยอะ แถมเงื่อนไขการลงทุนยังจำกัด แล้วจะแก้ปัญหานี้อย่างไร? 

1.ต้องปรับเพดานค่าจ้างเฉลี่ยที่ใช้คำนวณการจ่ายเงินสมทบ จาก 15,000 เพิ่มเป็น 17,500-20,000 บาทต่อเดือน และควรปรับเพิ่มทุกปีตามค่าจ้างเฉลี่ยด้วย หากปรับตรงนี้ได้จะทำให้มีเม็ดเงินเข้าสู่กองทุนประกันสังคมเพิ่มขึ้น 5-6% เลยทีเดียว

2. เพิ่มอายุผู้มีสิทธิรับเงินบำนาญ ซึ่งโดยปกติแล้ว แรงงานที่มีอายุครบ 55 ปีมีสิทธิที่จะได้รับเงินจากกองทุนชราภาพ แต่จะเลื่อนไปเป็น 60 ปี หรือพูดง่าย ๆ คือการเก็บเบี้ยได้มากขึ้น แต่จ่ายออกให้ช้าลงนั่นเอง

ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่าปัญหานี้จะถูกแก้ไขออกมาในรูปแบบใด และผู้คนจะเห็นด้วยหรือไม่? และมีแนวโน้มที่จะเกิดการประท้วงเหมือนในฝรั่งเศสหรือไม่? อีกทั้งหากโครงสร้างปัจจุบันไม่สามารถทำได้แล้ว ก็คงต้องเปลี่ยนวิธีการกันใหม่ และต้องหาแนวทางรับมือและกัดการกับความผิดหวังของแรงงานไว้ด้วยนั่นเอง

‘รองโฆษกฯ’ วอนปชช.อย่าแชร์ ข่าวลือ ‘กองทุนประกันสังคม’ เสี่ยงล้ม ยัน!! สถานะยังแกร่ง เงินสะสม 2.3 ล้านล้านบาท ไม่ล้มละลายแน่นอน

(2 ส.ค. 66) น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวกรณีมีข่าวปลอมแพร่ระบาดโดยอ้างว่ากองทุนประกันสังคม เสี่ยงล้มละลายภายใน 30 ปี เนื่องจากค้างจ่าย 7 หมื่นล้านบาท ว่า สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง กองทุนประกันสังคม มีเสถียรภาพมั่นคง สามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างต่อเนื่อง และเพียงพอ มีการบริหารสภาพคล่องโดยใช้กลยุทธ์การลงทุนที่มีประสิทธิภาพ มุ่งเน้นการถือครองหลักทรัพย์ในระยะยาว เพื่อสร้างผลตอบแทนให้แก่กองทุน

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า ปัจจุบันกองทุนประกันสังคม มีเงินสะสม 2.3 ล้านล้านบาท สถานะของกองทุนมีเม็ดเงินที่เพียงพอสำหรับการจ่ายสิทธิประโยชน์ในทุกกรณี ไม่ได้เสี่ยงล้มละลายหรือค้างจ่าย จึงขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่งต่อ หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสำนักงานประกันสังคม สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.sso.go.th หรือโทรสายด่วน 1506

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้ความสำคัญและห่วงใยผู้ประกันตน ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการใช้เงินกองทุนประกันสังคมให้เกิดประโยชน์ ตอบสนองผู้ประกันตน และปรับปรุงแก้ไขสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน โดยปรับปรุงแก้ไขสิทธิประโยชน์กองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพ ให้ผู้ประกันตนสามารถนำเงินกรณีชราภาพบางส่วนออกมาใช้ก่อน 3 รูปแบบ ขอเลือก ขอคืน และขอกู้ และยังเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีอื่น เช่น เพิ่มเงินทดแทนกรณีขาดรายได้จากการทุพพลภาพ เพิ่มการจ่ายเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อคลอดบุตร และขยายอายุขั้นสูงของผู้ประกันตนที่เป็นลูกจ้าง จากเดิมอายุ 60 ปีบริบูรณ์ เป็น 65 ปีบริบูรณ์ เพื่อพัฒนาระบบประกันสังคมให้ทันสมัย สอดคล้องกับสถานการณ์ตอบโจทย์ของทุกกลุ่ม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ประกันตนให้ดีขึ้น 

‘สุชาติ’ สวน ‘ไอซ รักชนก’ ปม สปส. ซื้อตึกเก่า 7 พันล้าน ขอให้หยุดวิจารณ์คนอื่นให้เสื่อมเสีย ลั่นภูมิใจผลงานช่วงโควิด

(12 มี.ค. 68) ‘สุชาติ ชมกลิ่น’ สวนกลับ ‘ไอซ์ รักชนก’ หยุดวิจารณ์คนอื่นให้เสื่อมเสีย อย่าบิดเบือนโดยการเมืองแบบสกปรก ลั่น ที่ผ่านมาสุดภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่สร้างผลงานช่วงโควิด ขณะที่ไอซ์ โต้ทันควัน ถ้าไม่ได้ทำอะไรผิดก็ชี้แจงไปตามข้อเท็จจริง ไม่ต้องร้อนรน 

จากกรณี น.ส.รักชนก ศรีนอก สส.กทม. และนายสหัสวัต คุ้มคง สส.ชลบุรี พรรคประชาชน (ปชน.) ร่วมแถลงข่าว “แฉเสียดฟ้า กองทุนประกันสังคมจงใจลงทุนผิดพลาด เพื่อเอื้อผลประโยชน์พวกพ้องหรือไม่” ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตในการซื้ออสังหาริมทรัพย์ย่านพระราม 9 ซึ่งเป็นอาคารที่ก่อสร้างไม่เสร็จตั้งแต่ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง

โดยสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ซื้อมาในราคา 7 พันล้านบาท ขณะที่ราคาประเมินอยู่ที่ 3 พันล้านบาท เกิดเป็นส่วนต่างกว่า 4 พันล้านบาท เอื้อประโยชน์ใครหรือไม่ หรือนักการเมืองคนใด หรือพรรคใดหรือไม่ ในช่วงรมว.แรงงานคนก่อนหน้านี้ เพราะส่งคนของตัวเองไปอยู่ในอนุกรรมการการลงทุนนั้น

ล่าสุด เมื่อช่วงเย็นวันที่ 11มี.ค. 68 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานในขณะนั้น โพสต์เฟซบุ๊ก ตอบโต้ถึงกรณีดังกล่าวว่า คุณไอซ์ รักชนก และทีมงานเป็นคนของประชาชน วิพากษ์วิจารณ์ ตามสมควรได้ แต่ถ้าไม่ถูกต้องถ้าเกินสมควร หรือทำให้ผู้อื่นเข้าใจผิด หรืออาจเข้าใจผิดหรือกล่าวอ้าง จนทำให้เขาเสื่อมเสียชื่อเสียง มันก็ไม่สมควร

มันง่ายที่คุณว่าคนนั้นคนนี้ โดยไม่รับผิดชอบ ปล่อยให้สังคมตีความไป ทุกวันนี้มีใครครับที่ออกมาประกาศดังๆๆ ว่าเขาไม่ได้เป็นอย่างที่พวกคุณพูด อย่าสนุกกับการวิพากษ์คนอื่น เมื่อไหร่ที่มันยังไม่ใช่เรื่องของคุณ คุณจะคิดว่า ทำไมจะทำไม่ได้ หรืออะไรต่างๆนานา

“สิ่งที่ผมสร้างมา ทั้งการงาน ครอบครัว ผมใช้เวลามาทั้งชีวิต ผมไม่เคยเห็นด้วย และไปกระทำกับใคร อย่ารอให้ปัญหาแบบนี้มาถึงตัวพวกคุณเลยครับ ทุกคนทำงาน มีสิ่งที่ต้องแลกมาทั้งนั้น เวลา สุขภาพ ผมตระหนักดี ช่วงเวลาที่ผมทำหน้าที่ สิ่งที่ผมภูมิใจคือ แม้จะเป็นวิกฤตที่ไม่มีใคร แม้แต่ตัวผม ที่ไม่อยากให้เกิด คือ Covid-19 แต่ผมได้เป็นส่วนหนึ่งในการวางนโยบายช่วยพี่น้องแรงงาน ตรวจคัดกรอง ประสานขอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและนำเข้า ครม. โดยท่านนายกรัฐมนตรี เห็นชอบ และถูกใจ ผู้นำแรงงาน รวมถึง พี่น้องผู้ใช้แรงงาน จนทำให้เกิด Factory Sandbox เกิดการยับยั้งการแพร่กระจายในโรงงาน ส่งออกเติบโตในรอบ 30 ปี“

พร้อมทิ้งท้ายว่า เข้าใจครับ #คนไม่รัก #ยังไงก็ไม่รัก แต่ขอแค่ให้ท่านมองไปหลายๆทาง อย่ามองอะไรแค่ที่เขาหยิบใส่ให้เราทราบ ความจริงก็คือความจริง อย่าบิดเบือน โดยการเมืองแบบ "สกปรก" พอตัวคุณโดนบ้าง ก็อ้าง กระบวนการยุติธรรมไม่เป็นธรรมทั้งที่ "ความจริงก็คือความจริง"

ในขณะเดียวกัน ทางด้านนางสาวรักชนก ได้แสดงความคิดเห็นในโพสต์ดังกล่าวว่า 
1) ถ้าไม่ได้ทำอะไรผิดก็ชี้แจงไปตามข้อเท็จจริง ไม่ต้องร้อนรน แล้วประชาชนจะเป็นคนตัดสินเองจากข้อมูลทั้งหมดที่ได้รับ

2) นักการเมืองอย่าง คุณสุชาติ ชมกลิ่น ยังกล้าไปชี้หน้ากล่าวหาคนอื่นว่า ‘การเมืองสกปรก’ ด้วยหรือคะ พูดอะไรไม่เกรงใจประวัติการทำงานของตัวเองเลย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top