Sunday, 20 April 2025
กองทัพอากาศสวิสเซอร์แลนด์

กองทัพอากาศสวิตเซอร์แลนด์ ครั้งหนึ่ง เคยทำการบินสกัดกั้น เฉพาะในวัน-เวลาทำการเท่านั้น เหตุ!! ถูกลด ‘งบการทหาร’

(24 ก.พ. 68) เรื่องราวสุดเหลือเชื่อนี้เกิดขึ้นจริงในปี 2014 วันที่ 17 กุมภาพันธ์ เมื่อเที่ยวบินที่ 702 ของสายการบิน Ethiopian ซึ่งเดินทางจากกรุงแอดดิสอาบาบาไปยังนครมิลานโดยผ่านกรุงโรม โดยเครื่องบินลำดังกล่าว เป็นเครื่องบินโดยสารแบบ Boeing 767-3BGER หมายเลข MSN 30563 หมายเลขทะเบียน ET-AMF ถูกจี้ระหว่างบินจากกรุงแอดดิสอาบาบาไปยังกรุงโรมโดย Hailemedhin Abera Tegegn นักบินผู้ช่วยซึ่งไม่มีอาวุธเลย 

เครื่องส่งสัญญาณฉุกเฉินของเที่ยวบินที่ 702 เริ่มส่งสัญญาณ 7500 ซึ่งเป็นรหัสสากลสำหรับแสดงสถานะเครื่องบินถูกจี้ ขณะบินไปทางเหนือของซูดาน เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อนักบินออกจากห้องนักบินเพื่อเข้าห้องน้ำ นักบินผู้ช่วยได้จัดการล็อกประตูห้องนักบินและทำการบินต่อเพียงลำพัง เที่ยวบินดังกล่าวมีกำหนดเดินทางมาถึงท่าอากาศยานเลโอนาร์โด ดา วินชี–ฟิอูมิชิโนในกรุงโรม อิตาลี เวลา 04:40 น. แล้วจะเดินทางต่อไปยังท่าอากาศยานมัลเปนซาในนครมิลาน แต่เครื่องบินเที่ยวบินที่ 702 นี้กลับบินไปยังนครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ โดยนักบินผู้ช่วยได้บินวนอยู่หลายรอบในขณะที่ติดต่อกับหอบังคับการบินของท่าอากาศยานนานาชาติเจนีวา ซึ่งนักบินผู้จี้เครื่องบินรายนี้ได้เจรจาถึงเรื่องการขอสถานะผู้ลี้ภัยทางการเมืองให้กับตนเอง อีกทั้งขอคำมั่นสัญญาจากรัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ว่า จะไม่ส่งตัวเขากลับไปดำเนินคดียังเอธิโอเปีย

เวลา 06:02 น. ของเช้าวันจันทร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2014 เที่ยวบินที่ 702 ของสายการบิน Ethiopian ได้ลงจอดที่สนามบินนานาชาติเจนีวา โดยมีเชื้อเพลิงเหลืออยู่พอบินได้อีกประมาณ 10 นาที และเครื่องยนต์เครื่องหนึ่งดับ Hailemedhin นักบินผู้ช่วยออกจากเครื่องบินโดยปีนเชือกที่เขาโยนออกไปนอกหน้าต่างห้องนักบิน ก่อนจะเดินไปหาตำรวจเพื่อมอบตัว หลังจากระบุว่า ตนเองเป็นผู้ก่อเหตุ และถูกควบคุมตัว สนามบินนานาชาติเจนีวาถูกสั่งปิดเป็นการชั่วคราวในระหว่างเหตุการณ์ดังกล่าวซึ่งไม่มีผู้โดยสารหรือลูกเรือคนใดได้รับบาดเจ็บ

เครื่องบินที่ถูกจี้ลำดังกล่าวบินเข้าน่านฟ้าของสวิตเซอร์แลนด์โดยไม่มีการสกัดกั้นจากเครื่องบินขับไล่ของกองทัพอากาศสวิสเซอร์แลนด์เลย มีเพียงการบินประกบคุ้มกันโดยเครื่องบินขับไล่ของกองทัพอากาศฝรั่งเศสและอิตาลีจนกระทั่งลงจอดที่สนามบินนานาชาติเจนีวา ด้วยเพราะในช่วงเวลานั้นกองทัพอากาศสวิสก่อตั้งขึ้นในปี 1914 ถูกลดค่าใช้จ่ายด้านการทหารลดลง จนแทบไม่มีการซื้อเครื่องบินขับไล่แทนเครื่องบินขับไล่แบบเก่าซึ่งกำลังจะหมดสภาพใช้งาน และทำให้นักบินรบหลายคนต้องกลายเป็นกำลังสำรองไป โดยเวลาในการปฏิบัติการของเครื่องบินขับไล่สังกัดกองทัพอากาศสวิสเซอร์แลนด์ในตอนนั้นคือ วันจันทร์ถึงวันศุกร์ เวลา 08.00-17.00 น. (โดยมีเวลาพักเที่ยงอีกหนึ่งชั่วโมงครึ่ง) เท่านั้น 

ดังนั้นเครื่องบินขับไล่ฝรั่งเศสและอิตาลีจึงต้องทำหน้าที่บินคุ้มกันเครื่องบินเที่ยวบินที่ 702 ของสายการบิน Ethiopian ที่ถูกจี้ไปลงจอดยังสนามบินเจนีวาอย่างปลอดภัยในเช้าวันจันทร์ เนื่องจากเมื่อเวลา 06.02 น. ยังต้องรออีกเกือบ 2 ชั่วโมงก่อนที่กองทัพอากาศสวิสเซอร์แลนด์จะเริ่มปฏิบัติงาน ซึ่งแหล่งข่าวของทางการสวิสเซอร์แลนด์ระบุว่า “สวิตเซอร์แลนด์ไม่สามารถเข้าแทรกแซงได้ เนื่องจากฐานทัพอากาศของประเทศปิดทำการในตอนกลางคืนและวันหยุดสุดสัปดาห์ อันเนื่องมาจากเรื่องของงบประมาณและเจ้าหน้าที่” ทำให้ช่วงเวลานั้น สวิสเซอร์แลนด์ต้องพึ่งพาศักยภาพด้านการทหารของเพื่อนบ้าน เพื่อให้ความสามารถในการตอบสนองการป้องภัยทางอากาศตลอด 24 ชั่วโมงด้วยเครื่องบินขับไล่สกัดกั้น รัฐบาลสวิสเซอร์แลนด์จึงมีข้อตกลงกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอิตาลีและฝรั่งเศส อนุญาตให้เครื่องบินขับไล่ของกองทัพอากาศทั้งสองสามารถบินเข้าสู่พื้นที่น่านฟ้าของสวิตเซอร์แลนด์ได้ทุกเมื่อที่จำเป็นเพื่อจัดการกับภัยคุกคามทางอากาศ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความเสี่ยงที่อีกมาก เพราะหากเครื่องบินถูกจี้บินเหนือสวิตเซอร์แลนด์ และถูกสั่งให้โจมตีเป้าหมายที่มีความอ่อนไหวภายในประเทศ เครื่องบินขับไล่จากฝรั่งเศสหรืออิตาลีจะมีโอกาสน้อยมากที่จะบินเข้ามาสกัดกั้นได้ทันเวลา” ในระหว่างการประชุมเวิลด์อีโคโนมิกฟอรัมที่เมืองดาวอส สวิสเซอร์แลนด์เมื่อเดือนมกราคม 2014 รัฐบาลสวิสเซอร์แลนด์ถึงกับต้องร้องขอให้กองทัพอากาศออสเตรียช่วยดูแลน่านฟ้าของตน

สวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศเล็ก ๆ ที่รักษาความเป็นกลางมาโดยตลอด ดังนั้น กำลังทางอากาศจึงมีขนาดจำกัด และไม่สามารถรับมือกับความขัดแย้งทางอากาศในระยะยาวได้ ภารกิจหลักของกองทัพอากาศสวิสฯ คือการรับประกันอธิปไตยทางอากาศและการป้องกันทางอากาศทั่วประเทศ ซึ่งทำได้โดย (1) รักษาการเพื่อควบคุมน่านฟ้าทั่วไปป้องกันการบุกรุกน่านฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาตผ่านเรดาร์ตลอด 24 ชั่วโมง (โดยมีการขยายขอบเขตโดยการเปิดใช้งานหน่วยป้องกันภัยทางอากาศภาคพื้นดิน (GBAD)) และ (2) ควบคุมดูแลทางอากาศตลอด 24 ชั่วโมงทุกวันเพื่อปกป้องน่านฟ้า โดยมีภารกิจรองคือ การดำเนินการขนส่งทางอากาศ การลาดตระเวน และการรวบรวมและวิเคราะห์ข่าวกรองสำหรับผู้นำรัฐบาลและผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองทัพ 

หลังจากเหตุการณ์จี้เครื่องบินเที่ยวบินที่ 702 ของสายการบิน Ethiopian มาลงจอดยังสนามบินนานาชาติเจนีวาแล้ว มีการปรับปรุงขีดความสามารถในการป้องกันภัยทางอากาศของกองทัพอากาศสวิสเซอร์แลนด์อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2017 เครื่องบินขับไล่ของกองทัพอากาศสวิสเซอร์แลนด์สามารถปฏิบัติการบินสกัดกั้น ในเวลา 8.00-18.00 น. ได้ทุกวันตลอดทั้งปี ต่อมาในปี 2019 เพิ่มเวลาปฏิบัติการเป็น 06.00-22.00 น. และตั้งแต่สิ้นปี 2020 เครื่องบินขับไล่ของกองทัพอากาศสวิสเซอร์แลนด์มีขีดความสามารถในปฏิบัติการบินสกัดกั้นได้ตลอด 24 ชั่วโมงทุกวันตลอดทั้งปี และเมื่อเปรียบเทียบกับกองทัพอากาศไทยของเราแล้ว เครื่องบินขับไล่ของกองทัพอากาศไทยจากทุกฐานบิน มีขีดความสามารถในปฏิบัติการบินสกัดกั้นตลอด 24 ชั่วโมงทุกวันตลอดทั้งปีมาอย่างต่อเนื่องยาวนานหลายสิบปีแล้ว ซึ่งเป็นคำตอบที่ชัดเจนที่สุดของคำถามที่ว่า “ทหาร มีไว้ทำไม?”


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top