(18 ต.ค.67) ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ชื่อของ ‘สามารถ เจนชัยจิตรวนิช’ ปรากฏบนหน้าสื่ออยู่บ่อยครั้ง หลังจากหวนกลับมาร่วมชายคา พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) อีกรอบ
ซึ่งการกลับมาในครั้งนี้ถือว่ามีบทบาทที่ไม่ธรรมดาว่ากันว่าเขา คือหนึ่งในชนวนเหตุ ที่ทำให้เกิดการแตกหักภายในพรรคพลังประชารัฐ ระหว่าง ‘ลุงป้อม‘ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า จากอดีตคนเคยรักกลับกลายมาต้องแตกหักเป็น 2 ขั้ว กระทั่งสุดท้าย พรรคพลังประชารัฐ ต้องสลับขั้วมาเป็นพรรคฝ่ายค้านอยู่ในขณะนี้
ล่าสุดเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ‘สามารถ’ กลับมาอยู่ในความสนใจของสังคมอีกครั้ง หลังจากมีคลิปไวรัลที่หลุดออกมาในช่วงคดี ‘ดิไอคอนกรุ๊ป’ กําลังเป็นประเด็นร้อนแรง ซึ่งเป็นบทสนทนาระหว่าง ‘บอสพอล - วรัตน์พล วรัทย์วรกุล’ แห่งดิไอคอนกรุ๊ป กับนักการเมืองคนหนึ่งที่อ้างว่ามีเส้นสายสามารถเคลียร์กรรมาธิการในสภาได้ พร้อมกับเรียกเงินจากบอสพอล หลัก 30 ล้านบาทและรายเดือนอีกเดือนละ 100,000 บาท เพื่อแลกกับหลักประกันว่าดีไอคอนจะปลอดภัยภายใต้การดูแลของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) หลังจากนั้น บอสพอล ได้ไปออกรายการโหนกระแสของ หนุ่ม กรรชัย และได้ยอมรับว่าเสียงในคลิปนั้นเป็นเสียงตนเองจริง
อีกทั้ง บอสพอล ยังยอมรับว่า ได้จ่ายเงินเดือนละ 100,000 บาท แต่ไม่ได้จ่ายเงิน 30 ล้าน และไม่ยอมบอกว่าคู่สนทนาที่มาตบทรัพย์นั้นเป็นใคร แต่คนที่ติดตามข่าวการเมืองเป็นประจำ ต่างฟันธงตรงกันว่า เสียงที่อยู่ในคลิปนั้น เป็นเสียงของนักการเมืองที่มีชื่อย่อ ส. อย่างแน่นอน
หลังจากเป็นกระแสร้อนแรงขึ้นมา ทาง ‘สามารถ เจนชัยจิตรวนิช’ ซึ่งปัจจุบันมีตำแหน่งเป็น รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านทางโทรศัพท์ว่า ไม่ใช่เสียงของตนเองและหากใครมาพาดพิงหรือกล่าวหาก็จะดําเนินงานทางกฎหมายทันที
นั่นจึงเป็นที่มา ของการขุดคุ้ยถึงประวัติและวีรกรรมในอดีตของ ‘สามารถ’ กันอย่างคึกคักอีกครั้ง
ทั้งนี้ หากย้อนไปดูประวัติของ ‘สามารถ เจนชัยจิตรวนิช’ เจ้าตัวเคย แนะนำตัวเองผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว มีชื่อเล่นว่า จ๊อบ เกิดเมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2526 เป็น ประธานสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่แห่งประเทศไทย ได้รับแต่งตั้งเมื่อ พ.ศ. 2557 เคยเป็นผู้อำนวยการศูนย์ร้องทุกข์กลุ่มสามมิตร กรรมการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งพรรคพลังประชารัฐ กรรมการอนุติดตามจัดหาประเด็นในการหาเสียงพรรคพลังประชารัฐ เป็นผู้ผลักดันให้แก้กฎหมายแชร์ลูกโซ่ เพิ่มโทษกับผู้กระทำความผิด จนทำให้กลายเป็นวาระชาติ
ส่วนการเข้าสู่เส้นทางการเมืองของ ‘สามารถ’ นั้น ว่ากันว่า ‘สมศักดิ์ เทพสุทิน’ แกนนำกลุ่มสามมิตร ในพรรคพลังประชารัฐในขณะนั้น คือ ผู้ชักนำให้ ‘สามารถ’ เข้ามาอยู่ภายใต้ชายคาพรรคพลังประชารัฐ และมีโอกาสโลดแล่นอยู่บนถนนสายการเมืองอย่างเต็มตัว และในเวลาต่อมายังได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง สส.แบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคพลังประชารัฐในปี 2562
ไม่เพียงเท่านั้น หลังการเลือกตั้งปี 2562 พรรคพลังประชารัฐ ได้เป็นแกนนำรัฐบาล ‘สามารถ’ ยังได้รับความไว้วางใจจาก ‘สมศักดิ์ เทพสุทิน’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้นั่งในตำแหน่ง ‘ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม’ อีกด้วย ซึ่งกระทรวงยุติธรรมมีหน่วยงานสำคัญในสังกัด ก็คือ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ขณะเดียวกัน ‘อนุชา นาคาศัย’ หนึ่งในแกนนำสามมิตร ที่มีความสนิทสนมกับ ‘สมศักดิ์ เทพสุทิน’ ยังมีตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแล สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) อีกด้วย
นั่นเท่ากับว่า ‘สามารถ’ ที่นั่งเก้าอี้ ‘ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม’ เป็นดังเสือติดปีก ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ล้วนเกรงอกเกรงใจ และว่ากันว่า คลิปเสียงที่หลุดออกมานั้น อยู่ในห้วงเวลาที่เขาอยู่ในตำแหน่ง ผู้ช่วยรัฐมนตรี พอดี
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 64 คณะกรรมการสอบสวนของพรรคพลังประชารัฐ มีมติเอกฉันท์ปลด ‘สามารถ’ ออกจากตำแหน่งหน้าที่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ผู้ช่วยรัฐมนตรี, ตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์พรรคพลังประชารัฐ, คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล, คณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดการฉ้อโกงประชาชนในลักษณะแชร์ลูกโซ่ และห้ามไม่ให้ใช้ตราเครื่องหมายพรรคโดยเด็ดขาด
โดยก่อนจะมีคำสั่งปลด ‘สามารถ’ จากทุกตำแหน่งนั้น เกิดกรณีมหาวิทยาลัยรัฐแห่งหนึ่งทำหนังสือสอบถามไปยังพรรคพลังประชารัฐ ถึงสถานะของสมาชิกพรรครายหนึ่ง ซึ่งได้เข้าศึกษาหลักสูตรภาษาอังกฤษสำหรับนักศึกษาปริญญาเอก ระดับกลาง ในมหาวิทยาลัย แต่ไม่ได้เข้าเรียนด้วยตัวเอง กระทั่งถูกตัดสิทธิ์นักศึกษา
ต่อมา มีคำสั่งมหาวิทยาลัยรามคำแหงที่ 3437/2564 ลงวันที่ 28 ตุลาคม 2564 ลงนามโดย ผศ.เตมีย์ ระเบียบโลก รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา ประธานกรรมการสอบวินัยนักศึกษา เรื่องการแต่งตั้งกรรมการสอบวินัยนักศึกษา ได้พิจารณาและรายงานผลการสอบวินัยนักศึกษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ได้มีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการสอบวินัยนักศึกษา เสนอให้ยุติเรื่อง ตามนัยมติที่ประชุม ก.บ.ม.ร.ครั้งที่ 14/2556 วาระที่ 5.53 วันที่ 8 มิถุนายน 2565
หลังจากนั้น ‘สามารถ’ ระบุผ่านเฟซบุ๊กว่า คำสั่งมหาวิทยาลัยรามคำแหงทำให้ตัวเองไม่มีความผิดทางวินัยนักศึกษาและไม่ถูกตัดสิทธิ์ เพราะเรื่องสอบสวนไม่มีมูล จึงต้องยุติเรื่องขั้นตอนการตรวจสอบของมหาวิทยาลัย สาเหตุที่ใช้เวลานาน เพราะคณะกรรมการสอบสวนได้สืบ หาข้อมูลจากหลายบุคคลสอบพยานหลายสิบปากเพื่อให้เกิดความกระจ่างและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
และเมื่อไม่นานมานี้ ‘สามารถ’ ได้กลับมาโลดแล่นบนถนนสายการเมืองอีกครั้ง โดยได้กลับเข้ามาเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐอีกครั้ง แต่การกลับมาคราวนี้ได้ขยับขึ้นมาเป็นคนใกล้ชิดและเป็นปากเป็นเสียงแทน ‘ลุงป้อม’ กันเลยทีเดียว
แต่ภายหลังจากมีคลิปเสียงหลุดออกมาในครั้งนี้ คงต้องติดตามดูว่า ‘ลุงป้อม’ ยังจะไว้วางใจให้เป็นคนใกล้ชิดต่อไปหรือจะขับพ้นพรรค ตามที่มีคนยื่นเรื่องถึงลุงป้อมแล้วก่อนหน้านี้