Sunday, 19 May 2024
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ปกท.ทส. เผยความคืบหน้าการสอบวินัยร้ายแรง อธิบดีฯ รัชฎา คาดไม่แล้วเสร็จโดยเร็ว และอาจเกิดการเสียหายแก่ราชการ จึงให้ออกจากราชการไว้ก่อน เพื่อรอผลการสอบวินัยต่อไป

วันนี้ (3 กุมภาพันธ์ 2566) ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปกท.ทส.) เผยถึงความคืบหน้าการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรณีถูกจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหาจากพฤติการณ์เรียกรับเงินจากเจ้าหน้าที่ในสังกัดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งเป็นกรณีที่อยู่ในความสนใจของสาธารณชน ว่า จากรายงานความก้าวหน้าการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงในเบื้องต้น พบว่า ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อภาพพจน์ของข้าราชการ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงกระทบต่อความรู้สึก ความเชื่อถือศรัทธาของพี่น้องประชาชน อีกทั้ง การพิจารณาพยานหลักฐานและการสอบสวนพยานบุคคลที่ถูกกล่าวหาอ้างถึง จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการสอบสวนเพื่อให้ครอบคลุมทุกข้อกล่าวหาและทุกประเด็น ซึ่งคาดว่าจะไม่แล้วเสร็จโดยเร็ว ฝ่ายกฎหมายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้พิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่ร้ายแรง มีผลกระทบต่อชื่อเสียงของหน่วยงาน และความเชื่อมั่นของประชาชนในการบริหารงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก หากจะให้นายรัชฎา อยู่ในหน้าที่ราชการต่อไปอาจเกิดการเสียหายแก่ราชการ ซึ่งเป็นเหตุให้พักงานได้ตามกฎ ก.พ. ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ. 2556 ข้อ 78 (1) ประกอบกับพิจารณาแล้วว่า การสอบสวนในกรณีนี้จะไม่แล้วเสร็จโดยเร็ว เนื่องจากคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง มีขั้นตอนที่ต้องดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดอีกหลายขั้นตอน และมีพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก ตนจึงได้ออกคำสั่งให้ นายรัชฎา ออกจากราชการไว้ก่อน ตามกฎ ก.พ.ฯ ข้อ 83 โดยมีผลตั้งแต่วันนี้ (3 กุมภาพันธ์ 2566) เป็นต้นไป

‘วราวุธ’ ไล่เด็กก้าวไกล ดูเนื้องานแก้ PM2.5 สอน!! ต้องคิดแก้ปัญหาระยะสั้น-ยาว อย่าสักแต่พูดลอยๆ

(7 มี.ค. 66) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวถึงการแก้ปัญหาไฟป่าว่า ทส. ได้ประกาศปิดอุทยานแห่งชาติในภาคเหนือไป 6-7 แห่ง และได้โยกสรรพกำลังเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ระดมไปดูแลไฟป่าที่เกิดขึ้น ส่วนกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องงบประมาณการดับไฟป่านั้น ขอทำความเข้าใจว่าเป็นงบของกรมอุทยานฯ ที่ใช้ในการดับไฟป่าในเขตพื้นที่อนุรักษ์ ระดมอุปกรณ์เฮลิคอปเตอร์เจ้าหน้าที่เพื่อควบคุมรักษาดับไฟป่าไม่ให้ลุกลาม พยายามไม่ให้เผาไหม้มากกว่าที่เป็นอยู่ ทส. ได้ขอความร่วมมือไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดและส่วนราชการต่าง ๆ ขอให้เข้มงวด เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้การเผาไหม้ขยายวงมากขึ้น 

นายวราวุธ กล่าวว่า ส่วนกรณีนายนิติพล ผิวเหมาะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล วิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ได้นั้น ต้องขอขอบคุณที่มีการตั้งข้อสังเกตมา แต่อยากให้เข้าไปดูเนื้องานด้วย ไม่ใช่เอาแต่พูดอย่างเดียวเพื่อให้ได้เนื้อข่าวในช่วงสถานการณ์เลือกตั้ง ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทส.ได้ประสานงานกับทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และขอย้ำว่าเราไม่เคยโทษพี่น้องเกษตรกรหรือกลุ่มชาติพันธุ์ตามที่นายนิติพลเข้าใจผิด ขณะเดียวกัน ไม่เคยบอกว่าเป็นความผิดของบริษัทห้างร้านใหญ่ ๆ เพราะเวลาเกิดปัญหาขึ้น มันเป็นความผิดของทุกคน ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง ดังนั้น ต้องแก้ไขร่วมกัน เพราะเมื่อเกิดปัญหา PM2.5 มันไม่ได้เลือกว่าจะมาที่เกษตรกร ชาติพันธุ์ นายทุนใหญ่

สส. ผนึกพลัง ยกระดับความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ACE Dialogue)

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการการเสริมพลังความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ACE Dialogue) ในวันพฤหัสบดีที่ 27 เมษายน 2566 ณ ห้องประชุมอารีย์สัมพันธ์ ชั้น 3 อาคารกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และผ่านระบบการประชุมทางไกล Video Conference เพื่อสร้างการรับรู้ ความตระหนัก รวมถึงแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การมีส่วนร่วมด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเปิดโอกาสในการสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วน นำพาประเทศไทยไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำที่พร้อมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
นายวรพล จันทร์งาม รองอธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศถือเป็นเรื่องวิกฤตที่ส่งผลกระทบต่อทุกคนบนโลกนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้เกิดภัยแล้ง พายุ คลื่นความร้อน ธารน้ำแข็งละลาย ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น รวมถึงอุณภูมิโลกที่เพิ่มขึ้น เหตุการณ์เหล่านี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิ่งมีชีวิต ทำลายสถานที่อยู่อาศัย สร้างความเสียหายต่อวิถีชีวิตและชุมชนของเราในระดับโลก ประเทศไทยได้ตระหนักถึงความจำเป็นในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยในการประชุม World Leaders Summit ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (UNFCCC COP26) นายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประกาศเจตนารมณ์ยกระดับการดำเนินการของไทย ที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emission) ภายในปี ค.ศ. 2065


กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) ในฐานะหน่วยประสานงานกลางของประเทศ ดำเนินการตามกรอบมาตรา 6 ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (National Focal Point of Action for Climate Empowerment (ACE) under UNFCCC Framework) มีหน้าที่ในการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ ความตระหนักด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสร้างภาคีเครือข่ายความร่วมมือในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยให้กับทุกภาคส่วน

'วราวุธ' ยกผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ชู!! 'วิธีคิด-ปรับตัว' สร้างแรงขับเคลื่อนแก่ภาคการเกษตร

เมื่อวันที่ 18 ส.ค. 66 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ได้ให้เกียรติบรรยายให้กับผู้เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรวิทยาการเกษตรระดับสูง (วกส.) รุ่นที่ 4 ซึ่งจัดโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับ มูลนิธิเกษตราธิการ และ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) ณ พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดปทุมธานี ในประเด็น ‘ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับด้านภาคเกษตรไทย’ เน้นย้ำ การปรับเปลี่ยนวิธีคิด วิธีทำ ให้เกิดแรงขับเคลื่อนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะนำพาประเทศไทยก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ได้อย่างยั่งยืน

นายวราวุธ ได้กล่าวถึง ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย ว่าประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับ 19 ของโลก ซึ่งมาจากภาคการเกษตรกว่า 56.7 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ทำให้ต้องปรับปรุงยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทย หรือ LT-LEDS และจัดทำเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 2 (The 2nd updated NDC) โดยทบทวนแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกรายสาขาที่สอดคล้องกับเป้าหมาย NDC ซึ่งมีการขับเคลื่อนการดำเนินงานที่สำคัญ ทั้งด้านการพัฒนากลไกตลาดคาร์บอนเครดิตในประเทศ จัดทำแนวทางและกลไกการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต ส่งเสริมภาคเกษตรในการลดก๊าซเรือนกระจก ผ่านโครงการ Thai Rice NAMA ทำนาวิถีใหม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และพัฒนาโครงการ Thai Rice GCF เสนอต่อกองทุนภูมิอากาศสีเขียว 

ในด้านการเพิ่มแหล่งกักเก็บและดูดกลับก๊าซเรือนกระจก มีการส่งเสริมการปลูกป่าและแบ่งปันคาร์บอนเครดิต ด้านการค้า/การลงทุน ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยต้องขึ้นทะเบียนในระบบ CBAM registry และต้องยื่นขอสถานะ CBAM declarant ก่อนนำสินค้าเข้าไปยัง EU รวมถึงในด้านกฎหมาย ที่จะเร่งผลักดัน (ร่าง) พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การตั้งกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ที่มีผลบังคับใช้ในวันนี้ (18 ส.ค.66) เป็นต้นไป เพื่อรองรับการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ได้ฝากถึง ผู้บริหารระดับสูงในภาคการเกษตร ทุกท่าน ที่เข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตรนี้ รวมถึงเครือข่าย ความร่วมมือต่าง ๆ ที่ทุกคนมี ให้ช่วยกระตุ้นภาคการเกษตร ให้ร่วมปรับเปลี่ยนวิธีคิด วิธีทำ สร้างแรงขับเคลื่อนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

‘ทส.’ กำชับเฝ้าระวัง ‘บ่อขยะ-ระบบบำบัดน้ำเสีย’ พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม พร้อมสั่งเร่งป้องกัน หวั่นเหตุอุทกภัยส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

(3 ต.ค. 66) นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) มีข้อสั่งการให้หน่วยงานใน ทส. ติดตามสถานการณ์และช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย

โดยให้ คพ. สำรวจสถานที่กำจัดขยะมูลฝอย และระบบบำบัดน้ำเสีย ในพื้นที่น้ำท่วม หรือในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม เพื่อเตรียมการรับมือ พร้อมเฝ้าระวังผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากเหตุอุทกภัย โดยเฉพาะน้ำเน่าเสีย และน้ำเสียจากบ่อขยะ

นายปิ่นสักก์ กล่าวว่า คพ.ได้ปรับปรุงรายชื่อสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่เสี่ยงจะได้รับผลกระทบน้ำท่วม เพื่อติดตามและให้คำแนะนำทางวิชาการ และได้จัดส่งหนังสือแจ้งเตือนไปยังกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผู้ว่าราชการ 76 จังหวัด และผู้ว่ากรุงเทพมหานคร พร้อมจัดทำวันเพจ แจ้งเตือนภัยสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่เสี่ยงได้รับผลกระทบน้ำท่วม และอยู่ระหว่างการติดตามและเฝ้าระวังพายุลูกใหม่ต่อไป เพื่อแจ้งเตือนเป็นระยะ

อธิบดีคพ. กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ได้มอบหมายให้สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษ ที่ 1 – 16 ติดตามและรายงานข้อมูลเชิงพื้นที่และรายงานส่งให้ คพ. ทุกวัน

ล่าสุด จากการตรวจสอบ พบว่า มีสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่ได้รับผลกระทบ 2 แห่ง ได้แก่

1.) สถานที่กำจัดขยะมูลฝอย ทม.เมืองสวรรคโลก ต.ย่านยาว อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย มีข้อแนะนำให้ก่อสร้างคันดินและปรับปรุงการระบายน้ำฝนภายในพื้นที่ รวมถึงปรับปรุงถนนเพิ่มเติม

2.) สถานที่กำจัดขยะมูลฝอยของ อบต.ดงละคร อ.เมือง จ.นครนายก มีคำแนะนำให้หาพื้นที่ทิ้งขยะชั่วคราว ประสานขอทิ้งร่วมกับ อปท. ใกล้เคียง และดำเนินการดักกั้นขยะมูลฝอยที่ลอยไม่ให้ออกสู่ภายนอก

‘ทส.-กษ.’ รวมพลังแก้ปัญหาฝุ่นเชิงรุก เฝ้าระวัง 10 ป่าอนุรักษ์-ป่าสงวนฯ จับตาพื้นที่เกษตรเผาไหม้ซ้ำชาก พร้อมหนุนใช้เทคโนโลยีแจ้งเตือน ปชช.

(2 พ.ย. 66) น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีการหารือกับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อร่วมมือและกำหนดแนวทางแก้ปัญหา โดยในภาคเกษตรจะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการที่จะช่วยลดฝุ่น PM 2.5 ซึ่งจากการหารือได้ร่วมกันกำหนดเป้าหมายหลักแบบมุ่งเป้า ได้แก่ 10 ป่าอนุรักษ์ 10 ป่าสงวนแห่งชาติ และพื้นที่เกษตรที่ไฟไหม้ซ้ำชาก จะลดป่าเผาไหม้ และพื้นที่เกษตรเผาไหม้ลงร้อยละ 50 พื้นที่ ส่วนเป้าหมายรองเป็นพื้นที่อื่นๆ ที่ต้องลดการเผาไหม้ และควบคุม

น.ส.เกณิกา กล่าวว่า รัฐบาลได้กำหนดแนวทางบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่เกษตร จัดทำข้อมูลเกษตรกรและจำนวนพื้นที่ กำหนดเงื่อนไขการเผา และประกาศให้รับรู้ ใช้ระบบ BurnCheck ประมวลผล พร้อมทั้งส่งเสริมเกษตรปลอดการเผา โดยเฉพาะในพื้นที่ไร่อ้อย และพื้นที่นาข้าว การบริหารจัดการเศษวัสดุเหลือใช้การเกษตร ในพื้นที่เกษตรรอบโรงไฟฟ้า ชีวมวลในรัศมี 50 กิโลเมตร การแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม

พล.ต.อ.พัชรวาท เข้าใจเกษตรกร หากจำเป็นต้องเผา ให้ขออนุญาตฝ่ายปกครอง หรือ ‘อปท.’ ก่อน ฝ่ายปกครอง หรือ ‘อปท.’ อนุญาตเผาตามหลักเกณฑ์ที่ตกลงกัน และกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด ประมวลผล ผ่านระบบ BumCheck จัดตั้งชุดปฏิบัติการประจำพื้นที่ (ระดับอำเภอ) เฝ้าระวัง ออกตรวจป้องปราม ระงับ ยับยั้ง แจ้งเหตุ และระดมสรรพกำลัง เฝ้าระวัง ป้องกันการลักลอบเผา

พร้อมกันนี้ จะให้มีการนำระบบการรับรองผลผลิตทางเกษตรแบบไม่เผา (GAP PM2s Free) มาใช้เป็นเครื่องมือปรับเปลี่ยนระบบการปลูกพืช และการเปลี่ยนพืชที่มีการเผาให้ปลอดการเผา ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่สูงอ้อย ข้าว กำหนดเงื่อนไขเรื่องการห้ามเผากับมาตรการสนับสนุนต่าง ๆ ของภาครัฐ

“ในส่วนของการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่กลับมาอีกครั้ง หลังจากที่ฤดูฝนกำลังจะหมดไป โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งมีปัญหารุนแรงด้านมลพิษฝุ่นมาโดยตลอด ค่าฝุ่น PM 2.5 เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ

ทั้งนี้ กระทรวงทรัพากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เตรียมความพร้อมปฏิบัติการเชิงรุก มีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศทั่วประเทศ และมีระบบแจ้งเตือนข้อมูลไปยังประชาชน โดยนับจากวันนี้ไป ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศจะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลาง ในการให้ข้อมูลสถานการณ์ฝุ่นแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง” น.ส.เกณิกา กล่าว

‘พัชรวาท’ สั่ง!! เร่งระดมสมองแก้ฝุ่นพิษ หลังค่า ‘PM2.5’ พุ่ง  ชงใช้นวัตกรรมแก้ปัญหาเร่งด่วน เปิดกว้างเอกชนเสนอเทคโนโลยี

(26 พ.ย. 66) ร.อ.รชฏ พิสิษฐบรรณกร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้รับรายงานสถานการณ์ค่าฝุ่น PM 2.5 ในเขต กทม.และปริมณฑล ซึ่งพบว่าในช่วงที่ผ่านมามีค่าเกินมาตรฐาน จึงได้มอบหมายให้ พล.ต.ท.อภิรัต นิยมการ รองเลขาธิการ นรม. เรียกประชุมด่วนเพื่อติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ใน กทม.และปริมณฑลอย่างใกล้ชิด และแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน เนื่องจากส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง

ร.อ.รชฏกล่าวถึงการประชุมวันนี้ว่า พล.ต.ท.อภิรัต เป็นประธานการประชุม โดยมีนายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ, นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาการอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมด้วย ได้หารือถึงสภาพปัญหาโดยเฉพาะพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ที่มีค่าฝุ่นเกินมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ประชุมได้สะท้อนปัญหาว่าช่วงนี้เป็นช่วงอากาศปิด ทำให้ค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน ประกอบกับสภาพการจรจรที่มีปริมาณการใช้รถใช้ถนนจำนวนมาก สำหรับปัญหาควันจากการเผา จะขอความร่วมมือในพื้นที่ปริมณฑลไม่ให้มีการเผาในพื้นที่โล่ง และขอความร่วมมือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันบูรณาการแก้ไขปัญหา

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เสนอให้มีการใช้นวัตกรรมร่วมแก้ไขปัญหาฝุ่น เช่น การติดตั้งพัดลมยักษ์ตามจุดต่างๆ ในพื้นที่ของกลุ่มเปราะบาง และตามสถานศึกษา เพื่อให้เป็นเซฟโซน ทำให้เกิดอากาศหมุนเวียน พร้อมกันนี้ยังได้เปิดรับฟังข้อเสนอของภาคเอกชน เชิญชวนให้มาร่วมนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สามารถบรรเทา และแก้ปัญหาได้ และยังเป็นการระดมสมอง เพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาระดับชาติต่อไป และได้นำเรียนผลการประชุมรายงาน พล.ต.อ.พัชรวาทแล้ว

“ท่านรองนายกฯ และ รมว.ทส.ห่วงใยสุขภาพของประชาชนอย่างมาก ได้เร่งรัดให้ทุกฝ่ายแก้ไขปัญหาให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ประชาชนเกิดความสบายใจ ไม่ให้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เร็วๆ นี้ ผมจะลงพื้นที่ติดตามจุดที่พบว่าเป็นต้นกำเนิดฝุ่น ตามที่ พล.ต.อ.พัชรวาทสั่งการ เพื่อหามาตรการแก้ไขเพิ่มเติมทั้งในระยะเร่งด่วน และระยะยาวต่อไป” ร.อ.รชฏ กล่าว

‘บิ๊กป้อม’ กางผลงาน ‘พปชร.’ 3 เดือน ผ่าน 3 กระทรวงหลัก ลั่น!! ใช้สติปัญญาแก้ปัญหาให้ ปชช. มากกว่าสร้างวาทกรรม

(29 ธ.ค. 66) นายอรรถกร ศิริลัทธยากร สส.ฉะเชิงเทรา โฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดเผยว่า พรรค พปชร.ภายใต้การนำของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรค พปชร. ที่เข้าร่วมรัฐบาลครบ 3 เดือน ได้ขับเคลื่อนนโยบายของพรรคที่สอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลผ่าน 3 กระทรวงหลัก คือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ กระทรวงสาธารณสุข ได้สานต่อนโยบายเรื่องที่ทำกิน ยกระดับราคาสินค้าเกษตร บริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน และดูแลสิ่งแวดล้อมที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 รวมถึงการยกระดับสุขอนามัยขั้นพื้นฐานให้ประชาชน

พรรค พปชร.สามารถดำเนินการประสบความสำเร็จในหลายเรื่อง ทำให้พี่น้องประชาชนสามารถเข้าถึงการดูแลในด้านต่างๆ ได้เป็นรูปธรรม อาทิ กำหนดให้การแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 เป็นวาระแห่งชาติ และนำเสนอร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. … ที่กำหนดกลไกในการบริหารจัดการและควบคุมกิจกรรมต่างๆ เพื่อลดมลพิษทางอากาศในทุกมิติที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ ก่อนจะส่งกลับให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา เพื่อส่งให้รัฐสภาต่อไป

นอกจากนั้น ยังร่วมกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องดำเนินมาตรการลดฝุ่นละออง จากแหล่งกำเนิด ควบคุมการเผาป่า ร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านลดปัญหาหมอกควันข้ามแดน และยังมีแผนรับมือปัญหาภัยแล้ง โดยเร่งรัดการดำเนินโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริกว่า 47 โครงการ 48 แห่ง

พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ส่วนกระทรวงเกษตรฯ ได้ผลักดันนโยบายเปลี่ยนเอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก. 4-01 เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร ขณะนี้มีเกษตรกรยื่นเจตจำนงเป็นจำนวนมาก และผลักดันการช่วยเหลือเยียวยาให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 เพื่อสนับสนุนค่าบริหารจัดการและคุณภาพผลผลิต ให้เงินอุดหนุน 1,000 บาทต่อไร่ ไม่เกิน 20 ไร่ต่อครัวเรือน มีเกษตรกรกว่า 4.68 ล้านครัวเรือนที่ได้รับการเยียวยา นอกจากนั้นมีมาตรการปราบปรามสินค้าเกษตรเถื่อน ทั้งห้องเย็นด้านปศุสัตว์ 2,437 แห่ง ด้านประมง 2,062 แห่ง และใช้มาตรการกฎหมายจับกุมผู้กระทำผิดลักลอบนำเข้าเนื้อสุกรจากต่างประเทศจำนวนมาก ในอนาคตจะขยายผลให้ครอบคลุมสินค้าเกษตรอื่นๆ ทั้งพืชและประมงเพิ่มเติม

ขณะที่การดำเนินงานด้านสาธารณสุข ได้ผลักดันการบริการเข้าถึงระบบสาธารณสุขระดับชุมชนทั่วประเทศ เพื่อลดค่าใช้จ่ายและความแออัดในการเดินทางมาใช้บริการในเมือง ยกระดับมาตรฐาน รพ.สต.ทั่วประเทศ ให้มีคุณภาพเทียบเท่าโรงพยาบาลขนาดใหญ่ โดยมีเทคโนโลยีเชื่อมต่อการรักษาจาก รพ.สต.ถึงโรงพยาบาลใหญ่ พร้อมสนับสนุนทุนการศึกษาสำหรับบุตรหลาน อสม. หรือเด็กในชุมชน ให้ได้เรียนแพทย์ เรียนพยาบาล เพื่อกลับมาดูแลชุมชน และขยายหมอชุมชน หรือ ‘อสม.’ ให้เพียงพอกับประชาชนในพื้นที่ และผลักดันส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุให้ดำรงชีวิตประจำวัน และสามารถรับบริการด้านสาธารณสุขถึงที่บ้านได้อย่างสะดวกสบาย รวมถึงส่งเสริมสตรีมีบุตรเพื่อเพิ่มประชากรให้ทันต่อการพัฒนาประเทศ

พล.อ.ประวิตรกล่าวด้วยว่า สำหรับงานนิติบัญญัติ สส.ของพรรค ได้ผลักดันกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน เพื่อเสนอกฎเข้าสู่ที่ประชุมสภา และทำหน้าที่กรรมาธิการในคณะต่างๆ เพื่อนำปัญหาของประชาชนในพื้นที่เข้าสู่การแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม โดยทำหน้าที่อย่างสร้างสรรค์ มีวุฒิภาวะ เน้นใช้ข้อมูล สติปัญญามากกว่าวาทกรรม

‘บิ๊กป๊อด’ สั่ง!! ‘กรมอุทยานฯ-ทช.’ ผนึกกำลังตามหา ‘วาฬเผือก’ หวังเก็บภาพ-ข้อมูลเป็นกรณีศึกษาและสำรวจธรรมชาติในทะเล

(7 ม.ค. 67) เฟซบุ๊ก ‘กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช’ ระบุข้อความว่า ตามที่ปรากฏคลิปวีดิโอวาฬสีขาวในทะเลอันดามัน บริเวณเส้นทางระหว่างภูเก็ตและเกาะพีพี ซึ่งถ่ายได้จากเรือนำเที่ยวขณะนำนักท่องเที่ยวออกไปเที่ยว ทางตอนใต้ของเกาะคอรัล (เกาะเฮ) จังหวัดภูเก็ต จากการสอบถามข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญทราบว่า ปรากฏการณ์ในการค้นพบวาฬชนิดดังกล่าว เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก มีโอกาสน้อยมากที่จะได้เห็นวาฬที่มีสีขาวทั้งตัว (Albino whale) นับเป็นรายงานแรกในประเทศไทย

ล่าสุด พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้สั่งการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ผนึกกำลังเร่งสำรวจหาวาฬเผือกดังกล่าว เพื่อเก็บภาพ เป็นข้อมูลเพื่อทำการศึกษาทางวิชาการ

โดยเมื่อวันที่ 6 ม.ค.ที่ผ่านมา นายอรรถพล เจิญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากนายยุทธพงค์ ดำศรีสุข หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ หาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี รายงานปฏิบัติการค้นหาวาฬโอมูระ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติฯ และพื้นที่ใกล้เคียง สืบเนื่องจากปฏิบัติการตั้งแต่วันที่ 5 ม.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ร่วมกับเจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 จังหวัดตรัง ได้นำเรือตรวจการณ์พร้อมอากาศยานไร้คนขับ (Drone) ออกสำรวจพื้นที่ทางทะเล ตามที่ได้รับรายงานว่าพบเจอวาฬโอมูระ ในพื้นที่เกาะพีพีดอน เกาะพีพีเล เกาะปิกะนอก โดยการปฏิบัติการค้นหายังไม่พบวาฬ ดังกล่าวแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ในวันนี้ (7 ม.ค. 67) จะดำเนินการประสานงานร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นำทีมโดย ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์  ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิจัยทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ในระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 จังหวัดตรัง ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่  2 จังหวัดภูเก็ต พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำเรือตรวจการณ์ พร้อมอากาศยานไร้คนขับ (Drone) จัดชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจในการร่วมสำรวจข้อมูลในพื้นที่ที่ได้รับแจ้งว่ามีการพบการปรากฏตัวของวาฬเผือก

สำหรับวาฬโอมูระ มีสถานะเป็นสัตว์ป่าสงวน ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562

‘วาฬโอมูระ’ (Omura’s whale) จัดอยู่ในกลุ่ม สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (Mammals) ที่อาศัยในทะเล ตัวเต็มวัยมีขนาด 10-11.5 เมตร น้ำหนักไม่เกิน 20 ตัน ส่วนใหญ่พบการกระจายในมหาสมุทรแปซิฟิก สำหรับในประเทศไทยมีรายงานการพบวาฬโอมูระทั้งฝั่งอ่าวไทย และอันดามัน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จึงขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการเรือท่องเที่ยว เรือประมง หากพบเจอสัตว์ชนิดดังกล่าว โปรดรักษาระยะห่าง และถ่ายภาพเก็บข้อมูล พร้อมทั้งแจ้งให้กรมอุทยานแห่งชาติฯ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ เพื่อลงเก็บข้อมูลทางวิชาการต่อไป

ขอบคุณภาพ-ข้อมูล เฟซบุ๊ก : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top