Sunday, 19 May 2024
กรมอนามัย

'กรมอนามัย' ร่วมกับเครือข่าย แก้ปัญหาขยะติดเชื้อล้น แนะทิ้งถูกวิธี ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเทศบาลนครนนทบุรี และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง บูรณาการความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาขยะติดเชื้อล้นแนะทิ้งให้ถูกวิธีตามหลักสุขาภิบาล 

วันนี้ (9 มีนาคม 2565) นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังแถลงข่าว ร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานและเทศบาลนครนนทบุรี บูรณาการความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาประเด็น “การบริหารจัดการและแนวปฏิบัติ ในการจัดการมูลฝอยติดเชื้อภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19” ณ ห้องประชุมสมบูรณ์ วัชโรทัย อาคาร 1 ชั้น 2 กรมอนามัย ว่า อธิบดีกรมอนามัย (นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย) มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ปริมาณมูลฝอยติดเชื้อที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 

โดยเฉพาะมูลฝอยติดเชื้อที่เกิดขึ้นในชุมชน ทั้งจากศูนย์แยกกักในชุมชนและการแยกกักที่บ้าน เนื่องจากทุกครอบครัวสามารถซื้อชุดตรวจ ATK เพื่อนำมาใช้ตรวจโควิด-19 ด้วยตัวเองได้ จึงก่อให้เกิดมูลฝอยทั่วไป และมูลฝอยติดเชื้อจากครัวเรือนมากขึ้น โดยคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณมูลฝอยติดเชื้อเกิดขึ้นสูงสุดในช่วงเดือนเมษายน 2565 เฉลี่ยประมาณ 789 ตัน/วัน ขณะที่ศักยภาพระบบการกำจัดรวมมูลฝอยติดเชื้อในภาพรวมของประเทศ สามารถกำจัดได้เพียง 342.3 ตัน/วันเท่านั้น จึงส่งผลให้เกิดปัญหาการจัดการมูลฝอยติดเชื้อในหลายพื้นที่ ตั้งแต่ปัญหาการสะสมตกค้าง ณ แหล่งกำเนิด กระบวนการเก็บขนที่มีอยู่ไม่เพียงพอ และไม่สามารถให้บริการได้ครอบคลุม   

นายแพทย์อรรถพล กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้กรมอนามัยได้ประสานความร่วมมือกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เทศบาลนครนนทบุรี และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง บูรณาการความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ครอบคลุมตั้งแต่การจัดการที่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ทำให้สามารถจัดหาสถานที่กำจัดเพิ่มเติม จำนวน 11 แห่ง มีศักยภาพการกำจัด 1,189 ตันต่อวัน เมื่อรวมกับระบบกำจัดมูลฝอยติดเชื้อเดิมทำให้ภาพรวมของประเทศมีศักยภาพของระบบกำจัดมูลฝอยติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็น 1,532 ตันต่อวัน เพียงพอและสามารถรองรับปริมาณมูลฝอยติดเชื้อที่เกิดขึ้นของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

อีกทั้ง การบริหารจัดการมูลฝอยติดเชื้อที่กรมอนามัยจัดทำขึ้น เป็นการบริหารจัดการที่ให้ความสำคัญตั้งแต่ กระบวนการคัดแยก เก็บขน และกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ โดยทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องให้ความร่วมมือในการจัดการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งมีอำนาจและหน้าที่ในการบริหารจัดการมูลฝอยติดเชื้อในพื้นที่รับผิดชอบ

“ทั้งนี้ มูลฝอยที่เกิดขึ้นในชุมชนที่เกิดจากการแยกกักตัวที่บ้าน หรือ Home Isolation ให้ทำการคัดแยกขยะ เพื่อเป็นการลดปริมาณมูลฝอยติดเชื้อที่ต้องกำจัด โดยคัดแยกเป็น 2 ส่วน คือ 1) มูลฝอยที่ไม่ได้ปนเปื้อนน้ำมูก น้ำลาย หรือ สารคัดหลั่ง เช่น เอกสารกำกับชุดตรวจ และกล่องบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น ขยะประเภทนี้ให้เก็บรวบรวมทิ้งถังขยะทั่วไปที่มีฝาปิดมิดชิด 2) มูลฝอยที่ปนเปื้อนน้ำมูก น้ำลาย หรือสารคัดหลั่ง เช่น หน้ากากอนามัย กระดาษทิชชู ภาชนะใส่อาหารพร้อมบริโภค (แบบใช้ครั้งเดียว) และชุดตรวจ ATK (ตลับหรือแผ่นทดสอบ หลอดใส่น้ำยา ฝาหลอดหยด ไม้ Swap) เป็นต้น ถือเป็นมูลฝอยที่มีความเสี่ยงสูง ให้แยกจัดการเป็นมูลฝอยติดเชื้อ เพราะมีโอกาสแพร่กระจายเชื้อโรคได้

สถิติชวนอึ้ง!! ‘กรมอนามัย’ ห่วงเด็กไทย ‘อ้วน’ ติด 1 ใน 3 ของอาเซียน ชี้ ควรกินอาหารเพื่อสุขภาพ-ออกกำลังกายควบคู่

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยข้อมูลพบเด็กไทยมีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนติด 1 ใน 3 ของอาเซียน ซึ่งเด็กไทยอายุ 0-5 ขวบมีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน ร้อยละ 9.13 เด็กวัยเรียน 6-14 ปี มีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน ร้อยละ 13.4 และเด็กวัยรุ่น 15-18 ปี มีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วนร้อยละ 13.2 ซึ่งสหพันธ์โรคอ้วน (World Obesity Federation) คาดการณ์ภายในปี 2573 ประชากรอายุต่ำกว่า 20 ปี จะมีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนสูงขึ้นอีกเกือบร้อยละ 50 พร้อมแนะกินอาหารชูสุขภาพ ถูกหลักโภชนาการ และเสริมการออกกำลังกายป้องกันภาวะอ้วน

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า เนื่องในวันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมา เป็นวันโรคอ้วนโลก (World Obesity Day) กรมอนามัยขอเชิญชวนประชาชนร่วมกันสร้างสิ่งแวดล้อมให้เด็กไทยปลอดภัย จากการตลาดอาหารและเครื่องดื่มหวานมันเค็มเกิน ลดเสี่ยงโรคอ้วน เนื่องจากการเฝ้าระวังภาวะเริ่มอ้วนและอ้วนในเด็กของกระทรวงสาธารณสุข (Health Data Center) ณ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 พบว่า เด็กอายุ 0-5 ขวบ ภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน ร้อยละ 9.13 เด็กวัยเรียน 6-14 ปี มีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน ร้อยละ 13.4 และเด็กวัยรุ่น 15-18 ปี มีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน ร้อยละ 13.2 รวมทั้งจากการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ (อาหารและเครื่องดื่มที่มีปริมาณไขมัน น้ำตาล และโซเดียมสูง) ในเด็กพบว่าเด็กประมาณ 1 ใน 3 คน ดื่มนมรสหวานทุกวัน กินขนมกรุบกรอบทุกวัน และดื่มน้ำอัดลมทุกวัน เด็กประมาณ 1 ใน 5 คน ดื่มน้ำหวาน น้ำผลไม้ทุกวัน การสำรวจพฤติกรรมการเลือกซื้อของเด็กไทย ปี 2563 พบว่า เด็กส่วนใหญ่ยังซื้ออาหารตามความชอบ ร้อยละ 27.7 และมีเพียงร้อยละ 8.1 เท่านั้น ที่คำนึงถึงคุณค่าทางอาหาร

นพ.สุวรรณชัยกล่าวต่อไปว่า สาเหตุส่วนใหญ่เกิดพฤติกรรมการกินและออกกำลังกายจากอาหารที่มีปริมาณไขมัน น้ำตาล และโซเดียมสูง เช่น น้ำอัดลม น้ำหวาน อาหารทอดมัน อาหารจานด่วน ขนมขบเคี้ยว เบเกอรี่ และขนมหวานต่างๆ รวมทั้ง เด็กยังมีภาวะในการตัดสินใจเลือกซื้ออาหารน้อย ประกอบกับกลยุทธ์การตลาด ลด แลก แจก แถม ชิงโชค ชิงรางวัล ทำให้การกินอาหารและเครื่องดื่มหวาน มัน เค็มกลายเป็นเรื่องปกติ อาจส่งผลไปยังสุขภาพในอนาคตของเด็กไทย ทั้งนี้ พ่อแม่ ผู้ปกครอง และโรงเรียน คือ ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดเด็กมากที่สุดจึงควรสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพเด็กในการเลือกซื้ออาหาร และส่งเสริมโภชนาการที่ดี จากการเลือกอาหารที่ดีมีประโยชน์ ถูกหลักโภชนาการ ลดการกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์ เช่น อาหารมีปริมาณไขมัน น้ำตาล และโซเดียมสูง และเสริมอาหารที่ถูกหลักโภชนาการให้ครบ 5 หมู่กินอาหารกลุ่มข้าว แป้ง เนื้อสัตว์ในปริมาณที่เหมาะสม เลือกเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน เพื่อเป็นการปลูกฝังนิสัยการบริโภคที่ดีให้กับเด็ก ขนมหวาน ไม่ควรเกิน 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ปลาหรือผลิตภัณฑ์จากปลาอย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์ เนื้อสัตว์ เช่น ไก่ หมู เนื้อ หรือผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ อย่างน้อย 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ไข่ 2-3 ฟองต่อคน ต่อสัปดาห์ ตับ เลือด ปลาเล็กปลาน้อย อย่างละ 1 ครั้งต่อสัปดาห์ ถั่วเมล็ดแห้ง เผือกมันอย่างละ 1 ครั้งต่อสัปดาห์ และเน้นผักและผลไม้ นอกจากนี้ ปริมาณอาหารที่เด็กได้รับในแต่ละมื้อควรเป็นปริมาณที่เหมาะสมกับอายุ ให้ได้รับสารอาหารที่พอดีไม่มากหรือน้อยเกินไป”

‘สธ.’ เผยผลวิจัยคนไทยมี ‘พฤติกรรมเนือยนิ่ง’ นั่งนานกว่า 7 ชม./วัน เหตุการทำงานที่ใช้แรงกายลดลง เตือนเสี่ยงโรค แนะเพิ่มกิจกรรมทางกาย

(27 มี.ค. 66) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า กรมอนามัย ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาสุขภาพระหว่างประเทศไทย (IHPP) ศึกษาวิจัยสถานการณ์การมีกิจกรรมทางกายเพียงพอและพฤติกรรมเนือยนิ่งของคนไทย โดยวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมสุขภาพคนไทยในปี 2564 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในผู้ที่มีอายุ 18 – 80 ปี จำนวน 78,717 คน ครอบคลุม 77 จังหวัด พบว่า ร้อยละ 76 มีพฤติกรรมเนือยนิ่ง โดยการนั่งตั้งแต่ 7 ชั่วโมงขึ้นไปต่อวัน และร้อยละ 72 มีกิจกรรมทางกายเพียงพอ ตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลกคือ 150 นาทีต่อสัปดาห์

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า สาเหตุหนึ่งที่คนไทยมีพฤติกรรมเนือยนิ่งสูง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานที่ใช้แรงกายลดลง เช่น การเปลี่ยนจากการทำงานภาคเกษตรกรรมหรืออุตสาหกรรม เป็นรูปแบบการนั่งในห้องทำงานแทน ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรเนื่องจากอัตราการเผาผลาญพลังงานต่ำ

‘EA’ จับมือ ‘กรมอนามัย’ หนุนการใช้รถยนต์ EV ติดตั้งสถานีชาร์จแห่งแรกในกระทรวงสาธารณสุข

บจก.พลังงานมหานคร บริษัทย่อยในกลุ่ม บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) จับมือกับกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ผลักดันการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย พร้อมจัดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าสำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าแห่งแรกในกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเป็นองค์กรภาครัฐต้นแบบในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

เมื่อวันนี้ 4 ส.ค. 66 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า “ในการเป็นประธานลงนามความร่วมมือโครงการสถานีชาร์จไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าระหว่างกรมอนามัย และ บริษัท พลังงานมหานคร จำกัด ณ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ว่า จากรายงาน Biennial update report ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในปี 2565 พบว่า ก๊าซเรือนกระจกและมลพิษทางอากาศในประเทศไทยประมาณร้อยละ 70 มาจากภาคพลังงานและภาคขนส่ง โดยเฉพาะ PM2.5 ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ ทั้งนี้กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จึงให้ความสำคัญในการรักษาสิ่งแวดล้อมของประเทศ พร้อมสนับสนุนการเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งนโยบายรถไฟฟ้า (EV : Electric Vehicle) ถือเป็นมาตรการหนึ่งที่สำคัญของประเทศในภาคพลังงานและขนส่ง เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดมลพิษทางอากาศ และลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในระยะยาว”

“กรมอนามัย จึงได้ร่วมมือกับ บริษัท พลังงานมหานคร จำกัด วางโครงสร้างพื้นฐานยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน รวมทั้งจัดตั้งสถานีอัดชาร์จสำหรับรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าแห่งแรกของกระทรวงสาธารณสุข เพื่ออำนวยความสะดวกให้บุคลากรในกระทรวงสาธารณสุข และประชาชนทั่วไป ได้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่ใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น ก่อนนำไปสู่การขยายผลให้ครอบคลุมพื้นที่อื่น ๆ รองรับการใช้งานของประชาชนในอนาคต ที่จะช่วยกันลดปัญหาสิ่งแวดล้อม สร้างอากาศที่บริสุทธิ์ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทยต่อไป” กล่าวปิดท้าย

นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) กล่าวว่า “กลุ่มพลังงานบริสุทธิ์ ได้มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจ ‘Green Product’ โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมพลังงานสะอาด มากกว่า 15 ปี ทั้งด้านพลังงานทดแทน พลังงานหมุนเวียน และปัจจุบัน EA ซึ่งเป็นบริษัทไทยบริษัทแรกที่มีการเริ่มต้นพัฒนานวัตกรรมพลังงานไฟฟ้าด้วยฝีมือคนไทย ทั้งธุรกิจแบตเตอรี่และยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งสถานีชาร์จ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้า โดยปัจจุบัน EA เป็นผู้นำด้านการให้บริการสถานีชาร์จรถไฟฟ้า ภายใต้ชื่อ EA Anywhere มากกว่า 5 ปี เปิดให้บริการแล้วกว่า 490 สถานี รวม 2,460 หัวชาร์จ ทั้งสถานีระบบ Normal Charge และ EA ได้คิดค้นนวัตกรรมการชาร์จที่มีประสิทธิภาพสูง ใช้เวลาเพียง 15 - 20 นาที ด้วยเทคโนโลยี Ultra-Fast Charge เพื่อตอบสนองต่อความต้องการ ในการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น สร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า (EV ECOSYSTEM) ที่มีประสิทธิภาพเทียบเท่าระดับสากล

ดังนั้น โครงการดังกล่าว จึงถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญ ที่ EA และ กรมอนามัย หน่วยงานราชการที่มีเจตนารมณ์เดียวกันกับบริษัทฯ ในการร่วมเดินหน้าส่งเสริมสถานีชาร์จสําหรับรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าภายในพื้นที่กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมพลังงานสะอาด  ช่วยลดปัญหามลภาวะทางอากาศ และฝุ่น PM 2.5 ให้กับชุมชนและสังคม สร้างสุขภาพอนามัยที่ดีต่อทุกคน ทั้งยังส่งเสริมให้มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า อันจะทำให้ประเทศไทยสามารถก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคได้เร็วยิ่งขึ้น สนับสนุนขับเคลื่อนให้เกิดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพสิ่งแวดล้อมไทยที่ยั่งยืน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top