Thursday, 15 May 2025
กรมสารนิเทศ

ก.ต่างประเทศ จัดกิจกรรม ‘เชฟตัวน้อยหัวใจใหญ่ เปิดโลกเชฟ’ เพื่อเสริมสร้างความรู้ เสน่ห์-ศาสตร์ การปรุงอาหารไทย

(16 มี.ค.67) กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับ The Food School Bangkok วิทยาลัยเทคโนโลยีครัววันดี สถาบันการอาหารไทย (TCA) ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถานเอกอัครราชทูตเบลเยียมประจำประเทศไทย และสถานเอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทย จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) 'Little Chefs, Big Hearts - เชฟตัวน้อยหัวใจใหญ่ เปิดโลกเชฟ' แก่เยาวชนจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยร่วมมือกับสมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (กลุ่มลูกเหรียง) ซึ่งเป็นเยาวชนไทยพุทธและไทยมุสลิมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ เสน่ห์และศาสตร์การปรุงอาหารไทยและอาหารนานาชาติ ตลอดจนเสริมสร้างโอกาสในการก้าวสู่สายวิชาชีพอาหารและการเป็นเชฟในระดับสากล

กิจกรรมในโครงการประกอบด้วยการฝึกปฏิบัติผ่านการถ่ายทอดทักษะและเทคนิคการปรุงอาหาร โดยนางสาวปิยภาณี โฉมงาม และนายลิขิต แสนบุญครอง เชฟจาก The Food School Bangkok นางชวนชม สงเคราะห์พันธุ์ นางสาวจุฑาภรณ์ ชะมด และนางวิภาทัย สินสุกิจ เชฟอาหารไทยจากวิทยาลัยเทคโนโลยีครัววันดี นาย Marco Avesani เชฟชาวอิตาเลียนจากร้าน La Bottega ซึ่งแนะนำโดยสถานเอกอัครราชทูตอิตาลี การบรรยายและแลกเปลี่ยนความรู้จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิเกี่ยวกับการจัดการสุขาภิบาลอาหารเบื้องต้น และการจัดเตรียมวัตถุดิบและการประกอบอาหารฮาลาล โดย ดร. อาณัฐ เด่นยิ่งโยชน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และแนวทางการออกแบบเมนูอาหารไทยสู่สากล โดยนายชุมพล แจ้งไพร (เชฟชุมพล) จากสถาบันการอาหารไทย (TCA) การรับฟังเส้นทางอาชีพซึ่งจะช่วยเสริมทักษะและสร้างแรงบันดาลใจในการก้าวสู่การเป็นเชฟในอนาคตจากนางสาวศุภกร ขำศรีเมฆ ที่ได้เคยทำงานเป็นเชฟให้แก่เอกอัครราชทูตไทยในหลายประเทศ รวมทั้งได้เข้าเยี่ยมคารวะนาง Sibille de Cartier d’Yves เอกอัครราชทูตเบลเยียมประจำประเทศไทย ณ ทำเนียบเอกอัครราชทูตฯ และร่วมกิจกรรมสาธิตการทำไอศกรีมและวอฟเฟิลต้นตำรับจากเบลเยียม และได้แลกเปลี่ยนรับฟังประสบการณ์การทำงานจากเชฟชาวไทย ผู้ดูแลทำเนียบ และเลขานุการเอกอัครราชทูตเบลเยียมด้วย

กิจกรรมสุดท้ายของโครงการ เยาวชนกลุ่มลูกเหรียงได้มีโอกาสปรุงอาหารสำหรับการจัดเลี้ยงคณะทูตต่างประเทศ ผู้แทนองค์การระหว่างประเทศ และสื่อมวลชน โดยได้ใช้วัตถุดิบพื้นถิ่นภาคใต้นำเสนอในรูปแบบสร้างสรรค์ อาทิ ข้าวยำบก แตงโมและมะม่วงปลากุเลาแห้ง ตูปะชูตง หอยกอและ สะเต๊ะไก่เบตงขนมปังย่าง และซอสแกงถั่ว ไก่ย่างและปลากุเลากรอบเสิร์ฟพร้อมแกงจอแหร้ง กรานิต้ามะม่วงเบากับมะม่วงเบาเชื่อม และเฉาก๊วยชาชักมะพร้าวอ่อน เพื่อแสดงศักยภาพและยกระดับอาหารท้องถิ่น

โครงการ 'Little Chefs, Big Hearts - เชฟตัวน้อยหัวใจใหญ่ เปิดโลกเชฟ' เป็นการดำเนินการทูตสาธารณะ โดยใช้การทูตวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ในระดับประชาชนและช่วยพัฒนาทักษะและนำเสนอศักยภาพของเยาวชนจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางขึ้น ซึ่งจะสามารถสร้างโอกาสและเปิดโลกให้แก่เยาวชนไทย เพื่อนำไปต่อยอดในการประกอบอาชีพ รวมทั้งเกื้อหนุนต่อการพัฒนาสังคมในจังหวัดชายแดนใต้ต่อไปด้วย

‘โฆษก ก.ต่างประเทศ’ แถลงไม่ทิ้ง!! ลูกเรือประมงไทย ย้ำ!! เดินหน้าประสาน ทางการเมียนมา เพื่อขอให้ปล่อยตัว

(5 ม.ค. 68) นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้แถลงการ เกี่ยวกับ ‘ลูกเรือประมงไทย’ โดยมีใจความว่า ...

ตามที่เกิดเหตุการณ์ลูกเรือประมงไทย 4 คนถูกจับโดยกองทัพเรือเมียนมา และถูกตัดสินคดีต้องโทษจำคุกเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567 ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันผลักดันกับทางการเมียนมาเพื่อขอให้มีการปล่อยตัวลูกเรือทั้ง 4 คนโดยเร็ว นั้น

จากการประกาศของทางการเมียนมาในเรื่องการปล่อยตัวผู้ต้องขัง และนักโทษต่างชาติเมื่อวานนี้ (4 มค. 68) รวมนักโทษชาวไทยจำนวน 152 คน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้มีการดำเนินการก่อนหน้านี้ ในการนี้ กระทรวงกระทรวงการต่างประเทศขอขอบคุณฝ่ายเมียนมา อย่างไรก็ดี ขอเรียนว่า ในการประกาศครั้งนี้ ยังไม่พบรายชื่อลูกเรือไทยทั้ง 4 คน ที่ถูกจับกุมล่าสุด รวมอยู่ด้วย จึงเป็นที่ผิดหวังที่กระบวนการปล่อยตัวกลุ่มดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จในครั้งนี้ โดยฝ่ายเมียนมายังอยู่ในระหว่างการพิจารณาตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้อง

ในทางการทูต กระทรวงการต่างประเทศ ได้ดำเนินการอย่างเต็มที่มาโดยตลอดและจะดำเนินการต่อไป ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศเมียนมาก็ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ พยายามผลักดันให้มีการปล่อยตัวโดยเร็ว บนพื้นฐานของการเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน โดยเรื่องดังกล่าวมีคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่น หรือ TBC ที่จะต้องหารือข้อสรุปร่วมกัน ซึ่งรวมถึงแนวทางการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้อีกในอนาคต

ทั้งนี้ ในห้วงที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ผลักดันและติดตามกับทางการเมียนมาอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง รวมทั้งขอการเข้าถึงทางกงสุล (consular access) ในหลายช่องทาง ทั้งการโทรศัพท์พูดคุยกับลูกเรือทั้ง 4 คน เพื่อสอบถามสารทุกข์สุกดิบและให้กำลังใจ และล่าสุดเมื่อวันที่ 3 มค. 2568 เจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้รับอนุญาตให้นำผู้แทนญาติของลูกเรือไทยเข้าเยี่ยมลูกเรือไทยทั้ง 4 คน ที่จังหวัดเกาะสอง ภาคตะนาวศรี  ซึ่งพบว่าลูกเรือไทยทั้ง 4 คน มีสุขภาพแข็งแรง มีกำลังใจดี ได้รับการดูแลตามความเหมาะสม  และได้รับอาหารครบ 3 มื้อ โดยสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้นำสิ่งของจำเป็นไปมอบให้แก่ลูกเรือทั้ง 4 คนด้วย รวมทั้งได้แจ้งกับลูกเรือเกี่ยวกับสถานะการดำเนินการล่าสุดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยในการผลักดันกับฝ่ายเมียนมาเพื่อนำไปสู่การปล่อยตัวโดยเร็ว

สุดท้ายนี้ ขอเรียนว่า กรณีนี้ มีความละเอียดอ่อนทั้งในแง่เรื่องการปล่อยตัวลูกเรือชาวไทย ประเด็นปัญหาการทำประมงของทั้งสองฝ่าย รวมทั้งความสัมพันธ์ในภาพรวมของสองประเทศ ดังนั้น จึงต้องอาศัยความอดทนและช่องทางการเจรจาอย่างแนบเนียน โดยดำเนินการ ดังนี้ 

(1.) เร่งช่วยเหลือให้ลูกเรือได้รับการปล่อยตัว ซึ่งย่อมขึ้นอยู่กับกระบวนการภายในต่างๆ ของเมียนมาด้วย โดยกระทรวงการต่างประเทศจะผลักดันทางการทูตต่อไป 

(2.) แก้ไขปัญหาผ่านกลไก TBC ร่วมกันกับฝ่ายเมียนมาต่อไป 

ขอให้มั่นใจว่ากระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะติดตามและดำเนินการทุกอย่างในส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ ผ่านทุกช่องทางอย่างต่อเนื่องต่อไป เพื่อให้คนไทยทั้ง 4 คนได้รับการปล่อยตัวต่อไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top