Saturday, 18 May 2024
กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน

‘ก.พลังงาน’ เล็งใช้สิทธิทางภาษีจูงใจ ‘ภาคเอกชน’ หันมาใช้เครื่องจักรคุณภาพสูง เพื่อลดการใช้พลังงาน

(23 ม.ค.67) นายชำนาญ กายประสิทธิ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนา ‘การส่งเสริมการผลิต การใช้และการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร วัสดุ และอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง ด้วยการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี’ ภายใต้โครงการพัฒนาและติดตามผล มาตรการทางภาษีเพื่อการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ว่า การดำเนินงานโครงการนั้นเป็นการศึกษาแนวทางการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อส่งเสริมการลงทุนและการปรับมาใช้เครื่องจักร วัสดุ และอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพพลังงาน โดยใช้กลไกทางการเงินเพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการลงทุนและการปรับเปลี่ยนมาใช้เครื่องจักร วัสดุ และอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูง ด้วยการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของประเทศ

ด้าน นายสมชาติ ตั้งลิขสิทธิ์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กล่าวว่า พพ. ได้ดำเนินการศึกษาโครงสร้างภาษี ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการพลังงานและสิ่งแวดล้อม รวมถึงรูปแบบสิทธิประโยชน์ทางภาษี เครื่องจักร อุปกรณ์และกิจกรรมที่ให้สิทธิประโยชน์ ผู้รับสิทธิประโยชน์ และอัตราภาษีที่ได้รับสิทธิประโยชน์ ที่ได้ดำเนินการในประเทศไทย และในต่างประเทศ

พร้อมกันนี้ ยังได้จัดประชุมหารือและรับฟังความคิดสำหรับ (ร่าง) แนวทางและหลักเกณฑ์การส่งเสริมการผลิตการใช้ และการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร วัสดุ และอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูงด้วยสิทธิประโยชน์ทางภาษี กับหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน

อย่างไรก็ดี ได้มีผลการศึกษาแนวทางในการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เหมาะสมต่อประเทศไทย คือ รูปแบบการยกเว้นภาษีเงินได้ โดยหักเป็นค่าใช้จ่ายก่อนการคำนวณภาษี และสนับสนุนอุปกรณ์ที่ติดฉลากประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูง, อุปกรณ์ที่ติดฉลากแสดงระดับประสิทธิภาพพลังงาน เพื่อผลักดันให้มีการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงมากยิ่งขึ้น และยังช่วยลดการใช้พลังงานในภาพรวมของประเทศ ภายใต้เงื่อนไขอัตราภาษีที่จะนำไปคำนวณสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสมนั้น จะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ด้านพลังงานที่จะได้รับ

อย่างไรก็ตาม แนวทางที่ได้จากการศึกษาจำเป็นต้องมีการนำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาก่อนดำเนินการต่อไป

‘พพ.’ ผนึกกำลังลงนาม MOU ‘3 สมาคมวิชาชีพ’ ยกระดับพัฒนาประสิทธิภาพ ‘พลังงาน-พลังงานทดแทน’

พพ. ผนึก 3 สมาคมวิชาชีพ สานต่อการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานและพลังงานทดแทน มุ่งสร้างมาตรฐานวิชาชีพด้านอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนให้เข้มแข็ง เตรียมผลิตบุคลากรด้านพลังงานกว่า 1,400 คน ขับเคลื่อนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การสนับสนุนและพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานและพลังงานทดแทน ระหว่างสมาคมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไทย โดย นายธวัช มีชัย นายกสมาคมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไทย สมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร โดย ดร.พิชญะ จันทรานุวัฒน์ นายกสมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร และสมาคมไฟฟ้าแสงสว่างแห่งประเทศไทย โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปฐมทัศน์ จิระเดชะ นายกสมาคมไฟฟ้าแสงสว่างแห่งประเทศไทย ณ อาคารอนุรักษ์พลังงานเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดปทุมธานี

ทั้งนี้ นายวัฒนพงษ์ กล่าวว่า การลงนามดังกล่าวเป็นการสานต่อความร่วมมือระหว่าง 4 หน่วยงาน ให้มีความต่อเนื่องจากบันทึกข้อตกลงเดิมได้สิ้นสุดลง โดยมีประเด็นสาระสำคัญในการสนับสนุนและพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานและพลังงานทดแทน ในด้านมาตรฐานการปฏิบัติงาน ระบบฐานข้อมูล การสนับสนุนองค์ความรู้ การพัฒนาบุคลากร ให้กับวิศวกร สถาปนิก ผู้บริหารอาคารและโรงงาน เจ้าหน้าที่อาคารและโรงงานผู้รับผิดชอบด้านพลังงาน ผู้ตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงาน ผู้ตรวจสอบอาคาร ผู้ตรวจประเมินค่าอนุรักษ์พลังงาน ผู้ตรวจระบบผลิตพลังงานควบคุม และบุคคลทั่วไป เพื่อนำไปสู่การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

โดยกิจกรรมแรกที่จะเกิดขึ้นจากความร่วมมือนี้ คือ หลักสูตรอบรม ‘การจัดทำแบบตรวจสอบระบบผลิตพลังงานควบคุม’ กรณีผลิตพลังงานควบคุมจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อพัฒนามาตรฐานประสิทธิภาพด้านพลังงานควบคุมเรื่องกำเนิดไฟฟ้า การถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีด้านพลังงานและแบ่งปันข้อมูลการใช้พลังงานสำหรับภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรม และการพัฒนาบุคลากรจัดฝึกอบรมผู้ตรวจสอบระบบผลิตพลังงานควบคุมเพื่อเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจในหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการตรวจสอบและจัดทำรายงานแบบตรวจสอบระบบผลิตพลังงานควบคุม เพื่อให้ความเห็นในการพิจารณาออกใบอนุญาตผลิตพลังงานควบคุมจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและพลังงานแสงอาทิตย์ รวมทั้งพัฒนามาตรฐานประสิทธิภาพการใช้พลังงานและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการออกแบบก่อสร้างอาคารหรือดัดแปลงอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงานให้แก่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม โดยในปีที่ผ่านมามีผู้ผ่านการอบรมรวมจำนวน 181 คน โดย พพ.มีเป้าหมายผลิตผู้ตรวจสอบระบบผลิตพลังงานควบคุมให้ได้กว่า 1,400 คน เพื่อให้เพียงพอและทันต่อกระแสการประหยัดพลังงาน การผลิตและใช้พลังงานทดแทน อาทิ การติดตั้งโซลาร์ รูฟท็อป การผลิตพลังงานจากระบบก๊าซชีวภาพ ของสถานประกอบการ เป็นต้น

นายวัฒนพงษ์ กล่าวอีกว่า “จากความร่วมมือนี้ นับเป็นร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ กับสมาคมวิชาชีพ เพื่อร่วมกันผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมและอาคารธุรกิจ มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างมาตรฐานวิชาชีพด้านอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน ที่มีความเข้มแข็ง ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ” นายวัฒนพงษ์ กล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top