Friday, 2 May 2025
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน

รมว.เฮ้ง เร่ง กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ปล่อยเงินกู้ปลอดดอกเบี้ย หนุนสถานประกอบการ Upskill Reskill ลูกจ้าง โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ปล่อยกู้ปลอดดอกเบี้ยต่อเนื่องถึง ส.ค. 65 ช่วยสถานประกอบกิจการใช้หมุนเวียนในการพัฒนาทักษะฝีมือลูกจ้าง 

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลโดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ได้ให้ความสำคัญในการดูแลสถานประกอบกิจการ พี่น้องผู้ใช้แรงงาน ให้ได้รับการพัฒนาสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน พัฒนาศักยภาพด้านทักษะฝีมือแรงงาน

โดยมอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ขับเคลื่อนนโยบายสำคัญจัดการความเสี่ยงด้วยแนวทางเยียวยาความเดือดร้อนของกำลังแรงงานของประเทศ โดยให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการที่ต้องการพัฒนาทักษะฝีมือของลูกจ้างเพื่อเพิ่มผลิตภาพแรงงาน สามารถกู้ยืมเงินกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน ปลอดดอกเบี้ย (ดอกเบี้ย 0%) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมฝีมือแรงงาน ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน หรือเข้ารับการประเมินรับรองความรู้ความสามารถ

นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้จัดสรรงบประมาณจากเงินกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานให้สถานประกอบกิจการกู้ยืมแบบไม่มีดอกเบี้ยต่อเนื่องจนถึง 31 สิงหาคม 2565 ในวงเงินกู้ยืมสูงสุดไม่เกิน 1,000,000 บาท ในปี 2565 ได้จัดสรรเงินไว้จำนวน 30 ล้านบาท สำหรับให้ผู้ประกอบกิจการกู้ยืมไปใช้ในการพัฒนาทักษะ หรือนำไปใช้ในการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติให้แก่พนักงาน แบบไม่มีดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2564 - 31 สิงหาคม 2565 

‘อธิบดี กพร.’ ร่วมประชุมเตรียมแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติที่ไอร์แลนด์ หนุนพัฒนาศักยภาพ เสริมทักษะแรงงานไทย สู่ตลาดโลกอย่างมีคุณภาพ

(29 ก.ย. 66) น.ส.บุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงการเดินทางเข้าร่วมประชุมที่กรุงดับลิน สาธารณรัฐไอร์แลนด์ ว่า มีการประชุมหารือในหลายประเด็นที่เกี่ยวกับการจัดงานแข่งขันฝีมือแรงงานระดับนานาชาติ เพื่อให้ผู้แทนของแต่ละประเทศ นำไปเป็นข้อมูลเตรียมความพร้อมจัดส่งเยาวชนเข้าร่วมการแข่งขันต่อไป

ซึ่งครั้งนี้ คณะผู้แทนของประเทศไทย ประกอบด้วยตนในฐานะหัวหน้าคณะ พร้อมด้วย น.ส.พรรวี นาคพิพัฒน์ ผู้อำนวยการกองวิเทศสัมพันธ์ ผู้แทนเทคนิคและ น.ส.เยาวลักษณ์ กงษี ผู้ช่วยผู้แทนเทคนิค ได้เข้าร่วมประชุมเตรียมจัดการแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ ครั้งที่ 47 เป็นวันที่ 3 ได้หารือร่วมกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ (Strategic Development Committee Meeting) ในหลายประเด็น อาทิ บทบาทและหน้าที่ของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ แนวทางการประชาสัมพันธ์ให้การแข่งขันฝีมือแรงงานเป็นที่รู้จัก รวมทั้งให้ความเห็นชอบต่อข้อเสนอแนะด้านการแข่งขันฝีมือแรงงานแห่งอนาคต (Competitions of the Future) แก่องค์การการแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ (World Skills International)

น.ส.บุปผา กล่าวว่า นอกจากนี้ ได้รับฟังและรวบรวมความเห็นจากสมาชิก ผู้จัดการการแข่งขันแต่ละสาขา และภาคีหุ้นส่วน เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการบริหารการจัดการแข่งขันฝีมือแรงงานในอนาคต ให้สะท้อนความต้องการของตลาดแรงงานทั่วโลกให้มีคุณภาพและมีความยั่งยืน เช่น การจัดการแข่งขันในแต่ละสาขาควรสะท้อนความต้องการของภาคเศรษฐกิจอย่างน้อยใน 3 ทวีป หรือภูมิภาคขึ้นไป และสาขาควรจะมีความแตกต่างกันในด้านมาตรฐานและสมรรถนะหลัก และการจัดสภาพแวดล้อมของการแข่งขันควรสะท้อนสภาพการปฏิบัติงานในอุตสาหกรรม

การประชุมอีกคณะ คือ คณะกรรมการการแข่งขัน (Competitions Committee Meeting) เพื่อหารือเกี่ยวกับการเตรียมจัดการแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ ครั้งที่ 47 (WorldSkills Lyon 2024) ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่าง 10-15 กันยายน 2567 ณ เมืองลียง สาธารณรัฐฝรั่งเศส โดยที่ประชุมได้เห็นชอบการเสนอแก้ไขกฎการแข่งขัน และเห็นชอบโครงการนำร่องในการแปลเอกสารเป็นภาษาแม่ของผู้แข่งขันล่วงหน้า รวมถึงการหารือแนวทางการอบรมและคัดเลือกผู้เชี่ยวชาญ เป็นต้น

ผู้แทนประเทศไทยได้เสนอความเห็นต่อแนวทางการจัดการแข่งขันแห่งอนาคต โดยเน้นย้ำถึงการพัฒนาการจัดการแข่งขันให้สอดคล้องตามมาตรฐานสากล รวมถึงการเสริมสร้างศักยภาพของผู้เชี่ยวชาญและบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันของไทยอีกด้วย” น.ส.บุปผา กล่าวและว่า การจัดส่งเยาวชนไทยเข้าร่วมการแข่งขันฝีมือแรงงานในแต่ละระดับ จนก้าวสู่เวทีระดับโลก เป็นการกระตุ้นให้เยาวชนและแรงงานไทยเห็นความสำคัญ ของการพัฒนาศักยภาพด้านทักษะฝีมือ ที่ส่งผลต่ออัตราค่าจ้าง การสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน ที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศ เป็นการดำเนินงานที่สอดรับกับนโยบายของ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ต้องการขับเคลื่อนให้กระทรวงแรงงานเป็นกระทรวงเศรษฐกิจ

‘บุปผา เรืองสุด’ ปลื้ม!! เด็กไทยคว้า 6 เหรียญสุดยิ่งใหญ่ ในเวทีแข่งขันฝีมือแรงงานระดับเอเชีย ณ กรุงอาบูดาบี

จากรายการ THE TOMORROW ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ได้พูดคุยอัปเดตกับ นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ในประเด็น ‘เยาวชนไทยคว้าชัยจากเวทีการแข่งขันฝีมือแรงงานเอเชีย ครั้งที่ 2 ณ กรุงอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์’ เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.66 โดยมีรายละเอียด ดังนี้...

การแข่งขันฝีมือแรงงานเอเชีย ครั้งที่ 2 ณ กรุงอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้เสร็จสิ้นลงแล้ว โดยเยาวชนไทยสามารถคว้าเหรียญรางวัลในเวทีการแข่งขันฝีมือแรงงาน ระดับเอเชียมาได้ทั้งหมด 6 เหรียญ ประกอบด้วย... 

>> 1 เหรียญทอง จากสาขาแต่งผม นายสิทธิพร พาสง่า สนับสนุนโดยโรงเรียนเสริมสวยอรอุบล  

>> 2 เหรียญเงิน ได้แก่ สาขาเทคโนโลยีงานเชื่อม นายสิทธิชัย ไชยวิเศษ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย สาขาหุ่นยนต์เคลื่อนที่ (ประเภททีม) ได้แก่ นายภัคพล ปรีชาวนา และนายฬูค่า ชนกันต์ บอนด์ จากศูนย์การเรียนรู้การเขียนโปรแกรมและนวัตกรรมหุ่นยนต์ 

>> 1 เหรียญทองแดง จากสาขาเทคโนโลยีเว็บ นายณฐนันท์ แพน้อย วิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออก (อี.เทค) 

>> และคว้าเหรียญฝีมือยอดเยี่ยมมาได้อีก 2 สาขา คือ สาขาเทคโนโลยีระบบทำความเย็น นายหัตศนัยต์ บุญแก้วคง จากวิทยาลัยเทคนิคสงขลา และสาขากราฟิกดีไซน์ นางสาวปภัชญา พีรกรวรธรรม จากวิทยาลัยเทคโนโลยีสยามบริหารธุรกิจ วิทยาเขตสะพานใหม่

นางสาวบุปผา กล่าวต่อว่า น้อง ๆ ที่คว้ารางวัลกลับมายังประเทศไทยในครั้งนี้ ได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ และได้แสดงศักยภาพด้านทักษะฝีมือให้ประเทศอื่น ๆ ได้เห็นว่า เด็กไทยมีฝีมือไม่แพ้ชาติใดในโลก ส่วนน้อง ๆ ที่พลาดเหรียญรางวัลก็ไม่ต้องเสียใจ ทุกคนได้ทำหน้าที่ตัวแทนประเทศไทยอย่างเต็มที่และสุดความสามารถแล้วประสบการณ์ที่ได้รับมีคุณค่ามากกว่า เพราะหาฝึกจากที่ไหนไม่ได้  และต้องยอมรับว่าทุกคนที่ก้าวมาถึงเวทีนี้ถือว่าสุดยอดมาก ๆ ขอให้นำประสบการณ์ในครั้งนี้เป็นแรงผลักดันในการต่อสู้ในเวทีอื่น ๆ และนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับการเรียนและการทำงานในอนาคตต่อไป 

ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงสถาบันการศึกษาผู้อยู่เบื้องหลังแห่งสำเร็จในครั้งนี้ที่ให้การสนับสนุนในช่วงระหว่างการเก็บตัวฝึกซ้อม พร้อมกับสนับสนุนด้านต่าง ๆ จนทำให้เยาวชนไทยสามารถไปร่วมการแข่งขันและคว้าเหรียญรางวัลกลับประเทศไทยอย่างภาคภูมิใจ เวทีการแข่งขันทุกเวทีเป็นการกระตุ้นให้เกิดการ Upskill แรงงานได้ กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานจะส่งแรงงานและเยาวชนเข้าร่วมในทุกเวทีและทุกด้าน เพื่อสร้างแรงผลักดันให้แรงงานไทยทุกคนได้เห็นความสำคัญของการพัฒนาหรือ Upskill ฝีมือตนเองอย่างต่อเนื่องเพื่อให้พร้อมกับการก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงานต่อไป

อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับเยาวชนที่สามารถคว้าเหรียญรางวัล จะได้รับรางวัลดังนี้ เหรียญทอง 261,000 บาท เหรียญเงิน 161,500 บาท เหรียญทองแดง 82,000 บาท เหรียญฝีมือยอดเยี่ยม 35,000 บาท และรางวัลปลอบใจสำหรับน้องที่พลาดเหรียญรางวัลคนละ 10,000 บาท สำหรับการดูแลต่อจากนี้ นอกเหนือจากการเก็บตัวฝึกซ้อมเพื่อไปแข่งในระดับนานาชาติช่วงเดือนกันยายน 2567 หากน้อง ๆ ต้องการที่จะศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น กรมพัฒนาฝีมือแรงงานจะประสานกับทางมหาวิทยาลัย จัดหาโควต้าในการศึกษาต่อให้ สำหรับการเข้าทำงานต้องยอมรับว่า น้อง ๆ มีทักษะสูงจึงมีบริษัทจองตัวไว้แล้ว อีกส่วนหนึ่ง กรมพัฒนาฝีมือแรงงานเตรียมรับเป็นวิทยากรของกรมฯ เพื่อทำหน้าที่ครูฝึกให้แก่แรงงานต่อไปด้วย

'กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน' จับมือเอกชน ปั้นช่างเชื่อมโกอินเตอร์ รายได้ทะลุ 70,000 บาทต่อเดือน

เมื่อวานนี้ (30 เม.ย.68) กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ร่วมกับ สมาคมนายจ้างส่งเสริมแรงงานไทย พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาฝีมือแรงงาน ระหว่างนายเดชา พฤกษ์พัฒนรักษ์ อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน นางสาวอรัญญา สกุลโกศล ประธานสมาคมนายจ้างส่งเสริมแรงงานไทย นางเบญจรงค์ สุระพันธ์ กรรมการสมาคมนายจ้างส่งเสริมแรงงานไทย โดยมีนายโกเมศ ปิยะพันธุ์ ผู้ตรวจราชการกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และนางเบญจรงค์ สุระพันธ์ กรรมการสมาคมนายจ้างส่งเสริมแรงงานไทย ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุมอาคารครัวไทย สู่ครัวโลก สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 3 ชลบุรี จังหวัดชลบุรี นอกจากนี้ยังเยี่ยมชมและให้กำลังใจผู้เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรการเชื่อม FCAW 3G และ GTAW 6G(FCAW 3G and GTAW 6G WELDING) อีกด้วย

นายเดชา พฤกษ์พัฒนรักษ์ อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยหลังเสร็จสิ้นพิธีลงนามว่า อุตสาหกรรมอู่ต่อเรือเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญอย่างมากทั้งในด้านเศรษฐกิจ การคมนาคม และความมั่นคงของประเทศ อีกทั้งสถานประกอบกิจการที่ดำเนินธุรกิจด้านอู่ต่อเรือมีความต้องการแรงงานไทยที่มีทักษะฝีมือจำนวนมาก โดยเฉพาะช่างเชื่อมจะต้องมีทักษะเฉพาะ จึงต้องเร่งยกระดับช่างเชื่อมไทยให้มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมต่อเรือ และการจ้างงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ สอดคล้องกับภารกิจของกรมในการพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน และพัฒนาแรงงานที่อยู่ในตลาดแรงงานให้มีทักษะฝีมือสูงขึ้น เดิมในปี 2567 กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน  บูรณาการร่วมกับบริษัท HD Hyundai Heavy Industries Co., Ltd. (HHI) ในการผลิตแรงงานช่างเชื่อมสำหรับอุตสาหกรรมอู่ต่อเรือ จำนวน 108 คน และส่งแรงงานไทยเข้าทำงานกับบริษัท HD Hyundai Heavy Industries Co., Ltd. (HHI) ที่ประเทศสาธารณรัฐเกาหลีไปแล้ว จำนวน 73 คน ในครั้งนั้น 

กรมได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งกับสมาคมนายจ้างส่งเสริมแรงงานไทย ซึ่งเป็นผู้ประสานและได้รับอนุญาตในการจัดหางานจากกรมการจัดหางานและประสานข้อมูลความต้องการแรงงาน เพื่อไปทำงานต่างประเทศ และการลงนามความร่วมมือกับสมาคมนายจ้างส่งเสริมแรงงานไทยในครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อยกระดับกลไกการทำงานร่วมกัน โดยทั้ง 2 หน่วยงานจะร่วมกันจัดฝึกอบรมหลักสูตรการเชื่อม FCAW 3G GTAW 6G จำนวน 29 คน ณ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 3 ชลบุรี ผู้ผ่านการฝึกอบรมทั้ง 29 คนจะได้เข้าทำงานกับบริษัท HD Hyundai Heavy Industries Co., Ltd. (HHI) ที่ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี มีรายได้เฉลี่ยคนละ 70,000 บาทต่อเดือน นอกจากนี้ยังมีแผนและเป้าหมายดำเนินการผลิตช่างเชื่อมสำหรับอุตสาหกรรมอู่ต่อเรือขยายไปยังจังหวัดอื่น ๆ จำนวน 500 คน และในอนาคตจะร่วมกันพัฒนาทักษะกลุ่มช่างก่อสร้าง และขยายตลาดไปยังประเทศอิสราเอล เพื่อสร้างโอกาสการมีงานทำให้แก่กำลังแรงงานต่อไป

ด้านนางสาวอรัญญา สกุลโกศล ประธานสมาคมนายจ้างส่งเสริมแรงงานไทย กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัท HD Hyundai Heavy Industries Co., Ltd. (HHI) มีความต้องการช่างฝีมือสำหรับอุตสาหกรรมอู่ต่อเรือ จำนวน 500 คน มีรายได้เฉลี่ยคนละ 70,000 บาทต่อเดือน รวมไปถึงประเทศอิสราเอล มีความต้องการช่างฝีมือกลุ่มช่างก่อสร้างที่มีความเชี่ยวชาญด้านวิชาชีพหลายด้าน (Multi Skills) ได้แก่ ช่างเชื่อม ช่างปูน ช่างไม้ ช่างเหล็ก เป็นต้น จำนวน 8,000 คน มีรายได้เฉลี่ยคนละ 77,000 บาทต่อเดือน สมาคมนายจ้างส่งเสริมแรงงานไทย ในนามของภาคเอกชน พร้อมร่วมขับเคลื่อนนโยบายของนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อดำเนินการผลิตและส่งออกแรงงานในตลาดแรงงาน ทั้งเปิดตลาดใหม่ และขยายตลาดต่อไป ซึ่งความร่วมมือนี้ใช้สถานที่ของสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานชลบุรี และสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานสมุทรปราการ เป็นหน่วยฝึกอบรมเตรียมความพร้อมก่อนไปทำงาน โดยทางบริษัทฮุนไดส่งครูฝึกจากเกาหลีพร้อมอุปกรณ์การฝึกนำเข้ามาฝึกในไทยมูลค่า 40 ล้านบาท และฝึกอบรมภาษาเกาหลีเพื่อการทำงาน มีเบี้ยเลี้ยงให้วันละ 700 บาท ค่าอาหารวันละ 150 บาท รวมวันละ 850 บาทต่อคน นอกจากนี้จะมอบเครื่องมืออีกราว 100 เครื่อง เพื่อเตรียมพร้อมรองรับผู้สนใจเข้ามาเรียนอย่างเพียงพอในการจัดส่งไปทำงานโดยเร็วที่สุด ผู้ฝึกอบรมจะได้เข้าทำงานกับบริษัทฮุนได ในอุสหกรรมอู๋ต่อเรือของเกาหลีใต้ ไปทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ด้วยวีซ่า E-7 (วีซ่าแรงงานมีทักษะฝีมือ) วีซ่าทำงาน 4 ปี ต่ออายุได้อีก 1 ปี

ผู้สนใจฝึกอบรมต้องมีคุณสมบัติเป็นช่างที่มีประสบการณ์งานเชื่อม ผ่านการทดสอบฝีมือ โดยสามารถติดต่อสอบถามได้ที่สมาคมนายจ้างส่งเสริมแรงงานไทย หมายเลขโทรศัพท์ 06-2091-6783 ไอดีไลน์ : @wm.visa (มี@นำหน้า) หรือติอต่อบริษัทจัดหางาน เวิล์ด แม็ป จำกัด หรือติดต่อทางสำนักงานหรือสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดทั่วประเทศ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top