Monday, 20 May 2024
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า

‘กรมพัฒนาธุรกิจฯ’ ดัน ‘สมุนไพรไทย’ สู่ซอฟต์พาวเวอร์ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รับเทรนด์รักสุขภาพของคนยุคใหม่

(13 ก.ย. 66) นางรวีพรรณ ช้างเย็นฉ่ำ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมมีแผนที่จะส่งเสริมการตลาดสินค้า ‘สมุนไพรไทย’ อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบัน มีคณะกรรมการนโยบายและสมุนไพรแห่งชาติ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการส่งเสริมภาพลักษณ์และการตลาดสมุนไพร มีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน มีกรม กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เป็นฝ่ายเลขานุการ ทำหน้าที่ส่งเสริมการตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรทั้งในและต่างประเทศ และกำหนดช่องทางการตลาดในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อผลักดันสมุนไพรไทยให้เป็น Soft Power ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอีกรายการหนึ่ง

สำหรับการขับเคลื่อนสมุนไพรไทย ได้มีการกำหนดมาตรการผลักดันสมุนไพรเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ประเทศด้านอาหารและวัฒนธรรมไทย โดยบูรณาการประเด็นสมุนไพรร่วมกับอาหาร วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว ผลักดันคุณค่าของสมุนไพรไทยร่วมกับอาหารไทย ตอบรับกระแสนิยมด้านรักสุขภาพ นำเสนอเมนูอาหารที่มีส่วนประกอบของสมุนไพรไทย ชูสรรพคุณที่มีคุณประโยชน์เจาะกลุ่มผู้บริโภคเฉพาะด้าน เช่น เพิ่มภูมิคุ้มกัน Plant-based และผู้สูงอายุ

ส่วนด้านการตลาด จะมีการศึกษาความต้องการของตลาด กำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่งเสริมการใช้การตลาดออนไลน์ที่น่าเชื่อถือ สร้างเรื่องเล่าดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค เน้นขยายตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรกลุ่มเวชสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสินค้าอุปโภคบริโภค เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ชุมชนกลุ่มสมุนไพร รวมทั้งสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์สมุนไพร

นอกจากนี้ จะเร่งการพัฒนาตราสัญลักษณ์คุณภาพสมุนไพรที่เป็นที่ยอมรับ โดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เป็นหน่วยงานหลักในการพิจารณาคัดเลือกผู้ประกอบการสมุนไพรเพื่อมอบรางวัลผลิตภัณฑ์สมุนไพรคุณภาพ ซึ่งสัญลักษณ์ของรางวัลมีแนวคิดการออกแบบมาจากรูปแบบของไผ่ที่สานเป็นรูปดวงดาวของเหลว และกราฟิกรูปหัวใจ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและไว้วางใจจากผู้บริโภคในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สมุนไพร

ทั้งนี้ ในส่วนของกรม จะเดินหน้ายกระดับศักยภาพด้านการตลาดของผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพร สร้างภาพลักษณ์ที่ดี สะท้อนคุณค่า และความน่าเชื่อถือผลิตภัณฑ์สมุนไพร รวมทั้งขยายโอกาสทางการค้าให้ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ในการกำหนดให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการเป็นตลาดสมุนไพรของอาเซียน

ทางด้านผลการทำงาน ในปี 2565 ที่ผ่านมา ได้สร้างภาพลักษณ์และการรับรู้คุณประโยชน์ของผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย โดยสร้างเรื่องเล่าให้ผลิตภัณฑ์สมุนไพร 22 ผลิตภัณฑ์ เน้นผลิตภัณฑ์ที่มีวัตถุดิบมาจาก Herbal Champion ได้แก่ ขมิ้นชัน กระชายดำ และบัวบก พร้อมประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ผ่านออนไลน์และเครือข่ายพันธมิตร และนำผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีศักยภาพขยายตลาดเชิงรุกเข้าสู่กลุ่มผู้บริโภคโดยตรง ผ่านงานแสดงสินค้าต่าง ๆ และการเจรจาจับคู่ธุรกิจกับผู้จัดจำหน่าย สามารถสร้างมูลค่าการค้าได้มากกว่า 15 ล้านบาท โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ได้รับความนิยม ได้แก่ ยาดม น้ำมันหอมระเหย และเครื่องสำอาง สมุนไพรจากน้ำนมข้าว และในปี 2566 ได้นำผู้ประกอบการเข้าร่วมงาน THAIFEX – Anuga Asia 2023 เมื่อเดือน พ.ค. 2566 จำนวน 42 ราย สามารถสร้างมูลค่าการค้ารวมทั้งสิ้น 203.31 ล้านบาท โดยผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ได้รับความนิยม 5 อันดับ ได้แก่ ขมิ้นชันผง น้ำมะขามป้อม ขนมจากขิง เครื่องดื่มจากจมูกข้าว และเครื่องแกง ตามลำดับ

'กรมพัฒนาธุรกิจฯ' เปิดโพย 10 สินค้าสุดปัง ที่ นทท.แห่ซื้อ 'มะขามหวานอบแห้งแกะเมล็ด-ผ้าห่มผ้าฝ้าย' มาแรง!!

(18 ก.ย. 66) นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลา 9 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2557-2565 กรมได้นำผลิตภัณฑ์ชุมชนจำนวน 2,375 รายการ จากผู้ประกอบการสินค้าชุมชน 112 ราย เข้าไปวางจำหน่าย ณ สนามบินนานาชาติ 3 แห่ง ได้แก่ สุวรรณภูมิ ภูเก็ต และดอนเมือง เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ซื้อกลับไปเป็นของฝาก ของที่ระลึก หรือใช้เอง

โดยดำเนินการอย่างต่อเนื่องร่วมกับพันธมิตร ได้แก่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) สนับสนุนพื้นที่ และบริษัท คิง เพาเวอร์ แท็กซ์ฟรี จำกัด ผู้บริหารจัดการร้านค้าในสนามบิน สามารถสร้างยอดขายรวมมากกว่า 630 ล้านบาท แบ่งเป็น สุวรรณภูมิ 490 ล้านบาท ภูเก็ต 119 ล้านบาท และดอนเมือง 21 ล้านบาท และนอกจากช่องทางการขายในสนามบินแล้ว ยังคัดสรรผลิตภัณฑ์ชุมชนจำหน่ายผ่านเว็บไซต์ www.kingpower.com ได้รวมกว่า 4 ล้านบาทด้วย

สำหรับผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวมากที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่ มะขามหวานอบแห้งแกะเมล็ด ผ้าห่มผ้าฝ้าย น้ำมันเหลือง กรอบรูปไม้สัก กระโปรงปักเลื่อม น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น ยาหม่องเขียว ผ้าไหมคลุมไหล่ แชมพูสมุนไพร (มะกรูด) และก้านไม้หอมระเหย ซึ่งสะท้อนถึงความนิยมผลิตภัณฑ์ไทยที่ไม่เพียงแค่งดงาม แต่แสดงถึงอัตลักษณ์โดดเด่นที่มีคุณภาพและรสนิยม

“กรมพร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการชุมชนให้มีโอกาสด้านการตลาดที่หลากหลาย โดยช่องทางการจำหน่ายในท่าอากาศยานเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่กรมและหน่วยงานพันธมิตรได้ร่วมกันคัดสรรผลิตภัณฑ์ชุมชนที่โดดเด่นตามหลักการ DBD SMART Local ให้มีโอกาสขยายตลาดในระดับสากล รวมถึงเสริมสร้างองค์ความรู้และทักษะที่จำเป็นต่อการประกอบธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ประกอบการชุมชนก้าวให้ทันความเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจที่เกิดขึ้นตลอดเวลา เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ สามารถพึ่งพาตนเองได้ และส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจประเทศให้มีความเข้มแข็งและเติบโตอย่างยั่งยืน” นายทศพลกล่าว

ที่ผ่านมา กรมพัฒนาธุรกิจการค้ามีเป้าหมายสำคัญในการพลิกโฉมการพัฒนาผู้ประกอบการชุมชนตามแนวทาง DBD SMART Local ของเด่นพื้นที่ ของดีพื้นถิ่น ด้วยการนำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์และคุณค่า นำเสนอเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีจุดเด่นและความแตกต่าง เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าและเชื่อมโยงช่องทางการตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชนให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยคัดเลือกผลิตภัณฑ์ชุมชน DBD SMART Local ที่มีภาพลักษณ์ที่ดี และความพร้อมทางการตลาดให้มีโอกาสได้จำหน่ายผ่านช่องทางต่าง ๆ ทั้งในห้างค้าปลีกสมัยใหม่ สนามบินนานาชาติ และช่องทางออนไลน์

‘กรมพัฒน์ฯ’ ปั้นผู้ประกอบการชุมชนผลิตสินค้า ตาม BCG Model ภายใต้โครงการ DBD SMART Local BCG ครอบคลุม 77 จังหวัด

(21 ก.ย.66) นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยถึงผลการจัดทำโครงการ DBD SMART Local BCG ปี 2566 ว่า กรมได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการชุมชน ที่มีความหลากหลายทั้งทางชีวภาพ ภูมิปัญญา และวัฒนธรรม เพื่อให้มีการผลิตสินค้าและบริการที่ผสมผสานแนวคิด BCG Economy Model และให้นำไปพัฒนาต่อยอด สร้างสรรค์ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ชุมชน

ให้มีความโดดเด่น และเป็นที่ต้องการของตลาด โดยได้เข้าไปช่วยสร้างความรู้เรื่องผ่านบทเรียนออนไลน์ในหลักสูตร BCG ธุรกิจสร้างรายได้ รักชุมชน รักษ์โลกเพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจชุมชนสามารถเข้าถึงความรู้ได้อย่างไม่มีข้อจำกัด จำนวน 139 ราย และได้มีการพัฒนาต่อให้เป็นธุรกิจชุมชนต้นแบบ ก่อนที่จะช่วยเหลือเพิ่มโอกาสในการตลาดต่อไป

โดยผลการดำเนินงาน ได้เข้าไปช่วยพัฒนาศักยภาพการประกอบธุรกิจตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG จากผู้เชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาเชิงลึกทั้งในรูปแบบ Onsite และ Online สามารถสร้างชุมชนต้นแบบ DBD SMART Local BCG ครอบคลุม 77 จังหวัด จำนวน 88 ราย ประกอบด้วย 4 กลุ่มผลิตภัณฑ์

ได้แก่ 1.อาหารและเครื่องดื่ม 2.ผ้าและเครื่องแต่งกาย 3.ของใช้ของตกแต่งของที่ระลึก และ 4.สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร แบ่งเป็นธุรกิจ Bio Economy จำนวน 22 ราย ธุรกิจ Circular Economy จำนวน 29 ราย และธุรกิจ Green Economy จำนวน 37 ราย

ส่วนการนำผู้ประกอบการชุมชนต้นแบบ DBD SMART Local BCG ไปเจรจาจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ระหว่างผู้ประกอบการชุมชน จำนวน 56 ราย กับกลุ่มผู้จัดจำหน่าย และผู้ซื้อชั้นนำ 16 หน่วยงาน จำนวน 198 คู่ เกิดมูลค่าการค้า 30,629,500 บาท

นอกจากนี้ ได้นำผู้ประกอบการตัวแทน 18 กลุ่มจังหวัด และกรุงเทพฯ จำนวน 28 ราย เข้าร่วมออกบูธในงานแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนต้นแบบ DBD SMART Local BCG ช่วงเดือนก.ค. เกิดการซื้อขายภายในงาน 1,484,152 บาท โดยผลิตภัณฑ์ที่มีการจำหน่ายมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ พระพิฆเนศจากนิล ภาชนะจากเศษไม้สัก บ้านแมวจากผักตบชวา ชุดเดรส และผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติ

สำหรับการดำเนินงานในปี 2567 กรมจะมุ่งเน้นสร้างโอกาสทางการค้าและขยายช่องทางการจำหน่ายให้แก่ผู้ประกอบการชุมชน DBD SMART Local BCG อย่างยั่งยืนในกลุ่มตลาดใหม่ เช่น โรงแรม บริษัท องค์กร สถาบัน เพื่อเข้าสู่กลุ่มลูกค้าธุรกิจแบบ B2B มากขึ้น

ทั้งนี้ โครงการ DBD SMART Local BCG เป็นโครงการที่กรมได้เข้าไปคัดเลือกผู้ประกอบการชุมชนที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์โมเดลเศรษฐกิจ BCG โดยต้องเป็นของเด่นพื้นที่ ของดีพื้นถิ่น และตรงตามหลัก S-M-A-R-T คือ

ต้องเป็นสุดยอดผลิตภัณฑ์ชุมชนในแต่ละพื้นที่ (Superlative), มีการผลิตสินค้าที่ทันสมัยรองรับตลาดยุคใหม่ (Modern), คงเสน่ห์เอกลักษณ์ไทย ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น (Attractive), สินค้ามีความโดดเด่น มีอัตลักษณ์ สร้างสรรค์ เพิ่มมูลค่าให้ตัวเอง (Remarkable) และต้องมั่นใจได้ในคุณภาพมาตรฐาน (Trust) 

‘กรมพัฒนาธุรกิจฯ’ เสริมแกร่งร้านค้าส่งค้าปลีกท้องถิ่น ปี 67 ปั้น 30 ร้านต้นแบบ เร่งเข้มติว 2 พันราย ดันเป็นสมาร์ตโชห่วย

(22 ก.ย. 66) นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยถึงแผนการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการค้าส่งค้าปลีกท้องถิ่น ปีงบประมาณ 2567 ว่า กรมตั้งเป้าที่จะเดินหน้าส่งเสริมร้านค้าส่งค้าปลีกท้องถิ่น ระดับอำเภอและจังหวัดที่เป็นนิติบุคคล และมียอดขายตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป ถือเป็นผู้ประกอบการที่มีพื้นฐานแข็งแรง สามารถยกระดับมาตรฐานการบริหารจัดการตามแนวทางของกรม และพัฒนาสู่การเป็น ‘ร้านค้าต้นแบบ’ ได้ โดยตั้งเป้าที่จะเข้าไปพัฒนาผู้ประกอบการรายใหม่ ที่สนใจพัฒนาเป็นร้านค้าต้นแบบจำนวน 30 ร้านค้า ครอบคลุม 4 ภูมิภาค เหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ กลาง และใต้

โดยแนวทางการพัฒนาจะเริ่มตั้งแต่การเสริมสร้างองค์ความรู้ การศึกษาดูงานร้านต้นแบบรุ่นพี่ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจ ตลอดจนการลงพื้นที่ของผู้เชี่ยวชาญ ณ สถานประกอบการ เพื่อให้คำแนะนำในเชิงลึกที่จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้กับการดำเนินธุรกิจได้ตรงจุด ทั้งประเด็นที่ต้องแก้ไขปรับปรุงเร่งด่วน รวมถึงการเสริมจุดแข็งให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกัน กำหนดเป้าหมายในการพัฒนาร้านค้าปลีกรายย่อย หรือ ‘โชห่วย’ ให้มีความเข้มแข็ง เพราะตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาร้านค้าโชห่วย ซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโมเดลธุรกิจของห้างโมเดิร์นเทรด ที่ปรับตัวย่อขนาดเป็นร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ที่มีภาพลักษณ์ดีและเทคโนโลยีทันสมัย ขยายตัวออกสู่ชุมชน รวมทั้งพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปอันเป็นผลจากเทคโนโลยี จึงต้องเร่งสร้างความเข้มแข็งให้กับโชห่วย โดยกำหนดจัดสัมมนาออนไซต์ใน 4 ภูมิภาค เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้แก่ผู้ประกอบการ และลงพื้นที่ ณ สถานประกอบการ พัฒนาโชห่วยไทยทั่วประเทศให้เป็น ‘สมาร์ตโชห่วย’ โดยมีร้านค้าต้นแบบเข้ามาช่วยเหลือ

ทั้งนี้ การช่วยเหลือร้านโชห่วย จะเน้นการปรับภาพลักษณ์ร้านค้าตามหลัก 5 ส. (สวย สะอาด สว่าง สะดวก สบาย) เพื่อช่วยดึงดูดลูกค้าเข้าร้าน เพิ่มโอกาสในการขายสินค้า และส่งเสริมการใช้ระบบ POS เพื่อผลักดันให้ร้านค้าโชห่วยปรับเปลี่ยนจากวิถีเดิม สู่การใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการร้านค้า ซึ่งจะทำให้สามารถแข่งขันได้ในระยะยาว โดยในปี 2567 ตั้งเป้าจัดสัมมนาออนไซต์ จำนวนไม่น้อยกว่า 10 ครั้ง ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และ 4 ภูมิภาค เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการรวมทั้งสิ้น 2,000 ราย และพัฒนาต่อยอดเป็น ‘สมาร์ตโชห่วย’ ต้นแบบในพื้นที่ จำนวน 20 ราย

ปัจจุบัน มีร้านค้าส่งค้าปลีก ที่ได้รับการพัฒนาเป็นร้านค้าต้นแบบ รวม 307 ร้านค้า และมีร้านโชห่วยที่ผ่านการพัฒนา และได้รับป้ายสัญลักษณ์โครงการ ‘สมาร์ตโชห่วย พลัส’ จำนวน 306 ร้านค้า

‘ธุรกิจท่องเที่ยว’ แห่ตั้งบริษัทใหม่ รวมมูลค่ากว่า 2.4 หมื่นล้าน ผุดบริการแลกเปลี่ยนเงินตราพุ่ง 1.89 เท่า รองรับตลาดฟื้นตัว

(22 ก.ย. 66) นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ยอดการจดทะเบียนธุรกิจจัดตั้งใหม่เดือนสิงหาคม 2566 ทั่วประเทศรวม 7,424 ราย มีมูลค่าทุนจดทะเบียน 24,905.75 ล้านบาท โดย 3 ประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด ได้แก่ ก่อสร้างอาคารทั่วไป 584 ราย รองลงมา คือ อสังหาริมทรัพย์ 482 ราย และภัตตาคาร/ร้านอาหาร 360 ราย โดยช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท สัดส่วนมากสุด 64.51% มีจำนวน 4,789 ราย คิดเป็น 64.51%

ขณะที่ธุรกิจเลิกกิจการเดือนสิงหาคม 2566 รวม 2,007 ราย มีมูลค่าทุนจดทะเบียน 7,038.02 ล้านบาท และ 3 ประเภทธุรกิจเลิกกิจการสูงสุด ได้แก่ ก่อสร้างอาคารทั่วไป 172 ราย รองลงมา คือ อสังหาริมทรัพย์ 85 ราย และ ภัตตาคาร/ร้านอาหาร 49 ราย ซึ่งสัดส่วน 70.55% เป็นธุรกิจมีช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท ส่งผลให้ ณ 31 สิงหาคม 2566 มีธุรกิจดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศ 888,090 ราย มูลค่าทุน 21.51 ล้านล้านบาท มากสุดเป็นช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือจำนวน 518,247 ราย คิดเป็น 58.36%

“ธุรกิจตั้งใหม่เดือนสิงหาคมปีนี้ เทียบสิงหาคมปีก่อน เพิ่ม 0.08% และเทียบเดือนกรกฎาคม 2566 เพิ่ม 8.41% ขณะที่เลิกธุรกิจสิงหาคมปีนี้ เพิ่มขึ้น 3.40% เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 7.50% จากเดือนกรกฎาคมปีนี้ ทำให้ 8 เดือนแรก 2566 จัดตั้งธุรกิจใหม่รวม 61,558 ราย เพิ่มขึ้น 14.90% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งยอดตั้งธุรกิจใหม่สิงหาคม 2566 เป็นจำนวนสูงสุดรอบ 10 ปีเทียบเฉพาะเดือนสิงหาคมด้วยกัน และสูงสุดในรอบ 10 ปี เป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน ส่งผลให้ 8 เดือนแรก2566 มีจำนวนจัดตั้งสูงสุดรอบ 10 ปีด้วย หรือตั้งแต่ปี 2557 – 2566” นายทศพล กล่าว

นายทศพล กล่าวว่า ปัจจัยสนับสนุนการจดทะเบียนธุรกิจให้เติบโตสูงขึ้นยังคงมาจากภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก โดยธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว 8 เดือนแรก 2566 มีจำนวนตั้งเพิ่มถึง 60.66% โดยเฉพาะธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเติบโต 1.89 เท่า ตัวแทนธุรกิจการเดินทางเติบโต 1.41 เท่า ธุรกิจจัดนำเที่ยวเติบโต 1.03 เท่า ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหารเติบโต 45.46% และ ธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท และห้องชุดเติบโต 42.86%) มีสัดส่วนคิดเป็น 7.94% ของจำนวนธุรกิจที่จัดตั้งทั้งหมดใน 8 เดือนแรก2566

นายทศพล กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจน่าจับตามองที่เติบโตกว่า 1 เท่า เทียบ 8 เดือนแรกปีก่อน ได้แก่ ธุรกิจขายส่งข้าวเปลือกและธัญพืชเติบโต 2.07 เท่า เพิ่มขึ้น 118 ราย จากนโยบายส่งเสริมการลดต้นทุนการผลิตข้าวรักษ์โลก

ธุรกิจบริการเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยได้รับค่าตอบแทนหรือตามสัญญาจ้างเติบโต 1.70 เท่า เพิ่มขึ้น 311 ราย จากภาคการท่องเที่ยวที่กลับมาฟื้นตัว ทำให้มีธุรกิจที่รับบริหารจัดการเกี่ยวกับที่พักอาศัย โรงแรม รีสอร์ท บ้านพักตากอากาศเพิ่มมากขึ้น

ธุรกิจให้เช่าและให้เช่าแบบลิสซิ่งยานยนต์เติบโต 1.40 เท่า เพิ่มขึ้น 155 ราย จากภาคการท่องเที่ยวที่เติบโตและภาคธุรกิจที่นิยมการเช่ารถยนต์มากขึ้น และธุรกิจการปลูกพืชประเภทเครื่องเทศเครื่องหอมยารักษาโรค และพืชทางเภสัชภัณฑ์เติบโต 1.12 เท่า เพิ่มขึ้น 201 ราย

“จากทิศทางที่ดีขึ้น กรมคาดการณ์การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ช่วงครึ่งปีหลัง 2566 อยู่ที่ 32,000 – 39,000 ราย ซึ่งทำให้ทั้งปี 2566 อยู่ที่ 79,000-86,000 ราย” นายทศพล กล่าว

นายทศพล กล่าวว่า การลงทุนประกอบธุรกิจในไทยภายใต้กฎหมายต่างด้าวเดือนสิงหาคม 2566 มีการอนุญาต 58 ราย มีเม็ดเงินลงทุน 6,840 ล้านบาท เปรียบเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2566 จำนวนเพิ่มขึ้น 14% เงินลงทุนลดลง 32% นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุด ได้แก่ ญี่ปุ่น 15 ราย รองลงมา ได้แก่ สิงคโปร์ ฮ่องกง ทำให้ 8 เดือนแรก 2566 คนต่างชาติได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจในไทย 435 ราย มีเงินลงทุน 65,790 ล้านบาท

‘กรมพัฒน์ฯ’ จับมือ ‘Shopee’ จัดโปรโมชัน แจก Coins-ส่วนลด 50% หวังกระตุ้นยอดขายให้ผู้ประกอบการชุมชนผ่านไลฟ์สด ดีเดย์ 18 ต.ค.นี้

(16 ต.ค.66) นายจิตรกร ว่องเขตกร รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ร่วมกับ Shopee จัดกิจกรรมดันยอดขายผ่านไลฟ์สด ในวันพุธที่ 18 ตุลาคม 2566 โดยได้คัด 3 ร้านค้า ที่ชนะรางวัล Shopee Award of Thailand e-Commerce Genius 2023  เพื่อกระตุ้นยอดขายให้กับผู้ประกอบการชุมชน ภายใต้การส่งเสริมของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าด้วย คือ

1.ร้านขนมทันจิตต์ เวลา 20.00 - 20.30 น.
2.ร้านรสหนึ่ง เวลา 20.30 - 21.00 น.
3.ร้าน Pick Me Please เวลา 21.00 - 21.30 น.

โดยจะไลฟ์สด บนแอปพลิเคชัน Shopee (search ‘สุขใจซื้อของไทย') หรือเข้าเว็บไซต์ https://shopee.co.th/dbdonline พร้อมรับโปรโมชัน 2 ต่อ ต่อที่ 1 : แจก Coins รวมกว่า 6,000 Coins ตลอดช่วงเวลาการไลฟ์ของทั้ง 3 ร้าน และต่อที่ 2 : โค้ดส่วนลด 50% ลดสูงสุด 100 บาท

>> ของดีนำมาขาย

สำหรับสินค้าที่นำมาจัดกิจกรรมครั้งนี้ เป็นสินค้าคุณภาพที่ผ่านการคัดสรรเพื่อผู้บริโภค ได้แก่ ร้านทันจิตต์ เผือกทอดรูปตะแกรง ที่มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์มาอย่างต่อเนื่องกว่า 40 ปีจากรุ่นสู่รุ่น และปัจจุบันได้ยกระดับการผลิตจาก ในครัวเรือนสู่โรงงานที่ได้มาตรฐาน

ร้านรสหนึ่ง สินค้า OTOP จ.สิงห์บุรี ปลาช่อนแม่ลาแดดเดียวของดีเมืองสิงห์บุรี สูตรดั้งเดิม รสกลมกล่อม ไม่เค็มเกินไป ใส่ใจทุกขั้นตอนการผลิต ไม่ว่าจะเป็นกางมุ้งตาก ไม่มีแมลงกวน ทำให้สะอาด ปลอดภัย ผลิตใหม่สดทุกวัน ไม่มีสารกันเสีย

ร้าน Pick me please หมูหยองกรอบคั่วเตาถ่าน ซึ่งได้เลือกใช้เนื้อหมูเฉพาะส่วนไร้มันมาปรุงด้วยสูตรลับเฉพาะ และนำมาคั่วบนเตาถ่านด้วยเวลากว่า 4 ชั่วโมง จนกรอบ และมีลักษณะเป็นชิ้นหมูหยองที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ปราศจากผงชูรสเเละสารกันเสีย การันตีความอร่อย เหมาะกับผู้บริโภคที่รักสุขภาพทุกวัย

การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการกระตุ้นยอดขาย ยังช่วยสร้างการมองเห็นให้กับร้านค้ามากขึ้น และถือเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมเฉลิมฉลอง ในโอกาสการสถาปนากรมพัฒนาธุรกิจการค้าครบรอบ 100 ปี ซึ่งช่วยตอกย้ำถึงเจตนารมณ์ของกรมฯ ในการเดินหน้าส่งเสริมและผลักดันให้ธุรกิจของผู้ประกอบการไทยให้เติบโตอย่างมืออาชีพ ส่งผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้

>> ร้านค้า 400 ร้านบนแอปพลิเคชัน

โดยตลอดทั้งปีนี้ กรมฯ มีแผนร่วมมือกับ Shopee อย่างต่อเนื่องในการมอบสิทธิพิเศษต่างๆ ให้กับผู้ประกอบการออนไลน์ไทย เพื่อช่วยส่งเสริมการขาย ขยายโอกาสทางการตลาดออนไลน์ให้กับผู้ประกอบการ

ปัจจุบัน มีผู้ประกอบการรายย่อยของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าที่จำหน่ายสินค้าประเภทต่างๆ อยู่บนแอปพลิเคชัน Shopee จำนวนกว่า 400 ราย การจัดกิจกรรมดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถขายสินค้าได้เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถเลือกซื้อสินค้า ตามวัน เวลา ดังกล่าวข้างต้น หรือสอบถามรายละเอียดและข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ส่วนส่งเสริมการใช้นวัตกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ กองพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สายด่วน 1570 โทรศัพท์หมายเลข 0 2547 5961 และ www.dbd.go.th

'กรมพัฒนาธุรกิจฯ' เผย!! ปี 66 ต่างชาติลงทุนไทยเฉียด 1.3 แสนล้าน พบ!! 'ญี่ปุ่น-สิงคโปร์' มาแรง ส่วนเม็ดเงินสะพัดอยู่ในธุรกิจรับจ้างผลิต

(23 ม.ค.67) นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะนำข้อมูลของปีที่ผ่านมาจากคลังข้อมูลธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย DBD DataWarehouse+ มาทำการวิเคราะห์และประมวลผลภาพรวมการลงทุนในประเทศ สะท้อนถึงความเชื่อมั่นและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจประเทศในสายตานักลงทุนทั้งคนไทยและต่างชาติ รวมทั้ง นักลงทุนสามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับวิเคราะห์คู่แข่งทางการตลาดก่อนตัดสินใจลงทุน ทำให้เกิดความมั่นใจและพร้อมลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง  

สำหรับภาพรวมการลงทุนในประเทศไทยตลอดปี 2566 ประมวลผลออกมาเป็น ‘ที่สุดแห่งปี 2566 ด้านการลงทุนในประเทศไทย’ พบว่า ในส่วนของการลงทุนของคนไทยในประเทศไทย : การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ในประเทศ พบว่า ปี 2566 เป็นปีที่มียอดการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่สูงสุดในรอบ 10 (ปี 2557-2566) โดยปี 2566 มีนักลงทุนจดทะเบียนฯ จำนวนรวมทั้งสิ้น 85,300 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 8,812 ราย หรือ 12% มูลค่าทุน 562,469.64 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 132,640.83 ล้านบาท หรือ 31% (ปี 2565 จัดตั้ง 76,488 ราย ทุน 429,828.81 ล้านบาท)

เมื่อทำการวิเคราะห์การจัดตั้งนิติบุคคลปี 2566 พบว่า จำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งเพิ่มขึ้นกว่า 12% ได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักจากธุรกิจในภาคต่างๆ ทั้งธุรกิจภาคบริการ ภาคค้าส่ง/ค้าปลีก และภาคการผลิต โดยในส่วนของภาคบริการ คิดเป็น 58% ของจำนวนการจัดตั้งทั้งหมด โดยมีธุรกิจหลักที่ขับเคลื่อนให้เกิดการขยายตัวของการจดทะเบียนเพิ่มขึ้น คือ ธุรกิจกิจกรรมเกี่ยวกับแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ 366 ราย เติบโต 1.46 เท่า ธุรกิจกิจกรรมของสำนักงานจัดหางานหรือตัวแทนจัดหางาน 43 ราย เติบโต 1.39 เท่า และ ธุรกิจกิจกรรมบริการที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยได้รับค่าตอบแทนหรือตามสัญญาจ้าง 707 ราย เติบโต 1.36 เท่า

ภาคค้าส่ง/ค้าปลีก คิดเป็น 32% ของจำนวนการจัดตั้งธุรกิจทั้งหมด มีธุรกิจหลักที่ขับเคลื่อนให้เกิดการขยายตัวของการจดทะเบียนเพิ่มขึ้น ได้แก่ ธุรกิจการขายปลีกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ชนิดใช้ในครัวเรือนบนแผงลอยและตลาด 16 ราย เติบโต 2.20 เท่า ธุรกิจการขายส่งข้าวเปลือกและธัญพืช 203 ราย เติบโต 1.51 เท่า และธุรกิจการขายส่งอิฐหินปูนทรายและผลิตภัณฑ์คอนกรีต 66 ราย เติบโต 1.06 เท่า และเมื่อพิจารณาในส่วนของ

ภาคการผลิต คิดเป็น 10% ของจำนวนการจัดตั้งธุรกิจทั้งหมด โดยมีธุรกิจหลักที่ขับเคลื่อนให้เกิดการขยายตัวของการจดทะเบียนเพิ่มขึ้น ได้แก่ ธุรกิจการผลิตเครื่องมือกล 18 ราย เติบโต 2.60 เท่า ธุรกิจการผลิตแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ 17 ราย เติบโต 2.40 เท่า และ ธุรกิจการผลิตส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ 88 ราย เติบโต 1.59 เท่า

สำหรับการจัดตั้งธุรกิจทั่วประเทศมีจำนวนทั้งสิ้น 85,300 ราย เป็นการจัดตั้งธุรกิจในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 25,120 ราย (29%) และ ภูมิภาค 60,180 ราย (71%) หากพิจารณาตามเขตภูมิภาค แบ่งออกเป็น 6 ภาค คือ ภาคกลาง มีสัดส่วนการจัดตั้งธุรกิจสูงสุด 17,581 ราย (20.61%) ภาคใต้ 11,675 ราย (13.69%) ภาคตะวันออก 10,948 ราย (12.83%) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8,942 ราย (10.48%) ภาคเหนือ 8,604 ราย (10.09%) และภาคตะวันตก 2,430 ราย (2.85%) โดยทุกภาคมีอัตราการเติบโตของจำนวนการจัดตั้งที่เพิ่มสูงขึ้นจากปี 2565 ที่ผ่านมา ยกเว้น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีอัตราการเติบโตลดลงในปี 2566

ขณะที่พื้นที่การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในเขตภูมิภาค ปี 2566 จังหวัดที่มีการจัดตั้งนิติบุคคลสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ จ.ชลบุรี 7,370 ราย จ.ภูเก็ต 4,983 ราย และจ.นนทบุรี 4,583 ราย โดยจังหวัดที่มีอัตราการเติบโตของจำนวนการจัดตั้งสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ จ.ภูเก็ต เติบโต 40.82% จ.สุราษฎร์ธานี เติบโต 32.16% และ จ.พังงา เติบโต 21.99% ซึ่ง 3 จังหวัดดังกล่าวอยู่ในพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญ ทั้งด้านการท่องเที่ยว การลงทุน

>> การเลิกประกอบธุรกิจ ปี 2566

ปี 2566 มีจำนวนธุรกิจที่เลิกประกอบกิจการทั้งสิ้น 23,380 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 1,500 ราย (7%) มูลค่าทุนเลิกประกอบกิจการ 160,056.48 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 33,008.08 ล้านบาท (26%) (ปี 2565 เลิกประกอบธุรกิจ 21,880 ราย ทุน 127,048.39 ล้านบาท)

ประเภทธุรกิจที่มีการเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1. ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 2,166 ราย (9.26%) 2. ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 1,146 ราย (4.90%X และ 3. ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร เลิกประกอบธุรกิจ 699 ราย (2.99%)

นายอรมน ยังกล่าวถึงที่สุดแห่งปี 2566 ด้านการลงทุนของชาวต่างชาติในประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542

ปี 2566 อนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 รวมทั้งสิ้น 667 ราย เงินลงทุนรวม 127,532 ล้านบาท จ้างงานคนไทยรวม 6,845 คน เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 228 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ) 439 ราย

>> 10 ประเทศที่เป็นที่สุดของการลงทุนในประเทศไทย

‘ญี่ปุ่น’เป็นประเทศที่เข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทยเป็นอันดับ 1 ทั้งจำนวนนักลงทุนและจำนวนเงินลงทุน โดยมีนักลงทุนจำนวน 137 ราย (20.5 %) เงินลงทุนรวม 32,148 ล้านบาท (25.2%) และลำดับอื่นๆ ที่ไล่ลงมามีดังนี้

อันดับที่ 2 สิงคโปร์ มีนักลงทุน 102 ราย (15.3%) และทุน 25,405 ล้านบาท (19.9%)
อันดับที่ 3 สหรัฐอเมริกา มีนักลงทุน 101 ราย (15.1%) และทุน 4,291 ล้านบาท (3.4%)
อันดับที่ 4 จีน มีนักลงทุน 59 ราย (8.9%) และทุน 16,059 ล้านบาท (12.6%)
อันดับที่ 5 ฮ่องกง มีนักลงทุน 34 ราย (5.1%) และทุน 17,325 ล้านบาท (13.6%)
อันดับที่ 6 เยอรมนี มีนักลงทุน 26 ราย (3.9%) และทุน 6,087 ล้านบาท (4.8%)
อันดับที่ 7 สวิตเซอร์แลนด์ มีนักลงทุน 23 ราย (3.5%) และทุน 2,960 ล้านบาท (2.3%)
อันดับที่ 8 เนเธอร์แลนด์ มีนักลงทุน 20 ราย (3.0%) และทุน 911 ล้านบาท (0.7%)
อันดับที่ 9 สหราชอาณาจักร มีนักลงทุน 19 ราย (2.9%) และทุน 433 ล้านบาท (0.3%)
อันดับที่ 10 ไต้หวัน มีนักลงทุน 18 ราย (2.7%) และทุน 1,125 ล้านบาท (0.9%)

>> 10 ประเภทธุรกิจที่นักลงทุนต่างชาติสนใจเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทย

อันดับที่ 1 บริการรับจ้างผลิต จำนวน 136 ราย (20.4%) และทุน 42,644 ล้านบาท (33.4%)
อันดับที่ 2 บริการด้านคอมพิวเตอร์ จำนวน 68 ราย (10.2%) และทุน 1,434 ล้านบาท (1.1%)
อันดับที่ 3 บริการให้คำปรึกษา จำนวน 62 ราย (9.3%) และทุน 7,803 ล้านบาท (6.1%)
อันดับที่ 4 ค้าส่งสินค้า จำนวน 58 ราย (8.7%) และทุน 7,873 ล้านบาท (6.2%)
อันดับที่ 5 บริการทางวิศวกรรม จำนวน 46 ราย (6.9%) และทุน 2,756 ล้านบาท (2.2%)
อันดับที่ 6 บริการให้เช่า จำนวน 45 ราย (6.8%) และทุน 16,096 ล้านบาท (12.6%)
อันดับที่ 7 ค้าปลีกสินค้า จำนวน 41 ราย (6.2%) และทุน 1,635 ล้านบาท (1.3%)
อันดับที่ 8 บริการทางการเงิน จำนวน 23 ราย (3.5%) และทุน 6,805 ล้านบาท (5.3%)
อันดับที่ 9 คู่สัญญาเอกชน จำนวน 22 ราย (3.3%) และทุน 689 ล้านบาท (0.5%)
อันดับที่ 10 นายหน้า จำนวน 20 ราย (3.0%) และทุน 1,697 ล้านบาท (1.3%)


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top