Saturday, 10 May 2025
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

สำนักงานตำรวจแห่งชาติร่วมกับภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชน ร่วมเปิด “โครงการสุภาพบุรุษจราจร ประชาชนสัญจรปลอดภัย” ต่อเนื่องปีที่ 2 มุ่งหวังให้ประชาชนมีความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนเพิ่มขึ้น

วันนี้ (5 กรกฎาคม 2567) เวลา 10.00 น. พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการแทนรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.รรท.รอง ผบ.ตร.) พร้อมด้วย พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผู้ช่วย ผบ.ตร. , พล.ต.ท.นิธิธร จินตกานนท์ ผู้บัญชาการประจำสำนักงาน ผบ.ตร. ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานเสริมสร้างภาพลักษณ์ตำรวจจราจร , คุณพรรณี ปิติกุลตัง กรรมการผู้จัดการ บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด พร้อมด้วยภาคเครือข่ายความปลอดภัยทางถนน ประกอบด้วย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมควบคุมโรค สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กรุงเทพมหานคร ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศปวถ.) คณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.)  สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ  สำนักงาน สสส. บริษัท ไทยฮอนด้า จำกัด  บริษัท โตโยต้าประเทศไทยฯ และภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมพิธีเปิดโครงการ “สุภาพบุรุษจราจร ประชาชนสัญจรปลอดภัย (ปีที่ 2) พ.ศ.2567” ณ ห้องศรียานนท์ ชั้น 2 อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

สำหรับ “โครงการสุภาพบุรุษจราจร ประชาชนสัญจรปลอดภัย” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กับบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด โดยได้สนับสนุนเงินรางวัลรวมเป็นจำนวนเงิน 4,000,000 บาท เป็นโครงการต่อเนื่องปีที่ 2 ระยะเวลาดำเนินโครงการ 8 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ถึงธันวาคม 2567 โดยให้สถานีตำรวจในสังกัดทั่วประเทศทั้ง 1,484 สถานี พัฒนาให้ข้าราชการตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่จราจรทุกนาย ปฏิบัติหน้าที่โดยยึดหลัก 5S อันได้แก่ SMILE (ยิ้มแย้มแจ่มใส) , SMART (มีบุคลิกภาพที่ดี) , SALUTE (ปฏิบัติต่อประชาชนด้วยความสุภาพ) , SERVICE MIND (ปฏิบัติหน้าที่ด้วยจิตใจบริการ) และ STANDARD (ยกระดับการปฏิบัติให้มีมาตรฐานเดียวกัน)

พร้อมทั้งให้หน่วยงานระดับกองบัญชาการ และกองบังคับการ ควบคุมกำกับดูแลให้จำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุลดลงได้มากกว่าร้อยละ 5 หรือ 10 คนขึ้นไป เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี มีการตั้งด่านตรวจ จุดตรวจกวดขันวินัยจราจร เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 5  จากค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี และผลการการบังคับใช้กฎหมาย (หมวก/เมา/เร็ว : ไม่สวมหมวกนิรภัย/เมาแล้วขับ/ขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด) เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 จากค่าเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง รวมทั้งมีการตรวจสอบติดตามประเมินผล เพื่อพิจารณาคัดเลือก “สุภาพบุรุษจราจร”ประเภทบุคคล กองบังคับการละ 2 นาย แบ่งเป็น ระดับชั้นสัญญาบัตร 1 นาย และชั้นประทวน 1 นาย รวมจำนวนทั้งสิ้น 190 นาย และคัดเลือก “สุภาพบุรุษจราจรประเภทหน่วยงาน” ในสังกัดแต่ละกองบัญชาการที่ชนะเลิศ 1 หน่วยงาน  รองชนะเลิศ 2 หน่วยงาน รวมทุกกองบัญชาการจำนวนทั้งสิ้น 32 หน่วยงาน โดยมอบรางวัล 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 (เดือนพฤษภาคม ถึงสิงหาคม 2567) มอบรางวัลเดือนกันยายน 2567 และครั้งที่ 2 (เดือน กันยายน ถึงธันวาคม 2567) มอบรางวัลเดือนมกราคม 2568

พล.ต.ท.ประจวบฯ กล่าวว่า โครงการ “สุภาพบุรุษจราจร ประชาชนสัญจรปลอดภัย” สำนักงานตำรวจแห่งชาติร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดทำเพื่อพัฒนาศักยภาพการทำงาน และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับตำรวจจราจร สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชน หน่วยงานภาคีเครือข่าย และตำรวจ เพื่อประสานขับเคลื่อนนโยบายลดอัตราการเสียชีวิตและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนของประชาชน โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ ให้ประชาชนมีความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนเพิ่มขึ้น

จากนั้น พล.ต.ท.ประจวบฯ เป็นประธานการประชุมบริหารงานจราจรและคณะทำงานขับเคลื่อนงานจราจร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โครงการสุภาพบุรุษจราจร ประชาชนสัญจรปลอดภัย พ.ศ.2567 กำชับทุกหน่วยติดตามสถานการณ์ความเคลื่อนไหวของการเกิดสาธารณภัยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเปนน้ำทวมฉับพลัน น้ำล้นตลิ่ง น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม ให้เตรียมความพร้อมและตรวจสอบกำลังพล ยุทโธปกรณ์ ยานพาหนะ อุปกรณ์ต่าง ๆ ให้มีความพร้อม และเพิ่มความเข้มงวดในการรักษาความสงบเรียบร้อยดูแลความปลอดภัยทรัพย์สินของประชาชน จัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกด้านการจราจร เมื่อเกิดเหตุสาธารณภัยขึ้นในพื้นที่รับผิดชอบ ให้ผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้นลงไปควบคุม กำกับ ดูแล ผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างใกล้ชิด การใช้กริยาวาจากับประชาชน ต้องมีความสุภาพเรียบร้อย พร้อมเน้นย้ำในการใช้ยานพาหนะทุกครั้ง ให้ปฏิบัติตามกฎจราจรโดยเคร่งครัด ระมัดระวังมิให้เกิดอุบัติเหตุ และขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรทุกนาย หมั่นตรวจเช็คสุขภาพร่างกาย สุขภาพจิตใจให้แข็งแรงสมบูรณ์พร้อมในการปฏิบัติหน้าที่ตลอดเวลา

‘รัฐบาล’ บูรณาการร่วมมือ ‘ภาคเอกชน’ สร้างระบบ ‘แจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านมือถือ’ คาด!! เสร็จต้นปี 2568 พร้อมใช้ได้ถึง 5 ภาษา ‘เศรษฐา’ สั่งเดินหน้าให้ต่อยอดความสำเร็จ

(6 ก.ค.67) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผย ผลสำเร็จจากการบูรณาการความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) สำนักงาน กสทช. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด ร่วมจัดทำ Cell Broadcast Service หรือ CBS ระบบเตือนภัยฉุกเฉินในพื้นที่จริงครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งเป็นระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินที่ทั่วโลกใช้งาน สามารถส่งข้อความเตือนภัยไปยังโทรศัพท์มือถือของผู้ใช้บริการทุกเครื่อง โดยทั้งคนไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย สามารถรับข้อความได้พร้อมกันทันที เพิ่มประสิทธิภาพในการรับมือกับเหตุฉุกเฉินต่าง ๆ อย่างทันท่วงที ช่วยสร้างความมั่นคง ปลอดภัย และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติ

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ระบบเตือนภัยฉุกเฉิน CBS เป็นเครื่องมือสำคัญในการแจ้งเตือนภัยให้กับประชาชน สามารถแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินได้ 5 ภาษา ทั้ง ไทย อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น และรัสเซีย ซึ่งครอบคลุมผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือทุกเครือข่ายในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ โดยไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนล่วงหน้า โดยจะส่งข้อความแจ้งเตือนภัยในรูปแบบ ข้อความ ตัวอักษร รูปภาพ และเสียง ทั้งยังมีสัญญาณเสียง และข้อความที่แสดงบนหน้าจอ (Pop up) รวมถึงรองรับ Text to Speech เทคโนโลยีช่วยเหลือที่อ่านออกเสียงข้อความ ทำให้มีประโยชน์ต่อการแจ้งเตือน แก่ผู้มีความบกพร่องทางการมองเห็นอีกด้วย

สำหรับระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน CBS สามารถตั้งระดับการเตือนได้ 5 ระดับ ตามฟังก์ชั่นการใช้งาน โดยใช้ความร่วมมือกับฐานข้อมูลของภาครัฐ ประกอบด้วย 
1. การแจ้งเตือนระดับชาติ (National Alert) การแจ้งเตือนระดับสูงสุด ความสำคัญมากสุด และทุกคนในทุกพื้นที่เสาสัญญาณครอบคลุมจะทราบเหตุทันที 
2. การแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน (Emergency Alert) การแจ้งเตือนภัยพิบัติต่าง ๆ เช่น ภัยสึนามิ แผ่นดินไหว น้ำท่วมฉับพลัน หรือ ภัยจากคนร้าย เป็นต้น 
3. การแจ้งเตือนคนหาย (Amber Alert) ระบบตั้งเตือนข้อมูลเมื่อมีเด็กหายหรือคนหาย รวมทั้งการลักพาตัวเพื่อให้ประชาชนทราบข่าวเฝ้าระวัง และช่วยเจ้าหน้าที่ภาครัฐสังเกตการณ์ รายงานผล ถ้าพบคนหายหรือคนร้าย 

4. ความปลอดภัยสาธารณะ (Public Safety) ระบบการแจ้งเตือนความปลอดภัยสาธารณะในพื้นที่ หรือการเฝ้าระวังกรณีแจ้งคนที่อยู่อาศัย ชุมชน และผู้สัญจรผ่านพื้นที่นั้น 
5. การแจ้งเตือนทดสอบ (Test Alert) ระบบทดสอบการแจ้งเตือนตามวัตถุประสงค์เฉพาะกิจต่าง ๆ โดยสามารถใช้งานเพื่อทดสอบก่อนขยายผลสู่การเฝ้าระวังและแจ้งเตือนในระดับต่าง ๆ ต่อไป

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทั้งนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า เนื่องจากเป็นระบบใหม่ในประเทศไทย จึงต้องมีการเตรียมความพร้อม เรื่องอุปกรณ์ และการติดตั้งทั่วประเทศ โดยคาดการณ์ว่าจะแล้วเสร็จประมาณต้นปี 2568 ซึ่งเมื่อระบบพร้อมใช้งานเต็มรูปแบบ ประชาชนทั่วประเทศจะได้รับการแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และปลอดภัยยิ่งขึ้น

“นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการสร้างความปลอดภัยให้คนไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติ ชื่นชมการทำงานร่วมกันของหน่วยงานรัฐและเอกชน ในการพัฒนาระบบเตือนภัยฉุกเฉิน ที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการรับมือกับสถานการณ์ ด้านสาธารณภัยของประเทศ ทั้งที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติ และการกระทำของมนุษย์ พร้อมสั่งการให้ต่อยอดเพิ่มความปลอดภัยให้คนไทย และนักท่องเที่ยวในทุกพื้นที่” นายชัย กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top