Thursday, 25 April 2024
กรมปศุสัตว์

‘อธิบดีปศุสัตว์’ ยอมรับ พบโรค ASF ในหมู เผยตรวจพบจากโรงฆ่า จ.นครปฐม

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ในฐานะ ปธ.คณะทำงานด้านวิชาการป้องกัน ควบคุม และกำจัดโรค ASF ในสุกร พบการรายงาน โรค African Swine Fever หรือ ASF ในสุกร จากสุ่มตรวจสอบเพิ่มเติมโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการเลี้ยงสุกรหนาแน่น ผลการวิเคราะห์ตัวอย่างเบื้องต้นจากจำนวนทั้งหมด 309 ตัวอย่าง พบผลบวกเชื้อ ASF จำนวน 1 ตัวอย่าง จากตัวอย่างพื้นผิวสัมผัสโรงฆ่าสัตว์แห่งหนึ่งที่มาจากจังหวัดนครปฐม 

จากการสุ่มตรวจสอบเพิ่มเติมโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการเลี้ยงสุกรหนาแน่น ในวันที่ 8-9 มกราคม พ.ศ 2565 รวมทั้งหมด 10 ฟาร์ม 305 ตัวอย่าง และโรงฆ่าสัตว์ 2 แห่ง 4 ตัวอย่าง โดยในวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2565 สุ่มดำเนินการในพื้นที่จังหวัดราชบุรี เฝ้าระวังและเก็บตัวอย่างจำนวน 6 ฟาร์ม รวม 196 ตัวอย่าง และวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2565 สุ่มดำเนินการในพื้นที่จังหวัดนครปฐม เฝ้าระวังและเก็บตัวอย่างจำนวน 4 ฟาร์ม 109 ตัวอย่าง และ 2 โรงฆ่า 4 ตัวอย่าง รวม 113 ตัวอย่าง

พร้อมกันนี้ กรมปศุสัตว์ได้มีมาตรการในการดำเนินการในการเฝ้าระวัง ควบคุม และป้องกันการเกิด โรค ASF  ล่าสุดได้ประสานกับหน่วยงานภาคีต่างๆ เช่น สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ภาคีคณบดี คณะสัตวแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย สัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มสุกร และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอความร่วมมือในการควบคุมโรคแล้ว 

โฆษกรัฐบาลเผย "นายกฯ"  เรียก อธ. กรมปศุสัตว์พบด่วน ติดตามความคืบหน้าแก้โรคระบาดหมูและราคาหมูแพง แนะตั้งวอร์รูม สื่อสาร ชี้แจงประชาชนได้ทราบการทำงาน/แก้ปัญหา ในทุกวันด้วย

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า เมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ให้นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์  เข้าพบ เพื่อติดตามการแก้ปัญหาโรคระบาดในสุกร หลังจากที่ไทยมีการประกาศพบเชื้อโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF)  ในประเทศไทย โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบแนวทางการแก้ปัญหาหมู โดยขอให้เร่งตรวจสอบการขึ้นทะเบียนเกษตรเจ้าของฟาร์มผู้เสียหายให้ครอบคลุมทั้งรายย่อยและรายใหญ่  

โดยให้ประสานความร่วมมือไปยังกระทรวงมหาดไทย  องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น  กำนันผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่  และให้กรมปศุสัตว์ลงพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพการเลี้ยงสุกร ทั้งโรงฆ่าสัตว์ และเขียงหมูโดยเร็ว รวมทั้งให้ปศุสัตว์จังหวัดและสัตวแพทย์ ติดตามพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค เพื่อสอบสวนสาเหตุและเร่งรักษาตามสาเหตุอาการตั้งแต่แรก ขณะเดียวกันก็ให้ความรู้ผู้เลี้ยงหมู ในการป้องกันเบื้องต้น ระหว่างที่ยังต้องรอผลการวิจัยและพัฒนาวัคซีน  รวมทั้ง เปิดรับช่องทางแจ้งการเกิดโรคให้ได้โดยเร็ว เพื่อแก้ไขและลดความเสียหายเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู อีกทั้งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเยียวยาด้วย

'ปศุสัตว์' ย้ำ ไก่ไทยไร้สารตกค้าง ไม่อันตราย

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ตามที่มีรายงานทางสื่อสังคมออนไลน์เกี่ยวกับประเด็น เรื่อง กินคอไก่ ปีกไก่ และหัวไก่ จะมีสารพิษ เมื่อทานแล้วสะสม เสี่ยงอันตรายต่อร่างกาย นั้น กรมปศุสัตว์ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว สรุปว่าเป็นข่าวปลอมไม่เป็นความจริง การนำเสนอข้อมูลเท็จนี้ สามารถสร้างความตื่นตะหนกให้แก่ประชาชนผู้บริโภคเนื้อไก่ได้ และอาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยที่เป็นผู้ส่งออกเนื้อสัตว์ปีกรายใหญ่ของโลกได้ 

ทั้งนี้เพื่อเป็นการคุ้มครองและสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ จึงได้เร่งสร้างความรู้ความเข้าใจและชี้แจงข้อเท็จจริงต่อผู้บริโภค และให้ทุกหน่วยงานกำกับดูแลสินค้าปศุสัตว์ให้มีความปลอดภัยอาหาร รักษาคุณภาพมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ที่ได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์อย่างเข้มงวดต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามกรมปศุสัตว์ ได้กำกับดูแลระบบการผลิตสินค้าปศุสัตว์ตลอดทั้งกระบวนการผลิตตลอดห่วงโซ่ ตั้งแต่ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ที่ได้มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี GAP โรงฆ่าสัตว์ที่ถูกกฎหมาย มีกระบวนการผลิตที่ถูกสุขอนามัย สถานที่จำหน่ายที่ได้มาตรฐาน จนถึงมือประชาชนผู้บริโภค จึงมั่นใจได้ว่าสินค้าปศุสัตว์ที่ได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์ มีการตรวจสอบและกำกับดูแลตลอดห่วงโซ่การผลิต ไม่มีสารอันตรายตกค้าง ไม่มีฮอร์โมน สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ 

‘ปศุสัตว์’ ยัน!! ไร้ไข่ปลอมระบาดในไทย ชี้!! คลิปแชร์ว่อน ของเก่าตั้งแต่ปี 63

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เผยว่า หลังมีกระแสการแชร์ข่าวไข่ไก่ปลอมทางสื่อออนไลน์ ขอย้ำว่าเป็นคลิปเก่าตั้งแต่ปี 2563 ที่มีการวนนำกลับมาแชร์ในโลกโซเชียลหลายครั้งแล้ว ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้มีการลงพื้นที่ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงและได้ชี้แจงข้อมูลทุกครั้ง โดยขอย้ำผู้บริโภคอย่าตื่นตระหนก ไม่แชร์ต่อและตรวจสอบข้อมูลให้แน่ชัด ขอรับรองว่าประเทศไทยไม่มีไข่ไก่ปลอมอย่างแน่นอน ประเทศไทยสามารถผลิตไข่ไก่ได้ปริมาณเพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคในประเทศ ไม่จำเป็นต้องทำไข่ปลอมซึ่งต้นทุนผลิตแพงกว่าไข่จริง

“กรมปศุสัตว์รับรองไม่มีไข่ปลอมในประเทศไทยแน่นอน เนื่องจากการผลิตไข่ปลอมต้นทุนการผลิตแพงกว่าไข่จริง ไข่ไก่ในประเทศไทยมีราคาที่เหมาะสมตามกลไกตลาดอยู่แล้ว อีกทั้งประเทศไทยยังสามารถผลิตไข่ไก่ได้ในปริมาณมากเพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคในประเทศ ไม่มีความจำเป็นต้องผลิตไข่ปลอมขึ้นมาหลอกขายแต่อย่างใด”

'อ.อ๊อด' ชี้!! วิธีสังเกต อาหารปนเปื้อนสารฟอร์มาลิน แนะ!! สารละลายด่างทับทิมช่วยละลายน้ำได้

จากกรณีกรมปศุสัตว์ ได้ส่งเจ้าหน้าที่ด่านกักกันสัตว์ชลบุรี บุกยึดของกลางชิ้นส่วนเนื้อและเครื่องในสุกรและโค จำนวนกว่า 25,000 กิโลกรัม แช่ในถังน้ำผสมฟอร์มาลินรายใหญ่ ส่งขายร้านหมูกระทะ และร้านอาหารอีสาน กว่า 66 แห่งในพื้นที่ใกล้เคียง มูลค่ากว่า 5 ล้านบาท ตามข่าวที่เสนอไปแล้วนั้น 

ล่าสุด รองศาสตรจารย์วีรชัย พุทธวงศ์ หรือ อ.อ๊อด ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและกิจการเพื่อสังคม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กว่า อาหารที่มักพบสารฟอร์มาลินปนเปื้อน ได้แก่อาหารทะเล เนื้อสัตว์ ผักสด และผลไม้ ซึ่งวิธีสังเกตง่าย ๆ คือ

>> ถ้าเป็นเนื้อสัตว์ หากถูกแสงแดด หรือลมเป็นเวลานาน แล้วยังสดอยู่ก็ไม่ควรซื้อ

>> ถ้าเป็นอาหารทะเลที่เนื้อแข็งบางส่วน เปื่อยยุ่ยบางส่วน ไม่ควรซื้อ

>> ถ้าเป็นผัก ผลไม้ที่มีลักษณะแข็ง เขียว กรอบหรือสดผิดปกติ ให้ดมที่ใบ ผลหรือหักก้านดม ถ้ามีกลิ่นแสบจมูกแสดงว่ามีฟอร์มาลินปนเปื้อน

‘ปศุสัตว์’ บุกทลายแหล่งผลิต-จำหน่ายยาสัตว์เถื่อน รวบของกลางกว่า 100 รายการ มูลค่ากว่า 50 ล้านบาท

ปศุสัตว์ สนธิกำลังบุกทลายแหล่งผลิต-จำหน่ายยาและอาหารสัตว์เถื่อนในเขตหลักสี่พบของกลางกว่า 100 รายการ มูลค่ากว่า 50 ล้านบาท 

นายสัตว์แพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์เปิดเผยว่า ล่าสุดทีม "สารวัตรปศุสัตว์ไซเบอร์" ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) เข้าตรวจสอบสถานที่จำหน่ายอาหารสัตว์และยาสัตว์ในพื้นที่เขตหลักสี่กรุงเทพมหานคร ตามที่ได้รับข้อมูลร้องเรียนผ่านสื่อออนไลน์ว่า มีการผลิตอาหารสัตว์ควบคุมเฉพาะและยาสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาต รวมถึงจำหน่ายอาหารสัตว์และยาสัตว์ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน 

ผลการตรวจสอบพบอาหารสัตว์และยาสัตว์ที่ไม่มีทะเบียนกว่า 100 รายการ มูลค่ากว่า 50 ล้านบาท โดยเข้าข่ายกระทำความผิด ผลิตอาหารสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาต ขายอาหารสัตว์ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ผลิตยาโดยไม่ได้รับอนุญาต ขายยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน โดยเจ้าหน้าที่ยึดอาหารสัตว์และยาสัตว์ทั้งหมดและเก็บตัวอย่างของกลางส่งตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการเพื่อหาสารอันตรายหรือสารตกค้าง พร้อมนำตัวเจ้าของส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมาย ต่อไป

‘ตร.’ จับมือ ‘กรมปศุสัตว์’ บุกค้น 16 โกดัง ซุกซ่อนหมูเถื่อน หวั่นนำ ‘โรคอหิวาต์’ จากแอฟริกามาแพร่ระบาดในไทย

(11 พ.ค. 66) ตามที่รัฐบาลมีนโยบายปราบปรามการลักลอบนำเข้าเนื้อสุกรจากต่างประเทศ และเข้ากระบวนการต่าง ๆ เพื่อนำออกสู่ท้องตลาด โดยมิได้ผ่านการตรวจสอบจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ทำให้ประชาชนผู้บริโภคได้รับสินค้าอันไม่ถูกสุขลักษณะ รวมถึงอาจนำโรคระบาดชนิดอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever : ASF) มาแพร่ระบาด ทำให้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตเนื้อสุกรภายในประเทศ และเกิดผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม ซึ่งเข้าข่ายเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 พระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ.2559, พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง 

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร., พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผบ.ตร.และ พล.ต.ท. สำราญ นวลมา ผู้ช่วย ผบ.ตร. โดย กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองบริโภค (บก.ปคบ.) ตำรวจภูธรภาค 1, 5 และ 7 ร่วมกับ กรมปศุสัตว์เข้าตรวจสอบสถานที่ต้องสงสัยทั้งหมด 16 แห่ง ในพื้นที่ภาคกลางและภาคเหนือ

จากการตรวจสอบ โดยเจ้าหน้าที่นำหมายค้นของศาลอาญาทำการตรวจค้น 16 แห่ง พบว่า จังหวัดนครปฐม 1 จุด สามารถอายัดเนื้อสุกรแช่แข็งรวม 4,070 กิโลกรัมและ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 1 จุด สามารถอายัดเนี้อสุกรแช่แข็งรวม 11,100 กิโลกรัม ซึ่งเข้าข่ายเป็นความผิด พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 พ.ร.บ.ควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ.2559 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องทั้งนี้

สำนักงานตำรวจแห่งชาติขอฝากเตือนพี่น้องประชาชน โปรดระมัดระวังในการบริโภคเนื้อสุกร ที่ไม่ทราบแหล่งที่มาหรือไม่ได้มาตรฐาน และขอความร่วมมือกรณีหากมีเบาะแส / เรื่องร้องเรียนลักษณะดังกล่าว สามารถแจ้งเรื่องร้องเรียน / เบาะแสโดยตรงได้ที่สายด่วน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) โทร.1135 หรือ สายด่วนฉุกเฉิน 191 และสามารถแจ้งผ่านช่องทาง แอปพลิเคชัน DLD 4.0 ของกรมปศุสัตว์

กรมปศุสัตว์ ร่วมกับ สัตวแพทย์ มช. จัดงานประชุมนานาชาติ GASL โดย FAO ต้อนรับผู้ร่วมงานกว่า 200 คนจาก 50 ประเทศทั่วโลก

กรมปศุสัตว์ ร่วมกับ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับเกียรติจาก องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) จัดการประชุมนานาชาติ Multi-stakeholder collaboration to strengthen sustainability and resilience of livestock systems in response to drivers of change: 13th Global Agenda for Sustainable Livestock (GASL) Multistakeholder Partnership Meeting and the Regional Conference on Sustainable Livestock Transformation ครั้งที่ 13 ระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม - 3 พฤศจิกายน 2566 ณ โรงแรมเซ็นทารา ริเวอร์ไซด์ จังหวัดเชียงใหม่ 

โดยมี นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ Ms. Shirley Tarawali ประธานของกลุ่ม Global Agenda for Sustainable Livestock (GASL) ดร. นายสัตวแพทย์ธนวรรษ เทียนสิน Director of Animal Production and Health Division องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) Mr. Robert Simpson, Senior Adviser to the Assistant Director - General / Regional Representative ผู้แทนประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) นายสัตวแพทย์โสภัชย์ ชวาลกุล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และ ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกันกล่าวให้การต้อนรับผู้ร่วมประชุม

ในการนี้ ศ.ดร.น.สพ.กรกฎ งานวงศ์พานิชย์ คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ พร้อมด้วย ผศ.ดร.สพ.ญ.วรางคณา ไชยซาววงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์สัตวแพทย์สาธารณสุขและอาหารปลอดภัยเอเชียแปซิฟิก คณาจารย์ และบุคลากร คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมพิธีเปิดงานประชุมนานาชาติฯ

สำหรับการประชุมที่จัดขึ้นในประเทศไทยครั้งนี้ จะมุ่งเน้นหารือในประเด็นด้านการเสริมสร้างให้เกิดการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบต่อระบบปศุสัตว์และการแก้ไขปัญหาในรูปแบบนวัตกรรม 4 มิติสำคัญ ประกอบไปด้วย

ความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการ หารือแนวทางการสร้างความมั่นคง เพื่อให้ประชากรโลกสามารถเข้าถึงอาหารที่มีคุณค่าและโภชนาการสูง สนับสนุนการเจริญเติบโตและการพัฒนาที่ยั่งยืน

การพิจารณาทางเศรษฐกิจและสังคม มุ่งพิจารณาแนวทางการสร้างความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมสุขภาพ เสริมสร้างความยั่งยืนในการผลิตปศุสัตว์ ตลอดจนการสร้างรายได้ที่ยั่งยืนอย่างเท่าเทียม

ด้านสุขภาพ ร่วมวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของแนวทางการดูแลสุขภาพ อันจะเป็นประโยชน์สำคัญต่อการดำเนินงานและพัฒนาระบบปศุสัตว์อย่างยั่งยืน

ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สร้างความร่วมมือในการวางแนวทางเพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อมและการใช้ทรัพยากรการเกษตรอย่างยั่งยืน เพื่อลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสนับสนุนการเกษตรที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ

Global Agenda for Sustainable Livestock (GASL) คือ คณะทำงานด้านวาระระดับโลกที่มีเป้าหมายสำคัญเพื่อเสริมสร้างความยั่งยืนของระบบปศุสัตว์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2554 โดย องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ดำเนินงานผ่านความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่าย ทั้งรัฐบาล องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคเอกชน การเคลื่อนไหวทางสังคม และสถาบันการศึกษาองค์กรระหว่างประเทศ 

เป็นการรวมตัวของผู้ที่มีส่วนสำคัญด้านการพัฒนาระบบปศุสัตว์กว่า 200 คนจาก 50 ทั่วโลก มาร่วมแบ่งปันแนวปฏิบัติและนโยบายเพื่อการผลิตปศุสัตว์ที่ยั่งยืน ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายที่มีจุดมุ่งหมายให้เกิดการผลักดันการดำเนินงานของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการปรับปรุงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติของภาคปศุสัตว์ โดยคำนึงถึงความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ สัตว์ และระบบนิเวศ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top