Tuesday, 7 May 2024
กรมประมง

กรมประมงฯ ยันนำเข้ากุ้งจาก 'อินเดีย-เอกวาดอร์' เป็นมติร่วมกันของบอร์ดกุ้งภายใต้แผนพัฒนาอุตสาหกรรมกุ้งไทย

กรมประมง สมาคมเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งและภาคเอกชนร่วมแถลงยืนยันการนำเข้ากุ้งจากอินเดียและเอกวาดอร์เป็นมติร่วมกันของบอร์ดกุ้งภายใต้แผนพัฒนาอุตสาหกรรมกุ้งไทย มั่นใจไม่กระทบผลผลิตและราคาเพราะมีระบบประกันราคากุ้งโดยภาคเอกชนเป็นโมเดลแรกของประเทศ

(8 ส.ค.65) นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมงแถลงวันนี้ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ (Shrimp Board) ว่า จากการที่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งทะเลและผู้ประกอบการแปรรูปและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ได้จับมือร่วมกันเพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมกุ้งไทยมีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลก โดยตั้งเป้าหมายให้ได้ผลผลิต 400,000 ตัน ในปี 2566 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ หรือ Shrimp board ซึ่งประกอบด้วย ภาครัฐ ได้แก่ กรมประมง และกรมการค้าภายใน ผู้แทนผู้ประกอบการแปรรูปและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง รวมถึงผู้แทนเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเล รวม 21 ท่าน ร่วมกันวางแผนเพื่อบริหารจัดการผลผลิตกุ้งทะเลตลอดห่วงโซ่การผลิต ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ทั้งนี้ การดำเนินงานต้องสร้างความมั่งคงด้านการตลาดตามนโยบายการตลาดนำการผลิตของรัฐบาล ซึ่งภายใต้ข้อตกลงร่วมกันของ Shrimp Board ได้มีการดำเนินการรักษาเสถียรภาพราคาของกุ้งขาวแวนนาไม โดยมีระยะเวลาการดำเนินการตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2564 ถึง 31 ธันวาคม 2565 ทำให้ราคาจำหน่ายกุ้งขาวฯ เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2564 เป็นต้นมา

พันธกิจที่สำคัญ คือ กรมประมงจัดทำแผนการฟื้นฟูผลผลิตกุ้งทะเล โดยในปี 2565 มีเป้าหมาย 320,000 ตัน และ ปี 2566 มีเป้าหมาย 400,000 ตัน ภายใต้แนวทางการฟื้นฟูผลผลิตกุ้งทะเลของประเทศไทย 11 แนวทาง โดยมีแนวทางหลัก ดังนี้  การบริหารเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ ผ่านกลไกคณะทำงานแก้ไขปัญหาการเลี้ยงกุ้งทะเล ระดับพื้นที่ ๓๕ จังหวัด การแก้ไขปัญหาด้านโรคกุ้งทะเล ซึ่งเป็นปัญหาหลักและเป็นต้นทุนแฝงของการเลี้ยงกุ้ง มีการจัดคลินิกเคลื่อนที่ (Mobile clinic) และสายด่วนปรึกษาปัญหาโรคสัตว์น้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรได้อย่างทันท่วงที  การจัดการการเลี้ยง มีการถอดบทเรียนและถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกร ส่งเสริมให้มีปราชญ์เลี้ยงกุ้งหรือฟาร์มเลี้ยงกุ้งต้นแบบในแต่ละพื้นที่ มีการสนับสนุนการใช้จุลินทรีย์และส่งเสริมให้ชมรมหรือกลุ่มเกษตรกรผลิตจุลินทรีย์ ปม.๒ การปรับปรุงพันธุ์กุ้งทะเล กรมประมงได้พัฒนาพันธุ์กุ้งขาวฯ สายพันธุ์สิชล 1 ผลิตและจำหน่ายเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่เกษตรกร  การจัดหาแหล่งทุน โดยการจัดทำโครงการเสริมสภาพคล่องเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเล ปี 2565 ระยะที่ 1 เพื่อเป็นแหล่งสินเชื่อปลอดดอกเบี้ยให้กับเกษตรกร ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานข้างต้นมีประสิทธิภาพและบรรลุเป้าหมาย กรมประมงจึงกำหนดให้มีการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูผลผลิตกุ้งทะเลเป็นประจำทุกเดือน  

ทั้งนี้ จากผลการดำเนินงานตั้งแต่เดือนมกราคม - กรกฎาคม 2565 ประเทศไทยมีผลผลิตกุ้งทะเลจากการเพาะเลี้ยงรวมทั้งสิ้น 138,733.18 ตัน จำแนกเป็นกุ้งขาวแวนนาไม 129,100.44 ตัน (ร้อยละ 93.06) และกุ้งกุลาดำ 9,632.74 ตัน (ร้อยละ 6.94) โดยเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ม.ค. - ก.ค. 64) ผลผลิตลดลงร้อยละ 3.09 ซึ่งถึงแม้ว่ากรมประมงจะมีนโยบายในการฟื้นฟูผลผลิตกุ้งทะเล และลงพื้นที่ดูแลพี่น้องเกษตรกรอย่างใกล้ชิด แต่การขาดความเชื่อมั่นด้านราคาเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกษตรกรไม่ปล่อยกุ้งลงเลี้ยงอย่างเต็มศักยภาพ ทำให้ผลผลิตกุ้งทะเลในภาพรวมลดลง ดังนั้น เพื่อรักษาตลาดและผู้ประกอบการส่งออกสามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้ Shrimp Board จึงมีข้อตกลงร่วมกันในการนำเข้าวัตถุดิบกุ้งทะเลจากต่างประเทศเฉพาะช่วงเวลาและปริมาณผลผลิตภายในประเทศมีปริมาณน้อย ภายใต้เงื่อนไขที่ห้องเย็นและโรงงานแปรรูปจะรับซื้อผลผลิตกุ้งทะเลจากเกษตรกรโดยประกันราคาซื้อ - ขายขั้นต่ำ เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาของกุ้งทะเลภายในประเทศไว้ โดยเริ่มดำเนินการรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2564 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ส่งผลให้ราคากุ้งทะเลภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้น ตั้งแต่ปลายปี 2564 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ผลการดำเนินโครงการดังกล่าวทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเลไม่ประสบปัญหาราคากุ้งตกต่ำเหมือนในอดีตที่ผ่านมา

โดยในปี 2565 Shrimp Board กำหนดแผนการนำเข้าวัตถุดิบกุ้งทะเลจากสาธารณรัฐเอกวาดอร์และสาธารณรัฐอินเดีย ปริมาณรวม 10,501 ตัน ทั้งนี้ ตั้งแต่มีการอนุญาตให้นำเข้าฯ เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2565 จนถึงเดือนกรกฎาคม 2565 มีการนำเข้ากุ้งขาวฯ จากสาธารณรัฐเอกวาดอร์ในเดือนมิถุนายน 2565 จำนวน 41.95 ตัน คิดเป็นมูลค่า 10.24 ล้านบาท แต่ยังไม่พบการนำเข้ากุ้งขาวฯ จากสาธารณรัฐอินเดีย

ถึงแม้ว่ากรมประมงจะมีการอนุญาตให้นำเข้ากุ้งจากสาธารณรัฐเอกวาดอร์และสาธารณรัฐอินเดีย แต่กรมประมงให้ความสำคัญกับการควบคุมโรค โดยดำเนินการอย่างรัดกุมก่อนการอนุญาตให้นำเข้ากุ้งทะเลจากสาธารณรัฐเอกวาดอร์และสาธารณรัฐอินเดีย โดยได้ประเมินระบบการควบคุมโรคของทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งมีข้อกำหนดในการพิจารณาหลายมิติครอบคลุมทั้งห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลแช่แข็งสำหรับการส่งออกมายังประเทศไทย เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะไม่มีโอกาสเกิดการแพร่กระจายเชื้อก่อโรคข้ามพรมแดนผ่านการนำเข้ากุ้งทะเลแช่แข็งอย่างเด็ดขาด ซึ่งประเทศต้นทางที่ไทยจะนำเข้าสินค้ากุ้งทะเลนั้นจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กรมประมงกำหนดอย่างเข้มงวด และและเมื่อสินค้ามาถึงประเทศไทย จะต้องถูกดำเนินการควบคุมโรคภายใต้พระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 โดยสินค้าจะต้องเข้าสู่ระบบการกักกันเพื่อให้เจ้าหน้าที่กรมประมงดำเนินการสุ่มตรวจเชื้อก่อโรคกุ้งทะเลที่สำคัญ ได้แก่ โรคไอเอ็มเอ็น (IMN) โรคตัวแดงดวงขาว (WSD) โรคหัวเหลือง (YHD) โรคทีเอส (TS) โรคไอเอชเอชเอ็น (IHHN) โรคเอ็นเอชพี (NHP) และโรคดีไอวี วัน (DIV 1) ตามบัญชีรายชื่อของ OIE รวมทั้งมีการสุ่มตรวจสารตกค้าง เช่น Chloramphenicol Nitrofurans และ Malachite green ภายใต้พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 โดยการสุ่มตัวอย่างทั้งหมดสอดคล้องตามหลักการสากลตามที่ OIE และ CODEX กำหนดไว้ และหากมีการตรวจพบเชื้อก่อโรคและ/หรือตรวจพบสารตกค้างเกินเกณฑ์มาตรฐาน สินค้าเหล่านั้นจะถูกทำลายหรือตีกลับประเทศต้นทางทันที จึงมั่นใจได้ว่าสินค้ากุ้งทะเลที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้ามาในประเทศไทยนั้น ได้รับการตรวจสอบอย่างเข้มงวดทั้งจากต้นทางและเมื่อถึงประเทศไทย อีกทั้งสินค้าเหล่านั้นจะถูกนำไปแปรรูปเพื่อการส่งออกเท่านั้น

นายครรชิต เหมะรักษ์ นายกสมาคมเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทย กล่าวถึง ความร่วมมือของเกษตรกรและผู้แปรรูปผ่านกลไก Shrimp Board ว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเลประสบปัญหาทั้งด้านราคาตกต่ำและต้นทุนการผลิตที่สูง ส่งผลให้ประสบปัญหาภาวะขาดทุน แรงจูงใจที่สำคัญของเกษตรกรในการประกอบอาชีพการเลี้ยงกุ้งทะเล คือ ปัจจัยด้านราคา ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา เกษตรกรต้องแก้ไขปัญหาด้านราคาตกต่ำด้วยวิธีการของตนเอง ผ่านกลไกการร้องขอจากรัฐบาล ซึ่งการจัดตั้ง Shrimp Board ในครั้งนี้ เป็นการจับมือของเกษตรกรและผู้แปรรูปเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี ของอุตสาหกรรมกุ้งทะเลไทย

การผลักดันให้อุตสาหกรรมกุ้งไทยมีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลก ปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ ผลผลิตต้องเพียงพอเพื่อสามารถต่อรองในตลาดโลกได้ จากการหารือร่วมกันใน Shrimp Board การนำเข้ากุ้งขาวฯ เพื่อมาทดแทนในช่วงที่ผลผลิตภายในประเทศมีปริมาณลดน้อยลงเพื่อรักษาตลาดมีความจำเป็น และขณะเดียวกันทำอย่างไรเกษตรกรภายในประเทศต้องไม่ได้รับผลกระทบจากการนำเข้า Shrimp Board จึงตกลงร่วมกันให้มีการรักษาเสถียรภาพราคา เพื่อไม่ให้เกษตรกรภายในประเทศประสบปัญหาราคาตกต่ำเหมือนในอดีตที่ผ่านมา และยังเป็นแรงจูงใจที่สำคัญในการเลี้ยงกุ้งทะเลต่อไป ซึ่งถือว่าเป็นการตอบโจทย์ที่แท้จริง เพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมกุ้งไทยมีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลก

นายบรรจง นิสภวาณิชย์ ประธานสมาพันธ์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย กล่าวถึงการพัฒนาศักยภาพการผลิตกุ้งทะเลของเกษตรกรไทย ว่า ปัจจุบันผลผลิตกุ้งทะเลของไทยอยู่ในปริมาณ 250,000 ถึง 350,000 ตัน เท่านั้น ผลผลิตที่ได้ไม่แน่นอน ซึ่งในแต่ละพื้นที่มีความพร้อมของเกษตรกรไม่เท่ากัน และมีสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันทั้งภูมิประเทศและภูมิอากาศ ซึ่งจากข้อมูลของกรมประมงพบว่า มีเกษตรกรผู้ประกอบกิจการการเลี้ยงกุ้งทะเลประมาณ 30,000 กว่าราย โดยมีพื้นที่ประมาณ 600,000 กว่าไร่ ซึ่ง Shrimp Board ร่วมกันคิดเพื่อให้แนวทางการฟื้นฟูผลผลิตกุ้งทะเลให้ได้ 400,000 ตัน ในปี 2566 บรรลุเป้าหมาย โดยหลักการที่สำคัญ คือ เกษตรกรสามารถเลี้ยงกุ้งได้ตามศักยภาพของตัวเองในแต่ละพื้นที่ ผ่านกลไกการสร้างปราชญ์ชาวบ้านหรือผู้รู้ในพื้นที่ โดยสรรหาผู้ที่สามารถเลี้ยงกุ้งได้ในภาวะวิกฤตหรือในภาวะที่เกษตรกรรายอื่นเลี้ยงกุ้งไม่ได้

กรมประมงโชว์ผลงานเด่นเพิ่มปูทะเลสำเร็จ 4 ปี 400% 'เฉลิมชัย' เร่งขยายผลปล่อยพันธุ์ปูทะเลอีก 1.3 ล้านตัวลงทะเลประจวบคีรีขันธ์ หวังเพิ่มทรัพยากรประมงให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มอบหมายนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงไทยของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานพิธีปล่อยพันธุ์ปูทะเล 'โครงการฟื้นฟูทรัพยากรประมงบริเวณแหล่งก่อเกิดทรัพยากรสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประจำปีงบประมาณ 2566' โดยมีนายกิตติพงศ์ สุขภาคกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง นายถาวร ทันใจ รองอธิบดีกรมประมง นายประพันธ์ ลีปายะคุณ รองอธิบดีกรมประมง นายมานพ หนูสอน รองอธิบดีกรมประมง นายมนตรี ปาน้อยนนท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายณฐกร สุวรรณธาดา คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้แทนสมาคมประมงประจวบคีรีขันธ์เข้าร่วม ณ คลองเขาแดง (บริเวณวัดเขาแดง) อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

โดยกรมประมงร่วมกับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์จัดขึ้น มีวัตถุประสงค์เพื่อให้พื้นที่บริเวณป่าชายเลนในเขตจังหวัดมีฐานทรัพยากรเพื่อการผลิต ทั้งในมิติของความหลากหลายของชนิดและปริมาณสัตว์น้ำที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้บริเวณพื้นที่ป่าชายเลนทำหน้าที่นิเวศบริการที่ดีแก่ชุมชน และเพื่อสนับสนุนให้ชุมชนร่วมมือในการบริหารจัดการทรัพยากรประมงของจังหวัดอย่างยั่งยืน รวมถึงเพิ่มผลผลิตปูทะเล สัตว์น้ำเศรษฐกิจในธรรมชาติ อันเป็นกลุ่มสัตว์น้ำที่มีบทบาทสำคัญในการประกอบอาชีพของคนในพื้นที่ อีกทั้งเป็นการขานรับนโยบายและข้อสั่งการของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มผลผลิตปูทะเลให้ได้ปริมาณ 5,000 ตัน ในปี 2566 โดยจากข้อมูลเดิมปี พ.ศ. 2561 มีผลผลิตปูทะเล เพียง 1,600 ตัน ปี พ.ศ. 2562 มีผลผลิต 3,000 ตัน ปี พ.ศ. 2563 มี 3,000 ตัน และในปี พ.ศ. 2564 ผลผลิตปูทะเลในภาพรวมทั้งประเทศ มีปริมาณเพิ่มขึ้นกว่า 6,000 ตัน หรือ4ปีเพิ่ม400%โดยเป็นผลผลิตปูทะเลจากการเพาะเลี้ยง จำนวน 3,400 ตัน และจากผลผลิตการจับจากธรรมชาติ 2,800 ตัน ซึ่งเกินเป้าหมายที่กรมประมงคาดการณ์ไว้

‘บิ๊กป้อม’ ถก คกก.ประมง จัดการทรัพยากรทะเลแบบยั่งยืน กำชับ ‘กรมประมง’ เข้มข้อกฎหมาย - โปร่งใส - ยึดหลักสากล

(27 ม.ค. 66) มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ถนนพหลโยธิน เขตพญาไท กรุงเทพ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 (ผ่านระบบ Video Conference) เพื่อกำหนดแนวทางการทำประมงพื้นบ้านและการนำเรือประมงออกนอกระบบ โดยที่ประชุมรับทราบ ความเห็นของคณะกรรมาธิการยุโรป (DG-MARE) ถึงความพยายามของไทย ต่อพัฒนาการติดตาม เฝ้าระวังและควบคุมการทำประมงภาพรวม โดยขอให้เพิ่มการตรวจสอบดำเนินคดีอย่างเต็มประสิทธิภาพตามขั้นตอนกฎหมายกับเรือที่มีข้อมูลจากศูนย์ FMC เรือเข้าออกท่าที่ผิดกฎหมาย เพื่อป้องกันมิให้ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำผิดกฎหมาย เข้าสู่ห่วงโซ่อาหารหรือส่งออกต่างประเทศ และรับทราบการขยายเวลายกเว้นบังคับใช้กฎหมาย MMPA ของสหรัฐฯ ออกไปอีก 1 ปี จนถึง 31 ธ.ค.66 

พร้อมกับรับทราบความก้าวหน้า นโยบายและแผนบริหารจัดการประมง และแผนปฏิบัติการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายในทะเลสาบสงขลา ปี 66-70 รวมทั้งผลการประเมินประเทศไทย ต่อสถานการณ์การขจัดแรงงานเด็กในรูปแบบเลวร้ายที่สุดของ สหรัฐฯ ปี 64 โดยเสนอให้ความสำคัญกับ การควบคุมบังคับใช้อายุขั้นต่ำของการจ้างแรงงานให้ครอบคลุมการจ้างแรงงานนอกระบบ การกำหนดอาชีพและกิจกรรมเสี่ยงที่อันตรายต่อเด็กให้ครอบคลุมมากขึ้น และการเพิ่มจำนวนและประสิทธิภาพผู้ตรวจแรงงานนอกระบบในพื้นที่ห่างไกล

‘กรมประมง’ ชวนเจ้าของเรือโหลดแอปพลิเคชัน ‘Fisheries Touch’ ชี้ สามารถติดตามเรือได้ทุกที่ทุกเวลา ล่าสุดเข้าระบบแล้ว 3,000 ลำ

(2 ต.ค. 66) นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง รักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า กรมประมงพัฒนาแอปพลิเคชันขึ้นมาชื่อว่า Fisheries Touch ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่กรมประมงทำขึ้นเพื่อให้ชาวประมงใช้สำหรับติดตามแสดงตำแหน่ง ทิศทาง ความเร็ว และสถานะของเรือได้อย่าง Real-Time ตลอด 24 ชั่วโมง บนแผนที่อิเล็กทรอนิกส์ทางทะเลก่อนเข้าเขตห้ามทำการประมงต่าง ๆ

เช่น เขตทะเลชายฝั่ง เขตปิดอ่าว เขตอุทยานแห่งชาติ และเขตน่านน้ำประชิดประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น ระบบจะแสดงแนวกันชน (Buffer Zone) หรือแนวแจ้งเตือนในระยะ 0.5 ไมล์ทะเลด้านนอกของเขตที่ห้ามทำการประมงดังที่กล่าวมา

โดยชาวประมงสามารถเรียกดูเส้นทางการเดินเรือของตัวเองในตลอดเวลาย้อนหลังได้ตามช่วงเวลาที่ต้องการ หากชาวประมงที่มีเรือในกรรมสิทธิ์อยู่หลายลำ และมีการติดตั้งระบบติดตามเรือประมงกับบริษัทผู้ให้บริการต่างบริษัทกัน ก็สามารถดูเรือทุกลำภายในบัญชีผู้ใช้งานเดียวกันได้ ช่วยให้ชาวประมงสามารถติดตามเรือของตนเองผ่านทางออนไลน์ได้จากทุกที่ทุกเวลา

และสามารถแจ้งเตือนไปยังผู้ควบคุมเรือเพื่อแก้ไขปัญหาความสุ่มเสี่ยงที่อาจจะเกิดการทำประมงผิดกฎหมายได้อีกด้วย ถือเป็นการลดการกระทำผิดด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ได้อย่างมากซึ่งสอดรับกับนโยบายรัฐบาล

ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า) ที่พยายามผลักดันการฟื้นฟูชีวิตอุตสาหกรรมประมงให้กลับมาเป็นแหล่งรายได้ ด้วยการอำนวยความสะดวกและลดอุปสรรคในการทำการประมง

สำหรับปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 15 กันยายน 2566) มีเรือประมงที่ได้เข้าใช้งานแอปพลิเคชัน Fisheries Touch จำนวน 3,323 ลำ จากเรือประมงที่ต้องติดตั้งระบบติดตามเรือทั้งหมด 5,082 ลำ และมีเรือที่ยังไม่ได้ใช้แอปพลิเคชันดังกล่าวนี้อีกมากถึงจำนวน 1,759 ลำ ประกอบกับในห้วงที่ผ่านมา กรมประมงพบว่ามีการรายงานข้อมูลที่มีชาวประมงมีโอกาสสุ่มเสี่ยงที่จะเข้าไปทำการประมงในเขตห้ามทำการประมงต่าง ๆ

ดังนั้น กรมประมงจึงขอแจ้งประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้เรือประมงที่ยังไม่ได้เข้าใช้แอปพลิเคชันดังกล่าวให้ดาวน์โหลดและลงทะเบียนเข้าใช้งาน เพื่อป้องกันการทำประมงผิดกฎหมาย

ทั้งนี้ แอปพลิเคชัน Fisheries Touch สามารถใช้งานบน Smart Phone ทั้งระบบ IOS ของ iPhone และ iPad ที่ใช้ Version IOS ขั้นต่ำ 5.0 และระบบ Android ของ Smart Phone และ Tablet ใช้ Version ขั้นต่ำ 4.0.3 ซึ่งใช้งานง่าย สะดวก รวดเร็ว โดยชาวประมงสามารถเข้าไปดาวน์โหลดได้ที่ App Store หรือ Play Store และติดต่อขอรหัสใช้งานได้ที่เจ้าหน้าที่ศูนย์ VMS โทร. 0-2561-3132, 0-2561-2296, 0-2561-2297 หรือทาง Line ID : @114velss


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top