Saturday, 19 April 2025
กรมธุรกิจพลังงาน

‘กรมธุรกิจพลังงาน’ ยัน!! น้ำมันมีเพียงพอใช้ในประเทศ หลัง ‘โรงกลั่นไทยออยล์’ ประกาศหยุดซ่อมบำรุง 13 วัน

เมื่อวานนี้ (17 ม.ค. 67) นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เปิดเผยว่าจากกรณีหน่วยกลั่นน้ำมันดิบที่ 3 ของโรงกลั่นไทยออยล์มีการหยุดซ่อมบำรุง เป็นระยะเวลา 13 วัน ระหว่างวันที่ 16-28 มกราคม 2567 

ทั้งนี้ กรมธุรกิจพลังงานจึงได้ประชุมหารืออย่างต่อเนื่องในวันที่ 16-17 มกราคม 2567 ร่วมกับบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) โรงกลั่นน้ำมันทุกแห่งและผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 เพื่อติดตามสถานการณ์ เตรียมมาตรการป้องกันและแก้ไขการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง

โดยพบว่าจะส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตน้ำมันอากาศยาน (JETA1)110 ล้านลิตร น้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็ว 240 ล้านลิตร น้ำมันกลุ่มเบนซิน 60 ล้านลิตร และก๊าซปิโตรเลียมเหลว(LPG) 15 ล้านกิโลกรัม

อย่างไรก็ดี จากการติดตามสถานการณ์ดังกล่าวพบว่าไทยออยล์ และผู้ค้าน้ำมันสามารถจัดหาน้ำมันกลุ่มเบนซินน้ำมันอากาศยาน (JET A1)และLPG ได้เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศโดยไม่มีผลกระทบ 

สำหรับน้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็ว การจัดหาค่อนข้างตึงตัวในช่วงแรกกรมธุรกิจพลังงานจึงได้สั่งการให้ผู้ค้าน้ำมันห้ามส่งออกน้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็ว ยกเว้นกรณีจำเป็นตามสัญญาเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็วภายในประเทศให้เพียงพอต่อความต้องการใช้รวมถึงเร่งนำน้ำมันสำรองตามกฎหมายกลุ่มดีเซลหมุนเร็ว ออกมาจำหน่ายได้ในปริมาณไม่เกินกว่า 20% ของปริมาณสำรองตามกฎหมายที่มีหน้าที่ต้องเก็บสำรอง ส่งผลให้มีน้ำมันเพียงพอต่อความต้องการใช้ของประเทศ 

นอกจากนี้ กรมจะติดตามและประเมินสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดจึงขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าจะไม่เกิดการขาดแคลนน้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็ว

'กรมธุรกิจพลังงาน' กำชับปั๊มฯ หมั่นเช็กจุดเสี่ยง ไม่ให้น้ำปนเปื้อนในน้ำมัน ป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อตนเองและทรัพย์สินของ ปชช.

(2 พ.ค. 67) นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวว่า จากกรณีการเติมน้ำมันแล้วกลายเป็นน้ำ ในพื้นที่ อ.หนองปรือ จ.กาญจนบุรี กรมธุรกิจพลังงานได้ดำเนินการตามกฎหมาย โดยเข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงและเก็บตัวอย่างน้ำมันมาตรวจสอบคุณภาพ และแจ้งความดำเนินคดีกับปั๊มน้ำมันดังกล่าวในความผิดฐานการจำหน่ายหรือมีไว้เพื่อจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีลักษณะหรือคุณภาพแตกต่างจากที่อธิบดีประกาศกำหนด ตามข้อกฎหมายด้านคุณภาพและความปลอดภัย หากพบน้ำมันเชื้อเพลิงไม่ได้คุณภาพ มีโทษตามมาตรา 48 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากพบน้ำมันเชื้อเพลิงไม่ได้คุณภาพ มีปริมาณเกิน 200 ลิตร จะเข้าข่ายเป็นการปลอมปนน้ำมัน มีโทษตามมาตรา 49 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 บาท ถึง 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ ทางกรมฯ ได้กำชับผู้ประกอบกิจการสถานีบริการน้ำมัน ตรวจสอบจุดเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นเพื่อป้องกันมิให้เกิดกรณีน้ำปนในน้ำมัน โดยการปนเปื้อนของน้ำในน้ำมันดังกล่าวอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การปนเปื้อนของน้ำระหว่างขั้นตอนการขนส่งหรือจัดเก็บ และการรั่วไหลของน้ำเข้าไปในถังน้ำมัน 

อย่างไรก็ตาม ผู้ค้าน้ำมันจะต้องมีการบริหารจัดการน้ำมันในถังเก็บน้ำมันให้เหมาะสม ตรวจวัดน้ำก่อนการรับน้ำมันจากรถขนส่ง และตรวจวัดปริมาณน้ำในถังเก็บน้ำมันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อตนเองและทรัพย์สินของประชาชน

‘ดร.หิมาลัย’ ลงพื้นที่ ‘ลพบุรี’ พบปั๊มน้ำมัน มีค่ากำมะถัน สูงเกินเกณฑ์ เผย!! ดำเนินการตรวจสอบคุณภาพน้ำมัน ตามนโยบายของ ‘ท่านพีระพันธุ์’

เมื่อวานนี้ (5 ก.ค.67) ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ พร้อมด้วย นายทนงศักดิ์ วงษ์ลา พลังงานจังหวัดลพบุรี เจ้าหน้าที่ตำรวจกองวิทยาการพิสูจน์หลักฐานจังหวัดลพบุรี เดินทางมาที่ สภ.บ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี เพื่อติดตามการดำเนินคดี กับผู้ประกอบการปั๊มน้ำมัน

หลังจากที่ก่อนหน้านี้ สำนักงานพลังงานจังหวัดลพบุรี ออกตรวจสอบคุณภาพน้ำมันจากปั๊มน้ำมันต่างๆ ในพื้นที่ 3 อำเภอ ของจังหวัดลพบุรี ทั้งหมด 28 ปั๊ม โดยทางสำนักงานพลังงานจังหวัดลพบุรี ส่งน้ำมันไปตรวจสอบมาตรฐานคุณภาพน้ำมันยังกรมธุรกิจพลังงาน

ต่อมาแจ้งผลการตรวจคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงมาที่พลังงานจังหวัดว่า มีผลค่ากำมะถันในน้ำมันเกินค่ามาตรฐานจำนวน 2 ปั๊ม พบผลการตรวจค่ากำมะถันนี้ สูงกว่า 240 PPM. เกินกว่าค่าปกติถึง 4 เท่า วัดจากค่ามาตรฐานของน้ำมันกำมะถันที่กำหนดไว้ 50 PPM.

ทางสำนักงานพลังงานจังหวัดลพบุรี เข้าแจ้งความดำเนินคดี กับสถานประกอบการทั้ง 2 แห่ง แล้ว โดยวันนี้มีผู้ประกอบการน้ำมันเชื้อเพลิงพร้อมกับทนายความ เดินทางมาเข้าร่วมประชุมกับเจ้าหน้าที่ด้วยเช่นกัน เบื้องต้นยังไม่ทราบสาเหตุที่ทำให้มีสารกำมะถันสูงกว่ามาตรฐาน

ดร.หิมาลัย กล่าวว่า ในขั้นต้นได้รับรายงานว่า สำนักงานพลังงานจังหวัดลพบุรี ตรวจสอบคุณภาพน้ำมันให้มีมาตรฐานตามนโยบายของ นายพีระพันธ์ุ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

ซึ่งเราก็ได้รับการร้องขอความเป็นธรรมมาจากผู้ประกอบการ วันนี้มานั่งประชุมกันทั้ง 2 ฝ่าย ทำความเข้าใจการทำงานของเจ้าหน้าที่ และเจ้าหน้าที่เองก็ทำงานที่ตรงไปตรงมา ซึ่งก็เป็นการปฏิบัติงานตามวงรอบ ขณะเดียวกันทางเราก็รับทราบปัญหาจากทางผู้ประกอบการด้วย

การหารือวันนี้ ถือว่าเป็นไปโดยดี เป็นการรับฟังข้อมูลจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะประชาชน เราต้องการที่จะดูแลผลประโยชน์ให้ประชาชนในเรื่องของน้ำมันให้มีคุณภาพและมีมาตรฐานเดียวกัน ดร.หิมาลัย กล่าว

ด้านนายทนงศักดิ์ กล่าวว่า ดำเนินการตรวจสอบตามปกติ คือ พลังงานจังหวัดลพบุรี มีแผนสุ่มตรวจในจังหวัด โดยขณะนี้มีอยู่ 3 พื้นที่ 3 อำเภอ ในการสุ่มตรวจทั้งหมด 28 ปั๊มที่ได้มา ไม่ได้เจาะจงปั๊มใดปั๊มหนึ่ง เมื่อส่งตรวจแล้วทางกรมธุรกิจพลังงานได้ส่งรายการแจ้งมาที่สำนักงานพลังงานจังหวัด ว่ามีผลเกินค่ามาตรฐานอยู่ 2 ปั๊ม คือมาตรฐานที่ประมาณ 50 PPM. ต่อปริมาณ แต่ว่าผลการตรวจของ ปั๊มทั้ง 2 แห่งสูงกว่า 240 PPM. และขณะนี้ขั้นตอนอยู่ระหว่างการดำเนินการในการแจ้งความดำเนินคดีตามกฎหมาย

กรมธุรกิจพลังงาน ลงนามร่วม กพพ. -กฟน.-กฟภ. ผสานกำลังกำกับดูแลสถานีชาร์จไฟฟ้ารถอีวี

กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) จับมือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ร่วมกันกำกับดูแลด้านความปลอดภัยของการประกอบกิจการสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า

(20 พ.ย. 67) นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน พร้อมด้วยนายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน นางสาวภัทรา สุวรรณเดช รองผู้ว่าการธุรกิจ การไฟฟ้านครหลวง และนายประสิทธิ์ จันทร์ประสิทธิ์ รองผู้ว่าการธุรกิจและการตลาด การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (Memorandum of Understanding : MOU) เรื่อง การกำหนดกรอบระยะเวลาในการปฏิบัติงานการอนุมัติอนุญาต และจัดทำมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าของสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV Charging Station) ภายในเขตสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ณ ห้องประชุม 9 ชั้น 15 ศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ อาคารบี ถนนวิภาวดีรังสิต เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร

นายสราวุธ กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในวันนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานอนุมัติ อนุญาต ทั้ง 4 หน่วยงาน ได้แก่ กรมธุรกิจพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยมีวัตถุประสงค์ในการกำกับดูแลด้านความปลอดภัยของการประกอบกิจการสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV Charging Station) ที่ติดตั้งภายในเขตสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง และเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ความต้องการด้านโครงสร้างพื้นฐานการชาร์จไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้า และสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน 

ภายใต้ความร่วมมือนี้ ทางหน่วยงานทั้ง 4 จะทำงานร่วมกันเพื่อกำหนดกรอบระยะเวลาในการปฏิบัติงาน ที่เกี่ยวกับการขออนุมัติอนุญาต และจัดทำมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าฯ เพื่อใช้เป็นข้อกำหนดในการอนุมัติ อนุญาต ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน และมุ่งหวังให้ประชาชนสามารถใช้งานสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ที่ติดตั้งภายในเขตสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ได้อย่างมั่นใจ มีความปลอดภัย และยังเป็นการดำเนินการตามนโยบาย 30@30 ตามมติคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ในการส่งเสริมให้เกิดการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ในปี 2573 (ค.ศ. 2030) ให้ได้ร้อยละ 30 ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในประเทศ

‘กรมธุรกิจพลังงาน’ เผยยอดใช้น้ำมันเดือนแรกปี 68 โต 2.8% จับสัญญาณกลุ่มเบนซินชะลอตัว หลังคนแห่ใช้รถอีวีพุ่ง

กรมธุรกิจพลังงาน เผยยอดใช้น้ำมันเดือนแรกปี 68 โต 2.8% ขณะที่น้ำมันกลุ่มเบนซินส่งสัญญาณชะลอตัว จากการขยายตัวของยานยนต์ไฟฟ้า โดยในเดือนมกราคม 68 ลดลง 3% ในขณะที่ NGV ลดฮวบ 15.3 % ส่วนดีเซลหมุนเร็ว เพิ่มขึ้น 0.4 % น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เพิ่มขึ้น 21 % และ LPG เพิ่ม 2.9 %

(18 มี.ค. 68) นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เผยภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง เดือนมกราคม 2568 อยู่ที่ 157.56 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและบริการ รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยที่น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ณ สถานีบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เพิ่มขึ้นร้อยละ 21 และการใช้ LPGเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 ขณะที่กลุ่มเบนซินลดลงร้อยละ 3.0 การใช้น้ำมันเตาเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 และ NGV ลดลงร้อยละ 15.3 

โดยรายละเอียดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิดในเดือนมกราคม 2568 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน มีดังนี้

การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน เฉลี่ยอยู่ที่ 31.25 ล้านลิตร/วัน ลดลงร้อยละ 3.0 ประกอบด้วยการใช้แก๊สโซฮอล์ 91 ลดลงมาอยู่ที่ 6.68 ล้านลิตร/วัน แก๊สโซฮอล์ อี 20 ลดลงมาอยู่ที่ 5.05 ล้านลิตร/วัน เบนซิน ลดลงมาอยู่ที่ 0.38 ล้านลิตร/วัน และแก๊สโซฮอล์ อี 85 ลดลงมาอยู่ที่ 0.06 ล้านลิตร/วัน ขณะที่น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 18.71 ล้านลิตร/วัน จะเห็นได้ว่าผู้บริโภคเลือกใช้แก๊สโซฮอล์ 95 มากที่สุด โดยสาเหตุมาจากปัจจัยด้านประสิทธิภาพของเครื่องยนต์และราคา ซึ่งราคาแก๊สโซฮอล์ 95 สูงกว่าแก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 0.37 บาท/ลิตร ในเดือนมกราคม 2568 แต่ในช่วงเดียวกันของปีก่อนราคาแก๊สโซฮอล์ 95 สูงกว่าแก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 1.76 บาท/ลิตร จึงทำให้ประชาชนเลือกใช้แก๊สโซฮอล์ 95 มากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินเริ่มเห็นสัญญาณของการชะลอตัวลงโดยมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย อาทิ การขยายตัวของยานยนต์ไฟฟ้า (BEV HEV และ PHEV) มีสัดส่วนร้อยละ 5.67 ของรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ไม่เกิน 7 คน รวมถึงการใช้งานระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่มีการขยายตัวของผู้โดยสารอย่างต่อเนื่องคิดเป็นร้อยละ 15.262 เทียบกับปีก่อน

การใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ณ สถานีบริการ เฉลี่ยอยู่ที่ 68.16 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 ประกอบด้วยดีเซลหมุนเร็วธรรมดา เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 68.03 ล้านลิตร/วัน ขยายตัวตามภาวะเศรษฐกิจจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ รวมถึงการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้า ประกอบกับนโยบายตรึงราคาน้ำมันดีเซลเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาระค่าครองชีพของประชาชน ในปัจจุบันกรมธุรกิจพลังงาน ได้ปรับลดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลลงเป็น ดีเซลหมุนเร็ว บี 5 มีผลตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 ตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 เนื่องจากราคาผลปาล์มทะลายและน้ำมันปาล์มดิบปรับตัวสูงขึ้นส่งผลกระทบต่อราคาไบโอดีเซล สำหรับการใช้ดีเซลพื้นฐาน เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.85 ล้านลิตร/วัน ขณะที่ดีเซลหมุนเร็ว บี 20 ลดลงมาอยู่ที่ 0.132 ล้านลิตร/วัน ทั้งนี้ ภาพรวมปริมาณการใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลอยู่ที่ 70.01 ล้านลิตร/วัน

การใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เฉลี่ยอยู่ที่ 19.81 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 21 มีปัจจัยมาจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยวและการบริการผ่านมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องของภาครัฐ โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่าจากสถิตินักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 – 31 มกราคม 2568  มีจำนวนสะสม 3.709 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.2 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว รวมถึงการขยายตัวของการขนส่งสินค้าทางอากาศ ส่งผลให้ปริมาณการใช้ปรับตัวสูงขึ้นจากปีก่อน

การใช้ LPG เฉลี่ยอยู่ที่ 16.66 ล้าน กก./วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นทุกรายสาขา ประกอบด้วยการใช้ในภาคครัวเรือน เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 6.17 ล้าน กก./วัน ภาคปิโตรเคมีเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 6.10 ล้าน กก./วัน ภาคขนส่ง เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.306 ล้าน กก./วัน จากการขยายตัวของกลุ่มรถแท็กซี่เป็นสำคัญ และภาคอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.09 ล้าน กก./วัน

การใช้ NGV เฉลี่ยอยู่ที่ 2.47 ล้าน กก./วัน ลดลงร้อยละ 15.3 โดยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับจำนวนรถจดทะเบียน NGV สะสม และจำนวนสถานีบริการ NGV ที่มีแนวโน้มปิดตัวลง ทั้งนี้ ปตท. ยังคงช่วยเหลือโดยตรึงราคาให้กับ กลุ่มรถแท็กซี่และรถโดยสารสาธารณะที่ถือบัตรสิทธิประโยชน์ ปัจจุบันดำเนินการอยู่ในระยะที่ 2 (1 ก.ค. 2567 – 31 ธ.ค. 2568)

การนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง เฉลี่ยอยู่ที่ 1,126,251 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.6 คิดเป็นมูลค่าการนำเข้ารวม 94,549 ล้านบาท/เดือน โดยเป็นการนำเข้าน้ำมันดิบอยู่ที่ 1,095,257 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.1 คิดเป็นมูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบอยู่ที่ 92,565 ล้านบาท/เดือน สำหรับการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป (น้ำมันเบนซินพื้นฐาน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันอากาศยาน และ LPG) อยู่ที่ 30,993 บาร์เรล/วัน ลดลงร้อยละ 49.2 คิดเป็นมูลค่าการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปอยู่ที่ 1,984 ล้านบาท/เดือน

การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป เฉลี่ยอยู่ที่ 146,143 บาร์เรล/วัน ลดลงร้อยละ 8.0 เป็นการส่งออกน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน และ LPG คิดเป็นมูลค่าส่งออกรวม 13,819 ล้านบาท/เดือน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top