Sunday, 20 April 2025
กรมที่ดิน

🚨ตำรวจไซเบอร์เตือนภัย🚨

🚨ตำรวจไซเบอร์เตือนภัย🚨

🏡มุกใหม่มิจฉาชีพ หลอกยกเลิกสัญญาซื้อขายบ้าน-ที่ดิน ยอมโดนยึดมัดจำ ลวงผู้เสียหายผิดนัด

⚠️ กลลวงมิจฉาชีพ เริ่มต้นจะขอซื้อบ้านหรือที่ดิน โดยจวางเงินมัดจำเป็นจำนวนที่สูง มีการระบุวันโอนขายที่ดินไว้
⚠️ ก่อนถึงวันโอนบ้านหรือที่ดิน มิจฉาชีพจะโทรศัพท์มาแจ้งผู้ขาย ขอยกเลิกการซื้อขาย และยอมให้ยึดเงินมัดจำ จนผู้เสียหายหลงเชื่อและไม่ไปสำนักงานที่ดินเพื่อโอนตามสัญญา
⚠️ วันโอนตามสัญญา มิจฉาชีพจะไปสำนักงานที่ดินและนั่งรอผู้ขายตั้งแต่เช้า เพื่อให้กล้องวงจรปิดบันทึกภาพ และมีพยานบุคคล ซึ่งส่งผลให้ผู้ขายเข้าข่ายผิดสัญญาจะซื้อจะขาย และมิจฉาชีพสามารถเรียกค่าปรับได้ตามที่ระบุไว้ในสัญญา ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่สูงกว่าเงินมัดจำ

ข้อควรระวัง
✅ ผู้ขายควรตรวจสอบประวัติของผู้ที่มาติดต่อขอซื้อบ้านหรือที่ดิน เพื่อป้องกันการถูกหลอกจากกลุ่มมิจฉาชีพ

 ❌ไม่เชื่อ  ❌ไม่รีบ  ❌ไม่โอน

 "ตำรวจไซเบอร์ ให้ความรู้ รู้ทันความคิดมิจฉาชีพ"

#ตำรวจไซเบอร์ #เตือนภัยออนไลน์ #ซื้อขายบ้านหรือที่ดิน #กรมที่ดิน

💌 ด้วยความห่วงใย จากตำรวจไซเบอร์
☎️ ปรึกษาสอบถามโทร 1441 หรือ 081-866-3000
🌐 แจ้งความออนไลน์ www.thaipoliceonline.com
📱 Line:@police1441 แชทบอทกับหมวดขวัญดาว ตลอด 24 ชั่วโมง

ศาลพิพากษาให้ 'กรมที่ดิน' ชดใช้ 'ธนาธร' 4.9 ล้านบาท ปมสั่งเพิกถอน 'น.ส.3ก.' ราชบุรี เนื้อที่ 81 ไร่เศษ

‘ศาลปกครองกลาง’ พิพากษาให้ ‘กรมที่ดิน’ ชดใช้ค่าเสียหาย ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ 4.9 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย ปมออกคำสั่งเพิกถอน ‘น.ส.3 ก.’ จ.ราชบุรี เนื้อที่ 81 ไร่เศษ ชี้แม้ที่ดินทั้ง 2 แปลง จะออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่เป็น ‘บุคคลภายนอก’ ที่ซื้อที่ดินมาโดยสุจริต-เสียค่าตอบแทน

(27 ก.ย. 66) ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 2218/2565 คดีหมายเลขแดงที่ 1839/2566 ซึ่งเป็นคดีที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ (ผู้ฟ้องคดี) ฟ้องกระทรวงมหาดไทย (มท.) กับพวกรวม (ผู้ถูกฟ้องคดี) ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการกระทำละเมิดอันเกิดจากคำสั่งทางปกครอง กรณีอธิบดีกรมที่ดินมีคำสั่งเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ในพื้นที่ จ.ราชบุรี ของนายธนาธร

โดยศาลปกครองกลางพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรมที่ดิน) ชดใช้ค่าเสียหาย จำนวน 4,912,311.21 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กำหนดใน พ.ร.ฎ.ซึ่งออกตามความในมาตรา 7 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ของต้นเงินจำนวน 4,785,782.98 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแต่ไม่เกินร้อยละ 5 ต่อปี ตามคำขอของผู้ฟ้องคดี ทั้งนี้ ภายใน 60 วันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด คืนค่าธรรมเนียมศาลแต่บางส่วนตามส่วนของการชนะคดีแก่ผู้ฟ้องคดี ยกฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ 3 และที่ 2 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

เนื่องจากศาลฯเห็นว่า จากการตรวจสอบตำแหน่งที่ดินของหน่วยงานต่าง ๆ ตามหลักวิชาการที่ดินประกอบกับเมื่อพิจารณาจากแผนที่แสดงตำแหน่งแปลงที่ดิน มาตราส่วน 1 : 30,000 ระวาง 4836 II 5006 แล้วเห็นว่า ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 158 และเลขที่ 159 ของผู้ฟ้องคดี อยู่ในแนวเขตที่ดิน ซึ่งมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2521 ได้กำหนดให้เป็นเขตพื้นที่ป่าไม้ถาวร “ป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี” หมายเลข 85

และต่อมาได้มีการประกาศกำหนดให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี”ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 1,069 (พ.ศ.2527) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ซึ่งต้องห้ามมิให้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3. ก.) ตามข้อ 3 ของกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ.2497) และข้อ 8 (2) ของกฎกระทรวงฉบับที่ 5 (พ.ศ.2497) ออกตามความพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497

จึงเป็นการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) โดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย รองอธิบดี ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 มอบหมาย จึงมีอำนาจตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน สั่งเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ได้

ดังนั้น คำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 747/2565 ลงวันที่ 29 มีนาคม 2565 ให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3.ก.) เลขที่ 158 และเลขที่ 159 ของผู้ฟ้องคดี จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว เมื่อคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ที่ให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี อาศัยข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และการใช้ดุลพินิจเช่นเดียวกัน จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน

อย่างไรก็ดี เมื่อหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 158 ออกให้แก่นาย อ. และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 159 ออกให้แก่นาย ช. เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2521 ตามโครงการเดินสำรวจโดยมิได้แจ้งการครอบครองที่ดินตามมาตรา 58 และมาตรา 58 ทวิ วรรคสอง (2) แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน

ต่อมา นาย อ. และนาย ช. ได้จดทะเบียนขายให้แก่ บริษัท ร. เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2528 หลังจากนั้น บริษัท ร. ได้จดทะเบียนขายรวมสองแปลงให้แก่นาย ส. เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2534 และนาย ส. ได้จดทะเบียนขายรวมสองแปลงให้แก่ผู้ฟ้องคดี เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2543

ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นบุคคลภายนอกได้ซื้อที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) โดยสุจริต เสียค่าตอบแทน และได้รับความเสียหาย เมื่อนายอำเภอจอมบึงซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กระทรวงมหาดไทย) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ไม่ได้ใช้ความระมัดระวัง ความรู้ความชำนาญและความละเอียดรอบคอบในการตรวจสอบสภาพและที่ตั้งของที่ดินว่าเป็นที่ดินที่ต้องห้ามออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ตามกฎหมายหรือไม่

ซึ่งตามวิสัยและพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดินอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้เพียงพอไม่ จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่เมื่อนายอำเภอจอมบึง ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดิน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงต้องไม่รับผิดชดใช้ค่าเสียหายจากการปฏิบัติหน้าที่ของนายอำเภอจอมบึง

แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรมที่ดิน) จึงต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของนายอำเภอจอมบึงในการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539

ส่วนในการพิจารณากำหนดค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดี จะต้องพิจารณาถึงความเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีได้รับ ณ วันที่ผู้ฟ้องคดีได้รับแจ้งคำสั่งเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เมื่อผู้ฟ้องคดีได้รับแจ้งคำสั่งเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2565 และไม่ปรากฏว่ามีราคาซื้อขายที่ดินกันตามปกติในท้องตลาดในวันดังกล่าว

จึงเห็นควรกำหนดค่าเสียหายโดยเทียบเคียงจากบัญชีราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม รอบบัญชี ปี พ.ศ.2559–พ.ศ.2562 ที่สำนักงานที่ดินจังหวัดราชบุรี สาขาจอมบึง ประกาศกำหนด เนื่องจากอัตราดังกล่าวเป็นการกำหนดราคาที่ดินที่มีความเป็นกลางและใช้บังคับอยู่จนถึงวันที่มีการเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.)

เมื่อหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 158 มีเนื้อที่ 43 ไร่ 3 งาน มีราคาประเมินทุนทรัพย์ฯ ราคาตารางวาละ 160 บาท คิดเป็นเงินจำนวน 2,800,000 บาท และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 159 มีเนื้อที่ 38 ไร่ 67 ตารางวา มีราคาประเมินทุนทรัพย์ฯ ราคาตารางวาละ 190 บาท คิดเป็นเงินจำนวน 2,900,730 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 5,700,730 บาท

อย่างไรก็ดี ผู้ฟ้องคดีมีคำขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 4,785,782.98 บาท ศาลจึงไม่อาจพิพากษาเกินคำขอของผู้ฟ้องคดีได้ และผู้ฟ้องคดีจึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ทำละเมิด คือ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 จนถึงวันที่ฟ้องคดี (10 ตุลาคม 2565) คิดเป็นดอกเบี้ยก่อนฟ้องคดีเป็นเงินจำนวน 126,528.23 บาท ผู้ฟ้องคดีจึงมีสิทธิได้รับค่าเสียหายรวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 4,912,311.21 บาท

ส่วนการที่ผู้ฟ้องคดีมีคำขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีเป็นรายเดือน เดือนละ 13,666.67 บาท นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 เป็นต้นไป จนกว่าคดีจะถึงที่สุด และค่าเสียหายจากการเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดิน โดยค่าเสียหายตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 จนถึงวันฟ้องคิดเป็นเงินจำนวน 86,555.57 บาท นั้น เห็นว่า ผู้ฟ้องคดีไม่เคยเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดิน และไม่เคยมีรายได้จากที่ดินแปลงพิพาท อีกทั้งผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างลอยๆ ปราศจากพยานหลักฐานการให้เช่าที่ดิน กรณีจึงถือไม่ได้ว่า ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายตามที่กล่าวอ้าง ศาลจึงไม่กำหนดค่าเสียหายจากการทำประโยชน์ในที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดี

สำหรับคดีนี้ ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3. ก.) เลขที่ 158 และเลขที่ 159 ตำบลด่านทับตะโก อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี เนื้อที่ 43 ไร่ 3 งาน และเนื้อที่ 38 ไร่ 67 ตารางวา ตามลำดับ ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (อธิบดีกรมที่ดิน) ได้มีคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 747/2565 ลงวันที่ 29 มีนาคม 2565 ใช้อำนาจตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3. ก.) ทั้งสองแปลงของผู้ฟ้องคดี

เนื่องจากตำแหน่งที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3.ก.) พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตป่าไม้ถาวร “ป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี (หมายเลข 85)” ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2512 จึงเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 58 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ที่ห้ามมิให้ดำเนินการในเขตป่าไม้ถาวรและเป็นที่ดินต้องห้ามมิให้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3.ก.) ตามข้อ 3 ของกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ.2497) และข้อ 8 (2) ของกฎกระทรวงฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2497) ออกตามความพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497

ผู้ฟ้องคดีไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าวจึงได้ยื่นอุทธรณ์ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (ปลัดกระทรวงมหาดไทย) ได้มีคำวินิจฉัยยกอุทธรณ์ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า คำสั่งและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล

รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 29 มี.ค.2565 กรมที่ดิน โดยคำสั่งอธิบดีกรมที่ดินที่ 747/2565 ได้มีคำสั่งให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ในพื้นที่ ต.ด่านทับตะโก อ.จอมบึง จ.ราชบุรี จำนวน 59 ฉบับ เนื้อที่รวม 2,111-1-69 ไร่ ที่ได้ออกเมื่อปี 2521 ตามโครงการเดินสำรวจออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) โดยใช้ระวางรูปถ่ายทางอากาศมิได้แจ้งการครอบครองที่ดิน

เนื่องจากที่ดินดังกล่าวตั้งอยู่ในเขตป่าไม้ถาวร “ป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี (หมายเลข 85)” ซึ่งต่อมาได้ประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี เมื่อปี 2527 จึงเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 58 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ที่ห้ามดำเนินการในเขตป่าไม้ถาวร และเป็นที่ดินต้องห้ามมิให้ออก น.ส.3 ก. ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2497) ข้อ 3 ซึ่งบังคับใช้อยู่ในขณะนั้น คณะกรรมการสอบสวนเห็นว่า น.ส.3 ก.ดังกล่าว ออกไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย สมควรเพิกถอน น.ส.3 ก. ทั้ง 59 ฉบับ

‘กองทุนดีอี’ ชูระบบสืบค้นข้อมูลอาคารชุด ‘CondoMaps’ หลังสนับสนุนงบ ‘กรมที่ดิน’ พัฒนาสู่ดิจิทัลแพลตฟอร์ม

ภายหลังจาก สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) โดยกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ กองทุนดีอี ได้สนับสนุนงบประมาณให้ กรมที่ดิน ให้ดำเนินโครงการพัฒนาแพลตฟอร์มให้บริการการใช้ประโยชน์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของประเทศไทย ในปีงบประมาณ พ.ศ.2565

จากผลการดำเนินงานล่าสุด ทางกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย ได้พัฒนาระบบสืบค้นอาคารชุด ห้องชุด (CondoMaps) สำเร็จพร้อมเปิดให้บริการประชาชนเรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ กรมที่ดิน ในฐานะผู้พัฒนาระบบ CondoMaps ได้ทำพิธีเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยได้รับเกียรติจาก นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิด โดยมีนายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมในพิธีเปิดด้วย 

สำหรับระบบสืบค้นอาคารชุด ห้องชุด (CondoMaps) พัฒนาขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้ภาคประชาชน ภาคเอกชน และผู้ประกอบการที่ถือครองห้องชุด เจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องชุด สามารถสืบค้นข้อมูลอาคารชุด ห้องชุด ได้โดยใช้เลขทะเบียนอาคารชุด ห้องชุด ที่ระบุในหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ห้องชุด ระบบจะแสดงตำแหน่งที่ตั้งอาคารชุด ห้องชุด ในรูปแบบภูมิสารสนเทศ 3 มิติ ผู้ใช้งานสามารถมองเห็นทัศนียภาพเสมือนจริง โดยแสดงผลร่วมกับข้อมูลรูปแปลงที่ดินของกรมที่ดิน ภาพถ่ายดาวเทียม แผนที่ภูมิประเทศ (Open Street Map) และภาพถ่ายทางอากาศเชิงเลข (DMC) ให้บริการผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

โครงการนี้ เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรม ที่ช่วยสร้างฐานข้อมูลอาคารห้องชุดให้เป็นระบบ เชื่อมโยงข้อมูลเอกสารสิทธิห้องชุดทั่วประเทศ นอกจากจะสร้างความสะดวกสบายให้ประชาชนแล้ว ยังจะเป็นการสร้างศักยภาพของภาครัฐ ตอบโจทย์ทางด้านการลงทุนให้แก่นักลงทุนทั้งชาวไทย และ ชาวต่างชาติอีกด้วย

ทั้งนี้ จากข้อมูลในปัจจุบัน กรมที่ดินมีฐานข้อมูลห้องชุดแบบ 3 มิติ สำหรับให้บริการบนระบบ CondoMaps จำนวน 180,000 ยูนิต ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งในปีนี้กรมที่ดินอยู่ระหว่างดำเนินการนำเข้าฐานข้อมูลอาคารชุด ห้องชุด เพื่อให้มีฐานข้อมูลภูมิสารสนเทศ 3 มิติ เพิ่มมากขึ้นอีกจำนวน 480,000 ยูนิต หากดำเนินการแล้วเสร็จจะมีฐานข้อมูลห้องชุดรวมจำนวนทั้งสิ้น 660,000 ยูนิต

นายชยาวุธ จันทร อธิบดีกรมที่ดิน กล่าวย้ำว่า การดำเนินโครงการพัฒนาแพลตฟอร์มให้บริการการใช้ประโยชน์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของประเทศไทยผ่านระบบ CondoMaps นั้น เป็นการให้บริการกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ในรูปแบบ Data as a Service (Daas) เป็นการเพิ่มศักยภาพและยกระดับขีดความสามารถในการให้บริการ รวมทั้งเป็นข้อมูลพื้นฐานใช้ประกอบการวางแผนงาน นโยบาย หรือวางแผนต่อยอดทางด้านธุรกิจ สนับสนุนการพัฒนาประเทศ สอดคล้องกับหลักการภาครัฐของประชาชน เพื่อประชาชน และประโยชน์ส่วนรวมอย่างครบวงจร

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตือนภัยประชาชนอย่ากดลิงก์ SMS แอบอ้างเป็นบริษัทขนส่ง

สำนักงานตำรวจแห่งชาติโดย พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร./รอง ผอ.ศปอส.ตร. มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่อาจตกเป็นเหยื่อและได้รับความเสียหายจากการหลอกลวง ซึ่งในช่วงเดือน มิถุนายน พ.ศ.2567 สำนักงานตำรวจแห่งชาติตรวจสอบพบว่า คนร้ายเริ่มกลับมาใช้วิธีส่งข้อความ SMS แอบอ้างเป็น บริษัทขนส่ง กรมที่ดิน กรมขนส่งทางบก การไฟฟ้าฯ โดยแนบลิงก์ให้กดใน SMS ตามที่ได้ตรวจสอบ พบดังนี้
https://Flash.anke.cc      แอบอ้างเป็นบริษัทขนส่ง
www.fla-qr.com               แอบอ้างเป็นบริษัทขนส่ง
www.fla-af.com               แอบอ้างเป็นบริษัทขนส่ง
www.fla-fh.com               แอบอ้างเป็นบริษัทขนส่ง
www.fla-ah.com              แอบอ้างเป็นบริษัทขนส่ง
www.flfah-line.cc            แอบอ้างเป็นบริษัทขนส่ง
www.flo-sh.cc                 แอบอ้างเป็นบริษัทขนส่ง
www.fly-fh.com               แอบอ้างเป็นบริษัทขนส่ง
www.fly-sh.com              แอบอ้างเป็นบริษัทขนส่ง
th-flash.com                  แอบอ้างเป็นบริษัทขนส่ง
www.th-flash.com          แอบอ้างเป็นบริษัทขนส่ง
www.Flsah.line.cc          แอบอ้างเป็นบริษัทขนส่ง
www.flgqh-line.cc          แอบอ้างเป็นบริษัทขนส่ง
www.flbgh-line.cc          แอบอ้างเป็นบริษัทขนส่ง
www.fifgh-line.cc           แอบอ้างเป็นบริษัทขนส่ง
flashline.com                แอบอ้างเป็นบริษัทขนส่ง
flash-line.com               แอบอ้างเป็นบริษัทขนส่ง
flfah-line.cc                   แอบอ้างเป็นบริษัทขนส่ง
flash-expres.com          แอบอ้างเป็นบริษัทขนส่ง
www.oy-th.cc                 แอบอ้างเป็นบริษัทขนส่ง
www.kerry.orth.cc          แอบอ้างเป็นบริษัทขนส่ง                                                                      
dit-gk.cc                       แอบอ้างเป็นกรมขนส่งทางบก
www.dlt-xf.com              แอบอ้างเป็นกรมขนส่งทางบก
dol-th.cc                       แอบอ้างเป็นกรมที่ดิน
www.pea.xw-th.com       แอบอ้างเป็นการไฟฟ้าฯ

โดยในเบื้องต้นทางสำนักตำรวจแห่งชาติได้ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ระงับการเข้าถึงลิงก์ดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่เชื่อว่าในอนาคตจะยังคงมีลิงก์หลอกลวงจากมิจฉาชีพในลักษณะเดียวกันอีก โดยข้อความและลิงก์ที่แนบมาอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ จึงขอแจ้งเตือนภัยพี่น้องประชาชน ดังนี้

จุดสังเกต ลิงก์ที่คนร้ายส่งมามักจะสะกดชื่อผิดหรือมีข้อความที่ไม่ปกติต่อท้ายลิงก์
Domain ของ Website ปลอมมักจะจดบน Domain Free หรือ Domain ที่ไม่น่าเชื่อถือเช่น .cc
SMS ปลอมในบางครั้งคนร้ายจะใช้เครื่องมือพิเศษเพื่อให้ส่ง SMS ปลอมเข้ามาอยู่ในกล่องข้อความของ SMS จริงได้ เมื่อกดลิงก์เข้าไปจะเป็น Line หน่วยงานที่คนร้ายแอบอ้าง เมื่อเหยื่อเพิ่มเพื่อนคนร้ายในไลน์ คนร้ายจะโทรมาพูดคุยโน้มน้าวเหยื่อและส่งลิงก์ให้ติดตั้ง Application ควบคุมโทรศัพท์มือถือ ให้ติดตั้งในเครื่องเหยื่อ  พร้อมให้ตั้งรหัสผ่าน 2 ชุดไม่ซ้ำกัน ซึ่งส่วนใหญ่เหยื่อมักจะเอารหัสเดิมๆที่เคยใช้ใน Application ธนาคารใส่ไปด้วย

วิธีป้องกัน ไม่กดลิงก์ใดๆที่ส่งมาใน SMS หากมีข้อสงสัยให้ติดต่อหน่วยงานที่ปรากฏในข้อความ SMS เพื่อสอบถามถึงข้อเท็จจริงของ SMS ที่ได้รับ พี่น้องประชาชนท่านใดที่ได้รับ SMS แล้วน่าสงสัยว่าน่าจะหลอกลวง โปรดอย่ากดลิงก์ใน SMS ดังกล่าว และส่งข้อมูลดังกล่าวโดย Capture หน้าจอ SMS ที่ท่านได้รับให้ครบถ้วนพร้อมระบุ วันที่ และเวลาที่ได้รับ SMS รวมไปถึงเบอร์โทรศัพท์ที่ได้ส่ง SMS มาให้ท่าน แจ้งเบาะแสผ่านทางช่องทาง www.thaipoliceonline.go.th (ช่องทางแจ้งเบาะแส) เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป สำหรับช่องทางรับรู้ข่าวสารเพื่อให้รู้เท่าทันภัยออนไลน์ในรูปแบบใหม่ สามารถติดตามข้อมูลการแจ้งเตือนภัยออนไลน์ได้ผ่านทาง www.เตือนภัยออนไลน์.com หมายเลขโทรศัพท์สายด่วน AOC 1441 กรณีถูกคนร้ายหลอกลวงแจ้งความตำรวจผ่านระบบกรณีถูกคนร้ายหลอกลวงแจ้งความตำรวจผ่านระบบ www.thaipoliceonline.go.th

‘อธิบดีกรมที่ดิน’ ยันทำตามกฎหมาย-คำสั่งศาล หลัง ‘คมนาคม’ จ่อยื่นค้านกรณีกรมที่ดินไม่เพิกถอน ‘เขากระโดง’

(13 พ.ย. 67) ‘อธิบดีกรมที่ดิน’ ยันทำตามกฎหมาย-คำสั่งศาล หลัง ‘สุริยะ’ มอบ ‘รฟท.’ จ่อยื่นคัดค้านกรณีกรมที่ดินไม่เพิกถอนสิทธิที่ดิน ‘เขากระโดง’ ลั่นไม่ต้องเคลียร์คมนาคม

12 พฤศจิกายน 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมที่ดิน กล่าวถึงกรณี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คมนาคม ให้สัมภาษณ์จะให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ยื่นคัดค้านกรณีที่กรมที่ดินไม่เพิกถอนสิทธิ์ที่ดินเขากระโดง ว่า ทุกอย่างดำเนินการไปตามที่ศาลปกครองสั่ง และในเรื่องการเพิกถอนต้องมีคณะกรรมการในการดำเนินการเพิกถอนตามมาตรา 61 โดยที่ผ่านมามีการตั้งคณะกรรมการเรียบร้อยแล้ว ส่วนการรังวัดจากที่ได้รับรายงานจากคณะกรรมการ ซึ่งทำตามกระบวนการขั้นตอนเรียบร้อยหมดทุกอย่าง

เมื่อถามถึงกรณีที่กระทรวงคมนาคม จะยื่นคัดค้านกรมที่ดินยกเลิกการเพิกถอนที่ดินเขากระโดง อธิบดีกรมที่ดิน มองว่า การแถลงข่าวตอนแรกอาจจะไม่ได้มีการพูดถึงเรื่องรังวัด แต่มันอยู่ในรายงานของคณะกรรมการชุดดังกล่าวแล้ว ช่วงวันที่ 2-26 กรกฎาคม 2567 เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างกรมที่ดินในพื้นที่และการรถไฟฯ และวันนี้ทางกรมฯได้มีการออกข่าวชี้แจงไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

เมื่อถามย้ำว่าการดำเนินการนั้นสามารถยืนยันได้ใช่หรือไม่ว่าทำการตามกฎหมาย อธิบดีกรมที่ดิน ยืนยันว่า ทำตามหลักกฎหมาย ไม่มีอะไรที่ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนกฎหมาย พร้อมย้ำว่าเป็นไปตามคำสั่งของศาลทุกประการ บนข้อเท็จ ที่เกิดตามหน้างานจริง

เมื่อถามต่อว่ากระทรวงคมนาคมมีท่าทีดังกล่าวทางกรมที่ดินจะต้องมีการชี้แจงหรือไม่ อธิบดีกรมที่ดิน ระบุว่า คงไม่ เพราะทุกอย่างที่ทำมาก็รายงานต่อศาลปกครองตามคำสั่งของศาล โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล พร้อมย้ำว่าคงเป็นข้อเท็จจริง คงไม่ต้องมาต่อสู้อะไรกัน

'กรมที่ดิน' ทยอยเพิกถอนโฉนด 'อัลไพน์' เผยหากครบ 120 วัน จะโอนกลับไปเป็น ‘ที่ธรณีสงฆ์’

‘เจ้าพนักงานที่ดิน จ.ปทุมธานี’ ทยอยเพิกถอนโฉนด ‘อัลไพน์’ พร้อมประทับตราห้าม ‘จำหน่ายจ่ายโอน’ เผยหากครบ 120 วัน จะโอนเป็น ที่ธรณีสงฆ์ ขณะที่ ‘เจ้าของที่ดิน’ ทยอยฟ้อง ‘ศาลปกครอง’ เพิกถอนคำสั่ง

จากกรณีเมื่อวันที่ 16 ม.ค.2568 นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านกิจการความมั่นคงภายใน ได้ลงนามคำสั่งเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์เดิมของนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย รักษาการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทย และมีคำสั่งให้เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ในที่ดินธรณีสงฆ์ของวัดธรรมิการามวรวิหาร (ที่ดินอัลไพน์) และส่งเรื่องให้กรมที่ดินดำเนินการ นั้น

ล่าสุดนายสมคิด จันทมฤก ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงความคืบหน้าในการเพิกถอนโฉนดที่ดินอัลไพน์ ว่า ได้รับทราบอย่างไม่เป็นทางการว่า เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานี กรมที่ดิน ได้ดำเนินการทยอยขีดหลังโฉนดที่ถูกเพิกถอนแล้ว และประทับตราห้ามจำหน่ายจ่ายโอน แต่ยังไม่ครบทุกแปลง ทั้งนี้ เมื่อดำเนินการดังกล่าวครบ 120 วัน แล้ว จึงจะดำเนินการโอนเป็นที่ธรณีสงฆ์

“เมื่อถึงขั้นตอนนั้น ทางสำนักงานที่ดินจังหวัดจะต้องรายงานให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทราบ” นายสมคิด กล่าว

นายสมคิด ระบุด้วยว่า หลังจากที่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดได้เริ่มเขียนหลังโฉนดว่า ห้ามจำหน่ายจ่ายโอนที่ดินแล้ว ทราบว่าเจ้าของที่ดินบางรายได้ทยอยยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อเพิกถอนคำสั่งฯดังกล่าว

รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านี้ กรมที่ดินได้จัดทำเอกสารสรุปขั้นตอนการดำเนินการ ในกรณีที่รองปลัดกระทรวงมหาดไทย มีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งของปลัดกระทรวงมหาดไทย (นายยงยุทธ์ วิชัยดิษฐ) และให้คำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 2308/2544 ลงวันที่ 20 ธ.ค.2544 กลับมามีผล และกรณีการดำเนินการหลังมีการเพิกถอนรายการจดทะเบียน ตามคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 2308/2544 ลงวันที่ 20 ธ.ค.2544 ดังนี้

กรณีการดำเนินการของกรมที่ดิน เมื่อรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้เพิกถอนคำสั่งของปลัดกระทรวงมหาดไทย (นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ)

เมื่อรองปลัดกระทรวงมหาดไทย เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์เดิม และวินิจฉัยอุทธรณ์ใหม่ โดยให้คำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 2308/2544 ลงวันที่ 20 ธ.ค.2544 กลับมามีผล กรมที่ดินจะแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ พร้อมทั้งสิทธิการฟ้องคดีให้กับกลุ่มเจ้าของที่ดิน ได้แก่ 1.กลุ่มเจ้าของที่ดินซึ่งไม่ได้อุทธรณ์ 16 ราย 20 แปลง เนื้อที่ 13-0-14.2 ไร่ และผู้รับโอนต่อมา และ 2.กลุ่มผู้อุทธรณ์เดิม 294 ราย 624 แปลง เนื้อที่ 911-2-60.8 ไร่ และผู้รับโอนต่อมา

จากนั้นสำนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานี จะแจ้งให้บุคคลดังกล่าว ให้ส่งมอบโฉนดที่ดินเพื่อหมายเหตุการณ์เพิกถอน ซึ่งในกรณีที่ไม่ส่งมอบโฉนดที่ดินนั้น จะมีการออกใบแทน (มาตรา 61 วรรคหก แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน) โดยประกาศภายใน 30 วัน ตามข้อ 17 (6) กฎกระทรวงฉบับที่ 43 (พ.ศ.2537)

กรณีการดำเนินการภายหลังเพิกถอนรายการจดทะเบียน ตามคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 2308/2544 ลงวันที่ 20 ธ.ค.2544

เมื่อคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 2308/2544 ลงวันที่ 20 ธ.ค.2544 กลับมามีผล ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 20 และ 1446 อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี กลับเป็นทรัพย์มรดกของนางเนื่อม ชำนาญชาติศักดา ทางผู้จัดการมรดกต้องโอนมรดกตามพินัยกรรมของนางเนื่อมฯ ให้วัดธรรมิการามวรวิหาร

จากนั้นวัดธรรมิการามวรวิหาร จะยื่นขออนุญาตได้มา ซึ่งที่ดินตามมาตรา 84 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน และผู้ว่าราชการจังหวัดปฏิบัติราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (คำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 95/2546 ลงวันที่ 20 มี.ค.2546) มีคำสั่งอนุญาตให้วัดฯได้มาซึ่งที่ดิน โดยวัดฯจะเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เฉพาะที่ดิน โดยการจดทะเบียนโอนมรดก ส่วนสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินนั้น จะไม่ตกเป็นของวัดฯ

ทั้งนี้ ในการดำเนินการกับที่ดิน ซึ่งวัดฯเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ฯนั้น จะมี 3 แนวทาง คือ 1.วัดให้เจ้าของที่ดิน คนปัจจุบันเช่า ซึ่งกรณีระยะเวลาการเช่าเกินกว่า 3 ปี แต่ไม่เกิน 30 ปี ต้องได้รับ ความเห็นชอบจากกรมการศาสนา (ปัจจุบันสำนักงานพระพุทธศาสนา) ตามข้อ 4 (1) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2511) พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (พ.ศ.2505) 2.วัดฯขอออก หนังสือรับรอง ทรัพย์อิงสิทธิ ไม่เกิน 30 ปี (มาตรา 4 พ.ร.บ.ทรัพย์อิงสิทธิ พ.ศ.2562)

และ 3.วัดโอนที่ดิน โดยตราเป็น พ.ร.บ. (มาตรา 34 พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505) ซึ่งเป็นไปตามความเห็น ของคณะกรรมการกฤษฎีกา ลงวันที่ 1 เม.ย.2545 โดยให้เฉพาะบุคคลซึ่งได้สิทธิในที่ดินมาโดยสุจริต

ขณะที่การดำเนินการกับสิ่งปลูกสร้างบนที่ดิน ซึ่งไม่ตกเป็นของวัด นั้น มี 2 แนวทาง คือ 1.วัดฯต้องชดใช้ราคา ให้กับเจ้าของปัจจุบัน และ 2.เจ้าของขอรื้อถอนออกไป โดยเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top