Tuesday, 22 April 2025
กรมทะเลชายฝั่ง

กรมทะเลชายฝั่ง ร่วมกับ อบต.เกาะหมาก และชมรมอนุรักษ์ปะการังเกาะหมาก เร่งสกัด และจัดการคราบน้ำมันที่รั่วไหล จากเหตุเพลิงไหม้เรือสปีดโบ๊ท บริเวณอ่าวทองหลาง จังหวัดตราด

เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2566 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (อทช.) กล่าวว่า วานนี้ตนได้รับแจ้งจากศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก (ศวทอ.) ถึงเหตุน้ำมันรั่วไหลจากเหตุเพลิงไหม้เรือท่องเที่ยวสปีดโบ๊ท บริเวณอ่าวทองหลาง ตำบลเกาะหมาก อำเภอเกาะกูด จังหวัดตราด ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม จากการสำรวจเบื้องต้น พบว่าจุดเกิดเหตุเป็นบริเวณท่าจอดเรือ อ่าวทองหลาง สภาพน้ำทะเลมีฟิล์มน้ำมันลอยบนผิวน้ำ มีหลุดรอดจากทุ่นกักน้ำมันบริเวณแนวเขื่อนเล็กน้อย และไม่พบสัตว์น้ำตาย จากนั้น เจ้าหน้าที่ได้ตรวจวัดคุณภาพน้ำเบื้องต้น พร้อมทั้งเก็บตัวอย่างน้ำทะเล จำนวน 3 สถานี (KM1-3) โดยผลคุณภาพน้ำทั่วไปอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานฯ มีค่าความเป็นกรด-ด่าง 7.92-8.03 อุณหภูมิ 26.7-26.9 องศาเซลเซียส ความเค็ม 31.2-31.3 ส่วนในพันส่วน และปริมาณออกซิเจนละลายในน้ำ 5.56-6.98 มิลลิกรัมต่อลิตร นอกจากนั้นได้สำรวจแนวปะการังใกล้เคียงจุดเกิดเหตุ 

เบื้องต้นพบว่าแนวปะการังมีสภาพปกติ ไม่พบคราบน้ำมันและตะกอนน้ำมันบนผิวโคโลนีปะการังและในมวลน้ำทะเล และจากการสัมภาษณ์คุณธานินทร์ สุทธิธนกุล รองประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเกาะหมาก ทราบว่าหลังเหตุการณ์เพลิงไหม้ ทางอบต.เกาะหมาก และชมรมอนุรักษ์ปะการังเกาะหมาก ได้ร่วมกันประดิษฐ์ทุ่นกักน้ำมันไปวางติดตั้งป้องกันบริเวณปากอ่าวเพื่อไม่ให้น้ำมันรั่วไหลออกสู่ทะเลอีกด้วย

'ลุงป้อม' สั่งการ 'กรมทะเลชายฝั่ง' เร่งกำหนดมาตรการทางกฎหมาย คุ้มครองวาฬบรูด้าจากกิจกรรมท่องเที่ยว พร้อมสำรวจติดตามแหล่งหญ้าทะเล ยกระดับความสมบูรณ์ของระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง

วันพุธที่ 19 เมษายน 2566 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2566 โดยมี  นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปกท.ทส.) พร้อมด้วยนายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (รรท.อทช.) ดร.พรศรี สุทธนารักษ์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ตลอดจนคณะกรรมการฯ และผู้ทรงคุณวุฒิ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ (กทช.) กล่าวภายหลังการประชุมว่า การประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งนี้ ได้ร่วมกันพิจารณาเรื่องการกำหนดสถานีสำรวจติดตามสถานภาพทรัพยากรหญ้าทะเลประจำปีของประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยพบแหล่งหญ้าทะเลครอบคลุมพื้นที่ 17 จังหวัดชายฝั่ง โดยมีพื้นที่ประมาณ 160,628 ไร่ แบ่งออกเป็นฝั่งอ่าวไทย 54,148 ไร่ และฝั่งทะเลอันดามัน 106,480 ไร่ ซึ่งหญ้าทะเลถือเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศทางทะเลเป็นอย่างยิ่ง เป็นทั้งแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารของสัตว์ทะเล รวมถึงเป็นระบบนิเวศแรกที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทั้งที่เกิดจากมนุษย์และจากธรรมชาติ 

จึงต้องมีการศึกษาสำรวจเพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลให้คงอยู่อย่างยั่งยืน โดยการกำหนดสถานีสำรวจติดตามสถานภาพแหล่งหญ้าทะเลประจำปีของประเทศไทย จำนวน 128 สถานี ตนได้มอบหมายให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) สำรวจติดตามสถานภาพฯ นอกเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเลและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า 80 สถานี และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.) สำรวจติดตามสถานภาพฯ ในเขตอุทยานฯ 48 สถานี พร้อมทั้งได้กำชับให้กรม ทช. รวบรวมข้อมูลที่ได้จากการสำรวจดังกล่าวบรรจุในรายงานสถานการณ์ด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และ   การกัดเซาะชายฝั่งของประเทศไทยประจำปีอีกด้วย 

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าว่าภายในที่ประชุม พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะประธาน กทช. ได้แสดงความห่วงใยในเรื่อง “สัตว์ทะเลหายาก” เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งถือว่าเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญและมีความจำเป็นต้องเร่งหาแนวทางในการอนุรักษ์ไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “วาฬบรูด้า” ซึ่งกำลังได้รับความสนใจและเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว การท่องเที่ยวชมวาฬบรูด้าได้สร้างรายได้ให้กับชุมชนและประเทศปีละประมาณ 26.7 ล้านบาท มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมมากกว่า ปีละ 8,000 คน มีผู้ประกอบการการท่องเที่ยวและเรือนำเที่ยวมากกว่า 38 ลำ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และมีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดผลกระทบกับวาฬบรูด้า เนื่องจากวาฬบรูด้าเป็นสัตว์ที่ไม่ชอบการถูกรบกวน แต่จากการที่มีเรือนำเที่ยวเข้าไปเที่ยวชมเป็นประจำทุกวัน ทำให้วาฬเกิดความคุ้นเคย

“กรมทะเลชายฝั่ง” จับมือ “กรมอุทยานฯ” ร่วมสนับสนุนโครงการ SEA YOU STRONG ทะเลคือหัวใจของไทย อาสาสมัครพิทักษ์ทะเล ว่ายน้ำข้ามทะเล 70 กม. กระตุ้นจิตสำนึกรักษ์ทะเล กระบี่- พังงา-ภูเก็ต

เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2566 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.) ร่วมให้การสนับสนุนการจัดกิจกรรมภายใต้ “โครงการ SEA YOU STRONG ทะเลคือหัวใจของไทย อาสาสมัครพิทักษ์ทะเล” ซึ่งเป็นโครงการที่นายสิรณัฐ สก๊อต หรือ “ทราย สก๊อต” จัดขึ้นโดยนำทีมนักอนุรักษ์ 36 คน ว่ายน้ำข้ามทะเลอันดามันเป็นระยะทางกว่า 70 กิโลเมตร ผ่าน 3 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ พังงา และภูเก็ต เริ่มจากหาดยาว จ.กระบี่ ไปสิ้นสุดที่อ่าวปอ จ.ภูเก็ต ในระหว่างทางก็จะแวะพักตามเกาะท่องเที่ยวชื่อดังของแต่และจังหวัด โครงการดังกล่าวจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 27 – 29 เมษายน 2566 โดยทางกรม ทช. จัดเรือราชการ 2 ลำ พร้อมเจ้าหน้าที่ประจำเรือ ร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช  คอยอำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัยในกิจกรรม รวมทั้งจัดเจ้าหน้าที่ร่วมรณรงค์ประชาสัมพันธ์ทำกิจกรรม Big Cleaning Day ลด ละ เลิกใช้พลาสติก

 
นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

นายอภิชัย รรท.อทช. กล่าวหลังจากพิธีเปิดโครงการ SEA YOU STRONG ทะเลคือหัวใจของไทย อาสาสมัครพิทักษ์ทะเล ว่า กิจกรรมที่จัดขึ้นภายใต้โครงการดังกล่าวนี้ เป็นการสร้างการรับรู้และกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมในการดูแล รักษา ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ตลอดจนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงความหลากหลายทางชีวิภาพสำหรับแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ ทั้งนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มีภารกิจที่สอดรับกับนโยบายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เน้นย้ำเรื่อง “การส่งเสริมการมีส่วนร่วม” ของทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรอิสระ และประชาชน กรมพร้อมให้การสนับสนุนเครือข่ายอาสาสมัครที่ถือเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนปลุกจิตสำนึกการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพราะตนเชื่อมั่นว่าการรวมพลังในสังคมเป็นจุดเริ่มต้นของพลังที่ยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะ “คนรุ่นใหม่” ที่มีแนวคิดสร้างสรรค์กลายเป็น “Soft Power” ที่กระตุกจิต กระชากใจ เปลี่ยนแปลงความคิด ทำให้ผู้คนมีส่วนร่วม หรือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม อย่างกิจกรรมในครั้งนี้ที่คุณทราย สก๊อต นักอนุรักษ์รุ่นใหม่ได้นำทีมนักว่ายน้ำอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลว่ายน้ำข้ามทะเลอันดามัน นอกจากจะกระตุ้นให้คนหันมาเห็นมุมต่างๆ ของทะเลไทย ที่ประสบปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมหลายเรื่อง ทั้งที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ และธรรมชาติแล้ว ยังเป็นการช่วยประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวทางทะเลในฝั่งอันดามันให้นักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติได้รู้จักมากขึ้นอีกด้วย โอกาสนี้ จึงอยากฝากถึงพี่น้องประชาชนให้เห็นความสำคัญ และช่วยกันดูแลรักษาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเพื่อให้คงความอุดมสมบูรณ์สืบต่อไป

กรมทะเลชายฝั่ง เตือนกรณี ครูสอนนักดำน้ำที่โพสต์ลงโซเชียลฆ่าปลาวัวไททัน พร้อมฝากถึงนักท่องเที่ยวให้ร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลที่สวยงามให้คงอยู่คู่ท้องทะเลไทย

เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา จากกรณีครูสอนดำน้ำรายหนึ่ง โพสต์ลงโซเชียลว่าตนถูกปลาวัวไททันกัดขา บริเวณเกาะร้านเป็ด และจากนั้นได้ฆ่าปลาตัวดังกล่าว โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันไม่ให้ปลาไปกัดผู้อื่นอีก เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เร่งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวร่วมกันอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล  

นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (รรท.อทช.) เปิดเผยว่า "ปลาวัวไททัน” (Titan triggerfish) Balistoides viridescens เป็นปลาที่พบได้ทั่วไปในแนวปะการังในมหาสมุทรเขตร้อนและเขตอบอุ่น ของอินโด-แปซิฟิก ในน่านน้ำไทยเป็นปลาที่พบได้บ่อยและพบได้ทั้ง 2 ฝั่ง คือ ฝั่งอันดามัน และอ่าวไทย กินสัตว์น้ำหน้าดินและสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดเล็กเป็นอาหาร จากการวิจัยพบว่ามีขนาดใหญ่สุดประมาณ 75 cm. ส่วนแหล่งที่อยู่อาศัย ชอบอาศัยอยู่บริเวณขอบแนวปะการังและกองหินใต้น้ำ และจะทำรังตามพื้นทรายใกล้กับแนวปะการังหรือกองหินใต้น้ำ ลักษณะของรังจะทำเป็นหลุมคล้ายๆ กับแอ่งกระทะ (ลักษณะเหมือนหลุมปลานิล) ด้านพฤติกรรมนั้น เป็นปลาที่มีนิสัยหวงถิ่น และจะมีนิสัยก้าวร้าวเมื่อเข้าใกล้บริเวณที่เป็นอาณาเขตของมัน มีประโยชน์ต่อระบบนิเวศ เนื่องจากเป็นปลาที่กินสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง รวมถึงตัวอ่อนของเม่นทะเลและตัวอ่อนของดาวมงกุฎหนามซึ่งเป็นผู้ล่าของปะการัง ปลาวัวไททันจึงมีประโยชน์ในแง่ของการควบคุมสัตว์ในกลุ่มนี้ให้อยู่ในภาวะสมดุล นอกจากนี้ยังรวมถึงการควบคุมสัตว์จำพวกหอย และหนอนท่อที่เจาะตามก้อนปะการัง ที่เป็นอีกหนึ่งปัจจัยคุกคามสุขภาพปะการังได้อีกด้วย ดังนั้นหากระบบนิเวศแนวปะการังขาดปลาวัวไททัน อาจทำให้มีศัตรูคุกคามปะการังมากขึ้นจนขาดภาวะสมดุล

รรท.อทช. กล่าวต่อว่าตนได้มอบหมายให้นายวิชัย สมรูป ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 4 และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นตรวจสอบข้อเท็จจริงจากกรณีดังกล่าว พบว่าปลาชนิดนี้ไม่ได้เป็นสัตว์น้ำคุ้มครอง ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวไม่ได้อยู่ในเขตประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และเจ้าหน้าที่ตรวจสอบรายละเอียด เพี่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง และจะเรียกตัวผู้ประกอบการรายดังกล่าวให้มารับทราบกฎระเบียบในการดำน้ำ และการท่องเที่ยวในทะเลที่ถูกต้อง ซึ่งภายหลังหากตรวจสอบแล้วว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่จะดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยกรม ทช. ได้ร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง มาตรการคุ้มครองทรัพยากรปะการังจากกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำ โดยระบุข้อกำหนด และเงื่อนไขเกี่ยวกับผู้ประกอบการท่องเที่ยวดำน้ำ กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนวิธีปฏิบัติที่ดีในการดำน้ำโดยไม่กระทบกระเทือนต่อปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล

ทั้งนี้ รรท.อทช. ได้ฝากถึงนักดำน้ำ และนักท่องเที่ยว ในการปฏิบัติตนเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาจากสัตว์ทะเล ควรปฏิบัติต่อสัตว์น้ำด้วยเมตตา อย่ารังแก อย่ารบกวนโดยไม่จำเป็น และระมัดระวังอย่างยิ่งขณะดำน้ำในบริเวณที่น้ำขุ่นมาก ในการวางมือ วางเท้า หลีกเลี่ยงการใส่เครื่องประดับที่ห้อย และสะท้อนแสง ควรใส่ถุงมือ หรือชุดดำน้ำเพื่อป้องกันการทิ่มแทงและบาดเจ็บปรับการลอยตัวให้เป็นกลาง หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับพื้นใต้ทะเลเคลื่อนไหวช้าๆ ระมัดระวัง และดูให้ดีในพื้นที่ที่จะไป รวมถึงควรหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้และสัมผัสกับสัตว์ที่ไม่คุ้นเคยทุกชนิด อย่างกลุ่มปลาวัวนี้ จะมีการวางไข่ไว้บนพื้นทราย และช่วงนี้ปลาวัวจะคอยเฝ้าระวังรัง คอยพ่นน้ำบริเวณรังที่มีไข่ถูกทรายกลบทับ และป้องกันการบุกรุกจากปลาหรือสัตว์อื่นๆ ที่จะเข้ามากินไข่ ช่วงเวลานี้ปลาวัวจึงมีพฤติกรรมหวงกันอาณาเขตและก้าวร้าว หากนักดำน้ำเรียนรู้พฤติกรรม และพบเห็นว่าปลาวัวแสดงพฤติกรรมพ่นน้ำลงพื้น หรือคอยไล่ปลาที่หากินออกจากพื้นที่ ก็ควรออกห่างจากอาณาบริเวณอาณาเขตของปลา ก็จะเป็นการป้องกันไม่ให้ถูกปลากัด


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top