Monday, 20 May 2024
กรมทรัพย์สินทางปัญญา

กรมทรัพย์สินทางปัญญา เผยโฉม 8 สินค้า GI ในเอเปค 2022

กรมทรัพย์สินทางปัญญา พาชมสุดยอด 8 สินค้า GI สินค้าท้องถิ่นของดีของไทย ที่ใช้ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง ในเอเปค 2022

1. ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ 
จังหวัดศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด ยโสธร สุรินทร์ และมหาสารคาม 

2. เนื้อโคขุนโพนยางคำ จังหวัดสกลนคร 

3. ปลากุเลาเค็มตากใบ จังหวัดนราธิวาส 

4. ไวน์เขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา

กรมทรัพย์สินฯ ขึ้นทะเบียน GI ‘ปลาทูแม่กลอง’  เป็นสินค้า GI ลำดับที่ 4 ของสมุทรสงคราม

กรมทรัพย์สินฯ เดินหน้าประกาศขึ้นทะเบียน GI ต่อเนื่อง ล่าสุดดัน ปลาทูแม่กลอง สินค้ายอดนิยมสมุทรสงครามที่ชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จักทั้งในประเทศและต่างประเทศขนเงินข้าชุมชนกว่า 12 ล้านบาท

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมฯ ได้มีการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ภูมิศาสตร์ หรือ GI เพื่อยกระดับสินค้าในท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ เพิ่มมูลค่าสินค้า สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน พร้อมกับการส่งเสริมการควบคุมคุณภาพสินค้าเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้บริโภค

ล่าสุดได้ประกาศขึ้นทะเบียน ปลาทูแม่กลอง เป็นสินค้า GI ลำดับที่ 4 ของจังหวัดสมุทรสงคราม ต่อจากส้มโอขาวใหญ่สมุทรสงคราม สิ้นจี่ค่อมสมุทรสงคราม และพริกบางช้าง

ทั้งนี้ ‘ปลาทูแม่กลอง’ เป็นที่รู้จักมาอย่างยาวนาน มีแหล่งอาศัยในบริเวณพื้นที่อ่าวไทยตอนใน มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ และที่ราบชายฝั่งทะเลบริเวณปากน้ำแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่งทะเล ลักษณะดินเกิดจากการทับถมของตะกอนแม่น้ำและตะกอนน้ำทะเล ซึ่งอุดมสมบูรณ์ไปด้วยธาตุอาหาร ทำให้ปลาทูแม่กลองมีลำตัวกว้าง แบน สั้น ผิวหนังขาวเงินมันวาว มีแถบสีน้ำเงินแกมเขียวหรือแถบสีเหลือง ครีบหางสีเหลืองทอง มีเอกลักษณ์โดดเด่นทั้งด้านรสชาติและรูปร่าง

โดยเนื้อปลาทูที่นึ่งแล้วจะมีความละเอียดนุ่ม เนื้อแน่น หอม และมันมาก เมื่อนำมาบรรจุลงในเข่งจะมีลักษณะหน้างอ คอหัก ด้วยลักษณะเช่นนี้ จึงทำให้ปลาทูแม่กลองเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายจนมีคำกล่าวที่ว่า ‘ปลาทูแม่กลองของแท้ จะต้องหน้างอ คอหัก’ บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากปลาทูบริเวณอื่นไปโดยปริยาย และหลายหน่วยงานได้นำเอกลักษณ์นี้มาใช้ในการจัดกิจกรรมงานประจำปี ‘เทศกาลกินปลาทูที่แม่กลอง’ ซึ่งจัดมาอย่างยาวนานถึง 24 ปี นับเป็นงานเทศกาลที่มีชื่อเสียง และได้รับการประชาสัมพันธ์จากภาคส่วนต่างๆ สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนไปกว่า 12 ล้านบาท 

‘กรมทรัพย์สินฯ’ ประสานเกาหลีใต้ แลกเปลี่ยนความรู้เรื่องลิขสิทธิ์เพลง หวังยกระดับอุตฯ เพลงไทยรอบด้าน ดันเป็นหนึ่งใน Soft Power ไทย

(22 ก.ย. 66) นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า “กรมทรัพย์สินทางปัญญาให้ความสำคัญกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมเพลงไทยควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบลิขสิทธิ์ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของทั้งผู้สร้างสรรค์ เจ้าของลิขสิทธิ์ และผู้ใช้งานเพลง ให้ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากงานเพลง ซึ่งเป็นงานลิขสิทธิ์ที่ประเทศไทยมีศักยภาพ และมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนการเติบโตของระบบเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่ช่วยให้วัฒนธรรมไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้นในสังคมโลก”

นายวุฒิไกร ให้ข้อมูลว่า “จากการศึกษาของสมาพันธ์ผู้ผลิตสิ่งบันทึกเสียงระหว่างประเทศพบว่า ในปี 2565 อุตสาหกรรมสิ่งบันทึกเสียงของไทยมีมูลค่า 3,689 ล้านบาท สูงเป็นอันดับ 1 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นอันดับที่ 24 ของโลก และมีอัตราการเติบโตถึงร้อยละ 20.01 จึงถือได้ว่าอุตสาหกรรมเพลงของไทยเป็นอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่มีศักยภาพ มีความสามารถในการแข่งขัน และเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่สร้างรายได้ทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดประเภทหนึ่ง”

นายวุฒิไกร กล่าวเพิ่มเติมว่า “การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมเพลงไทยให้มีศักยภาพยิ่งขึ้น สามารถแข่งขันได้อย่างมั่นคงท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเทคโนโลยี ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการพัฒนากรอบกฎหมาย กฎกติกา เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ตลอดจนการเสริมสร้างความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเพลงอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเด็นเกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองและการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ลิขสิทธิ์เพลงในเชิงพาณิชย์ การใช้งานลิขสิทธิ์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการใช้งานอันมีลิขสิทธิ์ในทางการค้า”

“ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาเห็นว่า เกาหลี เป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาระบบลิขสิทธิ์ที่เป็นประโยชน์ และตอบโจทย์ความต้องการของภาคเอกชนในประเด็นดังกล่าวอย่างแท้จริง จึงได้ร่วมกันจัดการสัมมนาลิขสิทธิ์ไทย - เกาหลี ประจำปี 2566 ในหัวข้อ ‘เจาะลึกบทบาทลิขสิทธิ์กับธุรกิจเพลง’ เพื่อให้ผู้สร้างสรรค์ เจ้าของลิขสิทธิ์ และผู้ใช้ผลงานเพลง ได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับนโยบายการใช้ลิขสิทธิ์ส่งเสริมอุตสาหกรรมเพลงในประเทศไทยและสาธารณรัฐเกาหลี บทบาทขององค์กรจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ ตลอดจนแนวทางการบริหารการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์และค่าสิทธิของนักแสดง เพื่อนำมาปรับใช้กับการดำเนินงานในบริบทของประเทศไทยต่อไป”

“กรมทรัพย์สินทางปัญญาเชื่อมั่นว่า การสัมมนาในครั้งนี้ จะเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมเพลงไทย ให้เป็นเครื่องมือในการสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจ และเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างมั่นคงต่อไป” นายวุฒิไกร กล่าวทิ้งท้าย

‘กรมทรัพย์สินทางปัญญา’ ขึ้นทะเบียน ‘มังคุดทิพย์พังงา’ เป็นสินค้า GI มุ่งจัดระบบควบคุมคุณภาพสินค้า-สร้างมูลค่าเพิ่ม-ดึงรายได้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืน

(26 ต.ค. 66) นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ขึ้นทะเบียน ‘สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์’ หรือ ‘GI’ เพื่อคุ้มครองสินค้าที่มีอัตลักษณ์เฉพาะในแต่ละท้องถิ่น เพิ่มมูลค่าสินค้า สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนอีกทั้งยังเป็นการควบคุมคุณภาพสินค้าเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค

ล่าสุด กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) รายการใหม่ คือ ‘มังคุดทิพย์พังงา’ พืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดพังงา ที่มีการเพาะปลูกกันมาอย่างยาวนาน มีชื่อเสียงและมีผลผลิตจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ โดยมีตลาดส่งออกที่สำคัญ เช่น จีน เวียดนาม เป็นต้น สร้างรายได้เข้าสู่ชุมชนกว่า 280 ล้านบาท

‘มังคุด’ ถือเป็นราชินีแห่งผลไม้เมืองร้อน รสชาติอร่อย เป็นที่นิยมของผู้บริโภค โดยชื่อ ‘ทิพย์พังงา’ มีความหมายว่า ‘ผลไม้ของเทวดาที่มีรสเลิศจากจังหวัดพังงา’ มีลักษณะเด่นคือ เป็นมังคุดพันธุ์พื้นเมือง ผลทรงกลม เปลือกค่อนข้างหนา แห้ง แตกลาย เนื้อสีขาว หนานุ่ม ไม่ฉ่ำน้ำ รสชาติหวานอมเปรี้ยว ปลูกและผลิตในเขตพื้นที่จังหวัดพังงา ซึ่งสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่มีความลาดชัน ดินระบายน้ำดี อีกทั้งลักษณะภูมิอากาศแบบมรสุมเมืองร้อน ทำให้จังหวัดพังงามี 2 ฤดู คือ ฤดูฝนและฤดูร้อน

ด้วยสภาพภูมิประเทศและสภาพภูมิอากาศดังกล่าว ประกอบกับกระบวนการปลูกมังคุดของเกษตรกรชาวพังงาที่เน้นการดูแลรักษาแบบธรรมชาติ จึงเกิดเพลี้ยไฟในช่วงออกดอกและติดผลอ่อน มีผลดีคือ ทำให้โครงสร้างของผิวเปลือกเปลี่ยนแปลง มีรอยแยกระหว่างเซลล์เกิดเป็นช่องว่างบนผิว ทำให้ผิวของผลมังคุดส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นลาย ระบายน้ำในผลออกมาได้ดี ส่งผลให้เนื้อมังคุดสีขาว แห้ง ไม่ฉ่ำน้ำ และเปลือกมังคุดค่อนข้างหนาทำให้เนื้อมังคุดไม่ช้ำง่าย

‘มังคุดทิพย์พังงา’ ถือเป็นสินค้า GI ลำดับที่ 3 ของจังหวัดพังงา ต่อจากทุเรียนสาลิกาพังงา และข้าวไร่ดอกข่าพังงาที่ได้ขึ้นทะเบียน GI ไปก่อนหน้านี้ ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะเดินหน้าส่งเสริมการจัดทำระบบควบคุมคุณภาพสินค้า และสนับสนุนช่องทางการตลาด เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า และสร้างรายได้ให้เกษตรกรในชุมชนอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญา ขอเชิญชวนทุกท่านติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหว และร่วมสนับสนุนผู้ประกอบการสินค้า GI ได้ที่ Facebook Page : GI Thailand หรือโทรสายด่วน 1368


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top