Sunday, 20 April 2025
กรมการแพทย์แผนไทยฯ

กรมการแพทย์แผนไทยฯ จับมือ อบจ. เร่งพัฒนาระบบบริการการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ระดับปฐมภูมิ เน้นใช้สมุนไพร กัญชา กัญชง ทางการแพทย์แบบบูรณาการ ปี 66 เดินหน้า รพ.สต.กว่า 2,000 แห่ง ทั่วประเทศ

กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข จับมือ องค์การบริหารส่วนจังหวัด พัฒนาระบบบริการการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ระดับปฐมภูมิ เพื่อให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล หรือ รพ.สต. ทั่วประเทศกว่า 2,000 แห่ง ใช้สมุนไพร กัญชา และกัญชง เพื่อเป็นทางเลือกในการดูแลผู้ป่วย และ ประชาชน ในชุมชนให้มีสุขภาพดี ตามนโยบายการแพทย์แบบบูรณาการ ปี 2566

วันนี้ 14 ธันวาคม 2565 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร นายแพทย์ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดโครงการฝึกอบรมและพัฒนาศักยภาพองค์การบริหารส่วนจังหวัด ด้านการแพทย์แผนไทยการแพทย์ทางเลือกและการใช้สมุนไพรทางการแพทย์แบบบูรณาการ โดยมี นายแพทย์ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นายบุญชู จันทร์สุวรรณ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุพรรณบุรี และ นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย ผู้บริหาร บุคลากรกระทรวงสาธารณสุข และบุคลากรองค์การบริหารส่วนจังหวัดทั่วประเทศ ได้ร่วมจัดงานในครั้งนี้ เพื่อให้ผู้บริหาร บุคลากรด้านสาธารณสุขและผู้ที่เกี่ยวข้องที่ปฏิบัติงานในองค์การบริหารส่วนจังหวัด มีความรู้ ความเข้าใจ ในด้านการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก และสามารถใช้กัญชาทางการแพทย์แบบบูรณาการ ในการดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับผู้เข้าร่วมสัมมนาวิชาการในครั้งนี้ ประกอบด้วย ผู้บริหาร บุคลากร โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 49 จังหวัด ที่ได้รับการถ่ายโอนไปสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด และบุคลากรจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด 76 จังหวัด จำนวน 500 คน โดยงานจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 – 15 ธันวาคม 2565 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร

นายแพทย์ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบาย มุ่งกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น ได้ออกประกาศคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เรื่องหลักเกณฑ์และขั้นตอนการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชน และให้สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯและ รพ.สต. สามารถตอบสนอง ความต้องการทางด้านสุขภาพของประชาชนในท้องถิ่นได้อย่างแท้จริง ซึ่งข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2551จนถึงปัจจุบัน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ และ รพ.สต. รวมแล้ว 3,263 แห่ง จากจำนวนทั้งสิ้น 9,787 แห่งทั่วประเทศ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเร่งรัดการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดทิศทางการให้บริการภายใต้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สร้างหลักประกันความต่อเนื่องของบริการ รวมถึงพัฒนาคุณภาพของการบริการสุขภาพในระดับปฐมภูมิที่สอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่อย่างแท้จริง กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เร่งเดินหน้าขับเคลื่อนการดำเนินงาน ปีงบประมาณ พ.ศ.2566 นี้ 3 ประเด็นหลัก คือ ประชาชนเชื่อมั่น เน้นให้ประชาชนดูแลตนเองเมื่อเจ็บป่วยด้วยยาสมุนไพรเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 บริการเป็นเลิศ ประชาชนสามารถเลือกใช้บริการแพทย์แผนไทย แพทย์ทางเลือก เมื่อเจ็บป่วยเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 5 และ ภูมิปัญญาสร้างคุณค่า คือ มูลค่าการบริโภคสมุนไพรในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 50,000 ล้านบาท

กรมการแพทย์แผนไทยฯ จับมือ 2 องค์กรด้านการวิจัยระดับประเทศ ขับเคลื่อนงานวิจัยสมุนไพรไทยการแพทย์แผนไทย สู่มาตรฐานสากล

กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ลงนามความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนงานวิจัยและพัฒนาสมุนไพรไทยและการแพทย์แผนไทยให้ได้มาตรฐานระดับสากล เน้นการพัฒนาแนวทางวิจัยทางคลินิก(Clinical Research) ควบคู่ไปกับการส่งเสริมงานวิจัยในระดับนานาชาติ การวิจัยเชิงระบบและการวิจัย R2R (Routine to Research) ชู ยุทธศาสตร์ “3 สร้าง”ปูทางสู่การขยายมูลค่าตลาดเศรษฐกิจสมุนไพร 1 แสนล้านบาท ภายในปี 2570 เพื่อให้การพัฒนาสมุนไพรไทย การแพทย์แผนไทย ให้ก้าวไกลระดับโลก 

นายแพทย์สมฤกษ์ จึงสมาน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าว่า กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้ร่วมลงนามความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนงานวิจัยและพัฒนาสมุนไพรไทยและการแพทย์แผนไทยให้ได้มาตรฐานระดับสากล โดยเน้นการพัฒนาแนวทางวิจัยทางคลินิก (Clinical Research) ควบคู่ไปกับการส่งเสริมงานวิจัยในระดับนานาชาติ การวิจัยเชิงระบบและการวิจัย R2R (Routine to Research) ระหว่าง 2 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) โดยมี ผู้บริหารของทั้ง 2 หน่วยงานร่วมลงนาม ประกอบด้วย นายแพทย์สมฤกษ์ จึงสมาน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม(สกสว.) และ นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม และสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาในด้านต่างๆ โดยมีเป้าหมายในการสร้างความร่วมมือในการขับเคลื่อนงานวิจัยให้มีประสิทธิภาพและตอบสนองต่อความต้องการของประเทศในอนาคต

ความร่วมมือครั้งนี้ยังสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ '3 สร้าง' ของกรมการแพทย์แผนไทยฯ ได้แก่ 1.สร้างความร่วมมือ กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการพัฒนางานวิจัยสมุนไพรไทย 2.สร้างความเชื่อมั่น ด้วยการพัฒนามาตรฐานงานวิจัยให้ได้รับการยอมรับในระดับสากล 3. สร้างมาตรฐานและยกระดับ เพื่อให้สมุนไพรไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลก และเป็นส่วนหนึ่งของระบบสุขภาพที่มีคุณภาพ “ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการพัฒนาสมุนไพรไทย ให้ก้าวไกลระดับโลก ด้วยองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยยกระดับมาตรฐานการแพทย์แผนไทย แต่ยังสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ ปูทางสู่การขยายมูลค่าตลาดเศรษฐกิจสมุนไพร 1 แสนล้านบาท ภายในปี 2570 อันจะนำไปสู่ระบบสุขภาพที่มั่นคงและยั่งยืนในอนาคต“

ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) กับ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ถือเป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมการวิจัยและ พัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการใช้ประโยชน์ในระบบสุขภาพ โดยคาดว่าจะเพิ่มงบประมาณ สำหรับยาสมุนไพร 1,000 ล้านบาท พร้อมบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างกองทุนวิจัยและกองทุนภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ทั้งนี้ มีเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านสมุนไพรและการแพทย์สุขภาพในเอเชีย และส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาด้วยสมุนไพรที่มีคุณภาพและปลอดภัย

นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า ความร่วมมือนี้ จะเสริมศักยภาพการวิจัยและนวัตกรรมด้านสมุนไพรไทยและการแพทย์แผนไทย เพื่อพัฒนาระบบสุขภาพอย่างยั่งยืนโดยเน้นการวิจัยทางคลินิกและพัฒนาเทคโนโลยีที่นำไปใช้ได้จริง รวมถึงสร้างหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ได้มาตรฐาน สวรส. พร้อมสนับสนุนกรอบการวิจัยและแนวทางที่ชัดเจน โดยจะตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรและการแพทย์แผนไทยให้ได้รับการยอมรับในระดับประเทศและสากล เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนและระบบสุขภาพของประเทศ

ด้านนายแพทย์สุรัคเมธ มหาศิริมงคล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวเพิ่มเติมว่า สถาบันวิจัยการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกดำเนินการจัดทำ “Guideline for Herbal Medicine Research” เพื่อพัฒนากรอบการวิจัยทางคลินิกสำหรับสมุนไพรไทยและการแพทย์แผนไทย โดยร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนเพื่อสร้างมาตรฐานการวิจัยที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล นอกจากนี้ยังสนับสนุนการวิจัยและทดลองทางคลินิกเพื่อยืนยันประสิทธิผลและความปลอดภัยของสมุนไพรไทย            

พร้อมพัฒนามาตรฐานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก ทั้งนี้ สถาบันฯ ยังมุ่งส่งเสริมองค์ความรู้ด้านการแพทย์แผนไทยให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบสุขภาพคุณภาพสูง เพื่อให้ประชาชนได้รับการรักษาที่มีมาตรฐานสร้างความเชื่อมั่นในการใช้สมุนไพร และเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการรักษาด้วยแนวทางสุขภาพแบบองค์รวม


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top