Monday, 20 May 2024
กยศ.

กยศ. เร่งโอนเงินค่าครองชีพ 1.3 แสนคนภายใน 30 ธ.ค.นี้ 

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กองทุนฯ ได้เร่งดำเนินการโอนเงินค่าครองชีพให้กับผู้กู้ยืมเงินที่ยังไม่ได้รับค่าครองชีพ จำนวน 136,084 ราย ภายในวันที่ 30 ธ.ค. 2564 ส่วนผู้กู้ยืมที่กองทุนยังไม่ได้รับเอกสารสัญญากู้ยืม จำนวน 11,441 ราย นั้น หลังจากได้รับเอกสารแล้วกองทุนคาดว่าจะโอนเงิน ค่าครองชีพให้ได้ภายใน 7 วัน โดยหลังจากวันที่ 30 ธ.ค.นี้ ผู้กู้รายใดที่ยังตกค้างและยังไม่ได้รับเงิน ค่าครองชีพ ขอให้ติดต่อมาที่กองทุนได้ทาง Line บัญชีทางการกยศ.เรื่องร้องทุกข์ หรือติดต่อที่หมายเลขโทรศัพท์ 0 2016 4888

ทั้งนี้ในปีการศึกษา 2564 มีผู้ยื่นขอกู้ยืมเงินจำนวน 664,398 ราย เป็นเงินกู้ยืมจำนวน 37,118,189,702 บาท ผ่านสถานศึกษาจำนวน 4,128 แห่ง และจากสถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีความรุนแรงมากขึ้น สถานศึกษาจึงเลื่อนการเปิดภาคเรียนและปรับรูปแบบการเรียนเป็นออนไลน์ รวมถึงมาตรการปรับลดค่าเทอมให้แก่นักศึกษา ทำให้กองทุนต้องปรับกระบวนการให้กู้ยืมเงินโดยขยายเวลายื่นขอกู้จนถึง 31 ต.ค. 2564 ซึ่งปัจจุบัน จากผู้กู้ยืมจำนวน 664,398 ราย กองทุนได้โอนค่าครองชีพไปแล้ว จำนวน 516,873 ราย คงเหลือผู้กู้ยืมเงินที่ได้รับเอกสารแล้วอยู่ในระหว่างดำเนินการ จำนวน 136,084 ราย 

“รองโฆษกรัฐบาล” แก้หนี้กยศ.เป็นของขวัญปีใหม่  จัดของขวัญปีใหม่ ลดดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ เสนอร่างแก้ไขพ.ร.บ.กยศ. เข้าสภา 5 ม.ค. คลายทุกข์ลูกหนี้และผู้ค้ำฯหลายล้านคน

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ติดตามการแก้ปัญหาหนี้กองทุนเงินกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา (กยศ.) ซึ่งรัฐบาลถือเป็นวาระเร่งด่วน โดยข้อมูล สิ้นปี 2563  เงินกู้กยศ. มีหนี้เสีย (NPL) สูงถึง 63เปอร์เซ็นต์ สูงที่สุดในช่วง 25 ปี ปัจจัยที่ทำให้ผู้กู้ไม่สามารถชำระหนี้ได้เป็นจำนวนมาก มาจากรูปแบบการชำระเงินคืนไม่สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้คืน ซึ่งบางช่วงเศรษฐกิจเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น กยศ.จึงได้ทำการปรับรูปแบบการชำระหนี้ เพื่อลดโอกาสการผิดนัดชำระหนี้และกลายเป็นหนี้เสีย

เพิ่มแผนการรับชำระหนี้ให้หลากหลาย ทำให้ผู้กู้สามารถเลือกแผนการชำระคืนให้เหมาะสมกับศักยภาพของตนเอง และยังได้เปิดให้ผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างผ่อนชำระหนี้ที่ยังไม่ถูกฟ้องคดี จำนวนกว่า 1.7 ล้านคน ให้เข้ามาแจ้งความประสงค์ขอปรับโครงสร้างหนี้ได้แล้วแบบสมัครใจ ผ่านแอปพลิเคชัน กยศ. Connect หรือผ่านเว็บไซต์ https://wsa.dsl.studentloan.or.th  เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้ผู้กู้ยืมช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19

น.ส.รัชดา กล่าวว่า รูปแบบการชำระหนี้ใหม่ที่จัดให้แก่ผู้กู้ อาทิ  1.การชำระหนี้คืนจากรายปีเป็นรายเดือน และขยายระยะเวลาการผ่อนเป็น 25 ปี จากเดิม 15 ปี 2. ปรับลำดับการตัดชาระหนี้ โดยจะตัดเงินต้นก่อน แล้วจึงนำมาตัดดอกเบี้ย ทำให้ยอดหนี้ลดลง 3.ลดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จากร้อยละ 18 ต่อปี เหลือร้อยละ 2 ต่อปี 4. ยกเลิกผู้ค้ำประกัน นับตั้งแต่ปีการศึกษา 2564 เป็นต้นไป 5.ปรับโครงสร้างหนี้ ให้กับผู้ที่มีปัญหาชำระหนี้ไม่ได้ อนึ่ง ในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ กยศ. มอบของขวัญแก่ลูกหนี้ ด้วยการขยายเวลา 5 มาตรการ ออกไปถึง 30 มิ.ย.65 จากเดิมสิ้นสุด 31 ธ.ค.นี้

โดย ลดดอกเบี้ยเงินกู้ยืมจากเดิม 1 เปอร์เซ็นต์ เป็น 0.01 เปอร์เซ็นต์ ต่อปี สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ไม่เคยผิดนัดชำระหนี้ 2) ลดเงินต้น 5 เปอร์เซ็นต์กรณีชำระหนี้ปิดบัญชีสำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ไม่เคยผิดนัดชำระหนี้ 3.ลดเบี้ยปรับ 100 เปอร์เซ็นต์กรณีชำระหนี้ปิดบัญชีสำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ยังไม่ถูกดำเนินคดี 4.ลดเบี้ยปรับ 80 เปอร์เซ็นต์ สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ยังไม่ถูกดำเนินคดีที่ชำระหนี้ค้างทั้งหมดให้มีสถานะปกติ 5.ลดอัตราการคิดเบี้ยปรับเหลือ 0.5 เปอร์เซ็นต์ ต่อปี สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ยังไม่ถูกดำเนินคดีและไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด

กยศ. เชิญชวนผู้กู้ยืมไกล่เกลี่ยหนี้ก่อนฟ้อง ผู้เข้าร่วมโครงการจะไม่ถูกฟ้อง ขยายเวลาชำระหนี้ และได้รับส่วนลดเบี้ยปรับ 

กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เชิญผู้กู้ยืมเข้าร่วมงานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สินครัวเรือน เพื่อช่วยเหลือผู้กู้ยืมให้ไม่ถูกดำเนินคดี พร้อมมีส่วนลดเบี้ยปรับ โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม เป็นเจ้าภาพจัดงานในวันที่ 25 - 26 กุมภาพันธ์ 2565 ณ ห้องภิรัชฮอลล์ 1-3 ไบเทค บางนา 

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า “กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ขอเชิญชวนผู้กู้ยืมเข้าร่วมงานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สินครัวเรือน ครั้งที่ 1 (กรุงเทพมหานครและปริมณฑล) ในระหว่างวันที่ 25 - 26 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 08.30 – 16.00 น. ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค ห้องภิรัชฮอลล์ 1-3 (BH 1-3) เขตบางนา กรุงเทพมหานคร ซึ่งจัดขึ้นโดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม เพื่อเป็นการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของผู้กู้ยืมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งส่งผลให้ผู้กู้ยืมบางส่วนขาดรายได้และผิดนัดชำระหนี้ นำไปสู่การดำเนินคดีหรือถูกบังคับคดีตามกฎหมาย โดยกลุ่มเป้าหมายของกองทุน ได้แก่ ผู้กู้ยืมกลุ่มที่ค้างชำระหนี้ที่ถูกบอกเลิกสัญญาและกำลังจะถูกฟ้อง และผู้กู้ยืมกลุ่มที่จะถูกบังคับคดีที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ซึ่งกองทุนจะได้ส่งหนังสือเชิญเข้าร่วมงาน ทั้งนี้ หากผู้กู้ยืมเข้ากระบวนการไกล่เกลี่ย กองทุนก็จะไม่จำเป็นต้องดำเนินคดี ซึ่งจะลดภาระค่าใช้จ่ายของกองทุน และนอกจากผู้กู้ยืมที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยจะไม่ถูกดำเนินคดีแล้ว ผู้กู้ยืมจะได้รับส่วนลดเบี้ยปรับ รวมทั้งได้รับโอกาสในการขยายระยะเวลาผ่อนชำระได้ถึงอายุ 65 ปี เพื่อให้ผู้กู้ยืมสามารถกลับเข้ามาสู่ระบบการชำระหนี้ให้เป็นปกติ และเมื่อร่างพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่...) พ.ศ. .... ที่อยู่ระหว่างการขอแก้ไขมีผลบังคับใช้ กองทุนจะมีอำนาจในการปลดภาระผู้ค้ำประกัน โดยกองทุนมีหลักการว่าจะยกเลิกการค้ำประกันของผู้ค้ำประกัน เมื่อผู้กู้ยืมได้ผ่อนชำระเงินต้นมาแล้วร้อยละ 25 ของเงินต้นที่ค้างชำระอีกด้วย 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top