Wednesday, 5 February 2025
กมธ

กมธ.ทหารและความมั่นคงของรัฐ วุฒิสภา ลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขปัญหาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภั

(2 ธ.ค. 67) เวลา 10.00 นาฬิกา ณ ห้องประชุม สำนักงานประสานงานชายแดนไทย – มาเลเซีย      (สน.ปทม.) ค่ายเสนาณรงค์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา พลเอก สวัสดิ์  ทัศนา ประธานคณะกรรมาธิการการทหารและความมั่นคงของรัฐ วุฒิสภา  พร้อมด้วยกรรมาธิการ และอนุกรรมาธิการกิจการทหารด้านความมั่นคงแบบองค์รวม ได้ร่วมประชุมเพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืน พร้อมเยี่ยมเยียนให้กำลังใจในการปฏิบัติภารกิจในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนของเจ้าหน้าที่ในห้วงวิกฤติอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมี พลโท ไพศาล หนูสังข์ แม่ทัพภาคที่ 4/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 พร้อมด้วย นายนันทพงศ์ สุวรรณรัตน์ รองเลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้, พลตรี วรเดช เดชรักษา รองแม่ทัพภาคที่ 4/รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า พลตำรวจตรี ชุมพล  ศักดิ์สุรีย์มงคล ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมด้วยผู้บังคับบัญชาและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้การต้อนรับและบรรยายสรุปเกี่ยวกับแนวโน้มของสถานการณ์ แผนเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ และผลการดำเนินงานในห้วงที่ผ่านมา ตลอดจนปัญหาและอุปสรรค เพื่อประมวลเป็นข้อเสนอแนะแก้ไขปัญหาและการพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการจะนำข้อมูลและข้อคิดเห็นต่างๆ มาประกอบการพิจารณาตามหน้าที่และอำนาจตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายต่อไป

กมธ. เตรียมสรุปมาตรการคุมบุหรี่ไฟฟ้าในไทยยันป้องกันเด็กและเยาวชน แต่ต้องไม่ริดรอนสิทธิในทางเลือกของผู้สูบบุหรี่

(10 ธ.ค. 67) โฆษก กมธ. วิสามัญพิจารณาศึกษากฎหมายและมาตรการควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย ย้ำศึกษากฎหมายบุหรี่ไฟฟ้าอย่างโปร่งใส พิจารณาข้อมูลจากทุกฝ่าย และใกล้สรุปรายงานฉบับสมบูรณ์เพื่อเสนอสภาฯ ภายในสิ้นเดือนธันวาคมนี้ เข้าใจสังคมและฝ่ายสุขภาพกังวลเรื่องเด็กใช้บุหรี่ไฟฟ้า ชี้ กมธ. เห็นปัญหาและต้องการแก้ไขอย่างรอบด้าน ไม่ผลักให้ผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นผู้กระทำผิดกฎหมาย

กรณีการจัดเวทีเสียงประชาชน รัฐบาลและรัฐสภารวมพลังคนไทยไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา นายทศพร ทองศิริ อดีต ส.ส.กรุงเทพมหานคร ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการชี้แจงความคืบหน้าการทำงานของ กมธ. ว่า “คณะกรรมาธิการฯ เริ่มดำเนินงานตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 โดยเชิญหน่วยงานภาครัฐ นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ตัวแทนสมาคมแพทย์ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งฝ่ายสนับสนุนและต่อต้านบุหรี่ไฟฟ้า มาร่วมแสดงความคิดเห็น มีการตั้งคณะอนุกรรมาธิการ 2 คณะ เพื่อพิจารณากฎหมายและรวบรวมข้อมูล ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนสรุปผลและจัดทำรายงาน รายงานฉบับดังกล่าวจะเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา 3 ทางเลือก ได้แก่ 1) การคงการแบนบุหรี่ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบใช้ความร้อน พร้อมเพิ่มมาตรการปราบปรามเข้มงวด 2) การคงการแบนบุหรี่ไฟฟ้าแต่ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบใช้ความร้อน และ 3) การควบคุมผลิตภัณฑ์ทั้งสองแบบภายใต้กฎหมาย”
 
พร้อมเสริมว่า “การศึกษานโยบายบุหรี่ไฟฟ้าที่ผ่านมา มีการดำเนินงานอย่างโปร่งใส มีการพิจารณาข้อมูลจากทุกฝ่าย คณะกรรมาธิการประกอบด้วยสมาชิก 35 คน มาจากทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ ข้อกล่าวหาที่ว่าการทำงานของ กมธ. ถูกแทรกแซงโดยกลุ่มอุตสาหกรรมยาสูบจึงเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง เป็นการกล่าวอ้างที่ไร้ความรับผิดชอบ กมธ. เห็นว่า วิธีที่ดีที่สุดในการศึกษาประเด็นต่างๆ คือการรวมความเห็นและข้อมูลจากทุกกลุ่ม เพื่อให้แน่ใจว่ารายงานจะครบถ้วน รอบด้าน สมบูรณ์ ดังนั้น การรวมมุมมองที่หลากหลาย รวมถึงมุมมองของผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า จึงเป็นส่วนสำคัญในการพิจารณานโยบายและกฎระเบียบที่เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าอย่างสมดุล เหมาะสม และทั่วถึง”
 
นายทศพร ยังกล่าวถึงความกังวลเรื่องการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในเยาวชนว่า “เรื่องนี้กำลังเป็นที่กังวลของคนในสังคม ซึ่ง กมธ. ยินดีรับฟังเสียงของประชาชน และเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่รอบคอบและมีประสิทธิภาพ เราเข้าใจและรับฟังข้อเสนอของฝ่ายสุขภาพ แต่ก็ต้องพิจารณามิติในด้านอื่นให้รอบด้าน ไม่สามารถมองเฉพาะมิติด้านสุขภาพเพียงอย่างเดียวได้ ยกตัวอย่างเช่น มิติทางเศรษฐกิจ มิติทางสังคม มิติทางกฏหมายและการบังคับใช้ เป็นต้น เราดูทั้งบริบทในประเทศ และตัวอย่างจากประเทศที่ทั้งควบคุมให้ถูกกฎหมาย จึงอยากให้นำเรื่องนี้มาช่วยกันพิจารณาหาทางแก้ไขปัญหา แต่อยากให้ใช้กลไกของรัฐสภาในการพูดคุยกันอย่างมีเหตุผลมากกว่าที่จะผลักให้ผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้ากลายเป็นอาชญากรที่ทำผิดกฎหมาย

กมธ.การเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม วุฒิสภาประชุมหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 

กมธ.การเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม วุฒิสภา เดินทางไปราชการเพื่อประชุมหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผู้บริหาร และผู้แทนของหน่วยงานในกำกับของกระทรวง

เมื่อวานนี้ (23 ธ.ค.67) เวลา 13.30 นาฬิกา ณ ห้องประชุม 801 ชั้น 8 คณะกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม วุฒิสภา โดยนายนิเวศ พันธ์เจริญวรกุล ประธานคณะกรรมาธิการ และคณะ เข้าร่วมประชุมหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 

โดยมีนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และคณะผู้บริหาร ให้การต้อนรับ

ซึ่งได้หารือและให้ความคิดเห็นในประเด็นที่สำคัญ ได้แก่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity) เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Protection) การศึกษาด้านเทคโนโลยีดิจิทัล การจัดการกับข่าวปลอมและเนื้อหาอันตราย ตลอดจนปัญหาและอุปสรรคที่ควรเร่งดำเนินการแก้ไข

ทั้งนี้ การประชุมรับฟังความคิดเห็นร่วมกันในครั้งนี้ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนมุมมอง ข้อคิดเห็นอันเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนและพัฒนาด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อสนองต่อความต้องการของประชาชนและส่งเสริมความก้าวหน้าของประเทศไทยในยุคดิจิทัลต่อไป

กมธ.ทหารฯ วุฒิสภา ถกเข้มปมเกาะกูด พื้นที่อ้างสิทธิไทย-กัมพูชา จ่อลงพื้นที่ จ.ตราดดับชนวนปัญหาที่ทับซ้อน 30 ม.ค.-1 ก.พ.นี้ แนะทัพเรือตีปิ๊บความจำเป็นซื้อเรือฟรีเกต 

เมื่อวันที่ (10 ม.ค.68) ในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.)การทหารและความมั่นคงของรัฐ วุฒิสภา ครั้งที่ 1/2568 วันที่ 9 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยมีพล.อ.สวัสดิ์ ทัศนา ประธานคณะกมธ.ฯ เป็นประธานการประชุม ที่ห้องประชุม กมธ.CA330 ชั้น 3 อาคารรัฐสภา ซึ่งที่ประชุมได้มีการพิจารณาการดำเนินงานของอนุกมธ.ฯ หลักๆ คือ อนุกมธ.กิจการทหารด้านไซเบอร์ เทคโนโลยี อาวุธยุทโธปกรณ์ และอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ โดยมีการรับทราบข้อมูลแนวคิดการจัดหายุทโธปกรณ์ของกองทัพเรือ

พร้อมเชิญผู้แทนกองทัพเรือเข้าให้ข้อมูล ซึ่งการหารือทางกองทัพเรือมีความเห็นสอดคล้องกันในการส่งเสริมการผลิตในประเทศเป็นอันดับแรก ซึ่งรวมถึงการจัดหาเรือฟรีเกต ด้วยเหตุนี้ที่ประชุมให้ข้อสังเกตว่าควรต้องสร้างการรับรู้สู่สาธารณะถึงความจำเป็นต้องมีเรือฟรีเกตรวมถึงผลประโยชน์ที่ประเทศชาติและประชาชนจะได้รับ ทั้งนี้ทางกอนุกมธ.ฯมีกำหนดเข้าหารือกับ ผบ.ทร.เรื่องการส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศด้วย

รวมทั้งยังได้พิจารณาผลดำเนินงานอนุกมธ.กิจการทหารด้านความมั่นคงแบบองค์รวมกรณีการศึกษาเรื่องพื้นที่อ้างสิทธิระหว่างประเทศไทยกับประเทศกัมพูชาบริเวณทางทะเลเกาะกูด ซึ่งมีการยกร่างรายงานเบื้องต้นเสร็จแล้วและจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือเพื่อให้ข้อสังเกตเพิ่มเติม รวมทั้งจะเดินทางไปศึกษาดูงานเกาะกูด จ.ตราด ระหว่างวันที่ 30 ม.ค.-1 ก.พ.นี้ ในประเด็นพื้นที่ทับซ้อนและการออกเอกสารสิทธิที่ดินบนเกาะกูด ก่อนจัดทำรายงานฉบับสมบูรณ์เสนอต่อที่ประชุมต่อไป ทั้งนี้ทางกมธ.ฯ กำหนดการประชุมหารือครั้งต่อไปวันที่ 16 ม.ค.นี้


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top