Sunday, 19 May 2024
กฎเหล็กกกต

'เพื่อไทย' ระดมส.ส. ให้ความรู้กฎเหล็ก กกต. ชี้!! ต้องระมัดระวัง แต่อย่ากลัวจนทำอะไรไม่ได้

พรรคเพื่อไทย จัดโครงการให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายเลือกตั้งและนโยบายพรรค ที่โรงแรมเอสซี ปาร์ค หลังจากที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2565 ที่ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกประกาศเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2565 รวมทั้งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ในส่วนของมาตราที่เกี่ยวข้องกับการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส.บางส่วน ที่ผู้สมัครและพรรคการเมืองจะต้องปฏิบัติตาม ในช่วง 180 วัน นับตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน 2565 ก่อนที่สภาผู้แทนราษฎรจะครบวาระในวันที่ 23 มีนาคม 2566 โดยมี ส.ส. ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. คณะทำงานด้านกฎหมาย และคณะทำงานด้านบัญชีของผู้สมัคร สมาชิกพรรค เข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก 

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การจัดโครงการในวันนี้ เพื่อให้ผู้บริหาร ส.ส. บุคลากรทางการเมืองและสมาชิกพรรคเพื่อไทย ได้มีความรู้ความเข้าใจในข้อกฎหมาย และระเบียบปฏิบัติที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง โดยเฉพาะวิธีการหาเสียง และข้อห้ามในการหาเสียง เพื่อจะได้ปฏิบัติถูกต้อง ป้องกันการถูกร้องคัดค้านในการเลือกตั้ง โดยจัดให้ความรู้ด้านบทบัญญัติกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ทั้ง พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต.พ.ศ. 2560 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 ระเบียบ กกต.ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียง เลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 และแก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2565 รวมทั้งระเบียบ กกต.อีกหลายฉบับ  

ทั้งนี้มีหลายเรื่องที่น่าสงสัย เช่น การวางพวงหรีด ดอกไม้สด ดอกไม้แห้ง อะไรทำได้ หรือไม่ได้ ซึ่งการจัดโครงการในวันนี้จะมีการเปิดให้สมาชิกพรรคเปิดให้แลกเปลี่ยน สอบถามรายละเอียดอย่างเต็มที่เพื่อให้คลายข้อสงสัย 

นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การจัดโครงการในวันนี้ เป็นการให้ความรู้เพื่อเตรียมความพร้อมในการดำเนินการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งถือว่าเข้าใกล้สู่ฤดูกาลเลือกตั้ง หากเกิดกรณีที่นายกรัฐมนตรีไม่ได้ยุบสภา และให้มีการเลือกตั้งทั่วไปโดยครบอายุสภาผู้แทนราษฎร ซึ่ง กกต.ได้กำหนดวันเลือกตั้งอย่างช้าที่สุดคือวันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม 2566 และหากนับระยะเวลาการหาเสียงที่ต้องอยู่ภายใต้ระเบียบกฎเกณฑ์ และข้อห้ามในการหาเสียงที่เข้มงวด นับจากวันที่ 24 กันยายน 2565 คิดเป็นจำนวนทั้งสิ้น 224 วัน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ยาวนานและส่งผลต่อความได้เปรียบ-เสียเปรียบ ในการหาเสียงระหว่างพรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้งที่เป็นฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านหรือไม่

'วรวัจน์' จี้ กกต. ผ่อนกฎให้ส.ส. ช่วยปชช. ช่วงน้ำท่วม ชี้!! รัฐบาลมีอำนาจหน้าที่ แต่ไม่มีท่าทีใส่ใจดูแล

เมื่อวันที่ (17 ต.ค. 65) นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล คณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมล่าสุดที่จ.ภูเก็ตว่า ตั้งแต่มีสถานการณ์พายุโนรูที่ทำให้น้ำท่วมบริเวณภาคอีสาน ภาคเหนือและภาคกลางไปแล้ว วันนี้น้ำก็ท่วมหนักอีกที่จ.ภูเก็ต ซึ่งสถานการณ์ขณะนี้กฎหมายเลือกตั้งคุมฝ่ายการเมือง ทำให้ไม่สามารถลงไปดำเนินการให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้ แต่ทางรัฐบาลที่มีอำนาจหน้าที่ทำได้ กลับไม่ได้แสดงท่าทีอะไรที่เป็นความใส่ใจลงไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างทันท่วงทีเลย 

นอกจากนี้ยังไม่เห็นแนวทางการแก้ปัญหาที่ชัดเจนจากทางรัฐบาล ไม่รู้ว่าทางรัฐบาลมัวแต่ห่วงเรื่องของตัวเองอยู่หรือไม่ จนละเลยพี่น้องประชาชนเช่นนี้ วันนี้น้ำท่วมทั่วทุกพื้นที่ตั้งแต่เหนือจรดใต้แล้วแต่ทางรัฐบาลก็ยังไม่ได้ขยับดำเนินการอะไรที่จริงจัง ขณะเดียวกันก็มีข่าวว่าให้อีก 8 จังหวัดภาคใต้เตรียมรับมือน้ำ ซึ่งขณะนี้ฝนก็ยังไม่หยุดตก รัฐบาลทำให้คนไทยรู้สึกเหมือนกับว่าไม่มีรัฐบาล เรายังไม่เคยเห็นแผนการจัดการน้ำทั้งระยะสั้นและระยะยาวจากรัฐบาลนี้เลย 

นายวรวัจน์ กล่าวต่อว่า ภาคใต้จัดว่าเป็นเมืองท่องเที่ยวหลัก และเป็นเมืองเศรษฐกิจสำคัญ วันนี้จังหวัดหลัก ๆ เช่น ภูเก็ต กระบี่ พังงา สตูล สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช กำลังได้รับผลกระทบทั้งหมด แต่กลับไม่ได้รับความสนใจจากรัฐบาลเท่าที่ควร ที่ผ่านมาเราเข้าใจได้ว่าพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสาน ทางรัฐบาลอาจมองว่าไม่ใช่พื้นที่ฐานเสียงของพรรคการเมืองฝ่ายตน แต่ขณะนี้ปัญหาก็เกิดที่ภาคใต้แต่รัฐบาลยังกลับนิ่งนอนใจ ไม่ได้สนใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ดี รัฐบาลโยนภาระการช่วยเหลือประชาชนให้เป็นหน้าที่ของท้องถิ่นเท่านั้น ส่วนตัวเองกลับไม่มีใจให้ประชาชน เท่าที่ควรจะเป็น

นายวรวัจน์ กล่าวอีกว่า ตนขอเสนอให้รัฐบาลเข้ามาเยียวยา และเร่งให้ความช่วยเหลือประชาชนให้มากกว่าที่ท้องถิ่นทำอยู่ อาจจะมีงบประมาณพิเศษจัดสรรลงไปให้ หรือเปิดช่องให้จังหวัดสามารถใช้งบกรณีฉุกเฉินล่วงหน้าเพื่อป้องกันน้ำท่วมได้ ไม่ใช่ให้ยึดเพียงแต่กรอบงบประมาณเยียวยาแบบเดิม ทั้งนี้ สมัยรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ เคยจัดวางงบประมาณโดยแบ่งเป็น 2 กรอบ คือกรอบป้องกันน้ำท่วม คือให้มีการเตรียมการก่อนที่น้ำจะท่วม และกรอบที่จะใช้หลังจากเกิดสถานการณ์น้ำท่วมแล้ว รัฐบาลนี้ก็น่าจะผลักดันให้มีมติเหมือนสมัย ครม.น.ส.ยิ่งลักษณ์ คือให้จังหวัดสามารถใช้วงเงินงบประมาณได้ก่อนจะเกิดเหตุ เช่น อาจจะวางช่องทางการระบายน้ำ การทำแผงกั้นน้ำ หรือการขุดลอกเพิ่มเติมเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้สถานการณ์หนัก ในช่วงที่พายุลูกใหม่กำลังจะเข้ามานี้ รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ควรดูแบบอย่างของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ว่าคนที่คิดถึงประชาชนเป็นหลักก่อนนั้น เขาทำงานกันอย่างไร


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top