Sunday, 19 May 2024
กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ

ศาลฮ่องกงตัดสิน 'วัยทีน' ผิดฐานแบ่งแยกดินแดน เจ้าตัวกร้าว!! “ไม่มีอะไรต้องละอาย”

รายงานจากเอเอฟพีและรอยเตอร์ (3 พ.ย. 64) เผย คำพิพากษาของศาลฮ่องกง โดยระบุถึง ‘โทนี ชุง’ นักเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชฮ่องกงวัย 20 ปี กลายเป็นคนอายุน้อยที่สุดที่ถูกตัดสินว่าทำผิดกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ ที่จีนออกมาบังคับใช้กับฮ่องกงเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว

โทนี ชุง ซึ่งเป็นอดีตแกนนำกลุ่มหนุนเอกราชในชื่อ ‘นักศึกษาท้องถิ่นนิยม’ ที่ยุบตัวก่อนหน้ากฎหมายความมั่นคงจะมีผลบังคับใช้ ยอมรับสารภาพผิดในข้อหาแบ่งแยกดินแดน และข้อหาฟอกเงินอีก 1 ข้อหา แต่เขาปฏิเสธข้อหาปลุกปั่นโค่นล้มรัฐและข้อหาฟอกเงินอีกข้อหา

อัยการอีวาน เฉิง กล่าวว่า ชุง เป็นผู้ดำเนินการเพจเฟซบุ๊กของกลุ่มนักศึกษาท้องถิ่นนิยมสาขาสหรัฐฯ และองค์กรชื่อ ‘พรรคริเริ่มเอกราช’ การตรวจค้นที่บ้านของเขาพบเสื้อยืด, ธง และหนังสือที่สนับสนุนเอกราชฮ่องกง ส่วนข้อหาฟอกเงินนั้นเกี่ยวข้องกับเงินบริจาคที่เขาได้รับผ่านบัญชี PayPal

เจ้าหน้าที่ฮ่องกงจับกุม ชุง ซึ่งตอนนั้นอายุ 19 ปี พร้อมกับพวกอีก 2 คน ที่ร้านกาแฟร้านหนึ่งซึ่งอยู่ห่างจากสถานกงสุลสหรัฐอเมริกาประจำฮ่องกงไม่กี่เมตร เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว เขาถูกปฏิเสธประกันตัวและโดนคุมขังมานับแต่ตอนนั้น

กลุ่ม ‘เพื่อนของฮ่องกง’ ซึ่งไม่ค่อยเป็นที่รู้จักนัก ออกแถลงการณ์หลังจากชุงถูกจับกุมว่า พวกเขากำลังพยายามจัดการให้ชุงเข้าสถานกงสุลสหรัฐฯ ในวันนั้นเพื่อขอลี้ภัย

ระหว่างให้การในศาลเมื่อวันพุธ ชุงกล่าวต่อศาลว่า ‘เขามีสติสัมปชัญญะและไม่มีสิ่งใดต้องละอายแก่ใจ’ ทำให้ผู้พิพากษาสแตนลีย์ ชาน กล่าวเตือนทันทีว่า ศาลไม่อนุญาตให้กล่าวถ้อยคำเกี่ยวข้องกับการเมืองในศาล และนัดวันอ่านคำพิพากษาโทษวันที่ 23 พฤศจิกายนนี้

คดีของชุงเป็นคดีแบ่งแยกดินแดนคดีที่ 4 ที่ถูกพิจารณาคดีตามกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งมีโทษสูงสุดจำคุกตลอดชีวิต เมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา เขาก็ถูกตัดสินจำคุก 4 เดือนฐานดูหมิ่นธงชาติจีนและชุมนุมอย่างผิดกฎหมาย

ทางการฮ่องกงเคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติจะไม่มีผลย้อนหลังกับการกระทำในอดีต แต่อัยการอ้างความผิดหลายประการที่เกิดขึ้นก่อนหน้ากฎหมายจะเริ่มบังคับใช้เมื่อปีที่แล้ว

‘ฮ่องกง’ เผย ‘ร่างกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ’ ฉบับใหม่ เพิ่มโทษผู้มีความผิดข้อหา ‘ทรยศ-กบฏ-ก่อวินาศกรรม-ปลุกปั่น’

(8 มี.ค. 67) สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ทางการฮ่องกงได้เผยแพร่ร่างกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ โดยเพิ่มอัตราโทษแก่ผู้กระทำความผิดในข้อหาปลุกปั่นและเกี่ยวกับความลับทางราชการ

ทั้งนี้ ร่างกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฮ่องกงฉบับใหม่นี้ ได้กำหนดให้ผู้ที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดในข้อหาทรยศ กบฏ และก่อวินาศกรรม จะมีโทษจำคุกตลอดชีวิต ขยายเวลาให้ตำรวจสามารถควบคุมตัวผู้ที่ถูกจับกุมโดยยังไม่มีการตั้งข้อหาได้สูงสุด 14 วัน หากได้รับการเห็นชอบจากผู้พิพากษา และอาจจำกัดการเข้าถึงทนายความ ขณะที่ผู้ต้องหาคดีจารกรรมจะมีโทษจำคุก 20 ปี

ร่างกฎหมายฉบับใหม่นี้ยังเสนอเพิ่มบทลงโทษในข้อหาปลุกปั่น ซึ่งมีความหมายถึงการปลุกปั่นความไม่พอใจหรือเกลียดชังต่อรัฐ ผ่านการกระทำ คำพูด หรือการเผยแพร่สิ่งพิมพ์ จากก่อนหน้านี้จะมีโทษจำคุก 2 ปี เป็นสูงสุด 10 ปี สำหรับความผิดฐานสมรู้ร่วมคิดกับกองกำลังต่างชาติ รวมถึงผู้ที่มีความผิดในข้อหาเกี่ยวกับความลับทางราชการจะมีโทษจำคุก 10 ปีเช่นกัน และได้เสนอให้เพิ่มโทษผู้ที่มีสิ่งพิมพ์ที่มีเนื้อหาปลุกปั่นไว้ในครอบครองจาก 1 ปี เป็นสูงสุด 3 ปี โดยตำรวจมีสิทธิที่จะตรวจค้นเพื่อยึดและทำลายสื่อสิ่งพิมพ์เหล่านั้น

สภานิติบัญญัติของฮ่องกงได้เริ่มกระบวนการหารือเกี่ยวกับร่างกฎหมายดังกล่าวแล้วในวันที่ 8 มีนาคม ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยอย่างแน่นหนา และสมาชิกสภาหลายคนกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่าร่างกฎหมายฉบับนี้อาจได้รับการผ่านเป็นกฎหมายก่อนกลางเดือนเมษายน

ด้านนายจอห์น ลี ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ได้เรียกร้องให้สมาชิกสภาเร่งผ่านร่างกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ให้เร็วที่สุด โดยบอกว่าภูมิรัฐศาสตร์มีความซับซ้อนมากขึ้น และความเสี่ยงด้านความมั่นคงยังคงอยู่ไม่ไกลจากฮ่องกงเช่นเดิม

ทั้งนี้ นักการทูตต่างชาติและนักธุรกิจต่างๆ กำลังจับตาดูร่างกฎหมายนี้อย่างใกล้ชิด เพราะกังวลว่ามันอาจเป็นการลดทอนเสรีภาพในฮ่องกง หลังก่อนหน้านี้มีการปราบปรามผู้เห็นต่าง จนทำให้นักเคลื่อนไหวและนักการเมืองหลายคนที่ฝักใฝ่ประชาธิปไตยต้องติดคุกหรือลี้ภัยไปต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม นักกฎหมายบางคนได้วิเคราะห์ร่างกฎหมายดังกล่าวเบื้องต้น ระบุว่าองค์ประกอบในการปรับบทลงโทษในการกระทำความผิดบางอย่างมีความคล้ายคลึงกับของชาติตะวันตก แต่บทบัญญัติบางประการ อาทิ ในข้อหาปลุกปั่นและความลับทางราชการ มีการขยายความกว้างขึ้นและมีโทษรุนแรงขึ้น


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top