Wednesday, 23 April 2025
กกพ

คนไทยเตรียมตัว!! จ่ายตังค์เพิ่ม กกพ.จ่อขึ้นค่าไฟปลาย ก.ค.นี้

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2565 ที่ประชุม กกพ. มีแนวโน้มที่จะเห็นชอบให้ขึ้นค่าไฟฟ้ารอบใหม่ จากเดิมอยู่ที่หน่วยละ 4 บาท เนื่องจากวิกฤตพลังงานโลกที่เพิ่มสูงขึ้น จากความยึดเยื้อของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ประกอบกับกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเอราวัณในอ่าวไทย ที่ลดเหลือเพียง 1 ใน 3 ของกำลังการผลิตเดิม จากปัญหาช่วงรอยต่อผู้รับสัมปทานใหม่ ทั้งหมดส่งผลให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าสูงขึ้น จึงจำเป็นต้องขึ้นค่าไฟฟ้า

อย่างไรก็ตาม ฝากถึงบ้านที่มีผู้ป่วยติดเตียง หรือไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ หากมีความจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้า ให้มาลงทะเบียนกับการไฟฟ้าใกล้บ้าน แล้วจะได้รับการดูแล ไม่ถูกตัดไฟ 


ที่มา: https://mgronline.com/uptodate/detail/9650000051278

'พีระพันธุ์' ไล่บี้ 'กกพ.' ลดค่าไฟเหลือไม่เกินหน่วยละ 4.20 บาท พร้อมเร่งหาวิธีลดภาระปชช. ไม่ให้เจอแรงปะทะหลังปีใหม่

(30 พ.ย. 66) นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ โฆษกรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศค่าไฟงวดใหม่ 4.68 บาทต่อหน่วย งวดมกราคม-เมษายน 2567 ว่า ราคานี้เป็นแค่ตัวเลขเสนอแนะ คำนวนเบื้องต้นจากกกพ.ยึดตัวแปรหลักตัวแปรเดียว คือการชำระหนี้ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ส่วนราคาสุดท้ายอยู่ที่ฝ่ายบริหาร กระทรวงพลังงาน ภายใต้การกำกับของนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานจะเคาะอย่างไร ขอยืนยันว่าราคาขายไฟฟ้าจริงจะไม่ใช่ตัวเลขนี้ และประชาชนผู้ใช้ไฟจะไม่ต้องรับภาระ จนหน้ามืดอย่างแน่นอน

"นายพีระพันธุ์ กำลังหาแนวทางลดภาระค่าไฟประชาชน ไม่ให้เจอแรงปะทะหลังปีใหม่ และจะพยายามทำตัวเลขให้ลดลงได้มากที่สุด ใกล้เคียงความเป็นจริงที่กระทรวงจัดการได้ ประมาณ 4.20 บาทต่อหน่วย ใช้กลไกจัดการผสมผสาน หลายขั้นตอนกว่าการลดราคาค่าไฟปกติทั่วไป ไม่ได้ใช้แค่เรื่องประวิงหนี้กฟผ.อย่างเดียว" นายพงศ์พล กล่าว

นายพงศ์พล กล่าวว่า ราคานี้เป็นการบริหารลดค่าครองชีพระยะสั้นให้ประชาชนเท่านั้น ทางกระทรวงพลังงานยังยืนยันจะแก้ไขเชิงโครงสร้าง ก๊าซธรรมชาติ ต้นตอของปัญหาราคาไฟฟ้า และสนับสนุนพลังงานไฟฟ้าสะอาดระยะยาวต่อไป

‘พีระพันธุ์’ หารือแนวทางกดค่าไฟเหลือ 3.99 บาท/หน่วย ย้ำ!! เร่งทำงานเต็มที่ เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้คนไทย

(6 ธ.ค. 66) รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงาน แจ้งว่า กรณีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) งวดแรกของปี คือ มกราคม-เมษายน 2567 ซึ่งจะส่งผลให้ค่าไฟเฉลี่ยเรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟทุกประเภทอยู่ที่เฉลี่ย 4.68 บาทต่อหน่วย เป็นไปตามกระบวนการทางกฏหมายที่จะต้องเปิดรับฟังความเห็นก่อนจะมีมติ แต่ยังไม่ถือเป็นการสิ้นสุด

โดย นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มีอำนาจบริหารจัดการเพื่อไม่ให้กระทบต่อค่าครองชีพประชาชนและดูแลเศรษฐกิจโดยตรง ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางที่จะไม่ให้ค่าไฟขึ้นไปถึงระดับ 4.68 บาทต่อหน่วยแน่นอน หากเป็นไปได้จะพยายามตรึงราคา 3.99 บาทต่อหน่วย หรือหากที่สุดต้องปรับขึ้นจะไม่เกิน 4.20 บาทต่อหน่วย

“ขณะนี้คณะทำงานกำลังเร่งหาแนวทางลดค่าไฟฟ้าจากหลายเครื่องมือ อาทิ ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ ‘กฟผ.’ แบกรับภาระหนี้บางส่วนออกไป ให้บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) รับภาระส่วนของต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติ รวมไปถึงอาจหาเงินงบประมาณมาสนับสนุน ซึ่งนายพีระพันธุ์จะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงต้องใช้เวลาช่วงเดือนธันวาคมนี้ในการเร่งทำงาน มั่นใจว่าจะเป็นข่าวดีสำหรับประชาชนในช่วงปีใหม่นี้แน่นอน” รายงานข่าวระบุ

กกพ. เคาะ ‘ค่าไฟ’ งวดใหม่ 4.18 บาท  เท่ากับค่าไฟฟ้าเฉลี่ยในงวดปัจจุบัน

(27 มี.ค. 67) นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ. มีมติเห็นชอบค่าเอฟทีเรียกเก็บในงวดเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2567 คงเดิมที่ 39.72 สตางค์ต่อหน่วย 

ทั้งนี้ เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.7833 บาทต่อหน่วยแล้ว ทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เป็น 4.1805 บาทต่อหน่วย เท่ากับค่าไฟฟ้าเฉลี่ยในงวดปัจจุบัน

สำนักงาน กกพ. ได้เปิดรับฟังความเห็นผลการคำนวณค่าเอฟทีสำหรับเรียกเก็บในงวดเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2567 ผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 8 - 22 มีนาคม 2567 

โดยมีผู้เข้าร่วมแสดงความเห็นจำนวนทั้งสิ้น 147 ความเห็น แบ่งเป็นการแสดงความเห็นต่อค่าเอฟทีตามกรณีศึกษาที่ กกพ. เสนอรวมทั้งสิ้น 61 ความเห็น แสดงความเห็นโดยเสนอค่าเอฟทีอื่น ๆ นอกเหนือจากกรณีศึกษารวม 50 ความเห็น และความเห็นในลักษณะข้อซักถามหรือคำถามอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับค่าเอฟทีจำนวน 36 ความเห็น

นายคมกฤช กล่าวอีกว่า การใช้ไฟฟ้าในระบบของ กฟผ. มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจึงจำเป็นต้องนำเข้า LNG เพื่อเป็นเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นในการผลิตไฟฟ้า ดังนั้น ในช่วงฤดูร้อนที่กำลังจะมาถึง สำนักงาน กกพ. จึงขอให้ผู้ใช้ไฟฟ้าร่วมกันตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ ให้มีสภาพการใช้งานที่ดี เพื่อประหยัดการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลาที่มีสภาพอากาศร้อน

รวมทั้งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าได้ง่าย ๆ 5 ป. ได้แก่ ปลด หรือถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าลดการใช้ไฟฟ้าเมื่อใช้งานเสร็จ ปิด หรือดับไฟเมื่อเลิกใช้งาน ปรับ อุณหภูมิเครื่องปรับอากาศให้อยู่ที่ 26 องศา เปลี่ยน มาใช้อุปกรณ์ประหยัดไฟเบอร์ 5 ปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้นเพื่อลดอุณหภูมิภายในบ้าน 

ซึ่งทั้ง 5 ป. จะช่วยลดการนำเข้า LNG ลดการเกิดการใช้ไฟฟ้าสูงสุดรอบใหม่ (New Peak Demand) ในระบบไฟฟ้าและยังช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้า

‘ก.พลังงาน’ สั่ง ‘กกพ.’ บี้ ‘ปตท.’ คืนค่าชอร์ตฟอล 4,700 ลบ. เล็งดึงเงินลดค่าไฟงวดสุดท้ายปี 67 ได้ 7.8 สต./หน่วย

(26 เม.ย. 67) แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานสั่งให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ตรวจสอบการส่งผ่านราคาก๊าซธรรมชาติ 

กรณีผู้ผลิตไม่สามารถส่งมอบก๊าซฯ ได้ตามเงื่อนไขในสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ (ชอร์ตฟอล) ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพิ่มเติมจากงวดแรก 4,300 ล้านบาท มีช่วงเวลาอื่นอีกหรือไม่ว่า ล่าสุดทาง กกพ. ได้รายงานผลการตรวจสอบราคาจัดหาก๊าซธรรมชาติของปตท. ระหว่างปี 56-63 พบตัวเลขส่วนต่างราคาชอร์ตฟอลที่ปตท. ซื้อก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย แต่ยังไม่ได้สะท้อนไปเป็นส่วนลดในราคาพูลแก๊สหรือราคารวม อีก 4,700 ล้านบาท 

ทั้งนี้ ปตท. ต้องส่งคืน เพื่อลดต้นทุนค่าไฟฟ้าให้กับประชาชน หลังจากก่อนหน้านี้คณะกรรมการ หรือบอร์ดปตท. มีมติยอมส่งคืนราคาชอร์ตฟอล ระหว่างต.ค. 63 - ธ.ค. 65 เป็นมูลค่า 4,300 ล้านบาท เพื่อนำมาลดต้นทุนค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ในงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. ที่ผ่านมาแล้ว

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 29 เม.ย. คณะอนุกรรมการตรวจสอบการส่งผ่านราคาก๊าซธรรมชาติ กรณีผู้ผลิตไม่สามารถส่งมอบก๊าซได้ตามเงื่อนไขในสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ (ชอร์ตฟอล) จะประชุมพิจารณาตัวเลขส่วนต่างราคาชอร์ตฟอลรอบสอง มูลค่า 4,700 ล้านบาท

ก่อนเสนอให้กกพ.มีมติ และแจ้งไปยังปตท.ให้ดำเนินการต่อไป หากปตท.ยอมรับตัวเลขส่วนต่างราคาชอร์ตฟอล จะสามารถนำมาลดค่าไฟฟ้างวดสุดท้ายของปี 67 (ก.ย. - ธ.ค. 67) ได้ประมาณ 0.078 บาทต่อหน่วย หรือ 7.8 สตางค์

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 67 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน มีหนังสือถึงกกพ. สั่งให้ตรวจสอบชอร์ตฟอลเพิ่มเติมจากงวดแรก และให้ดำเนินงานการอย่างเร่งด่วน เมื่อได้ผลอย่างไรให้รายงานความคืบหน้าต่อรมว.พลังงานทุก 30 วัน

ซึ่ง กกพ.ได้ส่งหนังสือรายงานรมว.พลังงานเป็นระยะ จนพบข้อมูลตัวเลขล่าสุด โดยงวดแรกปตท.ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของกกพ. เนื่องจากมองว่า ปตท.คำนวณถูกต้องมาตลอด ตามการบริหารสัญญาซื้อขายก๊าซ 

แต่ทาง กกพ. ได้พิจารณายกอุทธรณ์ ทำให้ปตท.ต้องคืนค่าชอร์ตฟอลตามคำสั่ง ซึ่งครั้งนี้หากปตท.ไม่เห็นด้วยกับคำสั่ง สามารถยื่นอุทธรณ์ และชี้แจงข้อเท็จจริงได้อีกเช่นกัน

‘พีระพันธุ์’ ยืนยัน!! ตรึงค่าไฟ 4.18 บาทต่อหน่วย ขอบคุณ ‘กกพ.-กฟผ.-ปตท.’ ช่วยทำเพื่อประชาชน

(19 ก.ค. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน กล่าวกรณีมีกระแสข่าวว่าจะปรับขึ้นค่าไฟ 6 บาทต่อหน่วย ว่า "จากการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ข้อยุติว่า จะตรึงค่าไฟไว้ที่ 4.18 บาท รอบเดือน ก.ย.-ธ.ค.67 โดยในวันนี้ได้เชิญประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.), ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และประธานคณะกรรมการบมจ. ปตท. (PTT) มาหารือร่วมกัน

"ส่วนจะตรึงต่อไปอีกกี่เดือนนั้น ต้องพิจารณาตามราคาตามค่าเอฟทีที่ปรับทุก 4 เดือน ซึ่งต้องมาดูตรงนี้ด้วย ถ้ามีการปรับลดลงราคาไฟก็ลดลง อย่างไรก็ตามสำหรับการตรึงค่าไฟรอบนี้ ต้องขอบคุณการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และปตท.ที่ยินดีไม่รับค่าตอบแทนใดๆ จากค่าไฟฟ้างวดนี้เลย เพื่อช่วยเหลือประชาชน"

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่ากระแสข่าวที่ออกมาเกิดจากอะไร? นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า "ก็เป็นเหมือนทุกครั้ง ที่พยายามทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด สื่อก็ต้องช่วยทำความเข้าใจ ต้องเข้าใจว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องคิดในสิ่งที่ควรจะเป็นจริง ก่อนที่สุดท้ายจะต้องมาดูด้วยว่า นโยบายจะสามารถแก้ไขอะไรได้บ้าง" 

"การที่จะช่วยประชาชน ไม่ว่าจะค่าไฟฟ้าหรือน้ำมัน ไม่ได้อยู่ที่กระทรวงพลังงานเพียงกระทรวงเดียว แต่ต้องประสานทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเรื่องราคาน้ำมันที่กระทรวงพลังงานพยายามตรึงไว้ที่ราคาเดิมที่ 33 บาท/ลิตร แต่ปัจจุบันกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงนับวันเป็นภาระหนี้สินมากขึ้น การจะปรับลดราคาน้ำมันลงมาได้ต้องปรับลดภาษีด้วย ซึ่งตนพยายามปรับปรุงกฎหมายอยู่ ขณะนี้การยกร่างกฎหมายฉบับที่ 1 เกี่ยวกับการดูแลราคาน้ำมันประจำวันเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างการทบทวนความถูกต้อง จากนั้นจะเสนอให้นายกรัฐมนตรีได้รับทราบต่อไป" นายพีระพันธุ์ กล่าวทิ้งท้าย

กรมธุรกิจพลังงาน ลงนามร่วม กพพ. -กฟน.-กฟภ. ผสานกำลังกำกับดูแลสถานีชาร์จไฟฟ้ารถอีวี

กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) จับมือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ร่วมกันกำกับดูแลด้านความปลอดภัยของการประกอบกิจการสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า

(20 พ.ย. 67) นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน พร้อมด้วยนายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน นางสาวภัทรา สุวรรณเดช รองผู้ว่าการธุรกิจ การไฟฟ้านครหลวง และนายประสิทธิ์ จันทร์ประสิทธิ์ รองผู้ว่าการธุรกิจและการตลาด การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (Memorandum of Understanding : MOU) เรื่อง การกำหนดกรอบระยะเวลาในการปฏิบัติงานการอนุมัติอนุญาต และจัดทำมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าของสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV Charging Station) ภายในเขตสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ณ ห้องประชุม 9 ชั้น 15 ศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ อาคารบี ถนนวิภาวดีรังสิต เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร

นายสราวุธ กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในวันนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานอนุมัติ อนุญาต ทั้ง 4 หน่วยงาน ได้แก่ กรมธุรกิจพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยมีวัตถุประสงค์ในการกำกับดูแลด้านความปลอดภัยของการประกอบกิจการสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV Charging Station) ที่ติดตั้งภายในเขตสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง และเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ความต้องการด้านโครงสร้างพื้นฐานการชาร์จไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้า และสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน 

ภายใต้ความร่วมมือนี้ ทางหน่วยงานทั้ง 4 จะทำงานร่วมกันเพื่อกำหนดกรอบระยะเวลาในการปฏิบัติงาน ที่เกี่ยวกับการขออนุมัติอนุญาต และจัดทำมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าฯ เพื่อใช้เป็นข้อกำหนดในการอนุมัติ อนุญาต ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน และมุ่งหวังให้ประชาชนสามารถใช้งานสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ที่ติดตั้งภายในเขตสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ได้อย่างมั่นใจ มีความปลอดภัย และยังเป็นการดำเนินการตามนโยบาย 30@30 ตามมติคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ในการส่งเสริมให้เกิดการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ในปี 2573 (ค.ศ. 2030) ให้ได้ร้อยละ 30 ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในประเทศ

กกพ. แจงเสร็จสิ้นหน้าที่รับซื้อไฟฟ้าสีเขียวเฟส 2 แล้ว พร้อมเห็นชอบตาม กพช. เบรกลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า

(22 ม.ค. 68) คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เห็นควรปฏิบัติตามมติ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เบรกทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าสีเขียวเฟส 2 แม้จะประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก 72 ราย รวม 2,145.40 เมกะวัตต์ ไปแล้วก็ตาม พร้อมแจ้งสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ว่าได้ปฏิบัติการเปิดรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวเฟส 2 ตามหน้าที่เสร็จสิ้นแล้ว หลังจากนี้ 3 การไฟฟ้าต้องรอนโยบายภาครัฐสั่งการลงนามสัญญา PPA ถึงจะเดินหน้าต่อได้  

แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน เปิดเผยกรณีเมื่อวันที่ 25 ธ.ค.2567 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้มีมติให้ชะลอโครงการไฟฟ้าสีเขียว เฟส 2 หรือ “โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม สำหรับกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงและขยะอุตสาหกรรม ตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด สำหรับปี 2565 – 2573” ปริมาณรวม 3,668.5 เมกะวัตต์ โดยเป็นการชะลอการลงนามสัญญากับ 3 การไฟฟ้าไว้ก่อน เพื่อดำเนินการตรวจสอบความถูกต้อง พร้อมทั้งมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ ไปหารือกับ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อพิจารณาด้านข้อกฎหมายและอำนาจหน้าที่ของ กพช. รวมทั้งให้นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน กพช. พิจารณาแต่งตั้ง คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว และให้ฝ่ายเลขานุการฯ แจ้งให้ กกพ. และ 3 การไฟฟ้า ทราบมติ กพช. ต่อไป

โดยล่าสุดทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ประชุมพิจารณาเห็นควรให้ปฏิบัติตามมติ กพช. โดยให้ชะลอการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างผู้ผลิตไฟฟ้าที่ผ่านเกณฑ์เข้าร่วมโครงการฯ กับการไฟฟ้าออกไปก่อนจนกว่าทางภาครัฐจะสั่งการลงมาใหม่

อย่างไรก็ตาม กกพ. ได้แจ้งไปยังสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ในฐานะเลขานุการ กพช. ว่า ทาง กกพ. ได้ปฏิบัติหน้าที่ในการเปิดรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวเฟส 2 เสร็จสิ้นกระบวนการตาม มติ กพช. ที่ผ่านมาเรียบร้อยแล้ว ส่วนกระบวนการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) เป็นกระบวนการที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.),การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) จะไปดำเนินการต่อตามมติ กพช. และนโยบายภาครัฐต่อไป

สำหรับการเปิดรับซื้อไฟฟ้าสีเขียว รอบ 2 จำนวน 3,668.5 เมกะวัตต์ ได้แบ่งเป็น รอบรับซื้อไฟฟ้า 2,180 เมกะวัตต์ สำหรับผู้ที่ผ่านคุณสมบัติการรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวแล้ว แต่ไม่ผ่านเข้าร่วมโครงการในรอบแรก ซึ่งจะได้รับการพิจารณาก่อน (ในส่วนนี้กระทรวงพลังงานให้ชะลอไว้ก่อน เพื่อทำการตรวจสอบให้ถูกต้องตามกฎหมาย) ส่วนรอบรับซื้อไฟฟ้าที่เหลืออีก 1,488.5 เมกะวัตต์ ขณะนี้ยังไม่ได้ประกาศเปิดรับซื้อไฟฟ้าในส่วนนี้แต่อย่างใด

ทั้งนี้ย้อนไปในวันที่ 25 พ.ย. 2567 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ออกมาแถลงข่าวถึงการให้ชะลอการรับซื้อไฟฟ้าสีเขียว รอบ 2 ว่า กำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบด้านกฎหมายในการเปิดรับซื้อไฟฟ้าสีเขียว รอบ 2 จำนวน 2,180 เมกะวัตต์ ว่าจะดำเนินการได้หรือไม่ เนื่องจากตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่ผ่านมา ได้เปิดรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวรอบแรกประมาณ 5,000 เมกะวัตต์ ไปแล้ว แต่ต่อมาพบว่ายังมีผู้ผลิตที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการอีกหลายราย จึงทำการเปิดรับซื้อรอบ 2 ในครั้งนี้ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนที่ตัวเองจะเข้ามาบริหารงาน 

ดังนั้นจึงต้องดำเนินการตรวจสอบทางกฎหมายก่อนว่า การเปิดรับซื้อไฟฟ้าสีเขียว 2,180 เมกะวัตต์ ที่กำหนดให้เฉพาะกลุ่มผู้ที่ผ่านคุณสมบัติแล้วแต่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการไฟฟ้าสีเขียวในรอบแรก จะได้รับการพิจารณาก่อนนั้น จะสามารถดำเนินการได้หรือไม่

ต่อมาในวันที่ 16 ธ.ค. 2567 ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ยังคงดำเนินการตามมติ กพช. เดิม โดยออกประกาศรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติมที่ได้รับการคัดเลือกตามระเบียบ กกพ. ว่าด้วย “การจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรูปแบบ Feed-in Tariff (FIT) ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 (เพิ่มเติม) พ.ศ. 2567” โดยมีผู้ผ่านเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 72 ราย

โดยแบ่งเป็น 1. ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม 8 ราย รวมกำลังผลิต 565.40 เมกะวัตต์  2.ผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน จำนวน 64 ราย รวม 1,580 เมกะวัตต์  หรือรวมปริมาณทั้งสิ้น 2,145.40 เมกะวัตต์

ดังนั้นล่าสุดเมื่อ 25 ธ.ค. 2567 ที่ กพช. ได้มีมติให้ชะลอการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าไว้ก่อน จึงส่งผลให้กระบวนการรับซื้อไฟฟ้าสีเขียว เฟส 2 ต้องถูกระงับไว้ก่อนด้วย เพื่อรอการตรวจสอบของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าจะถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ต่อไป

กกพ. เตรียมส่งหนังสือถึงภาครัฐภายใน ม.ค. 2568 นี้ หวังให้ทบทวนโครงการ Adder กดค่าไฟฟ้าลงได้ 17 สต./หน่วย

(24 ม.ค.68) คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ยืนยัน จะส่งหนังสือถึงรัฐมนตรีพลังงานและ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ภายในเดือน ม.ค. 2568 นี้ เสนอให้ทบทวนเงื่อนไขสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าของกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้า SPP และ VSPP ที่ได้รับเงินส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) และ เงินสนับสนุนตามต้นทุนที่แท้จริง (FiT) เหตุกลุ่มนี้คุ้มทุนและได้ค่าตอบแทนนานพอสมควรแล้ว ปัจจุบันต้นทุนค่าไฟฟ้าถูกลง แต่รัฐยังสนับสนุนในอัตราสูง ส่งผลกระทบค่าไฟฟ้าโดยรวม ชี้หากปรับเงื่อนไขได้ จะช่วยลดค่าไฟฟ้าประชาชนลงได้ 17 สตางค์ต่อหน่วย หรือประหยัดได้ 33,150 ล้านบาท

นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เปิดเผยว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ภายในเดือน ม.ค. 2568 นี้ เพื่อเสนอทางเลือกให้ภาครัฐทบทวนและปรับปรุงเงื่อนไข การสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าทั้งในรูปแบบ 'การให้ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder)' และ 'การสนับสนุนตามต้นทุนที่แท้จริง (FiT)' ของกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) และกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) เพื่อให้การอุดหนุนสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และทำให้ค่าไฟฟ้าสามารถปรับลดลงได้ทันทีประมาณ 17 สตางค์ต่อหน่วย จากค่าไฟฟ้าในปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 4.15 บาทต่อหน่วย

“นโยบายเกี่ยวกับการลดค่าไฟฟ้านั้น ทาง กกพ. เห็นว่าควรหารือกับทุกฝ่าย ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ใครเสียเปรียบใคร แต่เวลานี้ต้องหยิบเรื่องทั้งหมดขึ้นมามอง กกพ. เป็นเพียงหน่วยงานหนึ่งที่พยายามนำเสนอมุมมองเพื่อให้ภาครัฐได้คิดทบทวนในเรื่องนี้ แต่เรื่องการตัดสินใจและนำไปสู่การปฏิบัติ เป็นเรื่องของฝ่ายนโยบายที่ต้องหารือให้เป็นธรรมกับทุกฝ่าย”

อย่างไรก็ตามหากมีการเจรจากับผู้ผลิตไฟฟ้าเกิดขึ้น มองว่าควรเจรจากันบนความเข้าใจที่ตรงกันและเห็นถึงผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง ไม่ได้เห็นถึงผลประโยชน์ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และหากการเจรจาสามารถตกลงกันได้ถือเป็นเรื่องที่ดีกับประเทศ ไม่ได้เป็นการไปทำลายบรรยากาศความเชื่อมั่นด้านการลงทุนที่ทำกับภาครัฐแต่อย่างใด

ทั้งนี้ นับตั้งแต่นายกรัฐมนตรีประกาศนโยบายจะลดค่าไฟฟ้าของประเทศลงให้เหลือ 3.70 บาทต่อหน่วย เมื่อ 7 ม.ค. 2568 ส่งผลให้ กกพ. ในฐานะผู้กำกับดูแลราคาพลังงาน ได้ตรวจสอบต้นทุนค่าไฟฟ้าที่จะสามารถลดลงได้ และพบว่า มาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าแบบให้ Adder และ FiT ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน กลายเป็นภาระค่าไฟฟ้าประชาชนอยู่ 17 สตางค์ต่อหน่วย

โดย เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2568 กกพ.ได้ออกมาแถลงรายละเอียดว่า หากมีการปรับปรุงราคารับซื้อไฟฟ้าในกลุ่ม Adder และ FiT ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เช่น ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ รับซื้อในอัตราค่าไฟฟ้าขายส่งหน่วยละ 3.1617 บาท บวกกับค่าส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) หน่วยละ 8 บาท (10 ปี) รวมแล้วเป็นค่าไฟฟ้าหน่วยละ 11.1617 บาท ซึ่งแพงกว่าอัตรารับซื้อที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) คำนวณไว้ในโครงการการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 และในส่วนเพิ่มเติม พ.ศ. 2567 หน่วยละ 2.1679 บาท หลายเท่าตัวหรือมีส่วนต่างหน่วยละ 8.9938 บาท หากนำส่วนต่างนี้ออกไปจากสูตรคำนวณค่าไฟฟ้า ก็จะทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงทันที และไม่กระทบต่อผู้ประกอบการด้วย 2 เหตุผลคือ

1. ผู้ประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าผ่านจุดคุ้มทุนแบบ Adder และได้รับค่าตอบแทนจากโครงการพอสมควร จึงควรปรับค่าไฟฟ้าให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงได้

2. การรับซื้อไฟฟ้าในอดีตหน่วยละ 11.1617 บาท เนื่องจากอุปกรณ์การผลิตไฟฟ้าจากแผงพลังงานแสงอาทิตย์ยังมีต้นทุนสูง แต่ในปัจจุบันราคาอุปกรณ์ดังกล่าวลดลงมาก ราคาไฟฟ้าที่รัฐรับซื้อควรลดลงตามมาด้วยเช่นกัน หรือแม้โครงการผ่าน 10 ปีและเงินอุดหนุน 8 บาทหมดไปแล้ว แต่ราคารับซื้อก็ยังอยู่ที่ 3.1617 บาท ซึ่งแพงกว่าราคาที่ สนพ. คำนวณในปี 2565 ไว้ที่หน่วยละ 2.1679 บาท ซึ่งมีส่วนต่างเป็นเงินหน่วยละ 0.9938 บาท ถือเป็นกำไรที่ผู้ประกอบการไม่ควรได้รับ ประการสำคัญสัญญารับซื้อไฟฟ้าในกลุ่มนี้ระบุว่าให้ต่อสัญญาโดยอัตโนมัติ หมายความว่า ไม่มีวันสิ้นสุดสัญญา หากไม่มีการปรับปรุงอัตราการรับซื้อไฟฟ้าให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ผู้ประกอบกิจการก็จะได้กำไรเกินควร อันเป็นการสร้างภาระให้กับประชาชนโดยไม่มีวันสิ้นสุด

จากการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนกรณีค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) งวดเดือน ม.ค. – เม.ย. 2568 ได้ระบุถึงค่าใช้จ่ายภาครัฐ (Policy Expense) จากการรับซื้อไฟฟ้าในกลุ่ม Adder และ FiT รวมอยู่ในค่าไฟฟ้าหน่วยละ 17 สตางค์ หากคณะรัฐมนตรี หรือ กพช. กำหนดนโยบายปรับค่าไฟฟ้ารับซื้อในส่วนนี้ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงได้ ก็จะลดค่าไฟฟ้าลงได้ทันที 17 สตางค์ หากค่าไฟฟ้าหน่วยละ 4.15 บาท ก็จะลดลงเหลือหน่วยละ 3.89 บาท

จากประมาณการตลอดทั้งปี 2568 คาดว่าจะมีการใช้ไฟฟ้า 195,000 ล้านหน่วย หากลดได้หน่วยละ 17 สตางค์ ก็จะสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนได้ถึง 33,150 ล้านบาท

'กกพ.' เสนอ 3 ทางเลือกค่าไฟงวด พ.ค.-ส.ค. 68 ที่ 4.15-5.16 บาท/หน่วย ชี้ แนวโน้มอาจตรึงค่าเอฟทีเท่าปัจจุบัน เหตุภาระหนี้และต้นทุนเชื้อเพลิงยังกดดัน

‘กกพ.’ เสนอ 3 ทางเลือกค่าไฟงวด พ.ค. – ส.ค. 2568 ที่ 4.15 – 5.16 บาทต่อหน่วย ชี้หลายปัจจัยยังคงกดดันค่าไฟ ทั้งภาระหนี้ต่อ กฟผ. อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทที่ผันผวนจากนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐ ปริมาณความต้องการไฟฟ้าเพิ่มต่อเนื่อง ปริมาณไฟฟ้าพลังน้ำนำเข้าลดลงตามฤดูกาล และแนวโน้มต้นทุนไฟฟ้าจากถ่านหินที่เพิ่มสูงขึ้น

ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ค่าเอฟทีในงวดเดือน พ.ค.- ส.ค. 2568 ยังคงมีภาระการชดเชยต้นทุนคงค้างที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ. นอกจากนี้อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐที่ยังผันผวนจากนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐ และการระบายน้ำของเขื่อนในประเทศได้ลดลงในฤดูแล้ง แม้จะมีแผนเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินแล้ว แต่ความต้องการใช้ไฟฟ้ายังมีแนวโน้มที่สูงขึ้นตามสภาพอากาศร้อน ทำให้ กกพ. ยังไม่สามารถประกาศปรับลดค่าเอฟทีลงได้

“ปัจจัยหลักๆ ยังคงเป็นภาระการชดเชยต้นทุนคงค้าง (AF) ที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ. และต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่อ้างอิงอัตราแลกเปลี่ยน ประกอบกับเป็นช่วงฤดูแล้งและอากาศที่ร้อนทำให้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าต้นทุนต่ำลดลงตามฤดูกาล ในขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้ากลับเพิ่มขึ้น เป็นปัจจัยลบที่กดดันค่าเอฟที และไม่สามารถปรับลดค่าเอฟทีลงได้อีก” ดร.พูลพัฒน์ กล่าว

ดร.พูลพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนที่ กกพ. ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อร่วมหาแนวทางใหม่เพิ่มเติม ในการปรับลดค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนและภาคธุรกิจ กกพ.ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนเพิ่มเติม ที่จะสามารถนำมาเป็นปัจจัยในการพิจารณาค่าเอฟทีได้ทันตามวงรอบปกติของการพิจารณาค่าไฟฟ้าในงวดเดือน พ.ค.- ส.ค. 2568 ที่ถูกกำหนดให้ต้องทบทวนค่าเอฟที และค่าไฟฟ้า ล่วงหน้าเป็นระยะเวลา 1 เดือนก่อนที่การประกาศจะมีผลบังคับใช้

ทั้งนี้ในการประชุม กกพ. ครั้งที่ 9/2568 เมื่อวันพุธที่ 5 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา กกพ. มีมติให้สำนักงาน กกพ. ดำเนินการเปิดรับฟังความคิดเห็นค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) สำหรับการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าในงวดเดือน พ.ค. – ส.ค. 2568 แบ่งเป็น 3 กรณีตามเงื่อนไข ดังนี้

กรณีที่ 1: ผลการคำนวณตามสูตรการปรับค่าเอฟที (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. ทั้งหมด) และการคำนวณกรณีเรียกเก็บมูลค่าส่วนต่างราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับภาคไฟฟ้าปี 2566 ค่าเอฟทีขายปลีกเท่ากับ 137.39 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะเป็นการเรียกเก็บตามผลการคำนวณตามสูตรการปรับค่าเอฟทีที่สะท้อนแนวโน้ม (1) ต้นทุนเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2568 จำนวน 16.39 สตางค์ต่อหน่วย และ (2) เงินเรียกเก็บเพื่อชดเชยต้นทุนคงค้าง (AF) ที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ. จำนวน 71,740 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 99.98 สตางค์ต่อหน่วย) และมูลค่าส่วนต่างราคาก๊าซธรรมชาติที่เกิดขึ้นจริงกับราคาก๊าซธรรมชาติที่เรียกเก็บเดือนกันยายน – ธันวาคม 2566 ของรัฐวิสาหกิจที่ประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) จำนวน 15,084 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 21.02 สตางค์ต่อหน่วย) รวมจำนวน 121.00 สตางค์ต่อหน่วย โดย กฟผ. จะได้รับเงินที่รับภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าแทนประชาชนตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 – ธันวาคม 2567 ในช่วงสภาวะวิกฤตของราคาพลังงานที่ผ่านมา คืนทั้งหมดภายในเดือนสิงหาคม 2568 เพื่อนำไปชำระหนี้เงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องให้มีสถานะทางการเงินคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็ว และรัฐวิสาหกิจที่ประกอบกิจการก๊าซธรรมชาติ จะได้รับเงินคืนส่วนต่างราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับภาคไฟฟ้าคืนทั้งหมด ซึ่งเมื่อรวมค่าเอฟทีขายปลีกที่คำนวณได้กับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5.16 บาทต่อหน่วย โดยค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 24 จากระดับ 4.15 บาทต่อหน่วย ในงวดปัจจุบัน

กรณีที่ 2: ผลการคำนวณตามสูตรการปรับค่าเอฟที (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. ทั้งหมด) ค่าเอฟทีขายปลีกเท่ากับ 116.37 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะเป็นการเรียกเก็บตามผลการคำนวณตามสูตรการปรับค่าเอฟทีที่สะท้อนแนวโน้มต้นทุนเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2568 จำนวน 16.39 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อชดเชยต้นทุนคงค้าง (AF) ที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ. จำนวน 71,740 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 99.98 สตางค์ต่อหน่วย) โดย กฟผ. จะได้รับเงินที่รับภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าแทนประชาชนในช่วงสภาวะวิกฤตของราคาพลังงานที่ผ่านมา คืนทั้งหมดภายในเดือนสิงหาคม 2568 เพื่อนำไปชำระหนี้เงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องให้มีสถานะทางการเงินคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็ว ซึ่งเมื่อรวมค่าเอฟทีขายปลีกที่คำนวณได้กับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.95 บาท ต่อหน่วย โดยค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 19 จากระดับ 4.15 บาทต่อหน่วย ในงวดปัจจุบัน ทั้งนี้ ยังไม่รวมมูลค่าส่วนต่างราคาก๊าซธรรมชาติที่เกิดขึ้นจริงกับราคาก๊าซธรรมชาติที่เรียกเก็บเดือนกันยายน – ธันวาคม 2566 ของรัฐวิสาหกิจที่ประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) อีกจำนวน 15,084 ล้านบาท

กรณีที่ 3: กรณีตรึงค่าเอฟทีเท่ากับงวดปัจจุบัน (ข้อเสนอ กฟผ.) ค่าเอฟทีขายปลีกเท่ากับ 36.72 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะสะท้อนแนวโน้มต้นทุนเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2568 จำนวน 16.39 สตางค์ต่อหน่วย และทยอยชำระคืนภาระต้นทุน AF คงค้างสะสมได้จำนวน 14,590 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 20.33 สตางค์ต่อหน่วย) เพื่อนำไปพิจารณาทยอยคืนภาระค่า AF ให้แก่ กฟผ. และมูลค่าส่วนต่างของราคาก๊าซธรรมชาติที่เกิดขึ้นจริงกับค่าก๊าซธรรมชาติที่เรียกเก็บ เดือนกันยายน – ธันวาคม 2566 ของรัฐวิสาหกิจที่ประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) ในระบบของ กฟผ. ต่อไป โดยคาดว่า ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2568 จะมีภาระต้นทุนคงค้างที่ กฟผ. รับภาระแทนประชาชนคงเหลืออยู่ที่ 60,474 ล้านบาท ทั้งนี้ ยังไม่รวมมูลค่าส่วนต่างราคาก๊าซธรรมชาติที่เกิดขึ้นจริงกับราคาก๊าซธรรมชาติที่เรียกเก็บเดือนกันยายน – ธันวาคม 2566 ของรัฐวิสาหกิจที่ประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) อีกจำนวน 15,084 ล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมค่าเอฟทีขายปลีกกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) คงที่เท่ากับ 4.15 บาทต่อหน่วย เช่นเดียวกับงวดปัจจุบัน

“จากแนวโน้มค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลงจากงวดก่อนหน้า 0.91 บาทต่อเหรียญสหรัฐ (งวดเดือน ม.ค. – เม.ย. 68) เป็น 34.27 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ความต้องการใช้ไฟฟ้ามีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงเดือน พ.ค. – ส.ค. 2568 ในขณะที่การผลิตไฟฟ้าพลังน้ำในประเทศลดลงเนื่องจากเข้าสู่ช่วงฤดูแล้ง โดยการไฟฟ้าได้ลดต้นทุนโดยซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศและการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินนำเข้าเพิ่มขึ้นแล้ว แต่ยังต้องจัดหานำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวแบบสัญญาตลาดจร (LNG Spot) มากกว่าช่วงต้นปี โดยราคา LNG Spot ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อยตามปริมาณความต้องการในตลาดโลกมาอยู่ที่ 14.0 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู แต่ปัจจัยที่ยังไม่สามารถทำให้ค่าไฟลดลงได้ยังคงมาจากภาระหนี้ค่าเชื้อเพลิงสะสมในช่วงกว่า 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งแม้ว่าจะลดลงมากจากงวดก่อนหน้า แต่ภาระหนี้ที่มีอยู่ก็ยังคงอยู่ในระดับสูงและต้องได้รับการดูแลเพื่อรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศด้วย” ดร.พูลพัฒน์ กล่าว

ดร.พูลพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสาเหตุหลักซึ่งเป็นปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมส่งผลให้ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าปรับตัวลดลง แต่เมื่อรวมกับการทยอยคืนหนี้ค่าเชื้อเพลิงค้างชำระในงวดก่อนหน้าที่ยังคงสูงอยู่ ส่งผลให้ค่าไฟในช่วงกลางปี 2568 นี้ อาจจะต้องปรับเพิ่มค่าเอฟทีขึ้นสู่ระดับ 116.37 – 137.39 สตางค์ต่อหน่วย เพื่อคืนหนี้คงค้างให้กับ กฟผ. และ ปตท. ซึ่งทำให้เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.7833 บาทต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บในงวด พ.ค. – ส.ค. 2568 เพิ่มขึ้นเป็น 4.95 – 5.16 บาทต่อหน่วย หรือหากตรึงค่าเอฟทีไว้ที่ 36.72 สตางค์ต่อหน่วย โดยทยอยคืนหนี้คงค้างควบคู่ไปกับการลดผลกระทบต่อการปรับค่าไฟฟ้าอย่างก้าวกระโดดเพื่อลดภาระของประชาชน ค่าไฟฟ้าจะอยู่ที่ 4.15 บาทต่อหน่วย เท่ากับปัจจุบัน

สำนักงาน กกพ. ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนร่วมกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าได้ง่ายๆ 5 ป. ได้แก่ ปลด หรือถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าลดการใช้ไฟฟ้าเมื่อใช้งานเสร็จ ปิด หรือดับไฟเมื่อเลิกใช้งานปรับ อุณหภูมิเครื่องปรับอากาศให้อยู่ที่ 26 องศา เปลี่ยน มาใช้อุปกรณ์ประหยัดไฟเบอร์ 5 ปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้นเพื่อลดอุณหภูมิภายในบ้าน ซึ่งทั้ง 5 ป. จะช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าเองด้วย

ทั้งนี้ กกพ. เปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 11 – 24 มีนาคม 2568 ก่อนที่จะมีการสรุปและประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top