Friday, 17 May 2024
X

'อินโดฯ' สั่งบล็อก X.com ของ 'อีลอน' หลังเข้าใจผิด คิดว่า X เป็น 'เว็บโป๊'

คลั่ง X จนเป็นเหตุ ถึงขนาดที่ อีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้ง SpaceX ได้ตัดสินใจเปลี่ยนโลโก้ และ รีแบรนด์แพลตฟอร์มโซเชียลชื่อดังอย่าง Twitter ด้วยตัวอักษร X พร้อมเปิดเว็บไซต์ X.com เพื่อเป็นช่องทางเข้าถึงบัญชี Twitter ด้วย

แต่ทว่า วันนี้ กระทรวงการสื่อสารและสารสนเทศของอินโดนีเซีย มีคำสั่งให้บล็อกเว็บไซต์ X.com ของอีลอน มัสก์ เสียแล้ว เนื่องจากพบว่า เว็บไซต์ที่มีตัวอักษร X มักถูกใช้ในการเผยแพร่เนื้อหาลามกอนาจาร และ การเล่นพนันผิดกฎหมายในอินโดนีเซีย

อีกทั้งตอนนี้รัฐบาลอินโดนีเซียมีนโยบายปราบปรามเว็บไซท์ที่เผยแพร่หนังโป๊ และ เว็บพนันอย่างหนัก ทำให้ X.com ของอีลอน มัสก์ ติดร่างแหไปด้วย เพราะในระบบตรวจจับของทางการอินโดนีเซียยังเข้าใจว่า X.com คือ 'เว็บโป๊'

ดังนั้น การบล็อก X.com ของรัฐบาลอินโดนีเซีย จะส่งผลให้ผู้ใช้ทวิตเตอร์ในประเทศราว 24 ล้านบัญชี จากประชากรชาวอินโดนีเซียทั้งหมดกว่า 270 ล้านคน ไม่สามารถใช้ Twitter ได้

ทั้งนี้ อุซมาน กันซอง อธิบดีกรมสารสนเทศและการสื่อสารสาธารณะ กล่าวว่าทางรัฐบาลได้ติดต่อทาง X.com และตัวแทนของทาง Twitter เพื่อออกหนังสือชี้แจงถึงกิจการ และเนื้อหาที่จะเผยแพร่บนเว็บไซต์ เพื่อพิจารณาปลดล็อกต่อไป

ฉะนั้น เรื่องนี้จึงถือเป็นอีกหนึ่งความยุ่งยากที่ผู้บริหาร Twitter ต้องจัดการ และสร้างความเข้าใจในตัวตน และ โลโก้ใหม่ล่าสุดแทนสัญลักษณ์นกสีฟ้า แต่ยังไม่อาจหยุดยั้งความหลงใหลในตัวอักษร X ของอีลอน มัสก์ ได้

หากย้อนกลับไปในปี 1999 ที่เป็นยุคที่เรียกว่า dot-com generation ธุรกิจในโลกอินเทอร์เน็ตเฟื่องฟู อีลอน มัสก์ และเพื่อนๆ ได้แก่ แฮริส ฟริคเกอร์, คริสโตเฟอร์ เพยน์ และ เอ็ด โฮ ได้ก่อตั้งเว็บไซต์ที่ชื่อว่า X.com ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยตั้งใจให้เป็นธนาคารออนไลน์เต็มรูปแบบ ที่จะรวมบริการฝาก-ถอน เงินกู้ สินเชื่อ ประกันภัย ไว้ในที่เดียวกัน แม้จะมีหลายคนติงว่า ตัวอักษร X มักถูกโยงให้นึกถึงคอนเทนต์สำหรับผู้ใหญ่ แต่อีลอน มัสก์ ชอบชื่อนี้มาก และยืนยันที่จะเปิดโดเมน ด้วยชื่อนี้ให้ได้

และต่อมา X.com ได้ควบรวมกิจการกับ Confinity Inc. บริษัทซอฟต์แวร์ด้านธุรกรรมการเงิน และได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น Paypal ผู้ให้บริการชำระเงินออนไลน์ในเวลาต่อมา จนมาในปี 2017 อีลอน มัสก์ ยอมควักกระเป๋าซื้อโดเมน X.com คืนมาจาก Paypal ซึ่งเขาได้โพสต์ความรู้สึกผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวของเขาในตอนนั้นว่า ยังไม่มีแผนว่าจะเอาโดเมน X.com มาทำอะไร แต่ชื่อโดเมนนี้มีคุณค่าทางจิตใจกับสำหรับเขา

่มาวันนี้ อีลอน มัสก์ มีแผนสำหรับ X.com ที่จะคืนชีพด้วยการนำมาสวมแทนแบรนด์ Twitter เสียเลย และขั้นต่อไป อีลอน มัสก์ ตั้งใจที่จะต่อยอดให้ Twitter เป็นมากกว่าแพลตฟอร์มโซเชียล โดยเปลี่ยนให้เป็นแอปพลิเคชันที่ทำได้ทุกอย่าง อาทิ บริการชำระเงิน และ ธนาคารดิจิทัล

แต่ปัญหาคือ ภาพจำของคนทั่วไปกับตัวอักษร X ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เพราะมักถูกใช้ในเว็บไซต์ลามกอนาจาร หรือมีเนื้อหาต้องห้าม ผิดกฎหมาย หรือแม้กระทั่งการดูหมิ่นศาสนา ซึ่งถือเป็นเรื่องร้ายแรงในอินโดนีเซีย ประเทศที่มีชุมชนชาวมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในโลก

จึงเป็นเหตุให้ X.com ขออีลอน มัสก์ ถูกเบรกอย่างกะทันหันในอินโดนีเซีย และมีแนวโน้มที่จะถูกจับตาเป็นพิเศษ ถึงเนื้อหาที่เผยแพร่ใน Twitter หลังจากที่สวมแบรนด์ X อีกด้วย

ดังนั้น ความท้าทายของอีลอน มัสก์ จึงไม่ใช่แค่การเปลี่ยนชื่อ Twitter เป็น X อย่างเดียว แต่จำเป็นต้องรีแบรนด์ ภาพลักษณ์ของตัวอักษร X ในสายตาชาวโลกด้วย

‘X’ สั่งลบบัญชี ‘เครือข่ายฮามาส’ นับร้อย หลังก่อเหตุโจมตีอิสราเอล ตอบรับข้อเรียกร้อง EU ขอให้จัดการเนื้อหาเท็จออกจากแพลตฟอร์ม

(12 ต.ค.66) นางลินดา ยัคคารีโน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเอ็กซ์ (X) หรือทวิตเตอร์ ระบุในวันนี้ว่า เอ็กซ์ได้ทำการลบบัญชีเครือข่ายกลุ่มฮามาสชาวปาเลสไตน์หลายร้อยบัญชี และได้ดำเนินการเพื่อลบหรือติดตราคอนเทนต์หลายหมื่นชิ้นนับตั้งแต่เกิดเหตุโจมตีอิสราเอลเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

ซึ่งก่อนหน้านี้ นายเธียร์รี เบรตง คณะกรรมาธิการยุโรปด้านตลาดภายในภูมิภาค ได้ส่งจดหมายถึงนายอีลอน มัสก์ ประธานบริษัทเอ็กซ์เพื่อเรียกร้องให้ลบข้อมูลที่บิดเบือนต่าง ๆ ออกจากแพลตฟอร์มในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส 

‘X’ ลุยทดสอบเก็บค่าบริการผู้ใช้ใหม่ ‘อยากโพสต์–กดไลก์’ ต้องจ่าย หวังกำจัด ‘บอต-สแปม’ นำร่อง ‘นิวซีแลนด์-ฟิลิปปินส์’ ประเทศแรก

(18 ต.ค.66) สำนักข่าวรอยเตอร์ (Reuters) รายงานว่า ‘X’ (Twitter ในอดีต) เตรียมทดสอบการสมัครสมาชิกรูปแบบใหม่ โดยจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมรายปี 1 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 37 บาท) สำหรับฟีเจอร์มาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นโพสต์ข้อความใหม่ (ทวีต), รีโพสต์ (รีทวีต), โควตข้อความ, กดถูกใจ และบุ๊กมาร์ก

ทั้งนี้ การทดสอบดังกล่าวใช้ชื่อว่า ‘Not A Bot’ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อหาแนวทางในการต่อสู้กับบอต (bot-robot) และบัญชีที่เป็นสแปม โดยค่าธรรมเนียมจะต่างกันไปในแต่ละประเทศตามอัตราแลกเปลี่ยน และจะเปิดให้ใช้งานสำหรับผู้ใช้ในนิวซีแลนด์และฟิลิปปินส์ก่อน

โดยผู้ใช้ที่มีบัญชีอยู่แล้วจะไม่ได้รับผลกระทบจากการทดสอบในครั้งนี้ แต่ผู้ใช้ใหม่ที่เพิ่งสมัครใช้งาน X จะสามารถดูและอ่านโพสต์ ดูวิดีโอ และติดตามบัญชีได้เท่านั้น หากไม่ได้ทำการสมัครสมาชิกในแพ็กเกจดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ‘บอต’ เป็นปัญหาที่ ‘อีลอน มัสก์’ (Elon Musk) เจ้าของแพลตฟอร์มคนปัจจุบันพยายามหาแนวทางการจัดการมาตลอด เช่น การจำกัดปริมาณการรับชมข้อความ และการปรับปรุงนโยบายการเก็บข้อมูลไบโอเมตริกซ์ (Biometrics) เพื่อยืนยันตัวตน เป็นต้น 

เปิดค่าบริการ ‘เอ็กซ์’ แบบรายปี ‘นิวซีแลนด์-ฟิลิปปินส์’ 2 ชาติแรก ราคาไม่เกิน 30 บาท หวังลดปัญหาสแปม ไม่จ่าย อ่านได้อย่างเดียว!!

(20 ต.ค. 66) สื่อต่างประเทศ รายงานว่า ‘อีลอน มัสก์’ เตรียมจะเปลี่ยนแปลงแอปพลิเคชันเต็มรูปแบบ จากแอปฯ ที่ให้ใช้ฟรี เป็นแอปฯ ที่ต้องจ่ายเงินเพื่อใช้บริการ

โดยเมื่อวันที่ 17 ต.ค. 66 ‘เอ็กซ์’ (ทวิตเตอร์) ประกาศว่าได้เริ่มทดสอบระบบ ‘ไม่ใช่บอต’ เป็นวิธีการสมัครสมาชิกใหม่ 2 ประเทศ คือ นิวซีแลนด์ และฟิลิปปินส์ พร้อมระบุว่า เพื่อสนับสนุนความพยายามที่สำคัญในการลดสแปม ขณะเดียวกันก็รักษาความสมดุลในการเข้าถึงแพลตฟอร์ม

ขั้นตอนแรก คือ การยืนยันทางโทรศัพท์ บัญชีใหญ่ที่สร้างขึ้นบนเอ็กซ์ของทั้ง 2 ประเทศนี้ จะต้องยืนยันหมายเลขโทรศัพท์ก่อนใช้งาน ขั้นตอนที่ 2 คือ เลือกแผนการสมัครสมาชิก

สำหรับค่าธรรมเนียมนี้ จะคิดราคา 1 ดอลลาร์ต่อปี (แตกต่างกันไปตามประเทศและสกุลเงิน) ผู้ใช้ใหม่จะสามารถดำเนินการบางอย่างในเอ็กซ์เวอร์ชันเว็บได้ อาทิ โพสต์เนื้อหา ถูกใจโพสต์ ตอบกลับ โพสต์ซ้ำ โควท หรือ บุ๊กมาร์กโพสต์

ผู้ใช้ใหม่ที่เลือกไม่สมัครรับข้อมูลจะสามารถดำเนินการ อ่านอย่างเดียวเท่านั้น เช่น อ่านโพสต์ ดูวิดีโอ และติดตามบัญชี

สำหรับราคาของ 2 ประเทศนั้น นิวซีแลนด์ อยู่ที่ 1.43 ดอลลาร์นิวซีแลนด์ (ประมาณ 30.43 บาท) ขณะที่ ฟิลิปปินส์ อยู่ ที่ 42.51 เปโซ (ประมาณ 27.33 บาท)

‘อีลอน มัสก์’ ทำมูลค่าทางการตลาด ‘X’ หายไป 71% นับตั้งแต่ทุ่มเงิน 44 พันล้านดอลลาร์ เข้าซื้อกิจการ

เมื่อวานนี้ (3 ม.ค.67) มูลค่าทางการตลาดของทวิตเตอร์ลดลงไปกว่า 71% นับตั้งแต่โดนเจ้าของเทสลา อีลอน มัสก์ ซื้อออกจากตลาดหลักทรัพย์ไปเมื่อตุลาคมปี 2022 ในดีล 44 พันล้านดอลลาร์ ก่อนจะเริ่มต้นปลดพนักงานครั้งใหญ่ เปลี่ยนชื่อแพลตฟอร์มเป็น X และผจญมรสุมต่างๆ นานา โดนใบเหลืองเตือนจาก EU ข้อหาเผยแพร่ข้อมูลเท็จ และมัสก์โดนกระแสทวีตเหยียดยิวเล่นงานจนโฆษณาหนี

เดอะการ์เดียน สื่ออังกฤษรายงานในวันอังคาร (2 ม.ค.) ว่า บริษัทการลงทุน Fidelity เปิดเผยว่าตั้งแต่หลังจากมหาเศรษฐีพันล้านเจ้าของเทสลา อีลอน มัสก์ ซื้อบริษัททวิตเตอร์ไปเมื่อตุลาคมปี 2022 ได้ในราคา 44 พันล้านดอลลาร์ พบว่ามูลค่าหุ้นตกลงไปกว่า 71.5%

Fidelity ซึ่งถือหุ้นอยู่ในทวิตเตอร์เปิดเผยในการรายงานของสื่อ Axios ของสหรัฐฯ ได้ประเมินว่า แพลตฟอร์ม X ในชื่อปัจจุบันมีมูลค่าอยู่ราว 12.5 พันล้านดอลลาร์ ในการเปิดเผย

ทวิตเตอร์นั้นถูกเปลี่ยนชื่อเป็น X เมื่อกรกฎาคมปี 2023 และยังคงประสบปัญหามาโดยตลอด ตัวเลขผู้ใช้ประจำเดือนตกลงไป 15% ในปีแรกตั้งแต่มัสก์ซื้อท่ามกลางความวิตกการเพิ่มขึ้นของวาทะแสดงความเกลียดชัง หรือ hate speech บนแพลตฟอร์มซึ่งหลังจากที่มัสก์ซื้อทวิตเตอร์ออกมาจากตลาดหลักทรัพย์ เขาสั่งปลดพนักงานออกไปไม่ต่ำกว่า 50% และลดการตรวจสอบลง ส่งผลทำให้ในกันยายนปีที่ผ่านมา สหภาพยุโรป EU ออกคำเตือนไปยังอีลอน มัสก์ หลังจากพบว่าแพลตฟอร์ม X ของเขามีอัตราสูงสุดของการโพสต์ข้อมูลปลอมของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียทั้งหมด

และล่าสุด อีลอน มัสก์ยังทำให้ X โดนแห่ถอนโฆษณาจากบริษัทยักษ์ใหญ่ชื่อดังนับตั้งแต่มัสก์ได้ทวีตให้การสนับสนุนทฤษฎีสมคบคิดเหยียดชาวยิว อ้างอิงจากหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ส และส่งผลทำให้เจ้าของเทสลาออกมาตอบโต้การแห่ถอนโฆษณาจาก X ด้วยการกล่าวว่า “ขอให้บริษัทพวกนั้นไปลงนรกซะ” ระหว่างการให้สัมภาษณ์อยู่ในเมืองนิวยอร์ก ซิตี

มัสก์ซึ่งถูกนิตยสารฟ็อบส์จัดให้เป็นบุคคลที่รวยที่สุดในโลกมีความมั่งคั่ง 251 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเมื่อครั้งที่เขาซื้อทวิตเตอร์ไปเขาแสดงเหตุผลว่า “เป็นการซื้อเพื่อช่วยมนุษยชาติ”

และมัสก์ที่มีแนวคิดทางการเมืองนิยมฝ่ายขวาและพรรครีพับลิกันได้สั่งยกเลิกการแบนบุคคลทางการเมืองอื้อฉาวของสหรัฐฯ ทั้งอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ และนักจัดรายการวิทยุเจ้าของเผยแพร่ทฤษฎีสมคบคิด อเล็กซ์ โจนส์ (Alex Jones) ซึ่งบุคคลทั้งสองต่างมีคดีติดตัว

'หมออั้ม-คุณโบว์' อารยะขัดขืน!! สังคม Toxic ในทวิตเตอร์ (X) หยุดใช้บริการ พร้อมชวนพักสนับสนุนแพลตฟอร์มไร้สำนึก

(15 ม.ค.67) 'หมออั้ม' อิราวัต อารีกิจ อดีตนักร้องชื่อดังและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว 'อั้ม อิราวัต' ระบุว่า...

"..เพราะเป็นสังคมที่ไร้ความรับผิดชอบ หลัง ๆ เริ่มมีแต่คนป่วย Toxic อวตารไร้ตัวตน (คนปกติที่เล่น ไม่ต้องร้อนตัวนะครับ)ผมขอส่งอีก 1 เสียง แสดงออกถึงการต่อต้าน ไม่สนับสนุนแพลตฟอร์มไร้สำนึกนี้
จนกว่าจะมีความรับผิดชอบต่อสังคมมากกว่านี้ เสียเวลาชีวิตผมเปล่าๆ.."

ปิดถาวรครับ

นอกจากนี้ น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา หรือ โบว์ พิธีกรรายการวิเคราะห์ข่าว และนักกิจกรรมเพื่อสิทธิมนุษยชน ก็ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กถึงเรื่องนี้ด้วยว่า...

เหตุผลที่โบว์เลิกใช้ Twitter X … 

การออกแบบระบบและนโยบายของทวิตเตอร์ X ทำให้เกิดอาชญากรรมและพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ ละเมิดกฎหมายมากกว่าแพลตฟอร์มอื่น ๆ 

ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบกลไกการสนทนาที่ไม่เอื้อต่อการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การปราศจากการยืนยันตัวตนทำให้ผู้ใช้งานปลอดความรับผิดชอบ และการปล่อยเสรีคอนเทนต์ลามกอนาจารค้าประเวณีและการค้ามนุษย์โดยไร้การคัดกรองเพื่อปกป้องเยาวชนจากอาชญากรรมทางเพศ… 

ชวนกันออกมาค่ะ อย่าไปสนับสนุนธุรกิจที่ไร้ความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการใช้งานต่อ และขอเรียกร้องให้รัฐบาลทำหน้าที่ปกป้องเยาวชนจากแพลตฟอร์มที่เป็นภัยสังคมนี้

#กพ67 พุ่งติดเทรนอันดับ 1 บน X หลังเปิดสมัครสอบ ภาค ก. วันแรกจน ‘เว็บล่ม’

(19 มี.ค.67) ผู้สื่อข่าวรายงานแจ้งว่า ตั้งแต่เวลา 8.30 น. ที่ผ่านมา จากกรณีที่ สำนักงานข้าราชการพลเรือน ออกประกาศสำนักงาน ก.พ. เรื่อง รับสมัครสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไป ประจำปี 2567 โดยรับสมัครทางอินเตอร์เน็ต ตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม - 9 เมษายน 2567 พบว่าเว็บไซต์ https://job 3.ocsc.go.th ไม่สามารถใช้งานได้ ซึ่งหน้าเว็บไซต์มีเพียงสีเทาเท่านั้น โดยเว็บไซต์ดังกล่าวทางสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือ ก.พ. เปิดรับสมัครสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไป ภาค ก. รูปแบบ Paper & Pencil ประจำปี 2567 จำนวน 380,000 ที่นั่งสอบ 

ล่าสุด ทำให้ #กพ67 พุ่งขึ้นมาติดอันดับ 1 บนโลกโซเชียลอย่าง X (ทวิตเตอร์) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top